ฟังแอ๋ม-ศิริพร ผู้ริเริ่ม "คลองเตยตีจังปันกันอิ่ม" เล่าส่วนผสมสำคัญในการฝ่าฟันทุกวิกฤต

At 6 October 2021

 คุณแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ เป็นหนึ่งในคนที่ทำให้เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มว่า “คนไทยเก่งจริงๆ” เพราะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความใส่ใจ และ ความจริงใจในการทำงานของเธอที่มีต่อชุมชนคลองเตยในช่วงการระบาดรอบแรกของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ จนเราอดไม่ได้ต้องนำเรื่องราวของเธอคนนี้และโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” มาเล่าสู่กันฟัง

คุณแอ๋มและหนุ่มน้อยจากชุมชนคลองเตย


โควิดทำพิษ งานประจำปีล่มไม่เป็นท่า

คุณแอ๋มเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ก่อตั้ง Music Sharing หรือกลุ่มครูดนตรีอาสาในชุมชนคลองเตย ซึ่งโดยปกติแล้วในเดือนเมษายนของทุกปี คุณแอ๋มจะจัดเทศกาลคลองเตยดีจัง ให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มาแสดงดนตรีร่วมกับศิลปิน ซึ่งเป็นเทศกาลที่เด็ก ๆ ทุกคนต่างรอคอย แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด 19 จนไม่สามารถจัดงานได้ ทางทีมคลองเตยดีจังก็ไม่นิ่งเฉยและคุยกันว่า จะสามารถทำอะไรได้บ้างในช่วงโควิด ซึ่งสุดท้ายเธอก็ได้รับทุนก้อนเล็กๆจากทาง สสส. เพื่อทำโครงการช่วยเหลือชุมชน

ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”


นักสำรวจข้อมูลจำเป็น 

คุณแอ๋มเชื่อว่าการมีข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับพื้นที่และความเดือนร้อนที่ชุมชนได้รับจริงๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานช่วยเหลือพวกเขา

“ก่อนเริ่มงาน เราต้องสำรวจก่อนว่าชุมชนได้รับผลกระทบจริงไหม มีจำนวนคนเท่าไหร่ คนตกงานกี่คน คนแก่กี่คน ผู้พิการกี่คน เพื่อที่จะได้ให้ความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด เพราะทรัพยากรเรามีน้อย เราเลยลงทุนกับการเดินไปสำรวจทุกบ้าน เคาะทุกหลังคาเรือน เพื่อตรวจสอบว่าประชากรมีเท่าไหร่"

"หลังจากนั้นเราค่อยทำแผนผังทุกหลังคาเรือน ซึ่งเราทำฐานข้อมูลได้ 95% ถ้าโควิดกลับมาอีกครั้งเราจะรู้เลยว่าบ้านหลังนี้มีคนกี่คน และเคาะตัวเลขได้เลยว่าชุมชนนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง” คุณแอ๋มแบ่งปันเคล็ดลับ

ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”


ทำไมต้องเป็นคูปอง?

แต่เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว โรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็สร้างเงื่อนไขในการทำงานหลายข้อ

ข้อแรกคือเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งทำให้คุณแอ๋มและทีมไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้ตลอดเวลา และต้องคิดระบบเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการและดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

เงื่อนไขข้อที่สองคือปัญหาคนในชุมชนตกงาน ทำให้รายได้ของร้านค้า ร้านอาหารในชุมชนหายไป ซึ่งคุณแอ๋มชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจจะหลงลืมนึกถึงไปว่า “เวลาที่เราซื้อของไปบริจาค เรามักซื้อจากบริษัทใหญ่ เงินมันก็ไหลขึ้นข้างบน เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้คนในชุมชนมีรายได้หมุนเวียนนี้ด้วย คือแทนที่จะเอาเงินมาเติมแล้วมันขึ้นข้างบน ก็ให้เงินมันไหลเวียนในชุมชน”

โจทย์ที่สามคือเรื่องปัญหาข้าวกล่องที่คนกินไม่ทัน เธอเล่าจากประสบการณ์ตรงที่เจอมาว่า บางกรณีข้าวบูดก่อนมาถึงมือคนในชุมชน “เค้าต้องรีบกินภายในหนึ่งชั่วโมง ถ้ากินไม่ทันก็ต้องทิ้ง เราก็เสียดายทรัพยากร”

