cover_1

ครัวรักษ์อาหาร เสริมภูมิต้านทานชุมชนหลังวิกฤติโควิด-19

ผู้สูงอายุ
ผู้ป่วย ผู้พิการ
อื่นๆ

เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนการประกอบอาหารในครัวรักษ์อาหาร 3 เดือนให้กับกลุ่มคนตกงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง9,500คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
30 ก.ค. 2564

อัปเดตโครงการครัวรักษ์อาหารในจังหวัดกรุงเทพฯ 6 ชุมชน ระยะเวลา 3 เดือน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

30 ก.ค. 2564 - 30 ก.ค. 2564

ครัวรักษ์อาหารช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากโควิด-19 และกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ในชุมชนรายได้ต่ำ ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ จำนวน 6 ชุมชน ซึ่งมีประชากรผู้ได้รับผลประโยชน์รวมทั้งสิ้น 9,500 คน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฏาคม 2564

1. ครัวรักษ์อาหารย่านนางเลิ้ง (ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,500 คน) จำนวน 4 ครั้ง/เดือน

2. ครัวรักษ์อาหารคอยรุดดีน (ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,400 คน) จำนวน 4 ครั้ง/เดือน

3. ครัวรักษ์อาหารมีนบุรี (ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,400 คน) จำนวน 5 ครั้ง/เดือน

4. ครัวรักษ์อาหารแพรกษา (ประชากรได้รับความช่วยเหลือ 2,400 คน) จำนวน 4 ครั้ง/เดือน

5. ครัวรักษ์อาหารบางพลัด (ประชากรได้รับความช่วยเหลือ 2,000 คน) จำนวน 6 ครั้ง/เดือน

6. ครัวรักษ์อาหารซอยพระเจน (ประชากรได้รับความช่วยเหลือ 800 คน) จำนวน 6 ครั้ง/เดือน

รวมทั้งสิ้นมูลนิธิฯได้ส่งต่อมื้ออาหารให้แก่ชุมชนทั้งหมด 6 ชุมชนนี้เป็นจำนวน 211,237 มื้อตลอดสามเดือนที่ผ่านมา

ความประทับใจจากคนในชุมชน

ครัวรักษ์อาหารย่านนางเลิ้ง (ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,500 คน) จำนวน 4 ครั้ง/เดือน
ภาพการทำอาหารภายใน มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ที่อาคาร FREC Bangkok เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ชุมชนวัดโสมนัส เพื่อบรรเทาความเดือดให้แก่คนในชุมชน โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็น กลุ่มผู้กักตัว ผู้ติดเชื้อตกค้าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบ

การนำอาหารพร้อมทานไปแจกจ่ายในชุมชนเป็นการควบคุมโรคระบาดทางหนึ่ง เนื่องจากทำให้กลุ่มผู้กักตัวไม่ต้องออกมา ซื้ออาหารภายนอกสถานที่กักตัว และช่วยลดค่าใช้จ่ายไปอย่างน้อย 1 มื้อ เพื่อจะนำเงินเหล่านี้ ไปซื้ออุปกรณ์ป้องกันตนเองจากโรคระบาด เช่น หน้ากากอนามัย หรือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ


ภาพการแจกจ่ายอาหารปรุงสุกภายในชุมชนวัดโสมนัส ให้แก่กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อแบ่งเบาค่าครองชีพ โดยก่อนเข้ามารับอาหารจะต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และใส่หน้ากากอนามัยมาด้วยทุกครั้ง โดยอาหารที่นำไปแจกจ่ายจะมีปริมาณแจกเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละครั้ง อีกทั้งผู้รับสามารถรับอาหารไปเผื่อแผ่คนในครอบครัวที่ไม่สามารถมารับได้ด้วย

ครัวรักษ์อาหารแพรกษา (ประชากรได้รับความช่วยเหลือ 2,400 คน) จำนวน 4 ครั้ง/เดือน


ภาพครัวรักษ์อาหารที่ตำบลแพรกษา ชุมชนทองสุข ซึ่งการจัดตั้งครัวรักษ์อาหารในพื้นที่นี้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานเช่น มูลนิธิ SOS, บริษัท เอ็ม เค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จํากัด(มหาชน) และที่สำคัญคือ จิตอาสาชุมชนทองสุขทุกคน พี่แหม่มคนที่สามจากซ้ายในรูปผู้นำชุมชนทองสุข กล่าวว่า

“รู้สึกดีมาก มันบอกไม่ถูก ไม่เคยได้รับการแบ่งปันแบบนี้มาก่อน รู้สึกดีที่ได้เป็นสะพานบุญ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ลิ้มลองอาหารที่ไม่เคยได้ชิมมาก่อน ใหม่ๆอาจจะวุ่นวายนิดหน่อย แต่ด้วยความช่วยเหลือจากคนในชุมชนก็สามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างลงตัว อีกทั้งโครงการครัวรักษ์อาหาร ทำให้รู้จักคุณค่าของอาหาร อาหารบางอย่างที่ไม่เป็นที่ต้องการของคนบางกลุ่ม แต่เป็นที่ต้องการของคนแถวนี้ ซึ่งเราสามารถนำมารับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย และสามารถนำไปฝากครอบครัว ตอนนี้ครัวรักษ์อาหารชุมชนทองสุขเป็นที่รู้จัก และเป็นที่พึ่งของคนในตำบลแพรกษาเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณครัวรักษ์อาหาร และผู้บริจาคทุกท่าน ที่ให้โอกาสชุมชนทองสุขได้จัดตั้งครัวรักษ์อาหาร และให้โอกาสพี่ได้ลองผิด ลองถูก ตอนนี้พี่เหมือนเป็นเชฟเลย”
พี่แหม่มพูดพร้อมหัวเราะท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น เนื่องจากการทำอาหารเพื่อคนที่กำลังเดือดร้อนเป็นสิ่งที่ทำให้พี่แหม่มมีความสุข

ครัวรักษ์อาหารบางพลัด (ประชากรได้รับความช่วยเหลือ 2,000 คน) จำนวน 6 ครั้ง/เดือน


ภาพของกลุ่มจิตอาสาจากครัวชุมชนบางพลัด ภาพนี้จะเกิดขึ้นสัปดาห์ละครั้งทางชุมชนจะส่งทีมอาสาสมัครชุมชนเข้ามารับวัตถุดิบของสัปดาห์นั้นๆเพื่อนำไปประกอบอาหารในครัวชุมชน การเดินทางของทีมอาสาสมัครจะเป็นการขับรถมอเตอร์ไซต์เนื่องจากครัวชุมชนนั้นตั้งอยู่ลึกเข้าไปภายในซอย จรัญ57/1 ซึ่งเป็นจุดที่รถยนต์เดินทางเข้าไปลำบาก ในส่วนของเนื้อสดทางทีมอาสาจัดนำลังโฟมพร้อมน้ำแข็งมาบรรจุไปเพื่อให้เนื้อสดยังคงคุณภาพดีอยู่จนกระทั่งนำไปปรุงอาหาร


คุณสุกัญญา บัวอ่อน อาสาสมัครหน้าเตา แม่ครัวชุมชนบางพลัด กล่าวว่า

“การเป็นจิตอาสาทำครัวมันเหนื่อยเหมือนกันนะ แต่มันมีความสุข เราทำเพราะเรามีความสุขที่ได้แบ่งปัน วันไหนมีมากเราก็แบ่งมาก วันไหนมีน้อยเราก็แบ่งน้อย โครงการครัวรักษ์อาหาร เป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้เยอะมาก ลองคิดดูนะคนที่เค้ารับจ้างขับวินมอเตอร์ไซต์ตอนนี้เค้าไม่มีลูกค้าเลยนะ รายได้เป็นศูนย์เลยไม่ใช่รายได้น้อย เค้าต้องซื้อข้าวไปให้ลูกเมียเค้าอีก มื้อนึงก็ต้องมีอย่างน้อยๆ 100 บาท แล้วเค้าจะเอาเงินจากไหนซื้อ พอมีครัวรักษ์อาหารในชุมชนเค้าก็จะมารอเพื่อรับอาหารไปให้คนในครอบครัวเค้า มันประหยัดไปเยอะเลยนะ อย่างน้อยเค้าไม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้จะกินอะไรดี ครอบครัวจะมีกินไหม คนในชุมชนก็มีความสุขขึ้นนะ คนบางคนเราเห็นกันมานานแต่ไม่เคยรู้จักกัน พอมีครัวชุมชนเค้าก็เดินมาช่วยได้คุยกัน ได้รู้จักกันก็ลดความเครียดไปได้เยอะนะ ต้องขอขอบคุณผู้บริจาคทุกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการดีๆแบบนะ” 


