Updates

  • Project update > ใครๆก็เรียนได้ ปีที่ 3

    เริ่มแล้ว กิจกรรมใครๆก็เรียนได้ ปี3

    25 September 2023

    โครงการใครๆ ก็เรียนได้ สนใจให้ความช่วยเหลือเด็กในชุมชนแออัดกับเด็กเร่ร่อนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้น้องๆ เรียนหนังสือจนจบไม่ไปข้องแวะกับการเป็นยุวอาชญากร (ลักเล็กขโมยน้อย) งานขายบริการ หรือใช้สารเสพติด

    โครงการได้จัดกิจกรรมเสริมพลังบวก เช่น กีฬาต้านยาเสพติด กิจกรรมศิลปะบำบัด และกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ รวมทั้งคอยแนะนำแหล่งความรู้ดีๆ เพื่อให้น้องๆ ได้พัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ฝันไว้

    กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ “ เด็กในชุมชนแออัด ” กับ “ เด็กเร่ร่อน ” จากชุมชนแออัดใจกลางเมืองอันได้แก่ ชุมชนวัดดวงแข, ชุมชนตรอกสลักหิน ระยะเวลาโครงการ 4 เดือน จัดกิจกรรมชุมชนละ 8 ครั้ง

    กิจกรรมครั้งแรก 17 กันยายน 2566 (เลื่อนมาจากวันที่ 20 สิงหาคม 2566) ที่ศูนย์ดวงแข ถ.รองเมือง ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดูแลชุมชนดวงแขและชุมชนตรอกสลักหิน ชุมชนแออัดของน้องๆ ฐานะยากจนและน้องๆ กลุ่มเปราะบาง

    ปัญหาหลักในชุมชน

    1. น้องๆ ทักษะการเรียนรู้ที่ถดถอยไปในช่วง 3 ปีที่มีโควิด มีปัญหาเรื่องการ อ่านออก เขียนได้ นับเลขไม่คล่อง และสภาพสุขอนามัยพื้นฐานต่ำกว่ามาตรฐาน
    2. ปัญหายาเสพติด ในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหา ลักขโมย เดินยา หรือขายบริการ ยังคงพบได้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและแรงจูงใจในการอยากเรียนหนังสือให้จบของน้องๆ

    จำนวนจิตอาสา : 20 คน
    จำนวนน้องชุมชนแออัดที่มาร่วมกิจกรรม : 12 คน
    รายละเอียดกิจกรรม : ลงพื้นที่ชุมชน ตกแต่งชุมชนให้น่าอยู่ ทาสีกำแพง อ่านหนังสือ จัดกิจกรรมให้น้องๆ ชุมชนวัย 6-18 ปี ผ่านกิจกรรมศิลปะ กีฬา สันทนาการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ถดถอยไปในช่วง 3 ปีที่มีโควิด สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชิวิตโดยรวมให้ดีขึ้นในทุกด้าน

    ที่ผ่านมาน้องๆ ชุมชนแออัดหลายคนเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมสร้างคุณค่า เช่น ศิลปะ กีฬา หรือ สันทนาการ จะรู้สึกกระตือรือร้นในการเรียนจนจบ ปวช ม.6 หรือ ปริญญาตรี และมีงานดีๆ ทำแบบรุ่นพี่ เราจึงจัดกิจกรรมเสริมพลังบวกเพื่อให้น้องๆ มีสุขภาพกาย ใจที่ดีขึ้น และมีแรงจูงใจในการศึกษาต่อให้จบ และเมื่อเรียนจบจะได้ทำงานที่ตนเองชอบและถนัด

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนน้องกลุ่มเปราะบางไร้บ้าน และชุมชนแออัดที่อาศัยอยู่บริเวณ สถานีรถไฟหัวลำโพง (ชุมชนดวงแขและตรอกสลักหิน)30 คนหลังจากน้องๆ อายุ 6-18 ปี เข้าร่วม กิจกรรมศิลปะ กีฬา และกิจกรรมสันทนาการ มีสุขภาพกาย ใจที่ดีขึ้น และมีแรงจูงใจในการเรียนหนังสือ เมื่อเรียนจบจะได้ทำงานที่ตนเองชอบและถนัด
    รูปภาพกิจกรรม


    Read more
  • Project update > น้ำดื่มสะอาด เพื่อเด็กนักเรียนในสระแก้ว

    ติดตั้งเครื่องกรองน้ำโรงเรียนบ้านเนินสวนอ้อย

    20 September 2023

    โรงเรียนบ้านเนินสวนอ้อย เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ระบบน้ำดื่มของทางโรงเรียน เป็นแบบเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในภายบ้าน นำมาติดตั้งในโรงเรียนแล้วมากรองน้ำให้เด็กนักเรียน หากวันไหนน้ำไม่ไหล (น้ำต้นทางมาจากหมู่บ้าน) โรงเรียนจะต้องซื้อน้ำดื่มให้กับเด็กนักเรียน

    ปัจจุบัน โรงเรียนได้รับงบประมาณโครงการน้ำดื่มสะอาด เพื่อเด็กนักเรียนในสระแก้ว เพื่อระดมทุนกับเทใจดอทคอม จำนวน 64,837 บาท (หกหมื่นสี่พันแปดร้อยสามสิบเจ็ดบาท) แบ่งเป็น

    • จัดทำระบบน้ำดื่มสะอาดจำนวน 60,000 บาท
    • เทพื้นคอนกรีตโรงกรองน้ำ 4,837 บาท

    นักเรียนได้มีระบบน้ำดื่มที่สะอาดไว้ดื่ม และมีน้ำดื่มสำรองไว้ดื่มในกรณีที่น้ำต้นทางไม่ไหล ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนจำนวน 117 คนต่อวัน

    วิดีโอความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านเนินสวนอ้อย จ.สระแก้ว117 คนเด็กนักเรียนมีน้ำดื่มสะอาดปลอดภัยเพียงพอในแต่ละวัน
    ประชาชนทั่วไปศิษย์เก่า เยาวชน (เข้ามาเล่นกีฬาในตอนเย็น)20 คนศิษย์เก่า เยาวชน มีน้ำดื่มสะอาดปลอดภัย
    โรงเรียนบ้านเนินสวนอ้อย จ.สระแก้ว
    1 โรงเรียนครูและนักเรียน มีน้ำดื่มสะอาดปลอดภัย
     รูปภาพกิจกรรม

     ภาพ : รูปภาพระบบน้ำดื่มของนักเรียนก่อนเข้าร่วมโครงการ

     ภาพ : สถานที่ดำเนินการ (ใต้อาคาร 50 ปี )

     ภาพ : ดำเนินการเทพื้นคอนกรีตโรงกรองน้ำ

     ภาพ : สถานที่ติดตั้งโรงกรองน้ำหลังเทพื้นคอนกรีตเสร็จเรียบร้อย

     ภาพ : การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ

     ภาพ : หลังจากการติดตั้งเครื่องกรองน้ำเสร็จเรียบร้อย

     ภาพ : นักเรียนดื่มน้ำดื่มสะอาด จากโครงการน้ำดื่มสะอาดเพื่อเด็กนักเรียนในสระแก้ว เพื่อระดมทุนกับเทใจดอทคอม

