เงินบริจาคของคุณจะนำมาทำอุปกรณ์ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันให้กับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.)1มูลนิธิ
โครงการทำอุปกรณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. (Tools for C.P.) ได้จัดกิจกรรมเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีอาสาสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 45 คน ได้จัดทำอุปกรณ์สำหรับเด็กสมองพิการทั้งหมด 2,078 ชิ้น มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคเงินสมทบทุนจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกิจกรรม จำนวน 23,403 บาทถ้วน และทางโครงการได้เดินทางไปมอบอุปกรณ์ของใช้สำหรับเด็กพิการทางสมอง 2,078 ชิ้น ให้กับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเครือข่ายทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งโดยภาพรวมของโครงการประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย และดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สรุปผลการดำเนินกิจกรรม แบ่งออกเป็น 3T ดังนี้
Time: 1. อาสาสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 101 คน
2. อาสาสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 45 คน (รับจำนวนจำกัด)
Talent: Designer อาสาสมัคร เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1 คน
Treasure: ผู้ใจบุญร่วมบริจาคเงินสมทบทุนจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกิจกรรม จำนวน 23,403 บาท
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เด็กสมองพิการมีอุปกรณ์ในการฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้น้องๆ เด็กสมองพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. ทั้งมูลนิธิที่เกี่ยวข้องและผู้ปกครองมีอุปกรณ์ที่จะช่วยฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน สำหรับเด็กสมองพิการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวก และแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในการดูแล ฟื้นฟู และพัฒนาเด็กสมองพิการได้อย่างเหมาะสม
3. ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้ ตระหนัก และเห็นความสำคัญในการเป็นจิตอาสาที่มีส่วนร่วมในการทำอุปกรณ์ฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ
ปัญหาและความท้าทาย
1. ขั้นตอนการออกแบบอุปกรณ์ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กสมองพิการ และต้องมีการทดลองการใช้งานจริงกับเด็กสมองพิการ ซึ่งต้องมีระยะเวลาในการทดลองและพัฒนาต้นแบบเพื่อให้ได้อุปกรณ์สำหรับเด็กสมองพิการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2. เด็กสมองพิการมีอาการความผิดปกติที่หลากหลาย ซึ่งในความหลากหลายนั้น ล้วนมีปัญหาความผิดปกติทางด้านร่างกายในควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกันไปของเด็กแต่ละคน ตลอดจนระดับความผิดปกติและความที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความท้าทายในการออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กสมองพิการในแต่ละประเภท
แนวทางการดำเนินงานในอนาคต
1. จากการทำ research ความต้องการของเด็กสมองพิการเบื้องต้น พบว่ายังมีอุปกรณ์สำหรับใช้ใน ชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. อื่นๆที่ยังขาดแคลน และต้องการการออกแบบโดยเฉพาะสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. ซึ่งจากการทำกิจกรรมครั้งนี้สามารถเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดทำอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับเด็กสมองพิการได้ในอนาคต
2. จากการทดลองการใช้งานอุปกรณ์สำหรับเด็กสมองพิการ C.P. พบว่าเด็กสมองพิการมีความถนัดการใช้งานอุปกรณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเภท ซึ่งจากการทำกิจกรรมนี้ทำให้ทีมงานทราบถึงแนวทางการพัฒนาอุปกรณ์ให้ครอบคลุมและเหมาะกับเด็กสมองพิการ C.P. มากขึ้น
1. การศึกษา วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของเด็กสมองพิการ C.P. ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
2. การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. โดย Designer อาสาสมัคร จาก TAM:DA Studio
3. การทดลองการ และพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. เพื่อให้ได้อุปกรณ์สำหรับเด็กสมองพิการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
4. กิจกรรมทำอุปกรณ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กสมองพิการ C.P. (Tools for C.P.)
5. ตัวแทน Creative Citizen และอาสาสมัครเดินทางไปมอบอุปกรณ์ของใช้สำหรับเด็กสมองพิการ จำนวน 2,078 ชิ้น ให้กับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเครือข่ายทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย
1.มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
2.ชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ (ศูนย์เรียนรู้ครอบครัวเด็กพิการ 10 ศูนย์)
3.โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการโดยชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช
4.มูลนิธิพิทักษ์ดวงตา จังหวัดลำปาง
5.โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
1. ความคิดเห็นจากภาคี (มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ)
ในนามของ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.) ขอขอบพระคุณโครงการ Tools for C.P. ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากๆ เนื่องจากกลุ่มเด็กซีพี (เป็นเด็กพิการประเภทความพิการทางด้านร่างกายหรือการเคลื่อนไหว) มีข้อจำกัดมากมายในการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เหล้านี้ หาได้ยากมากๆ และเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมากๆ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเด็กที่มีระดับความพิการที่รุนแรงมากๆ ค่ะ ดังนั้น โครงการฯนี้นับว่าเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์ที่มีความต้องการจำเป็นสำหรับการช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการในการฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การดื่ม การทานอาหาร เป็นต้น ทำให้เด็กสามารถส่งเสริมการฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน จนสามารถให้เด็กช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรต่างๆ นอกจากนั้นยังสามารถพัฒนาผลิตอุปกรณ์อื่นๆ เช่น
1. อุปกรณ์เครื่องช่วย เพิ่มเติม เช่น ถาดสำหรับใส่รถเข็นวีลแชร์ (ในการทำกิจกรรมต่างๆ)
2. อุปกรณ์ อาบน้ำ สำหรับเด็กซีพี
3. ช่วยปรับปรุงหรือพัฒนาห้องฝึกของเด็กๆ ให้มีสีสันดึงดูดความสนใจของเด็ก เช่น ภาพวาดการ์ตูนผนังห้องฝึกเด็ก เป็นต้น
2. ความคิดเห็นจากนักออกแบบอาสาสมัคร (TAM:DA Studio)
เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ได้เห็นถึงพลังของการมีจิตอาสาช่วยเหลือต่อผู้อื่นหรือสังคม ถ้าจะเจาะลึกหน่อย ดีตรงที่การให้มันไม่ใช่แค่บริจาคเงิน/สิ่งของ แต่การให้ด้วยการลงแรงทำสิ่งๆหนึ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยทำ ไม่ถนัด แต่อยากทำสิ่งๆนั้นให้กลุ่มคนอีกกลุ่มที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตเค้าดีขึ้น แม้จะไม่มากเท่าไร แต่ความรู้สึกรับรู้ได้แน่นอน แถมส่งต่อให้กับสังคมที่ได้เห็นได้รับรู้ แล้วรู้สึกตาม โครงการนี้สามารถต่อยอดโครงการได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุปกรณ์หรือจำนวน แต่การต่อยอดตามความคิดผมกับมองไปที่การต่อยอด จำนวนคนให้มีจิตอาสา มีความคิดเรื่องนี้ต่อสังคมให้มากๆ เพิ่มยกระดับความน่ารักของสังคม
3. ความคิดเห็นจากอาสาสมัคร
โครงการที่ดีมากๆ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กๆ และได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม สิ่งที่ได้รับวันนี้ คือประสบการณ์ใหม่ ที่ได้ทำเพื่อคนอื่น เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความดี รู้สึกตัวว่าตัวเองมีประโยชน์ ที่สำคัญได้รู้จักกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไป และอยากให้มีโครงการดีๆแบบนี้ อยากให้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปในรูปแบบโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจากโครงการที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า มีเพื่อนๆอาสาสมัครหลายท่านให้ความสนใจโครงการเพื่อสังคม แต่ไม่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโครงการอาสาสมัคร รวมถึงโครงการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นใช้ระยะเวลาในการร่วมกิจกรรม จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการ