เงินบริจาคของคุณจะนำไปจัดซื้อข้าวสารเพื่อการยังชีพให้กับผู้สูงอายุ22คน
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
บ้าน 2 ชั้นรั้วสีฟ้าเข้มใต้ถุนโล่ง ทุกอย่างดูเป็นระเบียบสะอาดตา “พี่ฉัตร” วัย 53 ปี อดีตสาวโรงงานที่ต้องกลับบ้านเกิดเพื่อรับหน้าที่ดูแลแม่ติดเตียง อาหญิงที่โสด อายุ 90 ปี มีภาวะหลง ลืมเลือนแม้วิธีล้างหน้า ไม่ค่อยพูดจา เดินไม่สะดวกต้องช่วยพยุง มีโรคความดันสูง และพี่เขย (คนกลาง) ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง หลังการผ่าตัด กลายเป็นผู้พิการไม่สามารถดูแลตนเองได้มานานนับสิบปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ 5 ปี แต่เดิมอยู่กับพี่สาว (ภรรยา) หากกลางวันออกไปทำงานก็จะเป็นห่วง จึงฝากให้น้องสาวคนเล็กอย่างพี่ฉัตรดูแล และคอยส่งเงินมาให้เดือนละ 3,000 บาท
ผู้ป่วยถึง 3 คน และผู้ดูแลเพียงคนเดียว พี่กฐิน แกนนำจิตอาสาจึงเสนอชื่อครัวเรือนนี้ให้ได้รับข้าวสารเพื่อลดรายจ่าย และถือเป็นการดูแลให้กำลังใจกัน เพราะรายได้อื่นๆ ไม่สามารถทำได้ พี่กฐินยังทำหน้าที่รับข้าวสารมาส่งให้ในทุกเดือน แรกๆ พี่ฉัตรกังวลว่าจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง ด้วยการอธิบายของพี่กฐินทำให้พี่ฉัตรเข้าใจ และขอบคุณข้าวสารที่เป็นเหมือนกำลังใจให้กับคนที่ทำหน้าที่ที่ไม่ง่ายนี้เลย
หลังจากแม่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับพี่สาวคนโตเกษียณจากงานซุปเปอร์มาเก็ตกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ด้วยกัน พร้อมกับพี่เขยที่ผ่าตัดสมองไม่สามาถช่วยเหลือตนเองได้ มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดและสื่อสารได้น้อย ทั้งสองมีลูกชายหนึ่งคนกำลังศึกษา ป.ตรี ชั้นปีสุดท้าย เรียนเก่งจนได้รับทุนสนับสนุน และหารายได้รับเป็นครูรับสอนว่ายน้ำ พอดูแลตนเองได้ และนับเป็นความภูมิใจของพ่อแม่ และพี่ฉัตรด้วย
ปัจจุบันบ้านหลังนี้จึงมีผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 3 ราย ผู้สูงอายุ 1 ราย รายได้นอกเหนือจากเงินที่พี่สาวส่งมาก็มีเบี้ยผู้สูงอายุ และเบี้ยผู้พิการ พี่ฉัตรและพี่สาว หากมีใครจ้างถากหญ้าก็จะรับ แต่มีเข้ามาไม่บ่อยนัก และพี่ชายของพี่เขย (คนโต) ส่งเงินมาช่วยเดือนละ 1,000 บาท ไม่มีอาชีพประจำจึงต้องประหยัดด้วยการซื้อแกงถุงละ 10 บาท บางทีก็ซื้อผักกำละสิบบาท มาทำกับข้าว เน้นไปที่อาหารจืดๆ ย่อยง่าย เหมาะกับผู้ป่วย วิถีชุมชนเพื่อนบ้านก็จะดูแล แกงถ้วยถูกส่งแบ่งปันกันข้ามรั้ว นอกจากค่าใช้จ่ายในบ้าน หากต้องไปหาหมอต้องจ้างรถ รับส่ง ครั้งละ 400 บาท
ทั้ง 5 ชีวิตอาศัยชั้นล่างของบ้าน เตียงที่หันกันละมุม เพื่อให้สามารถดูแลกันได้ในทุกเวลาอย่างใกล้ชิด แต่ละวันต้องทำอาหาร 3 มื้อ จัดยา กายภาพ พยุงเข้าห้องน้ำ ดูแลทำความสะอาด พื้นที่บ้านชั้นบนจะใช้ก็ต่อเมื่อถึงฤดูน้ำท่วมเท่านั้น
ทรัพย์สินมีเพียงบ้านหลังนี้ และที่ดินขนาดเล็กๆ 2 งาน ห่างจากบ้านไม่ไกล ไว้ปลูกผลไม้พอเก็บกิน แต่เมื่อน้ำท่วมก็เสียหาย จึงปลูกได้เพียงพืชระยะสั้น เล็กๆ น้อยๆ อย่าง อ้อย มันสำปะหลัง บวบ ถั่วพู สวนนี้ยังเป็นพื้นที่คลายเครียดจากการดูแลผู้ป่วย บางทีก็ไปพูดคุยกับพี่กฐินด้วยบ้านอยู่ติดๆ กัน