    Read more
  • Project update > ด่วน!ระดมทุนตั้งครัวและของใช้จำเป็นจากโกดังพลุระเบิด จ.นราธิวาส

    จัดโรงครัว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่มูโนะ จ.นราธิวาส

    18 September 2023

    จากสถานการณ์โกดังพลุระเบิด ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ซึ่งผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ กลุ่มลูกเหรียงในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน จึงได้มีการพูดคุย ระดมความคิด และประเมินศักยภาพองค์กรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น จากการพูดคุยและหารือร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งครัวสนาม รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อระดมของใช้ที่จำเป็น อาทิ เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ชุดที่นอน ขอใช้ส่วนตัว รวมถึง ชุดชั้นใน เป็นต้น เพื่อกระจายและส่งมอบให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในพิกัดโกดังระเบิด

    กลุ่มลูกเหรียง ลงพื้นที่จัดตั้งครัวสนาม ปรุงอาหาร พร้อมรับประทาน ดังนี้

    • วันที่ 3 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ โรงเรียนบ้านมูโนะ จำนวน 1,040 ชุด
    • วันที่ 5 – 9 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ร่วมกับครัวพระราชทาน จำนวน 7,500 ชุด (วันละ 1,500 ชุด)
    • วันที่ 11 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ จุดรับบริจาคชุมชน จำนวน 1,000 ชุด
    • วันที่ 13 – 17 สิงหาคม 2566 สนับสนุนวัตถุดิบ ไก่สับ ไข่สด ลูกชิ้นทอด ให้กับ ร้านค้าในชุมชนทำอาหารสำหรับอาสาสมัครคัดแยกของบริจาค และอาสาสมัครจัดการขยะรื้อสิ่งก่อสร้าง จำนวนวันละ 380 กล่อง/ชุดของว่าง
    • วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ โรงเรียนบ้านมูโนะ จำนวน 1,200 ชุด

    โดยการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง มีกลุ่มเป้าหมาย ที่มารับอาหารจากครัวสนาม จำนวน 1,000 คน – 1,500 คน/ครั้ง รวมกลุ่มเป้ามหายที่ได้รับประโยชย์จากการจัดตั้งครัวสนาม จำนวนทั้งสิ้น 18,240 คน เมนูอาหารในแต่ละครั้งประกอบด้วย กับข้าว 3 อย่าง (เมนูน้ำ ทอด และยำ) หรือบางวันจะเป็นก๋วยจั๊บน่องไก่ชิ้นใหญ่ หมี่ผัดไก่ไข่และปลาเส้น และในทุกครั้งที่มีการจัดตั้งครัวสนาม จะมีลูกชิ้นทอด ไอศกรีม และเบเกอรี่ให้รับเพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มารับอาหาร ประกอบด้วย เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน ,เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน, กลุ่มจิตอาสาทั่วไป ที่มาร่วมจัดการขยะ/ของบริจาค โดยการลงพื้นที่ทุกครั้ง กลุ่มลูกเหรียงจะมีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ นายอำเภอเมืองสุไหงโก–ลก, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมูโนะ รวมถึงกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เนื่องจากการประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะช่วยทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกและมีความเฉพาะมากยิ่งขึ้น ทำให้การให้ความช่วยเหลือในแต่ละครั้งตอบโจทย์ความต้องการและสามารถที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือทันที

    จากการลงพื้นที่จัดตั้งสนาม ประการที่หนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือการลงไปเซ็ตมาตรฐานอาหารใหม่ ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ในทุกครั้งที่ลูกเหรียงมีการลงพื้นที่ทำอาหาร จะมีการแยกเป็น 2 ครัวแยกครัวเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาหารของทั้ง 2 กลุ่ม ก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น อาหารของเด็กเด็ก ต้องไม่เผ็ด วัตถุดิบที่ใช้ ต้องทำให้เด็กรู้สึกอยากรับประทานอาหาร หรือถ้าเป็นอาหารของผู้ใหญ่ อาจจะต้องเน้นปริมาณ หรือเผ็ดได้ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมา มีตัวแทนชุมชนได้บอกเล่าให้เราฟังว่า อาหารของเด็กเผ็ด ปริมาณไม่เพียงพอ (ไม่อิ่ม) ได้รับไม่ทั่วถึง ซึ่งหลังจากที่กลุ่มลูกเหรียงถอยทัพกลับ หน่วยงานอื่นเข้าไป ชุมชนมีแนวคิดและมีวิธีการในการสื่อสารและออกแบบเมนูอาหารที่สามารถตอบโจทย์กับทุกกลุ่มเป้าหมาย ประการที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพของอาหาร (วัตถุดิบสดใหม่และรสชาติอร่อย) รวมถึงปริมาณของอาหารที่เพียงพอ ทำให้ชุมชนรอการกลับมาของครัวลูกเหรียง ซึ่งทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ ชุมชนตื่นตัว เด็กและคุณครูรอที่อยากจะรับประทานอาหารจากครัวลูกเหรียงอีกครั้ง

    นอกเหนือจากการลงไปให้ความช่วยเหลือในส่วนด้านอาหารและมอบของบริจาคแล้ว ทางกลุ่มลูกเหรียงร่วมมือกับสวนครูองุ่น โดยมูลนิธิกระจกเงา ในการจัดการระบบของบริจาค เนื่องจากการจัดการที่ผ่านมายังไม่เป็นระบบที่ดี ซึ่งการลงพื้นที่ในการทำอาหารแต่ละครั้ง จะแยกทีมส่วนหนึ่งไปช่วยจัดการระบบรับและกระจายของบริจาค เพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดภาวะของบริจาคล้น ในขณะเดียวกันเกิดการกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็กแยกช่วงอายุ เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนชุดทำแผลและชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับโรงพยาบาลสุไหงโก–ลก และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมูโนะด้วย

     ซึ่งในอนาคตหากมีการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มลูกเหรียงได้มีการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งความต้องการจำเป็นที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ได้แก่

    • อาหาร
    • อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน (ตู้เสื้อผ้า/อุปกรณ์ครัว/อื่นๆ)
    • การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัวได้กลับมาใช้ชีวิตได้แบบปกติต่อไป
    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

     " รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าเป็นโชคดีของพวกเราชาวมูโนะทุกคนที่มีโอกาสได้กินอาหารอร่อยๆ แบบนี้เพราะครั้งสุดท้ายที่ได้กินของอร่อยๆ คือก่อนเกิดเหตุการณ์ เพราะทำกับข้าวกินเองเราว่ากับข้าวฝีมือเราอร่อยที่สุดแล้ว ตอนนี้ที่บ้านไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว แต่วันนี้ยังดีและที่อาหารอร่อย ๆ ให้พวกเราได้กินอีกครั้ง รู้สึกดีใจมากๆ ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่มาช่วยเหลือเราวันนี้ " ก๊ะยะห์ (ชาวบ้านหมู่บ้านมูโนะ)

     “ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ นานมากแล้วค่ะที่ไม่ได้มีอาหารอร่อยๆ แบบนี้กิน ขอบคุณที่มาสร้างรอยยิ้มและเติมพลังกาย และพลังใจให้กับชาวบ้านที่มูโนะนะคะ อาหารเยอะมาก ทุกคนที่มาทำอาหารก็ใจดี ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง นอกจากตัวเองได้กินแล้วก็ยังมีอาหารให้กลับไปกินที่บ้านและเผื่อคนที่บ้านด้วย ขอบคุณมากๆ ที่ไม่ลืมพวกเรา ทำให้รู้ว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ขอบคุณจริงๆ " นางรอสือดะห์ (ผู้ปกครองนักเรียน)

     “ ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่มาทำอาหารอร่อยๆ ให้หนูและเพื่อนๆ คุณครู และทุกคนที่มูโนะได้ทานกันนะคะ ดีใจมากๆ เลย อาหารทุกอย่างอร่อยทุกอย่าง มีความสุขและอิ่มมากๆ ค่ะ ” เด็กหญิงเอสเมญ่า เจ๊ะแว (นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ)

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์  อธิบาย จำนวนที่ได้ประโยชน์
    เด็กและเยาวชน
    • นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ
    • นักเรียนโรงเรียนข้างเคียง(อาศัยในพื้นที่ตำบลมูโนะ)
    970 คน x 3 ครั้ง = 2,910 คน
    กลุ่มคนเปราะบาง

    ประชาชนในพื้นที่ตำบลมูโนะ 

    1,500 คน x 10 ครั้ง = 15,000 คน
    อื่นๆคุณครู/เจ้าหนาที่โรงเรียนบ้านมูโนะ110 คน x 3 ครั้ง = 330 คน
    รูปภาพกิจกรรม

     ภาพ : ทีมแม่ๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านมูโนะมาช่วยกันตักอาหารเพื่อบริการให้กับนักเรียน คุณครู ชาวบ้านในหมู่บ้านกันอย่างขยันขันแข็ง

     ภาพ : นอกจากอาหารคาวแล้ว ทีมครัวลูกเหรียงมีบริการไอศกรีมถังที่ช่วยดับความร้อนของอากาศในวันนี้ด้วย น้องๆ ชอบกันมากเลย หมดทุกถังที่เตรียมมาให้เลย

     ภาพ : อาหารเราปรุงสดๆ ใหม่ๆ ถูกสุขลักษณะใจทุกขั้นตอนพร้อมเสิร์ฟให้กับพี่น้องชาวมูโนะทุกคน

     ภาพ : น้องปังปอนด์เด็กที่มีจิตอาสาขอมาช่วยพี่ๆ แพ็คข้าวกล่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มูโนะ

     ภาพ : เมนูผัดซีอิ๊วกระทะที่ 3 เป็นเมนูยอดฮิตของนักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านที่มูโนะ อร่อยมากๆ ทุกคนการันตี

     ภาพ : คุณแม่พร้อมลูกสาวเดินทางรับก๋วยจั๊บร้อนๆ ที่ปรุงสดใหม่ๆ เพื่อรับประทานเป็นอาหารมื้อเที่ยงที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

     ภาพ : พี่ๆ พร้อมแล้วสำหรับการทำอาหารเพื่อมอบความอร่อยให้กับพี่น้องชาวมูโนะทุกคน ให้ได้อิ่มอร่อยกัน มื้อนี้เพื่อทุกคนที่นี้นะครับ พวกเราเป็นกำลังใจให้

     ภาพ : น้องๆ อาสาสมัครนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดนราธิวาสมาช่วยกันคัดแยกของบริจาค และจัดระบบการรับของบริจาคให้เป็นระบบ และระเบียบให้กับผู้ประสบภัยมูโนะตอนนี้กำลังคัดแยกทุกวัน และน้องการอาสาสมัครเพิ่มทุกวัน

     ภาพ : น้องๆ อาสาสมัครจากโรงเรียนสุไหงโกลกจังหวัดนราธิวาสพักเที่ยงมาทานลูกชิ้นหลังจากมาช่วยแยกของบริจาคที่ศาลาประชาคมรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือชาวมูโนะ คุมทีมโดยน้องโซเฟีย กระจกเงา 

     ภาพ : ข้อความและความประทับใจ หลังจากที่ทีมลูกเหรียงนำอาหารและของกินต่างๆ ไปให้กับผู้ประสบภัย คุณครู นักเรียน และชาวบ้านที่มูโนะ ผ่านทางเพจ สวท.สุไหงโกลก

     ภาพ : น้องๆ โรงเรียนบ้านมูโนะต่อแถวมารอรับน้ำอัดลมจากพี่ๆ ที่นำไปให้น้องๆ ดื่มกัน ร้อนแค่ไหนก็ไม่หวั่น

     ภาพ : ผู้ปกครองและบุตรหลานรับอาหารมานั่งทานอาหารกันบริเวณอาคารอเนกประสงค์

     ภาพ : ชาวบ้านและผู้ปกครองนักเรียนมาต่อแถวกันมารับอาหาร ที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

     ภาพ : น้องในหมู่บ้านมูโนะมารับไอศกรีมกลับบ้านและรับไปฝากน้องสาวที่บ้านอีก 1 โคน

     ภาพ : มอบชุดทำแผลและชุดพยาบาลเบื้องต้นให้กับโรงพยาบาลสุไหงโกลกและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลมูโนะ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกเงา

     ภาพ : ผู้ปกครองพร้อมลูกสาวมารับอาหารที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

     ภาพ : ผัดซีอิ๊วร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟให้กับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ

     ภาพ : อาสาสมัครน้องๆ มาช่วยซ่อมแซมบ้านของผู้ประสบภัยชาวมูโนะพักมาทานไอศกรีมดับร้อน

    Read more
  • Project update > Chef Scholarship ปั้นเด็กให้เป็นเชฟ

    ปั้นเด็กเป็น LOCAL CHEF ในสามจังหวัดชายแดนใต้ 15 คน

    18 September 2023

    25 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2566 : ทดลองฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการในพื้นที่ ณ ภัตตาคารไลลา จังหวัดยะลา จำนวน 20 คน

    • เป็นกิจกรรมที่ส่งเยาวชนในโครงการไปฝึกในสถานประกอบการซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ให้เยาวชนเข้าปฏิบัติและตั้งใจบ่มเพาะเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟ และรองรับตลาดในวงการอาหารที่กำลังขาดบุคคลทีมีความสามารถทางด้านอาหารอีกด้วย ในการทำกิจกรรมครั้งนี้เยาวชนได้เรียนรู้หลายๆอย่าง ดังนี้
    • ได้ฝึกการบริการลูกค้า การจัดห้องอาหาร เรียนการวิธีการรับออร์เดอและการจัดการกับลูกค้าในกรณีต่างๆ
    • ได้เรียนรู้การปฏิบัติการทำตามมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยในร้านอาหาร เพื่อให้ร้านมีมาตรฐานสูงสุดในด้านอาหารและบริการ
    • ได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับบุคลากรอื่นในร้านอาหาร เพื่อให้การทำงานเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ และการแก้ไขเฉพาะหน้า
    • การฝึกปฏิบัติครังนี้ทำให้เยาวชน ได้รับการถูกจ้างจากผู้ประกอบการ 3 คน

    8 – 11 สิงหาคม 2566 : กิจกรรม Workshop สอนอาหาร ณ ครัวลูกเหรียง จำนวน 15 คน

    • เป็นกิจกรรม Workshop สอนอาหาร วิธีการคิด การจัดการ การนำเสนอ การถ่ายภาพ การเล่าเรื่องราว โดยมีเชฟแบล็ก ภานุภน บุลสุวรรร Blackitch Artisan kitchen พี่ใหม่ สะบัดบ๊อบ สตูดิโอ และพี่ต้อมชิว เฟดเฟ่
    • ในวันสุดท้ายมีการเปิดจองอาหาร Dinner มือพิเศษ การนำความรู้ที่เรียนมาตลอด 4 วันมารังสรรเมนูอาหารใหม่จากฝีมือเด็กและเยาวชน โดยมีทีมเชฟคอยสนับสนุนอย่างใกล้ชิด
    • ตลอดกระบวนการทำ Workshop ทั้ง 4 วัน เด็กและเยาวชนให้ความสนใจกับการเรียนและสามารถต่อยอด นำวัตถุดิบที่มีอยุ่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า และอาหารท้องถิ่นที่รับประทานในแต่ละวันแปลงเป็นเมนูใหม่ๆ แต่ยังคงมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่น เพิ่มเติมคือความทันสมัย และน่าทานเพิ่มมากขึ้น

    ออกปฏิบัติจริงในงาน event The Memories of haji sulong ณ เมืองปัตตานี จำนวน 15 คน

    การทำ Chef's Table นอกสถานที่เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจและหรูหรา โดย Chef's Table เป็นการบริการอาหารที่มีเด็กเยาวชนในระบบและเชฟลูกเหรียง ในการทำอาหารจะทำอาหารแบบเมนูใหม่ และเฉพาะบุคคลสำหรับลูกค้าที่จองล่วงหน้า และประสบการณ์ที่ได้รับ

    1. อาหารที่ปรับแต่ง : Chef's Table นอกสถานที่มีเมนูที่ปรับแต่งให้ตรงกับรสนิยมและความต้องการของลูกค้า โดยเชฟจะสร้างเมนูพิเศษเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ
    2. ประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร : Chef's Table นอกสถานที่จะมีความหลากหลายและความพิเศษในทุกๆ รายลูกค้า โดยที่เด็กและเยาวชนต้องเตรียมทำการบ้านหลายๆอย่างเพื่อให้ลูกค้าที่จองมาได้ประทับใจ เช่น วัตถุดิบที่ลูกค้าไม่สามารถทานหรือแพ้ เป็นกระบวนการที่เราได้เรียนรู้จากการใส่ใจในรายละเอียดของลูกค้าที่มาใช้บริการ บางครั้งเชฟอาจให้ลูกค้าเข้าครัวเพื่อชมกระบวนการทำอาหารในครัวด้วย
    3. การแสดงทักษะ : Chef's Table เป็นโอกาสที่ให้เด็กและเยาวชนทำงานร่วมกับเชฟครัวลูกเหรียง สามารถแสดงความสามารถในการทำอาหารและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเมนูที่อร่อยและน่าประทับใจ
    4. บรรยากาศพิเศษ : Chef's Table นอกสถานที่ที่เด็กเยาวชนต้องออกแบบตรีมงานให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงในวันนั้น และจะมีบรรยากาศพิเศษที่สร้างความอบอุ่นและน่าทึ่งสำหรับลูกค้า ที่จองล่วงหน้าและเสมือนเป็นการส่วนตัวในร้านอาหาร

    18 สิงหาคม 2566 : ศึกษาดูงานในสถานประกอบการ ณ ร้านสะหวา จังหวัดสงขลา จำนวน 15 คน

    • ได้ประสบการณ์และเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารและเทคนิคการทำอาหารรูปแบบต่างๆรวมถึงวิธีการหั่นเนื้อและผักให้เป็นรูปทรงต่างๆให้เหมาะกับเมนูอาหารและวิธีการจัดเสิร์ฟ การจัดจานมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง ให้จานอาหารดูสวย น่ารับประทานและอร่อย ในครั้งนี้ได้รับประสบการณ์โดยตรงจากเชฟ แอนดี้ ยังเอกสกุล (แอนดี้ หยาง) มากด้วยประสบการณ์
    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

     " การเรียนรู้ที่มีประสบการณ์จริง คือประสบการณ์ที่ทำให้เราเรียนรู้ผ่านการพฤติกรรม และการกระทำ สามารถมองเห็นแนวทางที่ดี การปฏิบัติที่เป็นมาตราฐาน และได้เรียนรู้โดยตรง และสามารถนำมาพัฒนาต่อในงานบริการได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ และจะเกิดมาตรฐานใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน และสามารถนำไปต่อยอดและประกอบอาชีพที่ชื่นชอบในอนาคตอีกด้วย " นายศิริวุฒิ ศิริพันธ์

     " สิ่งที่ทำให้หนูได้เรียนรู้ ระบบการจัดการ การคิดเบื้องหลังก่อนการออกแบบเมนู ออกแบบการจัดการอาหาร ออกแบบการจัดโต๊ะ พร้อมการสร้างบรรยากาศภายในงาน รวมไปถึงได้สัมผัสการชิมอาหารจากร้านอาหารชื่อดัง เห็นกระบวนการจัดการ การต้อนรับ การใส่ใจกับผู้มาใช้บริการ ระบบจัดการ การตกแต่งจานอาหาร การแนะนำอาหารต่างได้เป็นอย่างดีมีคุณภาพ สร้างความประทับใจ เป็นการเรียนรู้จากการได้สัมผัสของจริง และได้ลองทำจริง และสิ่งสำคัญคือการได้ลงมือทำในสิ่งใหม่ๆที่หนูเองไม่เคยได้ทำ ไม่เคยได้ลอง และได้ผ่านความท้าทายชีวิตของเด็กคนหนึ่งสามารถทำได้ และจะฝึกต่อไปเพื่อความฝันที่ตัวเองอยากเป็น และมีรายได้ให้กับตัวเอง และดูแลคนในครอบครัวต่อไป " นางสาวรุสมีนี สนิบากอ

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนเยาวชนนอกระบบที่เข้า ที่ผ่านคัดเลือก ฝึกอบรมหลักสูตร LOCAL CHEF ที่มีความตั้งใจ มุ่งมานะที่โดนเด่น และมีทักษะที่สามารถไปฝึกต่อ ทีมีภูมิลำเนา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
    15 คน

    หลังจากได้รับการเข้าร่วมโครงการเยาวชนได้เปลี่ยนแปลงหลายด้านในชีวิตและอาชีพ ดังนี้

