project สัตว์

ช่วยชีวิตช้างไทย ซารางเฮโย

ร่วมต่อลมหายใจให้ช้าง สัตว์คู่บ้านของไทยที่เหลือเพียง 5,000 เชือก ด้วยการสนับสนุนเงินให้โรงพยาบาลช้างเพื่อรักษาช้างที่เจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ หรือถูกทารุณ ก่อนที่จะไม่มีช้างให้รักษาอีกต่อไป

ระยะเวลาโครงการ 6 เดือน พื้นที่ดำเนินโครงการ ภาคเหนือ

ยอดบริจาคขณะนี้

39,280 บาท

เป้าหมาย

200,000 บาท
ดำเนินการไปแล้ว 20%
จำนวนผู้บริจาค 45

สำเร็จแล้ว

ที่มา/ความสำคัญโครงการ :

ช้างเป็นสัตว์คู่บ้าน คู่เมืองของไทยที่สุ่มเสี่ยงเข้าใกล้คำว่าสูญพันธุ์มากขึ้นทุกที จากที่เคยมีช้างเป็นแสนเชือก ทุกวันนี้ประชากรช้างเหลืออยู่แค่ 5,000 เชือกเท่านั้น เรียกว่าลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายเลยทีเดียว

ในจำนวนช้างที่มีอยู่น้อยนิดนี้ก็เป็นช้างป่วยที่เกิดจากโรคที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน ถูกรถชน ตกท่อ โดนยิง ตกเขา เหยียบกับระเบิด หรือถูกลักลอบตัดงา

 


เจ้าของมักไม่พาช้างมารักษาตั้งแต่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เพราะกลัวเสียรายได้ แต่จะพามารักษาเมื่อช้างทำงานไม่ไหว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็อาจสายเกินไปแล้ว หรือเมื่อพบว่าค่ายาราคาแพง รักษาไปก็ไม่คุ้มเพราะอาจกลับไปทำงานไม่ได้ ช้างก็จะถูกปล่อยปละละเลย เจ้าของบางรายไม่รู้ว่าจะพาไปรักษาที่ไหน ปล่อยให้ช้างนอนรอความตายอยู่ข้างถนนก็มี

 



มูลนิธิเพื่อนช้าง จึงได้สร้างโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลกขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อรักษาและเลี้ยงดูช้างป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาลช้าง เป็นการรักษาให้ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

โรงพยาบาลช้างอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของประชาชนล้วนๆ ไม่ได้เป็นหน่วยงานสังกัดองค์กรรัฐหรือหน่วยงานเอกชนใดๆ จึงไม่มีเงินสนับสนุนอื่นๆ นับเป็นการทำงานที่อุทิศตัวให้กับช้างจริงๆ โดยในแต่ละปีต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท ในการดูแลรักษาช้าง

ตั้งแต่ปี 2536 - 2554 โรงพยาบาลช้างได้ช่วยต่อลมหายใจให้ช้างมาแล้วถึง 3,569 เชือก

สาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลแพงเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ต้องใช้ยาประมาณร้อยเท่าของคน อย่างยาเบตาดีนขวดเล็กๆ ที่คนเราใช้ได้ค่อนข้างนานนั้น สำหรับโรงพยาบาลช้างในแต่ละวันต้องใช้เป็นแกลลอนเลยทีเดียว การเติมน้ำเกลือหรือสารอาหารเหลวทางเส้นเลือดสำหรับช้างต้องใช้น้ำเกลือขนาด 1 ลิตร ประมาณ 20-25 ขวด กลูโคสกว่าร้อยขวด รวมทั้งวิตามินต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งจึงจะเพียงพอสำหรับช้างหนึ่งตัว

 



ช้างเชือกหนึ่งหนักประมาณ 35 ตัน แต่ละวันช้างจะกินอาหารประมาณ 8-12 % ของน้ำหนักตัว  ซึ่งถือว่ามากทีเดียว จึงทำให้ต้นทุนในการดูแลค่อนข้างสูงมากๆ

ช้างส่วนใหญ่ที่เข้ามาขอรับการรักษามักมีอาการที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน บางรายต้องอยู่รักษาตัวเป็นปี ยิ่งไปกว่านั้นช้างเหล่านี้หากรักษาเสร็จแล้วแต่พิการ เจ้าของไม่เอากลับ ทางโรงพยาบาลก็จะดูแลต่อไปในโครงการ "บ้านหลังสุดท้ายของช้าง"

 



หากไม่มีโรงพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือรักษาช้างเหล่านี้ อีกไม่นาน "ช้าง" ในประเทศไทยคงเหลือเพียงตำนาน องค์กร Traveler's MAP และกลุ่ม Play Planet ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จากเกาหลีที่สนใจพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้รับรู้ถึงปัญหาที่ช้างไทยกำลังเผชิญ  จึงริเริ่มโครงการระดมเงินทุนช่วยช้างไทยตั้งแต่ปี  2554 มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ชาวเกาหลีที่สนใจได้มาสัมผัสวิถีชีวิตของช้างไทยอย่างใกล้ชิด

การระดมเงินของ  Play Planet  ได้รับการตอบรับอย่างดีในเกาหลี ทั้งจากประชาชนและสื่อต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนและนำโครงการไปเผยแพร่ เพียงไม่กี่เดือน องค์กร Traveler's MAP และกลุ่ม Play Planet ก็สามารถระดมเงินบริจาคออนไลน์มาช่วยสนับสนุนการรักษาช้างของมูลนิธิเพื่อนช้างในเมืองไทยได้ถึง 4,949,200  วอน (132,518บาท)

น่าดีใจที่ชาวต่างชาติยังเห็นคุณค่าและร่วมกันช่วยเหลือช้างไทย แล้วพวกเราชาวไทยจะไม่ช่วยกันสนับสนุนโครงการดีๆ แบบนี้หน่อยเหรอ?

 

 

ประโยชน์ของโครงการ :

สนับสนุนโรงพยาบาลช้าง ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ค่ายา ค่าผ่าตัด ค่าอุปกรณ์ขาเทียม ฯลฯ เพื่อรักษาช้างที่เจ็บป่วย รวมถึงเป็นค่าอาหารของช้างที่พักรักษาตัว และช่วยเหลือช้างให้มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ให้ช้างต้องเสี่ยงกับการบาดเจ็บจากการใช้งานหรือถูกรถชน

กิจกรรมที่จะดำเนินโครงการ :

การระดมทุนเพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลช้าง มูลนิธิเพื่อนช้าง (Friends of the Asian Elephant) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เลขทะเบียนมูลนิธิ กท. 273

สมาชิกภายในทีม :

Play Planet (Korea) มีผู้ประสานงานหลักของโครงการ นามว่า ซัน (Sun Mi Seo) สาวเกาหลีหัวใจสีเขียวที่เชื่อมั่นว่าทุกคนร่วมกันปกป้องธรรมชาติบนโลกใบนี้ได้

แวะเยี่ยมชนเว็ปไซต์ของ  Playplanet  ได้ที่ www.letsplayplanet.com  

ไม่มีข้อมูล

แผนการใช้เงิน

รายการราคารวม (บาท)
ค่ารักษาพยาบาล

100,000

ค่าอุปกรณ์การแพทย์50,000
ค่าอาหาร50,000