เรื่องราวของครอบครัวนี้ ทำให้เห็นมุมมองของความยากลำบากอันเกิดจากสภาวะสุขภาพ ป่วย ชรา และความเสียสละของคนๆ หนึ่ง สะท้อนคุณค่าความเป็นพี่น้อง ครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน รวมถึงสังคมที่ทุกคนต่างมีโอกาสได้ร่วมดูแลกันอย่างอบอุ่น
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
อย่างไรที่เรียกว่า “จน” ? ภายใต้งานวิจัยของโครงการวิจัยฯ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทที่เริ่มต้นจากการสำรวจความยากจนของครัวเรือน ศึกษาครอบคลุม 5 มิติ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนการเงิน และทุนทางสังคม เมื่อทำการประมวลจัดกลุ่ม แบ่งออกเป็น กลุ่มคนจนอยู่ดี กลุ่มคนจนอยู่ได้ กลุ่มคนจนอยู่ยาก และคนจนอยู่ลำบาก และนำมาซึ่งการออกแบบกิจกรรมแก้จนที่เหมาะสม โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
กิจกรรมแก้จน สร้างทางเลือกในการพัฒนาที่สอดคล้องความต้องการ และความเป็นไปได้ กล่าวเพียงกลุ่มพึ่งพิง ซึ่งได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรม “กองทุนข้าวสารโพนางดำออก” ขึ้นในปี 2565
การชี้เป้าจาก 180 ครัวเรือน ในตำบล พบว่าสิ่งสำคัญของกลุ่มพึ่งพิงมีการลำดับการใช้จ่ายเงิน อย่างแรกคือข้าวสาร ส่วนกับข้าวสามารถหาได้จากแหล่งธรรมชาติ บางส่วนปลูกผักบริเวณบ้านเรือน รองลงมาเงินถูกใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล และอื่นๆ การร่วมกันวิเคราะห์เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการมีข้าวสารเพื่อบริโภคในกลุ่มพึ่งพิง จึงเกิดเวทีร่วมกันคัดกรองผู้รับการช่วยเหลือ ต่อเนื่องด้วยข้าวสารที่ระดมจากการมีส่วนร่วมของเจ้าคณะจังหวัด พมจ.ชัยนาท โดยปริมาณการรับต่อรายคำนวณจากปริมาณการบริโภคเฉลี่ย 10 กิโลกรัมต่อเดือนต่อคน
การดำเนินการก่อตัวจัดตั้ง “กองทุนข้าวสารโพนางดำออก” เป็นกลไกการบริหาร มีการกำหนดระเบียบกองทุน คัดเลือกคณะกรรมการ การช่วยเหลือเพื่อประคับประคองให้คนจนกลุ่มพึ่งพิงมีข้าวสารดำรงชีพในภาวะปกติแล้ว กองทุนยังมีเจตนาในการช่วยเหลือในภาวะภัยพิบัติเนื่องจากพื้นที่โพนางดำออกเป็นพื้นที่อุทกภัยที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี จากที่ยากลำบากยิ่งเปราะบางต่อการรับมือ และการฟื้นคืนที่ยากกว่าปกติ จึงคำนึงถึงการดำเนินชีวิตช่วงสถานการณ์ภัยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มพึ่งพิง ที่ได้มีการสำรวจข้อมูลรวบรวมนั้นยังได้มีการส่งต่อการช่วยเหลือ ภายในชุมชน มอบให้กองทุนสวัสดิการต่างๆ ที่มี เพื่อดูแลร่วมและเปิดโอกาสให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ ภายนอกชุมชนจัดส่งให้หน่วยงาน เช่น อำเภอ, พมจ., พอช., องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำมาซึ่งการช่วยเหลือต่างๆ เช่น โครงการบ้านพอเพียง และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งหมดล้วนเป็นเจตนาที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย โดยความร่วมมือทั้งพลังภายในชุมชน ร่วมกับภาคี และสาธารณะ หวังว่าโมเดลกองทุนฯ นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อดูแลพี่น้องที่ยากลำบากในชุมชน