    1. การเพิ่มทักษะได้รับความรู้และทักษะในการทำอาหารที่มีคุณภาพและมืออาชีพ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเข้าร่วมโครงการมีความมั่นใจในฝีมือมากยิ่งขึ้น
    2. การสร้างเครือข่ายการฝึกงานในร้านอาหารช่วยให้เยาวชเข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในแวดวงผู้ประกอบการอาหาร โดยเยาวชนได้รู้จักเชฟ ผู้ประกอบการ และคนในวงการอาหารอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในร้านอาหาร
    3. การเรียนรู้เพิ่มเติมการทำงานในร้านอาหารเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารจัดการร้านอาหาร, การวางแผนเมนู, การควบคุมค่าใช้จ่าย, และการจัดการบุคคลในหน้าที่ต่างได้
    4. การปรับตัวกับสภาวะทางอาชีพ การทำงานในร้านอาหารอาจมีสภาวะทางอาชีพที่แตกต่างจากการทำงานในสถานที่อื่น ๆ เยาวชนเข้าร่วมโครงการต้องปรับตัวกับบุคคลรอบตัวของการทำงานและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน.
    5. ความมั่นใจและความสามารถในการรับมือกับความกดดัน การทำงานในร้านอาหารมักมีความเร่งรีบ เช่นการบริการอาหารในร้านที่มีลูกค้าเยอะ การเพิ่มทักษะในการจัดการความกดดันอาจช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ดีขึ้น
    6. โอกาสในอาชีพ การเรียนอาหาร และฝึกงานทำอาหารในร้านอาหารเปิดโอกาสให้เยาวชนมีโอกาสทำงานในร้านอาหารที่มีชื่อเสียงและร้านอาหารในต่างประเทศ และการเรียนรู้และฝึกงานในร้านอาหารเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและอาชีพของเยาวชนให้ดียิ่งขึ้น เยาวชนจึงมีโอกาสนี้ให้เต็มที่เพื่อพัฒนาตนเองในวงการอาหารต่อไป
    รูปภาพกิจกรรม

     ภาพ : ฝึกงานวันแรกผุ้จัดการภัตตาคารไลลาแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ

     ภาพ : ทีมเสิร์ฟพร้อมปฏิบัติ

     ภาพ : ทีมจัดจานเตรียมอาหารลงจาน

     ภาพ : ทีมเยาวชน รวบรวมไอเดีย จุดเด่นของอาหาร และลิซเมนูอาหาร

     ภาพ : เอาไอเดียที่ได้มาแบ่งหมวดหมู่ และสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารมลายูใต้

     ภาพ : ฝึกปฏิบัติจริงในการทำอาหาร

     ภาพ : ผู้เข้าเรียนลองช่วยลองทำเมนูใหม่ เพื่อให้ทีมเชฟแบล็คชิ่ม

     ภาพ : เยาวชนฝึกทักษะการตกแต่งโต๊ะ และวาง ตกแต่งจานอาหาร โดยมีทีมชีพคอยให้คำแนะนำ

     ภาพ : ถอดบทเรียนหลังเสร็จงาน

     ภาพ : ศึกษาดูงานนอกพื้นที่ chef table ณ ร้านสะหวา จ.สงขลา และสังสรรค์เมนูโดยเชฟแอนดี้ หยาง

      ภาพ : ผลงานที่ทำที่เรียนอาหาร

     ภาพ : ผลงานและบรรยากาศ งาน Memories of haji sulong ณ เมืองปัตตานี

    Read more
  • Project update > Helping the vulnerable groups across Thailand during COVID-19 in 2021

    Covid Thailand Aid ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากโควิด-19 21 ชุมชน

    18 September 2023

    โครงการของเราเป็นโครงการช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบางทั่วไทยในสภาวะที่โควิด-19 ด้วยการ

    1. ชุดยังชีพ ให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวรายได้น้อย และผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ
    2. อาหารให้คนไร้บ้าน
    3. กองทุนฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่แนวหน้ารับมือโรคนี้โดยตรง

    ในช่วง มกราคม ถึง มิถุนายน 2565 ทีม COVID Thailand AID ยังคงลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อนำความช่วยเหลือ ไปมอบให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ยังได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน

    รวมความช่วยเหลือทั้งสิ้น 21 ชุมชน 2,625 ครอบครัว รวมผู้เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลือในครึ่งปีแรกกว่า 10,500 ราย

    COVID Thailand AID ต้องขอขอบคุณผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ที่ได้ร่วมบริจาคให้กับทางโครงการ รวมทั้งขอขอบคุณทีมจิตอาสา ผู้นำชุมชน รวมทั้งชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่ได้มีส่วนร่วมนำความช่วยเหลือไปมอบยังผู้ได้ระบความเดือดร้อนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

     " ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับการบริจาคจากทุกๆท่าน ที่ทำให้เราสามารถส่งต่อความหวังดีเหล่านี้ในการบรรเทาทุกข์ไปยังชุมชนต่างๆที่ต้องการความช่วยเหลือได้อีกจำนวนมาก "

     " ขอขอบคุณที่ช่วยเหลือพวกเรา พวกเราได้รับความช่วยเหลืออย่างดีมากในยามที่เราขับขันขอให้มีแต่สิ่งดีดีย้อนกลับไปหาทุกท่านที่ร่วมกันบริจาคให้กับเราด้วยนะคะ "

    รูปภาพกิจกรรม

     28 มิถุนายน : เราได้มอบถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือชุมชนเจริญ 19 รวมทั้งสิ้น 125 ครอบครัว จากการบริจาคของทุกๆท่าน ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับการบริจาคจากทุกๆท่าน ที่ทำให้เราสามารถส่งต่อความหวังดีเหล่านี้ในการบรรเทาทุกข์ไปยังชุมชนต่างๆที่ต้องการความช่วยเหลือได้อีกจำนวนมาก

     25 พฤษภาคม : ทาง Covid Thailand Aid ได้นำถุงยังชีพไปบริจาคให้กับชุมชมท้ายซอย จรัญสนิทวงศ์ 95/1 กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณผู้บริจาคทุกท่าน

     8 มีนาคม : COVID Thailand AID ร่วมกับ โครงการครูข้างถนน และโครงการเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มอบถุงยังชีพจำนวน 125 ชุด ให้กับเด็กด้อยโอกาสในแคมป์ก่อสร้าง และชุมชนต่างๆ
    ทั้งนี้ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้ทำหนังสือขอบคุณมายังผู้มีจิตศรัทธาทุกๆท่าน ที่ได้บริจาคในครั้งนี้ด้วย

     16 กุมภาพันธ์ : เราได้นำถุงยังชีพไปบริจาคให้กับชาวอาข่า ที่หมู่บ้านอากู่ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จำนวน 125 ครอบครัว
    โดยชาวอาข่าได้นำตะกร้าสะพายหลัง หรือที่เรียกว่า อาค๊า ในภาษาอาข่า มารับของบริจาคในครั้งนี้ "อาค๊า" เป็นงานหัตถกรรมของชาวอาข่า ที่มากไปด้วยความละเอียดอ่อนในการจักสาน และประโยชน์ใช้สอย ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่สวยงามของชาวอาข่าได้เป็นอย่างดี

