เงินบริจาคของคุณจะนำไปจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ และให้บริการกู้ยืมเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตรกร1กลุ่ม
หลังจากที่ บริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด ได้คัดเลือกเกษตรกรจาก หมู่ที่ 1, 2, 3 ต.เขาสมอคอน จ.ลพบุรีจำนวน 7 คน ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 เราก็ได้เริ่มทดลองปลูกข้าวอินทรีย์สายพันธุ์สินเหล็กในพื้นที่จำนวน 50 ไร่ โดยการปฏิบัติจริงครั้งนี้ เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว พร้อมการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ครั้งหน้าเราจะนำต้นข้าวบนพื้นนาอินทรีย์มาใช้ชมพร้อมกับกิจกรรมส่งเสริมชาวบ้านกันต่อไปค่ะ
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 โครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ได้ลงพื้นที่หมู่ที่ 1 ,2 และ 3 ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เพื่อแนะนำองค์กรนวัตกรรมชาวบ้านให้สมาชิกเกษตรกรรู้จัก และบอกเล่าที่มาของโครงการที่จะทำในพื้นที่ นอกจากนั้นยังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนในการทำนา สุขภาพและผลกระทบจากการใช้สารเคมีในนาข้าว การระบาดของโรคและแมลงในนาข้าว รวมถึงหนี้สินครัวเรือน
เกษตรกรยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมที่จะทดลองทำเกษตรอินทรีย์ แต่มีความกังวลใจอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ทีมทำงานจะมาส่งเสริม มีการสอบถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของพันธุ์ข้าวและความทนทานศัตรูพืช
หลังจากนั้นโครงการได้จัดกิจกรรมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 เพื่อประชุมเรื่องพันธุ์ข้าวที่ใช้ และการวาดแผนผังฟาร์ม โดยอธิบายลักษณะพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ ให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับทราบ และสอนวิธีการเขียนแผนผังนาหรือที่ตั้งฟาร์มให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรรู้จักการออกแบบผังนาที่ถูกต้อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ได้ลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมครั้งที่ 3 เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนและหลักการพื้นฐานในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำการเกษตรร่วมกันกับทีมงาน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพของการทำเกษตรอินทรีย์ในระยะเริ่มต้นที่ทำให้ผลผลิตที่ได้มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นประเด็นที่เกษตรกรให้ความสำคัญและกังวลใจ สำหรับฤดูการผลิตนี้จึงเน้นการลดการใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชก่อน และเมื่อเกษตรกรมีความพร้อมจึงจะขยายให้มีการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ทีมงานยังเน้นการให้ความสำคัญต่อการบันทึกต้นทุนของการทำนาเพื่อให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงรายจ่ายที่ลดลงและกำไรที่มากขึ้นจากการทำเกษตรอินทรีย์ ถึงแม้ปริมาณผลผลิตจะลดลงก็ตาม
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมาทางเทใจได้โอนเงินจำนวน 8,145 บาทไปให้กับเครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน (GIN) เพื่อไปเริ่มดำเนินโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์อินทรีย์กันแล้ว เรามั่นใจว่าการดำเนินของโครงการจะทำให้ประเทศไทยเพิ่มวิถีเกษตรอินทรีย์ต่อไป
เดี๋ยวเราจะให้คุณนาวี นาควัชระ นำเรื่องราวและภาพมาให้ทุกท่านชมกันนะคะว่า เงินก้อนแรกของเทใจนำไปทำอะไรได้บ้าง
มาร่วมมือกันส่งเสริมโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์อินทรีย์กับเทใจดอทคอม.