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
หากใครได้อ่านเรื่องราวของป้าสำเนียง ก่อนหน้านี้คงพอได้นึกถึง เดิมทีป้าอยู่กับยายบุญมีผู้เป็นแม่ที่ชรา และติดเตียงนานนับปี ส่วนประสงค์ น้องชาย อดีต รปภ. ย้ายกลับมาอาศัยด้วยหลังอายุมากและป่วยรุมเร้า รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ 3 ชีวิตที่ต้องดิ้นรน ยายบุญมีเองก็ได้รับข้าวสารจากกองทุน เช่นเดียวกับป้าสำเนียง
ช่วงเริ่มแรกกองทุนข้าวสารจะเบิกจ่ายจัดซื้อครั้งหนึ่งอยู่ได้ 3 เดือน โดยจะเก็บไว้ที่บ้านพี่ๆ แกนนำชุมชนแต่ละหมู่ เพื่อแบ่งเบาการมารับในทุกเดือน ที่ต่างเข้าใจดีว่ามีภารกิจหลากหลาย เมื่อถึงกำหนดวันที่ 9 ถุงข้าวสารก็จะถูกกระจายส่งต่อให้แต่ละบ้าน ช่วงนั้นอาการป่วยของยายบุญมี ไม่สู้ดีนัก ที่สุดก็สิ้นลมด้วยโรคชราในวัย 80 กว่า พี่นิยม ไม้คำ แกนนำที่ดูแลคอยจัดส่งข้าวสารให้นานหลายปี เห็นว่ายังเหลือข้าวสารถุงสุดท้ายที่ยายบุญมียังไม่ได้ อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงกำหนดส่ง ยายมาด่วนจากไปเสียก่อน
เห็นถึงความยากลำบาก พี่นิยมจึงหารือกับคณะกรรมการกองทุนสำหรับข้าวสารถุงสุดท้ายนี้ ต่างมีมติให้ส่งมอบกับญาติในงานศพยาย ไว้หุงถวายพระ หุงเลี้ยงแขกผู้มางาน การดูแลกันแม้วันที่ไม่เหลือลมหายใจ ให้เป็นบุญแม้กายลาจาก สิ่งนี้เป็นที่รับรู้กันดีในชุมชน แม้จุดตั้งต้นมีเจตนาที่มอบยามหัวใจยังเต้นก็ตาม
ประโยคสั้นที่ถามออกไปตรงๆ ว่า “พี่รู้สึกว่าเป็นภาระไหม ทุกเดือนที่ต้องมารับข้าวสารไปให้กลุ่มเป้าหมาย?” ยังไม่ทันได้จบคำถามดี พี่นิยมตอบเสียงดังรัว ๆ “ไม่ๆๆๆๆ ครับ ยินดี” พี่นิยมมีบ้านดูแลในหมู่ที่ 2 จำนวน 2 หลัง 3 ราย คนหนึ่งคือป้าสำเนียง ที่ตอนนี้เหลือตัวคนเดียว น้องชายเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว อีกสองนั้นคือยายศิริที่อายุ 90 ปี ทำอะไรไม่ไหว กับประทิน ลูกชายที่ป่วยจิตเวชไม่สามารถทำงานได้
เบื้องหลังการขับเคลื่อนงาน ยังประกอบด้วยจิตอาสาอีกหลายท่าน พี่รัตนา พ่วงรักษ์ ประธานกองทุนผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากชุมชนให้ทำหน้าที่นี้ สำหรับกองทุนข้าวสารพี่รัตนาให้ความหมายว่า “คือ กองทุน กองบุญ แห่งการช่วยเหลือคนในชุมชนที่ด้อยโอกาส เดือดร้อน” จนถึงวันนี้ก้าวสู่ปีที่ 4 แล้ว ผ่านเรื่องราวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานพอควร จากซื้อตุนหนึ่งครั้งอยู่ไป 3 เดือน เป็นการมอบให้แต่ละเดือน จากการระดมผ่านกิจกรรมทอดผ้าป่า สู่การระดมทุนจากภายนอก
“...การทำงานเป็นจิตอาสาแท้จริง บางครั้งต้องแบกรับภารกิจอื่นๆ ด้วย ถามว่าไหวไหม ก็ทำได้ เห็นรอยยิ้มตอนเอาข้าวไปแจก เป็นอะไรที่ ฮึบ ต้องทำต่อ ต้องสู้กันต่อ.. การทำงานแน่นอนว่าต้องมีอุปสรรค แต่การช่วยให้เขาดีขึ้น ให้เขามีกิน ก็กลายเป็นความสุข...”