    Read more
  • Project update > แว่นตาให้น้องๆ โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว จ.สมุทรสาคร

    มอบแว่นตาให้เด็กนักเรียนโรงเรียนจัดเจ็ดริ้ว ครบ 27 คน

    15 September 2023

    หลังจากที่เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดริ้วได้รับการตรวจวัดและคัดกรองสายตาแล้วนั้น เด็กนักเรียนที่มีความจำเป็นในการใช้แว่นตาก็ได้ทยอยเข้ามารับแว่นตาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จนครบทั้ง 27 คน นอกจากนั้นยังมีเงินโครงการคงเหลืออีกจำนวนหนึ่ง ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วจึงจัดเป็นกองทุนเพื่อให้เด็กและเยาวชน หรือคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล แต่ขาดทุนทรัพย์ต่อไป

    ภาพประกอบ

    เด็กนักเรียน และคนไข้ที่ได้รับทุนได้รับแว่นตา


    Read more
  • Project update > TaeJai Future Generation Fund

    มอบเงินสนับสนุนให้โครงการเพื่อเด็กและเยาวชน 9 โครงการ

    15 September 2023

    กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ ใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบไปด้วย

    1. ภาวะทุพโภชนาการ 
    2. การศึกษา
    3. การจ้างงาน
    4. สุขภาพกายและสุขภาพจิต

    เงินที่ระดมได้หลังหักค่าดำเนินการต่างๆ สามารถจัดสรรให้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็น 203,089 บาท เราแบ่งเงินเป็นสัดส่วน ต่อไปนี้

    มีรายละเอียดโครงการ ตามตาราง

    ลำดับโครงการจำนวนเงิน (บาท)
    ภาวะทุพโภชนาการ
    1โครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนบ้านหนองถ่ม28,497
    การศึกษา
    2สร้างรั้วโรงเรียนและทาสีอาคารเรียน โรงเรียนบ้านใหม่ห้วยหวาย20,000
    3คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาน้อง โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี25,000
    4โครงการใครๆ ก็เรียนได้ เพื่อสร้างแรงใจให้กับเด็กกลุ่มเปราะบาง35,150
    5กวักน้องมาเรียน-ส่งต่อชุดนักเรียนให้เด็กยากจน 50 โรงเรียนทั่วประเทศ 3,183
    การจ้างงาน
    6Chef Scholarship ปั้นเด็กให้เป็นเชฟ23,000
    สุขภาพกายและสุขภาพจิต
    7โครงการหนังสือสีชมพู รวบรวมทุกเรื่องที่เด็กผู้หญิงทุกคนควรรู้ เพื่อที่จะมีชีวิตที่มีคุณค่า11,514
    8ห้องสันทนาการเด็ก เพื่อผู้ป่วยเด็กและครอบครัว30,745
    9โครงการลมหายใจใต้น้ำ เพื่อ 1,000 ชีวิต พ้นวิกฤตจมน้ำ30,000
    ทางเทใจขอขอบคุณผู้บริจาคทุกท่านค่ะ  : )

    Read more
  • Project update > Food + Shelter for Migrant Women Escaping Domestic Violence

    บ้านพัก FRP ช่วยเหลือแม่และเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 66

    15 September 2023

    ทาง FRP ได้ระดมทุนผ่านทางเทใจตั้งวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นต้นมา โดยทาง FRP ได้เบิกเงินรอบที่สองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ไปจำนวนทั้งหมด 58,552 บาท โดยเงินที่เบิกไปเราได้นำไปซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคและของใช้จำเป็นส่วนตัวอื่นๆ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยาสระผม ผงซักฟอก สบู่ ผ้าอนามัย เสื้อชั้นใน กางเกงใน ผ้าอ้อมเด็กและนม เป็นต้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 มีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดโดยเฉลี่ยแม่ 7-8 คน และเด็กๆ 19-20 คนต่อเดือน

    แม่ๆ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทาง FRP จัดไว้ เช่น การพูดคุยเป็นรายบุคคลรายสัปดาห์ การประเมินความเครียด การทำ care paln เพื่อตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับแต่ละคน การทำกิจกรรม peer support group ที่ละคนได้มีโอกาสเสริมพลังซึ่งกันและกัน มีโอกาสได้ระบายและรับฟังเพื่อนสมาชิกคนอื่นที่ประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มีโอกาสปลูกผักกินเอง เลี้ยงไก่ไข่ ไก่บ้าน นอกจากนั้นแม่ๆ ก็ได้เรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับการสร้างวินัยเชิงบวกในการเลี้ยงลูกเพื่อให้แม่ๆ นำไปปรับใช้

    สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ 

    1. ทางเจ้าหน้าที่เรารู้สึกเบาใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะเอางบประมาณอาหารในการดูแลแม่ๆและเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ใน shelter ของ FRP จากไหน เงินบริจาคที่ได้รับผ่านโครงการมีส่วนช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของ shelter ได้อย่างมาก โดยเฉพาะสองสามเดือนที่ผ่านมา เรามีเคสที่มาอยู่ที่ shelter เกือบสองเท่า 
    2. จากการสังเกตและจากการสอบถามแม่ๆ ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับประทานอาหารทุกหลักอนามัยครบทั้งสามมื้อ อยู่บ้านพัก FRP ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อเหมือนตอนที่อยู่กับสามี ได้กินอาหารที่ตนเองชอบ มีประโยชน์และหลากหลาย มีของใช้ที่จำเป็นทั้งของแม่ๆและเด็กๆ เวลาเจ็บป่วยมียารักษาตามอาการและได้ไปหาหมอหากจำเป็น นอกเหนือจากทางร่างกายแล้ว แม่ๆและลูกๆ มีความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและอารมณ์ สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ค่อยเริ่มดีขึ้น ความวิตกกังวลเริ่มน้อยลง ความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองเริ่มมีมาก

    สุดท้ายนี้ ทาง FRP สนใจที่จะเข้าร่วมในการระดมทุนกับทางเทใจต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสำหรับค่าอาหารหรือค่าเช่าของ Shelter ขอรบกวนให้เทใจเป็นคนกลาง เป็นกระบอกเสียงให้อีกหลายๆคนมามีส่วนร่วม ในการแบ่งความช่วยเหลือให้กับแม่ๆและเด็กๆ ที่อยู่ในshelter ของ FRP เพื่อให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาความรุนแรงนี้เพียงลำพัง ยังมีคนอีกหลายคนที่คอยเป็นกำลังใจ และเอาใจช่วยแม่ๆและเด็กๆ ให้ผ่านพ้นเหตุการณ์รุนแรงที่เขาเผชิญ และให้เขาสามารถพึ่งตัวเองและดูแลตัวเองและลูกๆ ได้ต่อไป

