project เด็กและเยาวชน

Art Therapy ศิลปะรักษาใจ

พาเด็กๆ ไปสัมผัสธรรมชาติและจินตนาการไร้ขีดจำกัดผ่านค่าย Art Therapy ศิลปะรักษาใจ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กที่เคยพบเจอเรื่องราวเลวร้ายในอดีตให้กลับมาฝันถึงอนาคตที่สดใส

Duration 1 เดือน Area กรุงเทพ

Current donation amount

20,601 THB

Target

20,000 THB
ดำเนินการไปแล้ว 103%
จำนวนผู้บริจาค 12

สำเร็จแล้ว

Project updates

ความประทับใจของเด็กในค่าย

4 November 2013

โครงการศิลปะรักษาใจ ออกพื้นที่ชุมชนบ้านหนองบัวน้อย  ต.กระทุ่มราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา จำนวน 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มีความประทับใจของเด็กๆ อย่างหลากหลายในการเข้าค่ายครั้งนี้  เรามาฟังเสียงจากเด็กๆ กันค่ะ

 
เด็กหญิงอายุ 11 ปี : 
“ตอนแรก หนูไม่อยากมาค่ายหรอกนะ แต่ตอนนี้ไม่อยากกลับ ขอบคุณน้องๆ และเพื่อนที่มาในค่าย ชอบเล่นกัน และชอบกิจกรรมในค่าย บางครั้งก็มีทะเลาะกันนิดหน่อย แต่ก็แค่นิดเดียว อยากขอบคุณพี่เจ้าหน้าที่ เพื่อนทุกคนที่เป็นกำลังใจร่วมกันและช่วยเหลือกันในค่าย  ขอชื่นชมเพื่อนที่ตั้งใจทำงานและผลงานของเพื่อนก็ดีเพราะศิลปะไม่มีผิดมีถูกอยู่แล้ว ”
 
เด็กหญิง อายุ 10 ปี : 
“ประทับใจที่ตัวเอง (หัวเราะ อาย) ที่ตัวเองวาดและเขียนหนังสือสวย ถึงแม้ว่าจะไม่สวย ระบายออกนอกเส้น วาดไม่เป็น วาดได้แบบนี้  ก็ให้กำลังใจตัวเอง มันก็สวยอยู่นะพี่  หนูก็พอใจสิ่งแบบนี้นะคะหนูวาดไม่เป็น ที่มาค่ายนี้หนูประทับใจทำขนมเพราะว่าหนูชอบทำเองและชอบกินด้วย”
 
เด็กหญิง อายุ 13 ปี : 
“หนูมีความสุขดี แล้วก็นก ชอบวาดนกตัวนี้มากที่สุด ชอบกวนพี่ๆเขา หนูมีความสุขดี ครั้งนี้หนูก็ล้างจานให้น้องๆทุกคน มีความสุขดีจ้ะ  บางคนก็ดื้อก็เล่นด้วยกัน กลางคืนก็นอนมีความสุข อากาศที่นี่หนาวมาก ที่นาก็มีข้าวขึ้นเต็มเลย อยากเห็นข้าวโตไวๆ ที่นี่อุดมสมบูรณ์มากอยากมาอีก  ขอบคุณทุกคนค่ะ”
 
เด็กหญิง อายุ 9 ปี : 
“ประทับใจที่เรื่องวัด แล้วก็เรื่องหลวงพ่อที่ขำด้วย ขำไปขำมาก็ตรวจงานให้หนูด้วย ขำเรื่องฟันหลวงพ่อหักหมด (หัวเราะชอบใจ) หลวงพ่อสอนเรื่องสมุนไพรและเรื่องยารักษาโรคต่างๆ ในค่ายนี้รู้สึกประทับใจเรื่องนาข้าว มันทำให้หนูรู้สึกสนุกมาก ให้นาข้าวโตๆ อยากฝากบอกผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนให้พวกเรามาทำกิจกรรมค่ายว่า หนูรู้สึกมีความสุขและขอบคุณมากที่ให้เรามีค่ายดีๆ แบบนี้ และอยากให้มีอีกค่ะ”
 
เด็กๆ ต่างก็ได้รับทั้งความสนุกสนาน ความเข้าใจในศิลปะและธรรมชาติ ความสามัคคี และอื่นๆ อีกมากมาย และก็อยากให้จัดค่ายศิลปะรักษาใจแบบนี้ขึ้นอีก นับว่าเป็นความสำเร็จไม่น้อยในกิจกรรมที่ร่วมสร้างสรรค์จินตนาการควบคู่กับธรรมชาติให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสมบูรณ์ : )
Read more »
See all project updates

ที่มา/ความสำคัญโครงการ :

 

 