พี่อุษา บุญมี เหรัญญิกประจำกองทุน กล่าวถึงสิ่งที่ทำว่า “...การได้เข้ามาอยู่ ก็ได้ช่วย คนที่เราช่วยก็รู้สภาพเขาอยู่ เขาลำบาก การหาคนจิตอาสาไม่ง่าย หากเราหยุดไป บ้านเหล่านี้ก็จะไม่มีข้าวกิน เวลางานยุ่งๆ หายเหนื่อย ก็ไปต่อ สิ่งที่ได้ เหมือนกับภูมิใจอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปหาเขา เวลาเขาพูดขอบคุณ จนสงสัยว่า เรามีบุญคุณขนาดนั้นเลยหรือ ทั้งที่ไม่ใช่เงินของเรา เราแค่ส่งต่อ...”
ทีมแกนนำจิตอาสา เวลาไปไหน เจอกับกลุ่มเป้าหมายต่างยกมือไหว้เมื่อเห็นหน้ากัน ไม่ใช่แค่เฉพาะหมู่ ไปหมู่ไหนต่างรู้จัก เหมือนกับว่าเขาเหล่านั้นรับรู้ จำได้ บางคนก็บอกว่าเขาเหล่านี้คือ “คนแจกข้าวสาร”
ฝันของกองทุน เส้นทางที่ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อสังคมเล็กๆ จากคนตัวเล็กๆ ที่เกาะเกี่ยวกัน
“...พี่ไม่อยากให้ล่ม ให้มี ให้เขา ให้ไปเรื่อยๆ ถ้ามีคนที่แย่กว่า ก็อยากดึงเข้ามาตรงนี้ ทำแล้วไม่อยากหยุด แม้กองทุนนี้หาเงินเข้ายาก จำเป็นที่ต้องออกทุกเดือน การเลือกที่จะดูแลใครจึงต้องคัดกรอง เห็นร่วมถึงความยากลำบากนั้นแท้จริง..” พี่รัตนาบอกเล่าความคิด
“..วันข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจดีๆ สักหน่อย หาโอกาสเหมาะจัดผ้าป่าในตำบลสักครั้ง อยากทำให้ได้เป็นวัฒนธรรมของชุมชน แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอีกรอบอย่างไร ต้องมีคนก่อตั้ง กองทุนข้าวสารหากจะขยายแนวคิดนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ แล้ว สำคัญคือผู้ก่อการที่มีใจ...” พี่อุษากล่าว
ความพยายาม และความตั้งใจของกลุ่มคนเล็กๆ ที่หัวใจเข้มแข็ง ที่ทุ่มเทดูแลผู้ยากลำบากในชุมชนตนเอง
ร่วมติดตามเป็นกำลังใจให้กับทีมงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออกที่ควรค่าแก่คำชื่นชม
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
รอบการส่งมอบข้าวสารของกองทุนฯ ในเดือนนี้พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพี่ๆ แกนนำชุมชน และทีมวิจัยฯ การดำเนินกิจกรรมยังต้อนรับการเยี่ยมชมจากคณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหน่วยติดตามสนับสนุนอีกส่วนแนะนำ
4 ธ.ค. ถึงวันนัดหมายชวนแกนนำล้อมวงพูดคุยกระบวนการ ทบทวนการดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศบาลปีใหม่แห่งความสุข จึงร่วมกันนิมนต์พระมหาสมพงษ์ วังสะธัมโม ท่านเจ้าอาวาสวัดสมอ ตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นประธานมอบข้าวสารแก่กลุ่มเป้าหมาย
ลุง ป้า ต่างมารวมตัวกันในตอนเที่ยงตรงที่ห้องประชุมของโรงเรียนวัดสมอ นั่งรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน พูดคุยไถ่ถามทุกข์สุข ป้าสำเนียง ลุงสุธน และตาเชื้อ ก็มาร่วมด้วย เมื่อถึงเวลาดีบ่ายโมง ท่านเจ้าอาวาสเดินทางมายังห้องประชุม เริ่มพิธีการง่ายๆ ด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนจะทยอยส่งมอบข้าวสาร มีนม บะหมี่สำเร็จรูป ให้กับทุกคนที่มารับ และหลวงพ่อท่านให้ศีลให้พรแก่ทุกคนที่ร่วมบุญ