ด้วยเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ เธอจึงขอคำปรึกษาจากทางเครือข่ายพุทธิกาที่มีการทำคูปองอาหารอยู่แล้ว เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบร่วมกับเทใจ จนสามารถพลิกเทศกาลคลองเตยดีจัง มาเป็นโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม” ที่นำเงินจากการระดมทุนมาอุดหนุนร้านอาหารเล็กๆในชุมชนคลองเตยผ่านระบบคูปอง และคูปองเหล่านี้จะถูกนำไปแจกให้แก่คนในชุมชน เพื่อใช้แทนเงินซื้ออาหารเมื่อต้องการ ซึ่งต้องถือว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ และใส่ใจในระบบนิเวศน์ของชุมชนอย่างแท้จริง

ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”


ผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ ชื่นใจถ้วนหน้า

โครงการคลองเตยดีจังปันกันอิ่ม ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและสามารถระดมทุนได้เกือบ 2 ล้านบาทภายในเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งเมื่อถามถึงความรู้สึกต่อตัวเลขเจ็ดหลักนี้ คุณแอ๋มหัวเราะเสียงใสและยอมรับว่าตกใจไม่น้อย

“ตอนแรกเราตั้งธงว่าอยากจะระดมทุน 5 แสนบาทภายในเวลาหนึ่งเดือน แต่เราได้ยอดตามเป้าภายใน 3 วัน ทำให้มีการขยับเป้าหมายเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่ขยายโครงการ ก็ได้รับบริจาคถึงเป้ารวดเร็วทุกครั้ง”

เงินบริจาคอย่างล้นหลามทำให้ความช่วยเหลือนั้นเท่าทวีคูณ

“จากที่เราเคยทำงานแค่กับชุมชนเดียว ตอนนี้มีถึง 11 ชุมชนที่เราช่วยส่งถุงยังชีพ และค่าใช้จ่ายคูปองให้ เราช่วยเหลือได้เกือบหมื่นคน ซึ่งคนในชุมชนต่างชื่นชมว่าเราสามารถช่วยเหลือได้อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ถามว่าเราเอาเงินมาจากไหน ซึ่งจริงๆเราไม่มีเงิน (หัวเราะ) ไม่มีต้นทุนเลย เราแค่ช่วยเชื่อมผู้บริจาคกับคนในชุมชนให้มาเจอกัน จัดระบบเพื่อให้ความต้องการของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคตรงกัน และให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้ผู้บริจาคเข้าใจสภาพในชุมชน”


ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”

“มวยวัดโมเดล” ทำงานจริง โดนด่าจริง

คุณแอ๋มเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้เธอระดมทุนได้สำเร็จคือสิ่งที่เธอเรียกว่ามวยวัดโมเดล ซึ่งคือการคิดแล้วทดลอง หากทดลองแล้วไม่สามารถใช้ได้จริง ก็คิดใหม่และทดลองใหม่

“หลายคนอยากช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก่อน แต่พอลงพื้นที่จริง กลับถูกชุมชนด่าเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นคนวัยทำงาน ที่ต้องแบกรับภาระหาเงินมาดูแลทั้งครอบครัว แต่อย่ากลัวการถูกด่า ต้องรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน แล้วเราจะได้ข้อมูลใหม่เพื่อมาปรับการทำงาน” คุณแอ่มเล่า

อีกปัจจัยสำคัญที่นักขับเคลื่อนสาวเน้นย้ำคือความโปร่งใสและความจริงใจในการทำงาน

“คลองเตยไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่โตที่มีแผนพีอาร์อะไร แต่เราอาศัยว่าเราทำงานจริง และอาสาสมัครมาเจอและได้รับประสบการณ์ตรง แล้วก็ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ต่อให้” เธอแชร์เคล็ดลับในการทำงานให้เราได้ฟัง

ภาพจากโครงการ “คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม”


เรื่องเล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่

แม้โครงการที่เธอริเริ่มมาเองกับมือจะสร้างผลกระทบทางสังคมอย่างกว้างขวาง แต่แอ๋มเข้าใจดีว่าความสำเร็จครั้งนี้อาศัยความร่วมมือและน้ำใจจากคนอีกมากมาย

“องค์กรเราเล็กมาก แต่เราสามารถทำงานใหญ่ได้ขนาดนี้เพราะความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริจาค คนบริหารจัดการ และอาสาสมัคร เพราะฉะนั้น เรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราช่วยกันทำ อย่าคิดว่ามันเล็กน้อย เรื่องเล็กน้อยนี่แหละ มันต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพใหญ่ เคลื่อนขบวนใหญ่ และแก้ปัญหาโครงสร้างระดับใหญ่ได้”

หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณแอ๋มแล้ว จึงได้ข้อสรุปที่ว่า เมื่อความความคิดสร้างสรรค์ ความใส่ใจ และความจริงใจของคนคุณภาพอย่างคุณแอ๋ม ได้รับความสนับสนุนจากน้ำใจของคนไทยแล้วนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาช่างเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับประเทศของเราจริงๆ