cover_1

โครงการดนตรีพลังบวก

เด็กและเยาวชน
ผู้สูงอายุ

เงินบริจาคของคุณจะนำไปจัดกิจกรรมการสอนดนตรีให้กับเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับดนตรี420คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
11 เม.ย. 2566

อัปเดตโครงการกิจกรรมดนตรีจากผู้สุงอายุและเด็ก ในโครงการดนตรีพลังบวก

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

11 เม.ย. 2566 - 11 เม.ย. 2566

โครงการดนตรีพลังบวก วงปล่อยแก่

ประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ จาก 6 พื้นที่ ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มผู้สูงอายุ บ้านคา จังหวัดราชบุรี
  2. กลุ่มผู้สูงอายุ บ้านเกาะลอย จังหวัดราชบุรี
  3. กลุ่มผู้สูงอายุ ตำบลบ้านป่าตัน จังหวัดเชียงใหม่
  4. กลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลนครยะลาจังหวัดยะลา
  5. กลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
  6. กลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือ

  • พัฒนาต่อยอดให้เกิดวงปล่อยแก่สำหรับชุมชน
  • ดำเนินการสอนและดำเนินแผนบูรณาการให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่
  • สร้างความเข้าใจ โดยจัดประชุมในพื้นที่โครงการที่มีศักยภาพโดยให้ชุมชน/ภาครัฐ/ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย เปิดพื้นที่สำหรับวงปล่อยแก่เป็นที่รู้จัก และจัดกิจกรรมดนตรีในพื้นที่
  • การดำเนินการสอนให้เป็นไปตามบริบทพื้นที่จัดให้มีการเป็นการประชุมร่วมระหว่าง ผู้เรียน(ผู้สูงอายุ/ผู้ดูแล/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่) (ครูเจ้าหน้าที่/ผู้นำชุมชน) ครูผู้สอน (วิทยากรโดยมูลนิธิฯ)
  • กิจกรรมการถอดบทเรียน

 

โครงการดนตรีพลังบวก วงเด็กภูมิดี

โรงเรียน รูปแบบกิจกรรม
โรงเรียนวัดสุวรรณาราม
จังหวัดนครปฐม
  • การเรียนการสอนวงดนตรีสากล วงเมโลเดียน
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีสากล จนถึงการรวมวงดนตรี เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก
  • การพัฒนาผู้ควบคุมดูแลวงดนตรีให้สามารถวางแผนการซ้อม สามารถดูแลรักษาเครื่องดนตรี และสามารถนำนักเรียนออกแสดงในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
โรงเรียนวัดลาดทราย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • การเรียนการสอนวงดนตรีไทย วงปีพาทย์ และวงเครื่องสาย
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีไทย การอ่านโน้ต การปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย จนถึงการเล่นรวมวงปี่พาทย์ และวงเครื่องสาย เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก
  • การสร้างพื้นฐานอาชีพดนตรีไทย ให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยอาศัยพื้นที่วัดลาดทรายเป็นศูนย์กลางในการแสดงดนตรีไทยของชุมชน
โรงเรียนวัดกุฏิประสิทธิ์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • การเรียนการสอนวงดนตรีไทย วงปีพาทย์ และวงอังกะลุง
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีไทย การอ่านโน้ต การปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย จนถึงการเล่นรวมวงปี่พาทย์ และวงอังกะลุง เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก
  • การสร้างพัฒนาผู้เรียนให้สามารถประกวดแข่งขันดนตรีไทย
โรงเรียนวัดพระยอม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • การเรียนการสอนวงดนตรีไทย วงปีพาทย์ และกลองยาว
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีไทย การอ่านโน้ต การปฏิบัติเครื่องดนตรีไทย จนถึงการเล่นรวมวงปี่พาทย์ และวกลองยาว เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก
  • การสร้างพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสดงในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก
โรงเรียนบ้านเทอดไทย
จังหวัดเชียงราย
  • การเรียนการสอนวงดนตรีสากล วงเครื่องสายตะวันตก
  • ระดับชั้นประถมศึกษา และระดับชั้นมัมธยมศึกษาตอนต้น จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีสากล วงเครื่องสายตะวันตกจนถึงการรวมวงดนตรี เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก โรงเรียน
  • การพัฒนาผู้ควบคุมดูแลวงดนตรีให้สามารถวางแผนการซ้อม สามารถดูแลรักษาเครื่องดนตรี และสามารถนำนักเรียนออกแสดงในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
โรงเรียนบ้านห้วยอื่น
จังหวัดเชียงราย
  • การเรียนการสอนวงดนตรีสากล วงเมโลเดียน
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีสากล จนถึงการรวมวงดนตรี เพื่อกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก
  • การพัฒนาผู้ควบคุมดูแลวงดนตรีให้สามารถวางแผนการซ้อม สามารถดูแลรักษาเครื่องดนตรี และสามารถนำนักเรียนออกแสดงในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
โรงเรียนอนุบาลยะลา
จังหวัดยะลา
  • การเรียนการสอนวงดนตรีสากล วงขับร้องประสานเสียง
  • ระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 40 คน
  • การสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานดนตรีสากล วงขับร้องประสานเสียงเด็ก จนถึงการรวมวงขับร้องประสานเสียง
  • การพัฒนาผู้ควบคุมดูแลวงดนตรีให้สามารถวางแผนการซ้อม สามารถดูแลรักษาเครื่องดนตรี และสามารถนำนักเรียนออกแสดงในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