ตาเชื้อ กับป้าสำเนียงได้ไม้เท้าสามขา ที่ทางทีมวิจัยรับมอบมาจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยนาท คุณหมออุษา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนางดำออก ผู้ใจดีสอนวิธีการใช้ให้กับทั้งป้าและลุง คำกล่าวขอบคุณ ความรู้สึกดีใจได้ถูกเผยผ่านรอยยิ้มจากทั้งสองเมื่อมือที่จับและเท้าที่ก้าวเดินมั่นคงขึ้น
ยังมีบ้านอีกหลายหลังที่ไม่สามารถเดินทางมารับที่จุดนัดหมายได้ พี่ ๆ แกนนำชุมชนรับอาสาส่งมอบเช่นเคย ทีมงานวิจัย ทีมแกนนำ ได้นำพาคณะติดตามลงเยี่ยมบ้านอีก 2 หลัง คือบ้านลุงไพร และยายศิริ
ลุงไพร ได้รับการซ่อมแซมบ้านจากหน่วยงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังคาสังกะสีใหม่เอี่ยม ไม่ต้องเปียกฝน บันไดที่โอนเอนได้รับการซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรง แต่ลุงยังคงอาศัยอยู่บนชั้นสอง ถ้วยจานที่วางครอบกันไว้ ด้านในเป็นกับข้าวที่พี่สาวจัดหาให้ด้วยความห่วงใย
ยายศิริ อายุ 90 กว่าปีแล้ว นั่งเล่นอยู่บนแคร่ไม้ อีกด้านเป็นลูกชายวัยเกือบ 70 ปี ป่วยเป็นจิตเวช ออกเดินไปทั่วหมู่บ้าน พูดคุยรู้เรื่องเล็กน้อย ไม่นานลูกสาวยายที่ออกไปรับจ้างก่อสร้างรายวันก็รีบกลับมาต้อนรับ บอกเล่าความเป็นอยู่ที่ลำบาก พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับการดูแลจากชุมชนด้วยกัน เช่นนี้ได้สร้างกำลังใจเป็นอย่างมากกับครอบครัว
ครั้งที่ 4 ที่ถุงข้าวสารอยู่ใน 22 อ้อมกอดแล้ว
อบอุ่น และอิ่มท้อง ขอขอบคุณทุกการบริจาคให้กับกองทุนข้าวสารโพนางดำออก
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
ป้าสำเนียง วัย 73 ปี แต่งงานมาหลายปีก็ไม่มีลูก สามีเสียชีวิตไป จึงอยู่ลำพังในบ้านไม้หลังเก่า บนที่ดินของกรมเจ้าท่า บ้านที่มีแค่ตู้เย็นเล็กๆ หม้อหุงข้าว ทีวีไม่ได้ดูมาหลายปี พอได้ฟังวิทยุคลายเหงา ใช้งานหนักหน่วงจนประท้วง ถ่านหลุดเด้งไปข้างหลัง ต้องเอาเชือกมัดบังคับกันไว้ ในทุกวัน ป้ายังคงออกรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท บ้านนายจ้างอยู่ไกลออกไปคนละหมู่บ้าน จึงต้องปันเงินส่วนหนึ่งไว้จ้างรถรับส่ง เพราะป้าไม่มีรถ แถมสุขภาพช่วงนี้ไม่ค่อยดี อาการเข่าปวดที่ต้องทานยาประทัง ไม่มีไม้เท้าใช้ร่มค้ำยันพยุงเดิน และยังมีความดัน เบาหวาน ไขมัน รุมเร้า หลังโทรศัพท์มือถือป้า นอกจากเบอร์ของตัวเองที่ต้องเขียนเพราะจำไม่ได้ ยังมีอีกเบอร์เป็นของคนข้างบ้าน หากเกิดอะไรขึ้นจะได้เรียกกัน ทุกเดือนป้าจะได้รับข้าวสารที่มาส่งให้ถึงหน้าประตูบ้านโดยพี่ผู้นำชุมชนที่ดูแลในหมู่นี้ ข้าวที่ได้จากกองทุนฯ ป้ารู้สึกขอบคุณจากใจ “...ทุ่นได้เยอะ แทนที่จะต้องซื้อ บางทีก็ไม่มี ดีใจ ผู้ช่วยเขาเอามาให้ พอกินอยู่ หุงทีละกระป๋อง อยู่คนเดียว แม่ค้าวิ่งผ่านหน้าบ้านเอาข้าวไว้กินกับแกงถุงละ 12 บาท บางทีก็มีแค่กระถินข้างทางไว้เก็บกิน จิ้มน้ำพริก...” สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่มีป้าก็ขยับสินค้าจำเป็นมาแทนที่ข้าวสารที่เคยซื้อ “...ไม่ต้องเอาข้าวแล้ว เอาเป็นน้ำมัน น้ำตาล น้ำปลา แทน..” และเงินผู้สูงอายุที่เคยเอามาซื้อของส่วนเพิ่มจนเงินไม่พอใช้ ต้องหยิบยืม ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว |
ป้าแมว หญิงชราอีกบ้าน พิการขา และแขน ใช้ถัดตัวไปมาอยู่บนบ้านไม้สีเขียว สามีก็ชราขาไม่ดีต้องใช้วอคเกอร์พยุงเดิน หลังจากลูกชายของทั้งคู่ได้โควตาเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เมื่อกลางปี ต้องอยู่กันแค่สองคนลุงป้า เมื่อถามถึงลูกชาย ตอบด้วยเสียงสั่นเครือ และน้ำตาซึมอย่างคิดถึง น้องยังไม่ได้กลับมาบ้าน หลังจากไปเรียนหลายเดือน แถมต้องทำงานพิเศษที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง เพื่อส่งตัวเองเรียน และคอยส่งเงินกลับมาจุนเจือเดือนละพันสองพัน ผู้เป็นแม่พยายามที่จะไม่ใช้เงินนี้ เผื่อว่าวันหนึ่งจะได้ให้ลูกเมื่อจำเป็น ป้าแมวได้เงินหมื่นดีใจมาก จ่ายไปกับค่าเทอมใหญ่ และมือถือเครื่องใหม่ใช้สำหรับเรียนของลูกชาย “...แค่มีข้าวกินก็พอแล้ว ตอนนี้ได้ข้าวสาร 1 ถุง เพราะไม่ใช่มีเราคนเดียว ก็ยังดีที่น้าษา (ผู้นำชุมชน) เอามาให้ทุกเดือน มีหลายบ้านก็แย่เหมือนเรานั่นแหละ ถ้าวันหนึ่งไม่มีข้าวสารแล้ว ถ้าลูกส่งมาฉันก็จะตุนข้าวไว้ก่อน กับข้าวไม่ห่วง ผักบุ้งแถวบ้านเรา ข้าวต้องตุนไว้ ข้าวที่ได้มาก็อยู่ได้หลายวัน ฉันก็กินข้าวไม่มาก หุงทีละกระป๋องเล็กๆ ถ้ามีข้าวเย็นเยอะก็หุงน้อย เหลือกลัวบูด ถ้าวันไหนไม่มีกับข้าวก็ให้ลุงไปเก็บผักบุ้งข้างบ้านมาต้ม พริกผงละลายน้ำปลา กินแค่นี้ บางทีมะเขือเปราะถุงละ 5 บาทซื้อมา...” “...พอมีตังค์ ได้ซื้อปลา ทำแกงส้มไว้ กินได้หลายวัน ฉันก็ชอบกิน กินซ้ำๆ ก็ดีกว่าอด อย่าให้บูดก็พอ...” ข้าวสารที่ได้รับยังเผื่อแผ่ให้เจ้าก๋วยได้อิ่มท้อง แมวไทยจร สีขนดำสนิท ถูกเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เล็ก เหมือนกับตัวแทนของลูกชายที่อยู่ไกล มีเจ้าก๋วยแสนรู้อยู่ข้างๆ พลอยได้คลายเหงาใจ ข้าวสารที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่อิ่มท้อง เงินที่ถูกใช้ซื้อของแต่ละคนต่างถูกทดแทนด้วยสิ่งจำเป็นในชีวิต ป้าสำเนียงมีเงินไว้จ้างรถไปทำงาน ป้าแมวเก็บเงินเอาไว้ให้ลูกชายคนเดียวได้เรียนหนังสือ แม้ไม่มากในมูลค่า แต่สำหรับพวกเขาแล้วเพียงเล็กน้อยก็มีความหมาย |
คำกล่าวขอบคุณที่อาจพูด หรือเขียนซ้ำๆ ทุกครั้งยังคงรู้สึกในความหมายนั้นเสมอ
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
"ติ๊ง เสียงดังชวนให้ยกมือถือขึ้นมอง กดจิ้มดูแอฟสีเขียว ภาพหน้าจอที่เห็นกระสอบข้าวถุงสีขาววางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ เพียงครู่สติ๊กเกอร์การ์ตูนหลากสไตล์ และข้อความอักษรถูกส่งรัวๆ ในกลุ่ม ส่งสัญญาณเป็นอันรู้กันว่าถึงเวลาส่งต่อข้าวสารของเดือนนี้ พี่ๆ อาสาสมัครแต่ละหมู่แวะเวียนมาหิ้วคนละถุงสองถุงตามจำนวนบ้านเป้าหมายในสังกัดหมู่ของตนเอง"
