เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนถุงยังชีพ และการจัดทำครัวชุมชนให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม3จังหวัดชายแดนใต้
จากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้วส่วนหนึ่ง ทางโครงการจึงดำเนินการช่วยเหลือเด็กและครอบครัว โดยร่วมสนับสนุนในกิจกรรมโครงการการสร้างความมั่นคงทางอาหารและแก้ปัญหาทุพโภชนาการในพื้นที่ภัยพิบัติชายแดนใต้ ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เด็กในชุมชนที่มีปัญหาทุพโภชนาการได้ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน มุ่งเน้นพัฒนาต้นแบบระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชน รอบรู้ด้านอาหารและสุขภาพ จากที่ทีมงานผู้รับผิดชอบโครงการเคยร่วมทำกิจกรรมมาก่อนนี้ จึงได้ถอดบทเรียนจากกิจกรรมในเฟส 1 ที่ได้การมอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้ผู้ปกครอง 5 ครอบครัว และเฟส 2 ทั้ง 5 ครอบครัว ยังคงได้รับเงินทุนจำนวน 2,000 บาท เพื่อซื้อ อวนปู อวนปลา อวนปลาทู อวนปลากระบอก และทุนทำปลาแห้ง ผลในการทำกิจกรรมครอบครัวที่ได้รับอวนปู ปัจจุบันนี้ได้รายได้เพิ่มจำนวน 500-800 บาท/วัน (ปูและปลาอื่นๆ) ส่วนครอบครัวอื่นสามารถจับปลาได้เพิ่ม มีรายได้เพิ่มจำนวน 200 บาท/วัน อวนปลาทูได้เพิ่ม 500 บาท/วัน (แต่ถูกอวนลากเสียหายไปแล้ว) ถึงแม้ว่าช่วงมรสุม 2-3 เดือนที่ผ่านมาจะขาดรายได้ แต่ครอบครัวที่ได้เงินทุนในการประกอบอาชีพ ยังคงมีรายได้เพื่อนำเงินไปซื้ออาหารให้ลูกๆรับประทาน
ดังนั้น ทางผู้รับผิดชอบโครงการ จึงอยากต่อยอดความช่วยเหลือเด็กและครอบครัว จึงมอบเงินให้กับ 26 ครอบครัว ครอบครัวละ 1,000 บาท เพื่อซื้ออาหารให้น้อง มื้อละ 50 บาท ในช่วงเดือนถือศีลอด (รอมฎอน) ในปี พ.ศ. 2567 นี้ และให้ประธานอสม. บรรยายเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการในเด็ก ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก ทั้งครอบครัว และเน้นย้ำให้เด็กแปรงฟัน 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น
และหลังจากการประชุม ได้ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดรอบศีรษะของเด็กๆ และพบว่า
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : จากเด็กบางคนที่เคยเห็นก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่าจะตัวเล็กและผอม แต่วันนี้เด็กเดินตัวตรง กล้าหาญกล้าที่ออกชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อย่างมั่นใจ และสง่างาม
เงินบริจาคนำไปสนับสนุนถุงยังชีพ นม แพมเพิสเด็ก แพมเพิสผู้ใหญ่ การจัดทำครัวชุมชน และซื้อหม้อหุงข้าวให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 22-24 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 มากกว่า 13 อำเภอ 68 ตำบล 410 หมู่บ้าน 28,049 ครัวเรือน 109,545 คน 8 ชุมชน โรงเรียน 254 แห่ง มัสยิด 13 แห่ง วัด 18 แห่ง ถนน 2 สาย ได้รับความเสียหาย ต้องรีบอพยพผู้คนออกจากบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัย และหาพื้นที่ปลอดภัยอยู่ระหว่างรอน้ำลด หลายคนต้องออกมาโดยไม่ได้นำสิ่งใดออกมาด้วย หรือหากอยู่ในพื้นที่การกินอยู่ก็ลำบาก
นอกจากการบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง และอบต. ได้ตั้งครัวชุมชนแล้ว ชาวบ้านไม่ต้องการเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านอยากประกอบอาหารทานเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระพึ่งพาจากคนภายนอก ส่วนปัญหาการมอบถุงยังชีพ เช่น ข้าวสาร ก็ยังมีปัญหาเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เช่น หม้อหุงข้าว ได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำท่วมสูงมิดหลังคาบ้าน และเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 90 ปี
เครื่องใช้ไฟฟ้าและที่นอนไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่หลังน้ำลด จึงต้องขอรับบริจาคเงินเพื่อซื้อหม้อหุงข้าวซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้าน นอกเหนือจากความต้องการพวกเครื่องนอนและเสื้อผ้าที่เปื้อนโคลน หลังจากการส่งมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้งแล้ว ชาวบ้านรู้สึกถึงความห่วงใยของสังคมที่ไม่ทอดทิ้งเขาให้เผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติตามลำพัง ถึงแม้ว่าหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่อยู่ในฐานะยากจน อดมื้อกินมื้อ ได้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับภาวะวิกฤติต่อไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ | อธิบาย | จำนวนที่ได้ประโยชน์ | ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น |
ประชาชนทั่วไป | ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ตำบลบาตง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี | 250 คน | ได้รับการสนับสนุนถุงยังชีพ นม แพมเพิสเด็ก แพมเพิสผู้ใหญ่ การจัดทำครัวชุมชน และหม้อหุงข้าว สำหรับจัดทำอาหาร |
รูปภาพการดำเนินกิจกรรม