น้องเอวัยเจ็ดขวบและน้องบีวัยหกขวบ สองพี่น้องคู่นี้ถูกทารุณกรรม ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายบาดเจ็บสาหัสแล้ว ผลจากการโดนทำร้ายอย่างหนักทำให้น้องทั้งสองมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง และมีปัญหาในการสร้างความคุ้นเคยกับผู้อื่น  นอกจากนี้น้องบียังมีปัญหาเรื่องการพูดไม่ชัด ส่วนน้องเอก็ปรับตัวเข้าหาผู้อื่นยาก และชอบเลือกทานอาหาร หลังจากได้รับการรักษาทางร่างกายจากโรงพยาบาลแล้วน้องเอและน้องบีถูกส่งตัวมาที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและบำบัดฟื้นฟูตัว
 
แรกๆ น้องเอและน้องบีเข้ารับการบำบัดด้วยศิลปะแบบตัวต่อตัว จนเมื่อสามารถควบคุมตัวเองได้พอสมควรก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายศิลปะของทางมูลนิธิทำให้น้องๆ ทั้งสองคนนี้สามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น พร้อมเป็นมิตรกับคนรอบข้าง มีน้ำใจ แบ่งปันขนมและอาหารให้เพื่อนๆ ได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ รอบด้าน ทำให้เกิดความสุขและผ่อนคลาย นอกจากนี้การเห็นแบบอย่างของพ่อ แม่ ลูก ที่รักใคร่กันอย่างอบอุ่นจากครอบครัวเพื่อนๆ ทำให้เด็กได้เรียนรู้รูปแบบครอบครัวที่ไม่ใช้ความรุนแรง และหันกลับมาเสริมสร้างความ สัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องด้วยกัน  รู้จักการเข้าสังคมที่เหมาะสมกับเพื่อนคนอื่นๆ ในค่าย และกับคนใหม่ๆ ในชุมชนได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

 

จากเรื่องราวของน้องๆ ทั้งสองคนจะเห็นว่าเด็กๆ ที่ถูกกระทำทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ว่าเหตุการณ์การโดนทำร้ายจะผ่านไปแล้ว แต่สิ่งเหล่านั้นยังคงส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์และยังสร้างความเจ็บปวดทุกข์ใจให้กับเด็กๆ มากมายเหลือเกิน มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งตอนนี้มีน้องๆ อยู่ในความดูแล 18 คน คุ้มครองเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี ทั้งเด็กถูกทำร้ายทารุณ ถูกล่วงเกินทางเพศ ถูกล่อลวงบังคับให้ค้าประเวณี ถูกใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และถูกลักพา เป็นต้น  มูลนิธิได้พยายามค้นหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อบำบัด ฟื้นฟู ให้เด็กๆ เหล่านี้กลับมามีชีวิตแบบปกติ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกเหนือจากการดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว

 

 

ทางมูลนิธิยังเห็นถึงความสำคัญของการบำบัดเยียวยาอารมณ์และจิตใจ จึงได้นำศิลปะเข้ามาบำบัดน้องๆเหล่านี้ให้พ้นสภาวะวิกฤติ และยังช่วยพัฒนาเด็กๆ ทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม โดยมีกิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นให้กับเด็กๆ เช่น กิจกรรมศิลปะรายเดี่ยวและกลุ่ม นิทรรศการศิลปะบริสุทธิ์ และค่ายศิลปะรักษาใจ


นอกจากนี้ยังมีค่ายสร้างเด็ก หนึ่งในกิจกรรมที่มูลนิธิพยายามใช้ศิลปะบำบัด โดยสอดแทรกเรื่องราวของธรรมชาติ และการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนเข้าไปด้วย ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยการดึงเอาธรรมชาติ หรือวิถีชีวิตชุมชนมาไว้ในผลงานของพวกเขา ซึ่งนอกจากจะช่วยบำบัดฟื้นฟูสภาวะของเด็กๆ ที่ถูกทารุณกรรมแล้ว ยังทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะดูแลธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติอย่างไม่ทำลาย รวมทั้งได้เรียนรู้วิถีของชาวบ้านในชุมชนที่ไม่ใช่ชุมชนเมือง  ทั้งนี้หากน้องๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปะอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถเยียวยารักษาจิตใจให้เป็นปกติและมีความสุขได้

 

ประโยชน์ของโครงการ :

1.    เด็กที่ถูกทารุณกรรมได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถพ้นสภาวะวิกฤติ ซึ่งความเจ็บปวดทุกข์ใจ ความเศร้า ความเครียด หรือสภาวะทางสุขภาพจิตต่างๆ ที่เกิดจากการถูกทารุณกรรมลดลง
2.    เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะได้รับการพัฒนา ด้าน อารมณ์จิตใจและสังคม ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

กิจกรรมที่จะดำเนินโครงการ :

ค่ายสร้างเด็ก จำนวน 1 ครั้ง : ครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม 56

กิจกรรมในค่าย
•    กิจกรรมสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม
•    การสอนเทคนิคการทำงานศิลปะโดยใช้ธรรมชาติเป็นสื่อ
•    การเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อการศึกษาในเชิงอนุรักษ์
•    กิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ(ไม่จำกัดรูปแบบ)

สมาชิกภายในทีม :

นางสาวสายใจ  ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัดของมูลนิธิฯ ผู้ซึ่งจบการศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ จาก สถาบันราชภัฏนครราชสีมา แต่มีใจรักและมีพรสวรรค์ในงานศิลปะ จึงมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานกับเด็กๆที่ถูกทารุณกรรมของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเธอได้พยายามเรียนรู้โดยการไปเข้าคอร์สต่างๆ เพื่อให้เธอสามารถทำงานศิลปะบำบัดให้กับเด็กๆ ได้อย่างดี และในฐานะของนักศิลปะบำบัด สำหรับสายใจแล้วการทำงานที่นี่ไม่ใช่แค่ครูสอนศิลปะ แต่มันคือการสร้างชีวิตใหม่ให้กับเด็กๆ 

ภาคี :

-

ออกเดินทางสู่ค่ายศิลปะรักษาใจ

1 November 2013

ออกเดินทางสู่จุดหมาย

เด็กๆ ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจัดกิจกรรม จำนวนกว่า 15 คน  เดินทางไป “ค่ายศิลปะรักษาใจ” ซึ่งเป็นค่ายศิลปะที่เรียนรู้วิถีชีวิต การพึ่งพาตนเอง พึ่งพิงธรรมชาติ ที่ชุมชนบ้านหนองบัวน้อย  ต.กระทุ่มราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา หมู่บ้านเล็กๆ 60 หลังคาเรือน  รายรอบด้วยผืนป่าชุมชนที่สงบกว่า 150 ไร่ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีเอื้อเฟื้อต่อกัน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ว่างจากการเก็บเกี่ยวจะปลูกผัก ทอผ้า ทอเสื่อ จักรสาน เผาถ่าน หาอาหารจากป่าจากนาจำหน่ายในชุมชนกันเอง เพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวแบบวิถีชนบท
เมื่อถึงที่หมาย เด็กทักทายผู้ใหญ่ที่รอต้อนรับ ล้อมวงรับประทานอาหารกลางวัน หลังจากนั้นแยกย้าย เก็บสัมภาระ เด็กๆต่างช่วยกันเก็บกวาดดูแลความสะอาดและจัดเตรียมที่พักด้วยตัวเอง  
 
สมาชิกของค่าย
เด็ก 10 คนซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ เพราะมีสภาวะบางอย่าง เช่น พัฒนาการด้านสติปัญญาล่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติ การเรียนรู้บกพร่อง สมาธิสั้น ความเจ็บป่วยด้านจิตเวช  
 
รูปแบบกิจกรรม
กิจกรรมหลัก ได้แก่ การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน การเรียนรู้ธรรมชาติ และถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ   แต่ด้วยเหตุที่กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นรูปแบบการจัดกิจกรรมจึงเน้นให้เวลาและโอกาสในการเรียนรู้อย่างละเอียด ตอบสนองพัฒนาการเด็ก เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส ลดสิ่งเร้า นอกจากนี้กิจกรรมยังเน้นให้เด็กได้ฝึกการสังเกต เรียนรู้จากของจริง และมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริง
กิจกรรมค่าย
วันแห่งการเริ่มต้น...สัมผัสท้องทุ่ง
   “..แท็ก แท็ก แท็กๆๆๆ..”
   เสียงรถอีโก้ง หรือรถไถนาที่ต่อพ่วงท้ายเป็นที่นั่ง ดังขึ้น เด็กๆตื่นเต้น ต่างปีนป่ายจับจองที่นั่ง หอบหิ้วอุปกรณ์เพื่อไปทำกิจกรรมที่ปลายนา  ตลอดเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขังบนถนน ทำให้รถไถนาทั้งบุกทั้งลุยน้ำกระเซ็น ทุ่งนาที่เงียบเหงาจึงสดใสด้วยเสียงหัวเราะตื่นเต้นสนุกสนานของเด็กๆ  
ไม่นานเราก็มาถึงจุดหมาย ทุ่งนากว้างใหญ่เขียวขจี ต้นข้าวกำลังออกรวงลู่ลมส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ เด็กหลายคนตื่นเต้นระคนกลัวตกน้ำ กลัวหญ้าทิ่มขา เราจึงได้เห็นภาพเด็กและผู้ดูแลเดินช้าๆ จูงมือกันเป็นทิวแถวตามคันนา
    และเมื่อเด็กๆ มาถึงกระท่อมน้อยปลายนา ก็ปูเสื่อนั่งกับพื้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้เด็กๆทุกคนช่วยกันกำหนดข้อตกลงในการใช้ชีวิตร่วมกันในค่าย  ทุกคนต่างก็พยายามที่จะยกมือเพื่อเสนอความคิดเห็น กติกาที่เหล่าสมาชิกตัวน้อยได้ตั้งขึ้น ได้แก่ การตั้งใจทำกิจกรรม การพูดจาดีๆ กับเพื่อน  มีขอบเขต ควบคุมตนเอง มีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปันกัน มีมารยาท เคารพผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนชุมชน  และไม่ทำลายธรรมชาติ
   หลังจากนั้นพี่ๆ ก็เปิดโอกาสให้น้องๆ เดินสำรวจพื้นที่ เมื่อมีข้อสงสัย ก็มาตั้งคำถามกับคุณลุงสังคม ศรีลิ้ม ครูชาวนาของเรา เด็กหลายคนไม่รู้จักหรือเคยเห็นต้นข้าวมาก่อน และไม่รู้ว่าข้าวสวยที่เขากินอยู่ทุกวันมีที่มาอย่างไร ซึ่งครูชาวนาของเราก็ได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ขั้นตอนกระบวนการทำนา และยังสอนวิธีหาอาหารจากท้องนา ได้แก่ การปักเบ็ดหาปลา หรือหากบ ซึ่งเด็กก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่การหาเหยื่อ ซึ่งก็คือไส้เดือน จนถึงวิธีการปักเบ็ดเลยทีเดียว 
   
   ระหว่างรอปลาติดเบ็ด   ก็เป็นช่วงเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กๆ พวกเขาต่างเลือกจับจองที่นั่งตามมุมต่างๆ บางคนอยู่ใต้ต้นไม้ บางคนนั่งบนคันนา แต่ก็อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน และเลือกหาอุปกรณ์ศิลปะตามต้องการ  กิจกรรมนี้เรามีวิทยากรมาให้กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะให้กับเด็กๆ คือ คุณศักดา คุ้นเคย ครูศิลปะธรรมชาติ  เด็กๆ ถูกสอนให้นำใบไม้ตัดเป็นช่องเล็กๆเพื่อเปิดมุมมองในโลกในการทำงานศิลปะ เด็กมีโอกาสในการเลือกขนาดใบไม้ที่ชอบ เลือกมองดูมุมที่รู้สึกถูกใจ การให้อิสระในการทำงานช่วยสร้างตัวตนที่เข็มแข็งแก่เด็กๆ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเด็กได้มีโอกาสตัดสินใจ เลือก ทำด้วยความสุข  ผลงานจึงเต็มไปด้วยความมั่นใจในแบบที่ตนเองทำได้  มีความสุข มีความงามที่เป็นอิสระ แตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง
 
วันที่สอง...เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว
   เช้าวันใหม่ กับสายฝนพรำๆ  กิจกรรมเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ สมุนไพร ที่ป่าชุมชนและวัด  ทำให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรใกล้ตัว จากพระอาจารย์กิ่ง อินทญาโณ  เจ้าอาวาสวัดหนองบัวน้อย  ที่สอนให้เด็กได้เรียนรู้สมุนไพรใกล้ตัว  เรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่จริงในวัดเช่น ใบหูเสือแก้ไอ มะกรูดดับกลิ่น ยาเส้นแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย  เป็นต้น  เด็กๆได้รู้จักสมุนไพรใกล้ตัวซึ่งพวกเขาอาจจะนำมาใช้ในอนาคตได้ แต่เข้าวัดแล้ว หากเด็กๆ ไม่มีคำถามเรื่อง ผี นรกสวรรค์ คงเป็นไปไม่ได้ พระอาจารย์จึงต้องตอบข้อซักถามมากมายทีเดียว นอกจากนี้แล้วพระอาจารย์ยังได้แนะนำสั่งสอนในเรื่องการประพฤติปฏิบัติตน เช่น อยากเป็นคนแบบไหนที่ทำให้คนรัก  ทำอย่างไรให้ตนเองเป็นเด็กดีที่สุภาพ ว่านอนสอนง่าย พูดจาไพเราะ กับทุกคน โดยพระอาจารย์เปรียบเทียบกับการที่เด็กเล่นกับเจ้าหมาน้อยที่อยู่ในวัด ว่าเด็กๆเองยังชอบเล่นกับหมาที่ดี และไม่ชอบเล่นกับหมาที่ดื้อ หรือ ดุ ซึ่งทำให้เด็กสามารถคิดเชื่อมโยงได้ดีทีเดียว 
   และด้วยความตั้งใจและน่ารักของเด็กๆ พระอาจารย์ยังเมตตาให้เด็กกินขนมที่ได้รับบาตรมาเมื่อเช้าด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ในช่วงต่อไป 
การเดินป่าศึกษาธรรมชาติเริ่มต้นขึ้นช่วงสายๆ แต่อากาศไม่เป็นใจ สายฝนบางๆ โปรายปรายลงมา แต่ก็ยังโชคดีที่มีต้นไม้หนากำบังฝนให้  แต่เมื่อลุยมาจนถึงป่าแล้ว ฝนตกยังไงเด็กๆ ก็ไม่ถอย เพราะดอกไม้ป่านั้นช่างมีเสน่ห์ยวนใจเหลือเกิน ไหนจะได้ลิ้มรสลูกไม้ป่าหวานหอมอีก พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน การหาเห็ดก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เด็กๆ พยายามทำ สิ่งเหล่านี้สร้างความตื่นเต้นไม่น้อยให้กับเด็ก ๆ แต่สมาชิกของเราบางคนก็กลัวจะหลงป่า ก็เลยเดินใกล้ๆ พยายามดูแลกันและกัน เรียกหากันด้วยความห่วงใย ภาพความประทับใจของการดูแลกันและกันจึงเป็นภาพความทรงจำที่ติดอยู่ในใจของสมาชิกทุกคน 
   
   ตกบ่ายพระอาทิตย์ยังคงหลับใหล ฝนตกตลอดทั้งวันเพราะมรสุมเข้า  โปรแกรมขนมไทยสบายๆที่บ้านจึงเหมาะอย่างยิ่ง  เด็กๆ มารวมตัวกันใกล้ๆ เตาถ่านอุ่นๆ ของคุณยายบุญส่ง ศรีลิ้ม ครูชาวบ้านสอนทำขนมไทย เด็กๆ ช่วยคุณยายเตรียมใบตอง นำใบตองอิงไฟอุ่นให้หอมบนเตาถ่าน เรียงใบตอง ต่อจากนั้น ก็มาผัดข้าวเหนียว เด็กๆ ได้เรียนรู้การกะปริมาณส่วนผสมว่าจะใส่ข้าวเหนียว น้ำกะทิ และถั่วลิสง เท่าไรเพื่อให้รสชาดกลมกล่อม หลักจากผัดข้าวเหนียวเสร็จ ก็มาปลอกกล้วยสำหรับทำไส้ข้าวต้มมัด เสร็จจากปอกกล้วยข้าวเหนียวก็อุ่นพอดีที่จะห่อได้  ขั้นตอนนี้เด็กๆ สนุกกันใหญ่ การกะปริมาณข้าวเหนียวแต่ละห่อโดยใช้ช้อนตักข้าวเหนียว เอากล้วยวางลงไปบนใบตอง ห่อโดยจับจีบหัวท้าย และมัดตอก ตอนนี้เด็กๆ ก็ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือในการกด มัด หมุน และเหน็บ หลังจากนั้นก็ตัดแต่งด้วยกรรไกรอีกเล็กน้อย การห่อข้าวต้มมัดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสมาชิกตัวน้อยของเรา แต่ความพยายาม ความตั้งใจมีอยู่เต็มเปี่ยม  และไม่ท้อ ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้นตามลำดับ  แต่ข้าวต้มที่ห่อออกมาจึงไม่สวยงามอย่างที่เราเห็นในท้องตลาด มีทั้งเล็กกระจิ๋ว ใหญ่เป้ง แต่กระนั้นยายบุญส่งยังให้กำลังใจว่ายิ่งทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ก็จะดีขึ้น   
   เสร็จจากการห่อข้าวต้มมัด เด็กก็ช่วยกันก่อไฟ แล้วเอาข้าวต้มที่ห่อไว้ใส่หม้อ เติมน้ำ แล้วนำขึ้นตั้งไฟ ระหว่างนี้เด็กๆ ต้องใช้ความใส่ใจในการดูแลฟืนไฟให้กล้า และสม่ำเสมอ  เติมน้ำให้เดือดสม่ำเสมอ เพื่อให้ข้าวเหนียวสุกทั่วกัน ไม่นานก็ได้ยินเสียงหม้อข้าวต้มมัดเดือดผุดผุด ส่งกลิ่นหอม ควันไฟ ไออุ่นจากเตาล่องลอยให้คลายหนาว
 
   
ระหว่างรอข้าวต้มมัดสุก เด็กๆ ก็ลงมือบันทึกเขียนความประทับใจและวาดภาพเก็บเกี่ยวรายละเอียดขั้นตอนการทำอุปกรณ์ ส่วนประกอบและวิธีการทำข้าวต้มมัด เด็กๆ สังเกตและบันทึกจากของจริงที่วางเรียงรายรอบตัว เช่น มะพร้าว ใบตอง กล้วย  ข้าวเหนียว  เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงเวลาลองลิ้มชิมรสข้าวต้มมัด เด็กๆ ล้อมวงกินกันร้อนๆ อย่างเอร็ดอร่อย กินไปยิ้มไปอย่างมีความสุข
ห้องเรียนข้าวต้มมัดวันนี้จึงได้ทั้งความสนุกสนาน การร่วมแรงร่วมใจ ความภูมิใจที่ได้ทำเองกินเอง แถมท้ายด้วยความอร่อย แบบสะอาดปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง
 
วันสุดท้าย..ห้องเรียนปลอดสาร
   เช้าตรู่ของวันสุดท้ายของค่าย มีกิจกรรมดูนก สำรวจธรรมชาติ  เด็กๆ เดินทางไปสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวริมทุ่งนา มีนกหลากหลายชนิดส่งเสียงเจื้อยแจ้ว   มีชาวนาเดินทางไปนา เด็กๆ ส่องกล้องดูนก  มีนกหลายชนิดที่เด็กๆ ไม่รู้จัก แต่พวกเขาก็ใช้วิธีการค้นหาจากคู่มือศึกษานก เพื่อหาทั้งชื่อและแหล่งที่อยู่ของนกชนิดนั้นๆ รวมทั้งแหล่งอาหารของนกด้วย ช่วงนี้เด็กๆ ได้บันทึกและเขียนเรื่องราวของนกที่ตนเองชอบ กิจกรรมนี้นอกจากฝึกการสังเกตเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กๆ แล้ว ยังสร้างจิตสำนึกในเรื่องการมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย
   ก่อนที่จะถึงอาหารมื้อเที่ยงของวันนี้ เด็กๆ จะได้เข้าสู่การเรียนรู้ในห้องเรียนต่อไป ซึ่งก็คือการทำอาหารกลางวัน ห้องเรียนนี้ เด็กๆได้เรียนรู้การทำอาหารจากป้าเกศินี แหวนประชา ได้มีโอกาสเก็บผักพื้นบ้านปลอดสารพิษสดๆจากต้นและแปลงปลูกหลากหลายชนิดทีเดียว ทั้งดอกแค ตำลึง มะระ ชะพลู ขี้เหล็ก ผักปลัง มะเขือ  หลังจากเก็บแล้วก็มาล้อมวงช่วยกันเด็ดยอดตำลึง หั่นมะเขือ ล้างใบชะพลู และผักต่างๆ อาหารมื้อนี้อร่อยสุดๆ เพราะทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำ และเอา “ใจ” ใส่ลงไปในหม้อแกงด้วย ดังนั้นแกงหม้อนี้จึงเป็นแกงที่อร่อยที่สุดในโลกของเด็กๆ เลยทีเดียว
 
   
   ตกบ่ายของวันนั้น “ห้องเรียนปลอดสาร”  ก็เริ่มขึ้น คุณยายบุญส่ง ศรีลิ้ม ครูชาวบ้าน เริ่มสอนบทเรียนการปลูกผักปลอดสารพิษให้กับเด็ก  คุณยายพาเด็กๆ ไปที่แปลงผักที่คุณยายเพาะชำกล้าผักไว้ เพื่อให้เด็กๆ เลือกกล้าผักเล็กๆ และย้ายมาปลูกในแปลงใหญ่ บริเวณแปลงผักนั้นค่อนข้างชื้นแฉะ ลื่นและเหนียวด้วยโคลนดิน หนึบเท้า เด็กบางคนถอดรองเท้าค่อยๆสัมผัสย่ำดินอย่างระมัดระวัง หลายคนกลัวเลอะ กลัวแมลง กลัวหนอน กลัวหนาม สารพัดจะกลัว แต่ก็ไม่วายจะสนุกสนานกับการถอนกล้าผัก 
 