ภาพหนึ่งในผู้กักตัวที่รับอาหารจากครัวรักษ์อาหาร อาสาสมัครครัวรักษ์อาหารกล่าวว่า

“การทำอาหารแจกให้ผู้กักตัวในชุมชนนี่มันช่วยลดการแพร่ระบาดได้นะ คิดดูถ้าเค้ากักตัวแล้วไม่มีคนดูแลเค้า เค้าก็ต้องออกมาซื้อหาอาหารในชุมชน ซึ่งมันก็แพร่ระบาดจากตรงนี้ด้วย แต่จะผู้นำชุมชนทำฝ่ายเดียวก็ไม่เพียงพอ หลังจากมีครัวรักษ์อาหารมันก็ช่วยได้เยอะ อาหารมันก็ไปถึงคนได้มากขึ้น ขอบคุณที่ช่วยเหลือชุมชนมาตลอด”  

ครัวรักษ์อาหารมีนบุรี (ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือ 1,400 คน) จำนวน 5 ครั้ง/เดือน


นางสาว พรทิพย์ กอเซาะ เป็นประธานกลุ่ม ทีมจิตอาสา10 เพื่อนยุ้ย ที่ประจำการ ณ ชุมชนสุกาทองโครง2 งานหลักของเธอคือการช่วยประสานช่วยเหลือคนยากจน เด็กกำพร้า แม่ม้าย และผู้ยากไร้ ได้กล่าวว่า
“ทางทีมประทับใจมูลนิธิ S0S เป็นอย่างมาก ช่วยแบ่งเบาภาระและช่วงวิกฤตได้เป็นอย่างดี มีอาหารมาแบ่งปันกับทีมและตามหน่วยงานอาสาสมัครที่เขาช่วยเหลือคนตามจุดฝ้ายระวังได้เป็นอย่างดีและคอยดูแลและสอบถามความลำบากของพี่น้องตามชุมชนค่ะ สิ่งที่ประทับใจที่สุดพนักงานทุกท่านคอยดูแลและติดต่อประสานงานดีและมูลนิธิเป็นที่คอยมาช่วยกันตลอดมาไม่เคยขาดค่ะ”

4 มิ.ย. 2564

อัปเดตโครงการครัวรักษ์อาหารทำอาหารปรุงสุกจำนวน 15,000 กล่อง ไปให้ผู้คนรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนบางพลัด บางกอกน้อย วัดโสมนัส จักรพรรดิพงศ์ ดอนเมือง และคลองลัดพาชี ซึ่งในการแจกจ่ายอาหารครั้งนี้

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

4 มิ.ย. 2564 - 4 มิ.ย. 2564

จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุด ผู้คนในชุมชนหลายแห่งที่มีรายได้ต่ำก็ยิ่งพบกับความยากลำบากที่จะต้องต่อสู้กับการไม่มีงานทำ ขาดรายได้และอาหาร ครัวรักษ์อาหารของ SOS หลายแห่งจึงดำเนินงานตามโครงการ “รักษ์อาหารเพื่อชุมชน” อย่างต่อเนื่องโดยทำอาหารปรุงสุกจำนวน 15,000 กล่อง ไปให้ผู้คนรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนบางพลัด บางกอกน้อย วัดโสมนัส จักรพรรดิพงศ์ ดอนเมือง และคลองลัดพาชี ซึ่งในการแจกจ่ายอาหารครั้งนี้ บริษัท Goodwill Retail ได้ช่วยบริจาคกล่องบรรจุอาหารที่ย่อยสลายได้ถึง 30,000 กล่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้คนให้ได้รับอาหารที่สะอาดปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการลดการใช้พลาสติกและช่วยสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วยค่ะ

สามารถติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ทุกวันได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/sosfoundationthai