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

     “ ตอนที่ฉันยังอยู่กับสามี ฉันรู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอาหารอะไรหรือพอทำแล้วกลัวจะไม่ถูกปากสามีและอาจถูกด่าหรือถูกตี หลายครั้งพอทำอาหารเสร็จฉันกับลูกก็ไม่มีโอกาสได้กินเพราะต้องหนีสามี ไปหลบที่บ้านเพื่อนบ้าน การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบนั้นทำให้ฉันรู้สึกตัวเล็ก รู้สึกไร้ค่า ไร้ความมั่นใจในตนเอง แต่หลังจาก ฉันกับลูกๆ ได้มาอยู่ที่ shelter ของ FRP ฉันได้รับการสนับสนุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินที่ฉันสามารถเลือกที่จะกินอะไรก็ได้ที่ฉันและลูกต้องการจะกิน รวมไปถึงความปลอดภัยทางร่างกายและทางอารมณ์ที่ได้รับการดูแล ฉันรู้สึกปลอดภัย มีความสุข และสามารถนอนหลับได้อย่างไม่รู้สึกกลัว เมื่อเทียบกับการอยู่กับสามี ความมั่นใจของฉันก็เพิ่มสูงขึ้น ฉันไม่ต้องแบกรับความกังวล ความกลัว หรือความเครียดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ อีกต่อไป และที่สำคัญลูกๆ ของฉันทั้งสองคนได้ไปโรงเรียนด้วย ” คุณแม่ลูกสอง

    “ ตอนที่ได้ยินคำว่า shelter ฉันคิดว่า ฉันจะต้องอยู่ร่วมกับผู้หญิงและเด็กๆ อีกหลายๆคน และคิดว่าที่ shelter อาจจะมีอาหารไม่พอ หรือไม่ก็กินแต่ข้าวต้มทุกวันแน่ แต่พอได้มาอยู่จริงๆแล้ว ฉันมีบ้านหลังเล็กๆ และห้องครัวของฉันเอง ฉันทำอาหารอะไรก็ได้ที่ฉันและลูกอยากกิน มีอาหารครบทั้งสามมื้อ ที่สำคัญฉันได้เจอผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ประสบกับความรุนแรงจากสามีเหมือนฉัน ฉันไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป ” คุณแม่ลูกหนึ่ง

    “ ฉันตัดสินใจหนีสามีมาอยู่ที่ shelter ของ FRP ตอนที่ฉันกำลังท้องได้เจ็ดเดือน ก่อนคลอดฉันเครียดและกังวลมากว่าจะดูแลลูกแฝดทั้งสองคนของฉันอย่างไร เพราะฉันไม่มีเงินเลย แต่ที่ shelter เจ้าหน้าที่และเพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่อยู่ shelter ดูแลเอาใจใส่ฉันและลูกฝาแฝดทั้งสองอย่างดีมาก ฉันรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของฉัน คนที่นี่คือครอบครัวของฉัน ” คุณแม่น้องแฝด

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชนเด็กที่ติดตามมาพร้อมกับคุณแม่ที่มาพักที่ shelter ของ FRP เด็กที่ติดตามแม่ๆ มามีตั้งแรกคลอด ถึง 16 ปี15 คน
    • เด็กๆ มีอาหารครบห้าหมู่ เด็กที่เคยน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มีน้ำหนักที่ถึงเกณฑ์
    • เด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนได้ไปโรงเรียนทั้งหมด 7 คน
    • เด็กทุกคนที่อยู่ในความดูแลที่ shelter เข้าถึงการรักษาพยาบาลต่างๆ และได้รับการฉีดวัดซีนตามวัย
    • ค่าประกันสุขภาพรายเดือนของเด็กๆ แต่ละคน
    • เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมประจำวันที่เหมาะสมกับการพัฒนาการของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูประบายสี การเล่นบำบัด หรือการพาไปทำกิจกรรมข้างนอก เช่น การไปว่ายน้ำ
    กลุ่มคนเปราะบางผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่ต้องการที่พักที่ปลอดภัยในอำเภอแม่สอด8 คน
    • ค่าอาหาร
    • ของใช้ส่วนตัว
    • ค่าประกันสุขภาพรายเดือนของแม่ๆแต่ละคน
    • ทำกิจกรรม peer support group รายสัปดาห์ พูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ ตัวต่อตัว สภาพจิตใจของแม่ๆ ดีขึ้น รู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ การเห็นคุณค่าและความเชื่อมั่นในตัวเองมีเพิ่มมากขึ้น จากตอนแรกที่เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมีเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้ความรู้และทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก เรียนรู้ทักษะการจัดการอารมณ์ของตนเองก่อนที่จะไปคุยกับลูก ทักษะการจัดการกับปัญหา (problem solving skills)
    • มีคุณแม่สามท่านที่ได้งานทำและได้ย้ายออกไปเช่าบ้านอยู่เองกับลูกๆ มีสองสามคนที่กลับไปอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง
    รูปภาพกิจกรรม

     ภาพ : เจ้าหน้าที่กำลังซื้อผักต่างๆตามรายการที่ได้รับจากแม่ๆที่อยู่ในความดูแลของ FRP

     ภาพ :  เนื้อสัตว์หลากหลายชนิดเราก็จัดซื้อหาให้ตามความต้องการของแม่ๆ และเด็กๆ

     ภาพ : นอกเหนือจากเอาใจใส่เรื่องของกินแล้ว ของใช้เราก็จัดซื้อให้ ไม่ว่าจะเป็นไม้กวาด น้ำยาล้างจาน และอื่นๆ

     ภาพ : บ้านหลังเล็กๆ และพื้นที่ห้องครัวสำหรับคุณแม่และลูกๆ

     ภาพ : เด็กๆไปช่วยแม่ๆ ให้อาหารไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ที่ shelter ของ FRP 

     ภาพ : ของใช้สำหรับเด็กแรกคลอด เด็ก 2-3 ขวบ (ผ้าอ้อมและนมผง)

    Read more
  • Project update > เปิดตา เปิดใจ และเสริมพลังคนพิการ

    กิจกรรมเปิดตา เปิดใจ และเสริมพลังผู้พิการ จำนวน 5 คน

    14 September 2023

    13 มิถุนายน 2566 : ผู้พิการได้เดินทางเข้าพักที่โรงแรมมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ

    14 มิถุนายน 2566 : ผู้พิการร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจกับผู้พิการที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนเด็กพิเศษคุณพ่อเรย์ ซึ่งเป็นครูฝึกอาชีพคนพิการด้านสติปัญญาและออทิสติกซ์ พร้อมทั้งเล่าประวัติความเป็นมาของมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการใหม่อย่างพวกเขาว่าช่องทางการทำงานหรือสังคมคนพิการที่เข้าใจคนพิการการยังมีอยู่ตรงนี้

    จากนั้นได้พาผู้พิิการนั่งรถเดินทางไป 2 เขาพระตำหนักชมวิวเพื่อผ่อนคลาย เดินทางไปทานอาหาร และเดินทางเพื่อไปหาดยินยอมที่มีทางลาดและสวนหย่อมเหมาะสมกับผู้พิการ ทำให้ผู้พิการได้บรรยากาศสดชื่นและได้พูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน และได้เดินทางกลับที่พักเพื่อพักผ่อน