   เมื่อได้กล้าผักแล้ว ก็ย้ายกันมาที่แปลงใหญ่ที่คุณยายใจดีเตรียมดินไว้ให้แล้ว   คุณยายสอนให้ขุดหลุมด้วยนิ้วและนำกล้าผักกวางตุ้งมาวางในหลุม กลบดินเล็กน้อย และกดเบาให้ลำต้นตั้งตรง  เด็กพยายามทำ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ยายคอยช่วยเหลือดูแล เด็กๆจึงปลูกเสร็จ หลังจากนั้นก็ต้องไปตักน้ำในบ่อมารด หลังจากเสร็จงาน เด็ก ๆ ก็ยังคุยกับคุณยายต่ออีกพักใหญ่ หลากหลายคำถามที่อยากรู้ก็พรั่งพรูออกมา “ยายจ๋า เมื่อไรผักของหนูจะโตจ๊ะ ?” “เราต้องใส่ปุ๋ยด้วยหรือเปล่าคะ” “ฉีดยาฆ่าแมลงหรือเปล่าจ้ะ” “ผักปลอดสารพิษเหมือนผักที่ตลาดมั้ยจ้ะ” ฯลฯ  จากที่ได้เข้าห้องเรียนนี้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้งวิธีการปลูกผัก ดูแลผัก ประโยชน์ของมัน รวมถึงความต่างระหว่างผักปลอดสารพิษ และผักทั่วไป เพราะคุณยายบุญส่งได้ไขข้อข้องใจของเด็กๆ ทุกข้อกันเลยทีเดียว 
ก่อนจะจบห้องเรียนปลอดสาร เด็กน้อยก็ไม่ลืมที่จะถามคำถามสำคัญ  
“หนูขอกลับมากินผักที่พวกหนูช่วยกันปลูกได้มั้ยจ๊ะยาย ?”
   
บ่ายคล้อยก็ถึงเวลาที่เด็กๆ จะมาสรุปกิจกรรมค่ายร่วมกัน การสรุปครั้งๆ นี้ เด็กๆเลือกที่จะวาดรูปและเขียน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจ นำเสนอและสรุปการเรียนรู้ของตัวเอง มีเพื่อนๆรับฟัง ช่วยสะท้อน แลกเปลี่ยนและชื่นชม 
เด็กๆ ส่วนใหญ่ชื่นชอบอากาศที่เย็นสบาย ชอบนาข้าว และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ รวมทั้งผู้คน พระ ชุมชนที่มีส่วนในการช่วยเหลือดูแลและจัดกิจกรรมให้กับพวกเขา ชอบที่ได้ทำขนมไทย ทำอาหาร หาปลา ปลูกผัก รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องการใช้สมุนไพร 
เด็กๆ ไม่ลืมที่จะขอบคุณคนโน้น คนนี้ เช่น  ขอบคุณผู้บริจาคที่ให้เงินมาทำกิจกรรม  ขอบคุณพี่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพวกเขาอย่างดี  ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ตั้งใจทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นกำลังใจและช่วยเหลือกันในค่าย และสุดท้ายก็ไม่ลืมขอบคุณตัวเอง และรู้สึกดีกับตัวเอง พอใจ ภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำได้ 
 

สายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัด...ผู้เขียน

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ความประทับใจของเด็กในค่าย

4 November 2013

โครงการศิลปะรักษาใจ ออกพื้นที่ชุมชนบ้านหนองบัวน้อย  ต.กระทุ่มราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา จำนวน 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 มีความประทับใจของเด็กๆ อย่างหลากหลายในการเข้าค่ายครั้งนี้  เรามาฟังเสียงจากเด็กๆ กันค่ะ

 
เด็กหญิงอายุ 11 ปี : 
“ตอนแรก หนูไม่อยากมาค่ายหรอกนะ แต่ตอนนี้ไม่อยากกลับ ขอบคุณน้องๆ และเพื่อนที่มาในค่าย ชอบเล่นกัน และชอบกิจกรรมในค่าย บางครั้งก็มีทะเลาะกันนิดหน่อย แต่ก็แค่นิดเดียว อยากขอบคุณพี่เจ้าหน้าที่ เพื่อนทุกคนที่เป็นกำลังใจร่วมกันและช่วยเหลือกันในค่าย  ขอชื่นชมเพื่อนที่ตั้งใจทำงานและผลงานของเพื่อนก็ดีเพราะศิลปะไม่มีผิดมีถูกอยู่แล้ว ”
 
เด็กหญิง อายุ 10 ปี : 
“ประทับใจที่ตัวเอง (หัวเราะ อาย) ที่ตัวเองวาดและเขียนหนังสือสวย ถึงแม้ว่าจะไม่สวย ระบายออกนอกเส้น วาดไม่เป็น วาดได้แบบนี้  ก็ให้กำลังใจตัวเอง มันก็สวยอยู่นะพี่  หนูก็พอใจสิ่งแบบนี้นะคะหนูวาดไม่เป็น ที่มาค่ายนี้หนูประทับใจทำขนมเพราะว่าหนูชอบทำเองและชอบกินด้วย”
 
เด็กหญิง อายุ 13 ปี : 
“หนูมีความสุขดี แล้วก็นก ชอบวาดนกตัวนี้มากที่สุด ชอบกวนพี่ๆเขา หนูมีความสุขดี ครั้งนี้หนูก็ล้างจานให้น้องๆทุกคน มีความสุขดีจ้ะ  บางคนก็ดื้อก็เล่นด้วยกัน กลางคืนก็นอนมีความสุข อากาศที่นี่หนาวมาก ที่นาก็มีข้าวขึ้นเต็มเลย อยากเห็นข้าวโตไวๆ ที่นี่อุดมสมบูรณ์มากอยากมาอีก  ขอบคุณทุกคนค่ะ”
 
เด็กหญิง อายุ 9 ปี : 
“ประทับใจที่เรื่องวัด แล้วก็เรื่องหลวงพ่อที่ขำด้วย ขำไปขำมาก็ตรวจงานให้หนูด้วย ขำเรื่องฟันหลวงพ่อหักหมด (หัวเราะชอบใจ) หลวงพ่อสอนเรื่องสมุนไพรและเรื่องยารักษาโรคต่างๆ ในค่ายนี้รู้สึกประทับใจเรื่องนาข้าว มันทำให้หนูรู้สึกสนุกมาก ให้นาข้าวโตๆ อยากฝากบอกผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนให้พวกเรามาทำกิจกรรมค่ายว่า หนูรู้สึกมีความสุขและขอบคุณมากที่ให้เรามีค่ายดีๆ แบบนี้ และอยากให้มีอีกค่ะ”
 
เด็กๆ ต่างก็ได้รับทั้งความสนุกสนาน ความเข้าใจในศิลปะและธรรมชาติ ความสามัคคี และอื่นๆ อีกมากมาย และก็อยากให้จัดค่ายศิลปะรักษาใจแบบนี้ขึ้นอีก นับว่าเป็นความสำเร็จไม่น้อยในกิจกรรมที่ร่วมสร้างสรรค์จินตนาการควบคู่กับธรรมชาติให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสมบูรณ์ : )

Budget plan

รายการราคา (บาท)
ค่าอุปกรณ์ศิลปะ / ต้นไม้สำหรับกิจกรรมปลูกป่า2,000
ค่าเดินทางเพื่อสำรวจสถานที่ในการจัดค่าย1,500
ค่าเดินทางไปเข้าค่าย   
5,000
ค่าเช่าเรือยนต์เพื่อทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน1,000
ค่าที่พัก/อุปกรณ์เครื่องนอน1,500
ค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่   500
ค่าอาหาร (20 คนๆละ 150 บาท/วัน 2 วัน) 1 ครั้ง6,000
ค่าตอบแทนวิทยากรวิทยากร (ครูชาวบ้าน) 1 คน สำหรับการจัดกิจกรรมธรรมชาติศึกษา 1 ครั้ง
1,000
ค่าล้างอัดภาพและสรุปประเมินผลกิจกรรม1,000
ค่าประกันอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อการเดินทาง500
รวมทั้งสิ้น
    20,000

*กรณีที่สนใจสนับสนุนโครงการ หากไม่สามารถสนับสนุนเป็นเงินทุนได้ ผู้สนใจสามารถบริจาคเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินโครงการ ตามรายละเอียดด้านล่าง

รายการจำนวน
เต้นท์6 หลัง
แก๊สกระป๋อง2 โหล
ผ้าใบปูนั่ง4 ผืน


    
    
    
   

รายละเอียดงบประมาณ
ค่าอุปกรณ์ศิลปะ / ต้นไม้สำหรับกิจกรรมปลูกป่า 
ค่าเดินทางเพื่อสำรวจสถานที่ในการจัดค่าย 
ค่าเดินทางไปเข้าค่าย 
 
  
  
  
  
  
  
  

 

รายการราคารวม (บาท)
ค่าอุปกรณ์ศิลปะ / ต้นไม้สำหรับกิจกรรมปลูกป่า2000
ค่าเดินทางเพื่อสำรวจสถานที่ในการจัดค่าย1500
ค่าเดินทางไปเข้าค่าย5000
ค่าเช่าเรือยนต์เพื่อทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน1000
ค่าที่พัก/อุปกรณ์เครื่องนอน 1 ครั้ง1500
ค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่500
ค่าอาหาร (20 คนๆละ 150 บาท/วัน 2 วัน) 1 ครั้ง6000
ค่าตอบแทนวิทยากรวิทยากร (ครูชาวบ้าน) 1 คน สำหรับการจัดกิจกรรมธรรมชาติศึกษา 1 ครั้ง1000
ค่าล้างอัดภาพและสรุปประเมินผลกิจกรรม1000
ค่าประกันอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อการเดินทาง 500
รวมทั้งสิ้น20000

 

กรณีที่สนใจสนับสนุนโครงการ หากไม่สามารถสนับสนุนเป็นเงินทุนได้ ผู้สนใจสามารถบริจาคเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินโครงการ ตามรายละเอียดด้านล่าง 

รายการจำนวน
เต้นท์

6

แก๊สกระป๋อง2
ผ้าใบปูนั่ง4