สิ่งที่ ตา ยาย พี่น้องผู้พิการออกมารับ ไม่ใช่แค่ข้าวสารแต่เป็นความตั้งใจ และความห่วงใยที่มีให้กันจากผู้คนที่ไม่รู้ว่าใครแต่ใจดีกับพวกเขาจริงๆ บ้านไหนพอมีแรงกำลังก็จะมารับด้วยตนเอง
ไม่นานถุงข้าวทั้งหมดก็ถูกตั้งไว้ภายในครัว 22 ชีวิต จากเม็ดแข็งก็กลายเป็นข้าวสวยร้อนๆ หุงเตาฟืนบ้าง หม้อไฟฟ้าบ้าง ให้ได้อิ่มท้อง พอมีกินไปตลอดอีก 1 เดือนเต็ม
ตาเชื้อ ชายที่ปีนี้อายุปาเข้าไป 92 แล้ว สุขภาพไม่ค่อยดี หูตึงไม่ค่อยได้ยิน แต่ยังตระเวนหาไม้จากป่าละเมาะใกล้ๆ สะสมไว้เผาถ่าน ไม้ท่อนยาวผ่านการอบร้อนใต้ดินหลายวันกลายเป็นถ่านก้อนสีดำสนิทบรรจุใส่กระสอบปุ๋ยมือ 2 มัดใส่ท้ายจักรยานคันเก่าๆ ปั่นออกไปขายร้านชำในหมู่บ้าน ได้ลูกละ 150 บาท เผาถ่านเป็นอาชีพเดียวที่ตาเชื้อยังพอทำได้ แม้จะเหนื่อยแค่ไหนต้องทนทำเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและลูกสาวพิการทางสมองอายุ 50 กว่า สองพ่อลูกอาศัยกินนอนอยู่แต่ใต้ถุนบ้าน เพราะพื้นด้านบนผุโหว่ทะลุเลยจนเห็นหลังคา ที่ดินรวมถึงที่นาด้านหลังราว 10 ไร่ กลายเป็นของเจ้าหนี้ไป แต่ก่อนต้องเช่านาที่เคยเป็นของตัวเองทำ พอแก่ตัวก็ทำไม่ไหว เจ้าของใหม่ใจดีให้ตาได้อยู่อาศัยไปจนกว่าลมหายใจสุดท้ายมาถึง ทุกวันนี้นอกจากรายได้จากการเผาถ่าน ก็มีเบี้ยผู้สูงอายุของตนเอง และเบี้ยคนพิการของลูกสาว อย่างละ 800 บาท พอให้ได้จับจ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟ สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐช่วงที่เปิดลงทะเบียนบันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วนจึงลงไม่สำเร็จ ส่วนผู้ของเป็นลูกไม่พบการลงทะเบียนในระบบ สิทธิ 300 บาทที่พอจะไปเอาข้าวสาร น้ำปลา ของใช้จำเป็น ก็ไม่ได้ พลาดจากสิทธิรอบนี้ทำให้พี่ ๆ ผู้นำเห็นใจตาเชื้อมากยิ่งขึ้นเพราะรู้ว่าชีวิตลำบาก ตาเองก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างอื่น ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ใช้จ่ายอย่างประหยัด |
เรื่องราวของตาเชื้อ และอีก 21 ชีวิต จุดประกายให้ทุกคนช่วยกันคิดถึงรูปแบบการดูแลกันในระดับชุมชน กองทุนข้าวสารโพนางดำออก จึงเกิดขึ้นอย่างตั้งใจ ชื่อของตาเชื้อถูกเสนอเป็นรายชื่อแรกๆ และเห็นร่วมกันว่าควรได้รับการช่วยเหลือนี้ภายใต้กองทุนฯ
ข้าวสารเพียงถุงก็ช่วยให้ตาแก่ๆ คนหนึ่งเหนื่อยน้อยลง เก็บแรงกำลังที่มีไม่มากไว้อยู่เพื่อดูแลลูกสาวพิการยาวนานขึ้นได้
ขอบคุณในความเชื่อใจ และขอให้มั่นใจว่าเงินบริจาคของทุกๆ ท่านได้กลายเป็นข้าวสารที่ถูกส่งต่อไปถึงผู้ที่ยากลำบากแล้ววันนี้
แผนงานกองทุนข้าวสารโพนางดำออก ได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ ดังนี้