    15 มิถุนายน 2566 : ได้พาผู้พิการเข้าศึกษาดูงานในสถานที่จริงที่มีผู้พิการทำงานอยู่ในรั้วมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ อาทิ ห้องควบคุมการดูกล้อง ซึ่งเป็นห้องระดับควบคุมและประสานงานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ของบริษัทรถน้ำมันและรถบรรทุกที่อยู่ในเครือ เช่น หากตรวจพบการหลับในจะส่งสัญญาณเตือนไปยังรถที่พนักงานที่หลับในทันทีและมีการโทรแจ้งเตือนในขณะเดียวกัน และการรับเรื่องเกี่ยวกับองค์กร และ 1479 สายด่วนคนพิการ ซึ่งการให้ข้อมูลของหัวหน้าทีม 1479 ค่อนข้างดีมากทำให้คนพิการที่ร่วมโครงการเปิดตาเปิดใจในครั้งนี้มีแรงบันดาลใจขึ้นมาก

    ทั้งนี้จากการเข้าไปเรียนรู้งานทำให้ผู้พิการในโครงการมีแรงบันดาลใจแล้ว ผู้พิการที่ทำงาน 1479 มีแรงบันดาลใจด้วยเช่นกัน ดีใจที่ได้ให้ความรู้กับผู้พิการใหม่ที่ยังไม่เคยพบเจอสังคมผู้พิการ จากสิ่งที่ได้จากโครงการนี้ผู้พิการเกิดความรู้สึกประทับใจ และมีความสุขเป็นอย่างมาก

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

     นายวงศธร เตยสิริเศรษฐ์ คุณฮอส ผู้พิการทางด้านสายตา " ผู้พิการทางด้านสายตาก็สามารถใช้การสัมผัส โดยการบอกเล่าจากผู้พิการที่ร่วมโครงการด้วยกัน ทำให้เกิดจิตนาการและรอยยิ้มด้วยเช่นกัน และทำให้ได้รู้ว่าการพักโรงแรมโดยไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ช่วยก็ไม่ใช่อุปสรรคอะไรมากสำหรับการดำเนินชีวิต และจะพยายามศึกษาและใช้เทคโนโลยีที่ทำขึ้นเพื่อผู้พิการทางด้านสายตาให้มากที่สุด และต่อไปอยากเรียนต่อเพื่อจุดประสงค์มีงานทำและอยู่ร่วมกับสังคมให้มีความสุขโดยพึ่งทางบ้านให้น้อยที่สุด "

     นายไพรวัลย์ จิตต์ประเสริฐ คุณไพร ผู้พิการขาผิดรูปทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด " อยู่แต่บ้านเคยทำงานแต่ก็ทำไม่ได้นานเพราะทางบริษัทแค่เอาไปลดหย่อนภาษีเฉยๆ ก่อนที่เข้ามาร่วมโครงการกำลังหางานทำ และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะว่าอยากรู้ชีวิตผู้พิการสังคมคนพิการในรั้วมูลนิธิพระมหาไถ่ที่เคยได้ยินมาจะเป็นอย่างไร จนมาได้สัมผัสสถานที่ที่ผู้พิการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก การบริหารงานที่ผู้พิการมีส่วนร่วม และการทำงานใบบทบาทต่างๆ ของผู้พิการ ในมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะหางานทำที่เหมาะสมกับตัวเองให้ได้ "

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    ผู้พิการและผู้ป่วยผู้พิการที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ออกจากบ้านและทำงานกับสังคมคนพิการ5 คนทำให้ผู้พิการเกิดแรงบันดาลใจและอยากหางานทำโดยพึ่งพาตัวเองได้
    รูปภาพกิจกรรม

       

    Read more
  • Project update > ซื้อข้าวสาร 20 กิโลกรัมให้กับ 1 ครอบครัวผู้ยากไร้

    มอบข้าวสารให้ครอบครัวผู้ยากไร้ 53 ครอบครัว

    14 September 2023

    เจ้าหน้าที่มูลนิธิสันติสุขได้ลงพื้นที่เพื่อนำข้าวสาร 20 กิโลกรัม ส่งมอบให้กับครอบครัวผู้ยากไร้ ครอบครัวที่มีความเป็นอยู่ที่ยากจนลำบากและมีรายได้น้อยใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ เบื้องต้น ได้จำนวน 53 ครอบครัวผู้ยากไร้ ได้แก่เขตพื้นที่

    • เขตพื้นที่คลองเตย                              จำนวน 5 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่วัชรพล                                  จำนวน 10 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่ชุมชนประเวศ ชุมชน 14 ไร่     จำนวน 8 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่สมุทรปราการ                         จำนวน 7 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่สมุทรสาคร                            จำนวน 3 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่สมุทรสงคราม                        จำนวน 7 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่รังสิต                                    จำนวน 5 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา                            จำนวน 4 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่ฉลองกรุง                              จำนวน 2 ครอบครัว
    • เขตพื้นที่มีนบุรี                                    จำนวน 2 ครอบครัว

    ก่อนทำกิจกรรม : ครอบครัวผู้ยากไร้มีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจน มีรายน้อยและมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคงในอาชีพด้วยความเป็นอยู่ที่หาเช้ากินค่ำ เด็กบางคนถูกทอดทิ้งไว้กับคนชรา หรืออาศัยอยู่กับญาติหรือผู้อื่นที่ขาดรายได้ หรืออยู่กับผู้ป่วยและผู้พิการ ที่ไม่สามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ ทำให้ไม่มีต้นทุนในการซื้อข้าวสารเพื่อมาหุงหากินในแต่ละมื้อ

    หลังทำกิจกรรม : ทำให้ครอบครัวผู้ยากไร้ได้รับการแบ่งเบาภาระโดยไม่ต้องซื้อข้าวสารได้อีกหลายเดือน เป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้มากพอสมควรกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และฝืดเคือง พอพยุงให้ครอบครัวได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้ได้รับประทานอาหารได้ครบ 3 มื้อ ไม่ต้องหิวโหยอดมื้อกินมื้อกับการขาดเงินซื้อข้าวอีกต่อไป

    ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

        

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ 
    กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    เด็กและเยาวชน
    • เขตพื้นที่คลองเตย
    • เขตพื้นที่วัชรพล
    • เขตพื้นที่ชุมชนประเวศ ชุมชน 14 ไร่
    • เขตพื้นที่สมุทรปราการ
    • เขตพื้นที่สมุทรสาคร
    • เขตพื้นที่สมุทรสงคราม
    • เขตพื้นที่รังสิต
    • เขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา
    • เขตพื้นที่ฉลองกรุง
    • เขตพื้นที่มีนบุรี
    53 ครอบครัว
    • ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่ยากไร้ในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ลดภาระการซื้อข้าวสาร
    • ช่วยทำให้ครอบครัวผู้ยากไร้ ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
    • ช่วยให้คุณลักษณะชีวิตเด็ก
      ที่ยากไร้เหล่านั้นไปในทางที่ดีขึ้น

    รูปภาพกิจกรรม

          

    Read more