แนวคิดและแผนการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
แนวคิด : “แปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ด้วยวัตถุดิบจากชุมชน คนทำไม่ยากไม่จน คนกินคนใช้สุขภาพดี”
เดิมผลิตภัณฑ์หลักของ “วิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้” คือ น้ำข้าวกล้อง ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามักจะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัท ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงเน้นการผลิตตามคำสั่งซื้อและส่งตรงไปยังสำนักงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานศาล, ศาลากลางจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, โรงพยาบาล, สำนักงานเทศบาล, โรงงาน ฯลฯ ในเขต อ.เมือง และ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์
ส่วนมากแล้วลูกค้าที่มีการตกลงซื้อผลผลิตทางการเกษตรจาก บจก.นวัตกรรมชาวบ้าน มักต้องการสินค้าที่มีลักษณะทางกายภาพที่สวยงาม เช่น ข้าวกล้องที่มีสีดำสนิทไม่มีข้าวกล้องสีน้ำตาลเจือปน ซึ่งผลผลิตลักษณะนี้มักจะผลิตขึ้นจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ จนมีทักษะความชำนาญที่จะทำการผลิตให้มีคุณภาพที่สูง ในขณะที่ผลผลิตที่มีลักษณะทางกายภาพด้อยลงมา แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องคุณประโยชน์ มักจะไม่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และผลผลิตในลักษณะนี้มักจะได้มาจากเกษตรกรที่เพิ่งจะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ไม่นาน วิสาหกิจชุมชนฯได้นำผลผลิตในส่วนนี้มาแปรรูปเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า และในขณะเดียวกันยังมองเห็นโอกาสที่ประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี
น้ำมะนาวอินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะมีการแปรรูปเพื่อวางจำหน่ายเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงกรรมวิธีการผลิต การเก็บรักษา บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ไปจนถึงวิธีการทางการตลาดที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถกระจายไปยังผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร
วัตถุประสงค์
1.แปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้วัตถุดิบจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกเครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน
2.เน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน
3. เปิดโอกาสให้สมาชิกโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยในชนบทได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ
4. พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิตที่เชื่อถือได้ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ และลดความเสี่ยงที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพ
5.มุ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้กับชุมชนท้องถิ่นภายในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง
แผนการดำเนินงาน
กระบวนการผลิตน้ำข้าวกล้อง วิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้
เริ่มจากการตวงข้าวกล้องมะลินิลสุรินทร์ มะลิโกเมน และ มะลิ 105 จำนวน 8 ถ้วยตวง แช่น้ำสะอาด 2 ชั่วโมง จากนั้นทำการนำข้าวกล้องที่แช่น้ำมาปั่นให้ละเอียดและกรองเอาส่วนเฉพาะน้ำ โดยจะใช้น้ำจำนวน 8 ลิตร เมื่อได้น้ำข้าวกล้องแล้วก็นำไปตั้งไฟ ใช้เวลาตั้งไฟประมาณ 5-10 นาที แล้วก็เติมส่วนผสมทั้งหมดลงไป เมื่อได้น้ำข้าวกล้อง ก็จะทิ้งไว้ให้เย็นและก็นำมากรอกบรรจุภัณฑ์ นำไปแช่ไว้ในตู้แช่เพื่อรอจำหน่ายต่อไป
สูตรน้ำข้าวกล้อง วิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้
ข้าวกล้องผสม 3 ชนิด 8 ถ้วยตวง
น้ำสะอาด 8 ลิตร
น้ำตาล 2 ถ้วยตวง
เกลือ 1/4 ช้อน
โอกาสทางการตลาด
วิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้ มีจุดมุ่งหมายที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อสุขภาพสำหรับชุมชนในต่างจังหวัดอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องระยะทางการขนส่งสินค้า อีกทั้งกลุ่มลูกค้ามักจะใช้วิธีการโทรสั่งสินค้าโดยตรงกับสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนฯ จึงสามารถที่จะวางแผนการผลิตได้ไม่ยาก ในอนาคตทางกลุ่มเริ่มเห็นโอกาสในการนำสินค้าไปวางขายในร้านค้าสหกรณ์หมู่บ้านหรือร้านขายของชำในชุมชน ซึ่งได้เริ่มทดลองนำสินค้าไปวางจำหน่ายบ้างแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้
- กลุ่มเป้าหมาย : เพศหญิงที่อยู่ในวัยทำงาน ( ลูกค้ากลุ่มหลักที่ซื้อสินค้ามากที่สุดจากการสำรวจของสมาชิกวิสาหากิจ ฯ )
- การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า : จัดบูธแสดงสินค้าในงานของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โฆษณาผ่านวิทยุชุมชม, ป้ายโฆษณาขนาดเล็ก
- การกระจายสินค้า : ส่งตรงถึงที่บ้านและที่ทำงานของลูกค้าในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ โดยจะเน้นส่งไม่น้อยกว่า 1 โหล ( 12 ขวด ) ต่อสถานที่จัดส่งหนึ่งแห่ง
- เทคนิคการเพิ่มยอดขาย : จัดโปรโมชันเป็นระยะทุก 3 เดือน โดยจะเน้นการแถมสินค้าหากซื้อตั้งแต่ 12 ขวดขึ้นไป เช่น ซื้อ 12 ขวดแถมน้ำข้าวกล้อง 1 ขวดหรือซื้อครบ 12 ขวดแถมข้าวกล้องอินทรีย์ 1 กก.
ช่องทางการจัดจำหน่ายของวิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้
- งานเกษตรอำเภอเคลื่อนที่ ที่บ้านเมืองแก ตำบลเมืองแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
- งานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์
- ขายในตลาดไนท์บาซ่าอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์
- เปิดขายหน้าร้านทุกวัน ที่ครัวคุณเก๋ ( บ้านหนองเชือก ตำบลเมืองแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ )
ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนโครงการ
วิสาหกิจชุมชนมีกินมีใช้