เดือนแรกที่ครัวเรือนเป้าหมายได้ข้าวสารจากผู้ใจดีที่เลือกบริจาคเงินเข้ากองทุนเล็กๆ ของชุมชนโพนางดำออก จังหวัดชัยนาท การจัดซื้อข้าวสารดำเนินการไปตามระบบ ทีมคณะกรรมการประสานร้านจำหน่ายที่พร้อมจัดส่งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายไปยังจุดหลัก และคณะกรรมการตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน มารับข้าวสารเพื่อนำส่งให้กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละหลังคาเรือนทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ จนได้รับครบถ้วนทุกคน และไม่ลืมที่จะจัดส่งภาพผ่านกลุ่มไลน์กองทุนข้าวสารเพื่อแจ้งความสำเร็จการส่งมอบประจำเดือนนี้ให้ทุกคนได้ชื่นใจ
พี่ๆ คณะกรรมการทุกคนไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ก็ล้วนเต็มใจที่จะรับหน้าที่นี้ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปีแล้ว และจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ หากกองทุนมีเม็ดเงินสนับสนุนจากผู้ใจดี เพราะต่างรู้และเข้าใจดีว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีแล้วการซื้อข้าวสารเพียงถุงเดียวก็เป็นเรื่องยาก และไม่มีใครดูแลใครได้ดีเท่ากับผู้คนในชุมชนลุกขึ้นมาอาสาดูแลกันเอง
ลุงไพร หนึ่งใน 22 คน ผู้ได้รับข้าวสารจากกองทุนข้าวสารโพนางดำออก มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดือนนี้ด้วยเช่นกัน มือที่ประคองถุงข้าวสารแน่น กับรอยยิ้มเล็กๆ ที่แสดงถึงความขอบคุณ ชายร่างผอม ผมเพ้ารุงรัง พิการแขนลีบ และเดินไม่ได้ อาศัยลำพังในบ้านไม้หลังคาสังกะสี ข้างฝาเป็นรู ด้านหนึ่งเปิดโล่ง มีเพียงไม้ไผ่สานผุๆกั้นอยู่ไม่ถึงครึ่ง อีกฝั่งกั้นด้วยแผ่นยิปซั่มเก่าๆ ที่ทรุดโทรม หลังคารั่วหลายแห่ง มีเพียงจุดที่นอนที่ไม่รั่วเท่านั้น เรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นหลังจากผ่าตัดเส้นเลือดในสมองตีบ กะโหลกศรีษะของลุงก็ยุบไปครึ่งหนึ่ง การคิดช้าลงพูดก็ไม่ชัดเจน จากนั้นไม่นานก็ลื่นล้มหัวฟาดพื้นจนลุกไม่ขึ้น แขนและขาก็ค่อยๆ ลีบลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้พิการในที่สุด พี่สาวของลุงไพร อาศัยบ้างใกล้ๆ คอยเทียวนำอาหารมาให้ แกเองก็อายุมากแล้ว แต่ก่อนรับจ้างดายหญ้า แต่ทำไม่ค่อยไหวป่วยรุมเร้า แถมมีอาการหูตึง แม้จะลำบากทั้งสองพี่น้องก็พยายามที่จะดูแลกันให้ผ่านพ้นแต่ละวัน ลุงไพรพยายามอาบน้ำเองตรงชานบ้าน ซักผ้าเอง ใช้มือด้านหนึ่งที่พอใช้ได้ขยำเอาพอได้ เพื่อลดภาระของพี่สาวให้เหนื่อยน้อยลง การได้รับข้าวสารทุกเดือนจากกองทุนข้าวสารโพนางดำออกทุกเดือน ลุงบอกว่า “ช่วยได้มากเลย พอมีข้าวสารเราก็หุงกินได้ บางมื้อก็ทอดไข่กินเอง” พี่สาวจะได้ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะไม่มีอะไรกิน เขาเองก็อยากทำเองได้บ้าง ลุงไพรมีเบี้ยสำหรับผู้พิการเดือนละ 800 บาท ถึงจะไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมาก แต่ลุงก็อยากแบ่งเงินนี้ให้กับพี่สาวบ้าง |
นี่เป็นเพียงหนึ่งเรื่องราวของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับข้าวสารจากกองทุนฯ ซึ่งความตั้งใจที่จะดูแลเช่นนี้ไปจนลมหายใจสุดท้าย ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมบริจาคให้กับกองทุนข้าวสารโพนางดำออก