 

ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

หลังจากเข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ ซึ่งมีการฝึกซ้อมร้องเพลงประสานเสียงต่อเนื่อง สม่ำเสมอทุกวันเสาร์อาทิตย์ ครั้งละสองชั่วโมงเพื่อแสดงผลงานในที่สาธารณะ ผลการประเมินสุขภาพจิตโดยรวมด้วยแบบสัมภาษณ์ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น หรือ TMHI-15 ของผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนดีขึ้น ผู้เข้าร่วมที่เคยมีสุขภาวะทางจิตอยู่ในระดับคนทั่วไปได้คะแนนประเมินเพิ่มเป็นผู้ที่มีสุขภาวะทางจิตดีกว่าคนทั่วไป โดยเห็นผลต่างที่ชัดเจนขึ้นในด้านอารมณ์ด้านบวกที่เพิ่มขึ้น อารมณ์ด้านลบที่ลดลง รวมถึงความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างที่ดีขึ้น

จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการ การเข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีโดยใช้การร้องเพลงประสานเสียงทำให้มีการพบปะพูดคุยกับบุคคลอื่นมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่นมากขึ้น ทำให้พัฒนาในเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น รวมทั้งเติมเต็มในบางส่วนที่ผู้เข้าร่วมโครงการขาดไป ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งการร้องเพลงยังใช้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการคลายความเครียดและลดความกังวลได้ดี ผู้เข้าร่วมโครงการจึงมีความรู้สึกวิตกกังวลลดลงแม้จะยังเผชิญปัญหาในชีวิตอยู่ก็ตาม

 

สุขภาพจิตก่อนเข้าร่วมโครงการ สุขภาพจิตหลังเข้าร่วมโครงการ
ครูป้อม ครูวัยเกษียณที่อาศัยอยู่ในบ้านกับภรรยาและลูกสาวสองคน ได้ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อหนึ่งปีก่อน ตอนแรกที่ทราบรู้สึกไม่สบายใจและพยายามรักษามาตลอดด้วยการผ่าตัดและฉีดยา จนปัจจุบันผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อแพทย์แจ้งว่าสิ้นสุดการรักษา ครูป้อมมีความกังวลอยู่บ้างเรื่องผลเลือดที่จะตรวจในเดือนต่อไปว่ามะเร็งจะกลับคืนมาไหม เพราะน้องชายของตนเคยรักษามะเร็งตับจนดีขึ้นมากแล้ว อยู่ ๆ อาการกลับแย่ลงและเสียชีวิต อย่างไรก็ตามครูป้อมบอกว่าตนเองสามารถจัดการกับความคิดความกังวลต่างๆ ได้เนื่องจากมีดนตรีช่วยคลายเครียด ด้วยเดิมเป็นคนรักในเสียงดนตรีอยู่แล้ว และยังมีที่พึ่งทางใจคือพระเจ้า ทำให้เชื่อว่าตนเองจะสามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้ และยังใช้เวลาที่ว่างหลังเกษียณทุ่มเทกับการช่วยเหลือคนอื่น เพราะคิดว่าทำให้ตนเองมีคุณค่า ครูป้อมเล่าว่าการได้มาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ สิ่งที่ครูป้อมได้คือการพัฒนาทักษะการร้องเพลง เดิมครูป้อมเข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีอยู่แล้วสม่ำเสมอ แต่การเข้าร่วมครั้งนี้ทำให้ตนเองได้พัฒนาทักษะและได้แสดงความสามารถมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นใจในตนเองมากขึ้น รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้พบกับเพื่อนเก่า จึงทำให้มีความสุขมากขึ้น ส่วนเรื่องความวิตกกังวล ครูป้อมยังมีความกังวลอยู่เรื่องที่ตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งและเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่การร้องเพลงช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งครูป้อมใช้คำว่าการร้องเพลงนั้นเป็นชีวิตจิตใจ รวมถึงครูป้อมยังมีการดูแลสุขภาพจิตด้วยวิธีอื่นเช่นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คะแนนประเมินสุขภาพจิตของครูป้อมจึงพัฒนาขึ้นจากที่อยู่ระดับคนทั่วไป เป็นอยู่ในระดับดีกว่าคนทั่วไป
ป้าทอง หญิงสูงวัยที่ตัดสินใจเกษียณก่อนถึงวัยถึง 8 ปีเพื่อออกมารับใช้พระเจ้าด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น ป้าทองช่วยดูแลผู้ป่วยและคนที่มีความทุกข์อยู่เสมอ โดยมีความเชื่อในพระเจ้านำทาง ทำให้ทุกครั้งเวลาที่มีปัญหาต่างๆ เข้ามาในชีวิต ป้าทองจะเปิดพระคัมภีร์และไปโบสถ์ และเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามาตนเองจะสามารถจัดการได้ ป้าทองยังรักการร้องเพลงแม้ว่าจะคิดว่าตนเองร้องเพลงไม่ได้เก่ง ไม่ได้เรียนมา แต่มีความตั้งใจก็สามารถทำได้ ปัจจุบันป้าทองอาศัยอยู่กับหลานสองคน โดยลูกสาวและลูกเขยอาศัยอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง ป้าทองได้พูดถึงการเข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ว่านับเป็นหนึ่งในชีวิตประจำวันของป้าทองแล้ว เดิมทีป้าทองชอบเข้าร่วมกิจกรรมและช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ การเข้าร่วมการร้องเพลงนี้จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ป้าทองได้ทำ และมีความสุข ผลการประเมินสุขภาพจิตของป้าทองยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าคนทั่วไป
ป้ากช หญิงวัย 72 ปีที่ก่อนหน้าที่ยังคงทำน้ำจิ้มขายด้วยตนเองและมีความภาคภูมิใจในส่วนนี้มาก จนกระทั่งปัญหาสุขภาพเรื่องกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อทำให้ต้องหยุดทำงานในที่สุดเมื่อปีก่อน ทำให้ป้ากชมีความรู้สึกเสียดายแต่ตนเองได้วางแผนชีวิตหลังจากนี้ไว้แล้วว่าคงใช้เวลาที่เหลือพักผ่อน และอาจทำน้ำจิ้มแบ่งปันให้ญาติพี่น้องเป็นบางครั้ง ไม่ถึงขั้นทำเป็นอาชีพเหมือนเมื่อก่อน และใช้เวลาว่างช่วยเหลือดูแลผู้อื่นในชุมชนอยู่เสมอ ป้ากชเชื่อว่าตนเองเป็นคนสู้ชีวิต ผ่านความยากลำบากมามากเพราะเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบ ต้องทำงานส่งน้องเรียนหนังสือ รวมทั้งมีที่พึ่งทางใจคือพระเจ้าทำให้เชื่อว่าตนเองจะสามารถจัดการปัญหาหรือความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ป้ากช บอกว่าตนเองอารมณ์ดีขึ้น มีความกังวลเรื่องอาการเจ็บป่วยคือปวดหลังลดลงหลังจากเข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ ทำให้คนรอบข้างสะท้อนว่าป้ากชสุขภาพจิตดีขึ้น เดิมป้ากชมีวิธีคลายความกังวลที่ใช้อยู่เป็นประจำคือการอ่านพระคัมภีร์หรืออธิษฐานกับพระเจ้า ในตอนนี้มีวิธีเพิ่มอีกหนึ่งอย่างคือการร้องเพลง ป้ากชมักจะฝึกร้องเพลงในเวลาว่าง โดยเฉพาะเวลาก่อนเข้านอน ทำให้นอนหลับง่ายมากขึ้น

ป้าศรีทอง น้องสาวของป้ากช มีความชื่นชมในตัวพี่สาวอย่างมาก เดิมทำงานในโรงพยาบาลและออกมาทำขนมขายเพราะมีความชื่นชอบในด้านนี้ ปัจจุบันส่งต่อกิจการให้ลูกชายทำแล้ว ส่วนตนเองใช้เวลาว่างในการพัฒนาสูตรขนม ตัวป้าศรีทองนั้นมีความต้องการจะช่วยเหลือผู้อื่นและเต็มใจที่จะทำ แต่ในตอนนี้ยังไม่มีโอกาสเนื่องจากกลุ่มในชุมชนที่ตนเองอยู่ตอนนี้ไม่ค่อยมีกิจกรรมให้ทำ ทำให้มีความเบื่อหน่ายอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าตนเองสามารถจัดการปัญหาและความเครียดต่างๆ ได้เพราะเชื่อมั่นในพระเจ้า ป้าศรีทองรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะได้พบปะผู้คนมากขึ้น ทำให้ได้รับฟังปัญหาของบุคคลเหล่านั้นและได้เป็นที่ปรึกษาหรือให้กำลังใจ จึงรู้สึกภูมิใจในตนเองที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งจากเดิมป้าศรีทองมักไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น การได้ออกมาร้องเพลงประสานเสียงกับทุกคนทำให้อารมณ์ดีขึ้น และพัฒนาไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ซึ่งลูกชายของป้าศรีทองบอกว่าป้าศรีทองบ่นน้อยลง และกังวลลดลง เนื่องจากตอนนี้ป้าศรีทองเพิ่งทราบว่าตนเองเป็นต้อหิน แต่ไม่ได้กังวลมากเพราะมีการพึ่งพิงศาสนาและการร้องเพลงที่ช่วยลดความวิตกกังวลอยู่
ครูกุ้ง ครูกุ้งทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำไส้เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้รู้สึกตกใจและกังวลอย่างมาก ทำให้นอนไม่หลับอยู่ถึงหนึ่งคืนเต็มๆ หลังจากนั้นพยายามทำใจและบอกตัวเองให้สู้ต่อไป แม้จะมีบางครั้งที่ยังรู้สึกกังวลและคิดมาก เพราะครูกุ้งเป็นคนดูแลครอบครัว จึงกลัวว่าหากวันหนึ่งตนเองเป็นอะไรไป ครอบครัวจะอยู่อย่างไร ทำให้มักพูดกับคนในครอบครัวเสมอว่าหากตนเองเป็นอะไรไปขอให้ทุกคนดูแลตนเองให้ได้ ครูกุ้งมีความตั้งใจที่จะใช้การร้องเพลงเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ละสร้างความสุขใจ และเต็มใจพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ครูกุ้งบอกว่าตั้งแต่ได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแก่มา ครูกุ้งรอคอยการมาร่วมฝึกซ้อมร้องเพลงอยู่ตลอด เดิมทีครูกุ้งไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรี การได้มาร้องเพลงประสานเสียงกับผู้อื่นทำให้อารมณ์ดีขึ้น กังวลลดลง เพราะเวลาร้องเพลงจะไม่คิดมาก แม้จะมีความกังวลเรื่องความเจ็บป่วยอยู่บ้างแต่ในตอนนี้การร้องเพลงนับเป็นวิธีคลายเครียดอย่างหนึ่งของครูกุ้งแล้ว และที่สำคัญคือได้มีอะไรทำมากขึ้น เช่นเวลามาฝึกซ้อมร้องเพลง ครูกุ้งมีหน้าที่ช่วยจัดแถว ช่วยเหลือเรื่องการจัดการในกลุ่ม ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น เนื่องจากได้ความรู้สึกเป็นผู้นำกลับมาจากเดิมที่สูญเสียไปเมื่อตอนทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง รวมทั้งคนในครอบครัวยังสะท้อนเรื่องอารมณ์และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย คะแนนประเมินสุขภาพจิตของครุกุ้งจึงเพิ่มขึ้นจากระดับคนทั่วไปเป็นดีกว่าคนทั่วไป

 

 

วิดีโอกิจกรรม