cover_1

ช่วยเหลือเด็กในพื้นที่สังขละบุรีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

เด็กและเยาวชน

เงินบริจาคของคุณจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตให้กับเด็กที่ต้องแยกจากครอบครัว และขาดคนดูแล200คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
6 ธ.ค. 2564

อัปเดตโครงการความคืบหน้าการดำเนินงานดูแลเด็กๆ ในศูนย์พักคอย พื้นที่สังขละบุรี

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

5 ธ.ค. 2564 - 5 ธ.ค. 2564

    ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีมีการจัดตั้งศูนย์พักคอยจำนวน 6 แห่ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากชุมชนต่างๆ ได้แก่ ศูนย์พักคอยบ้านพระเจดีย์สามองค์, ศูนย์พักคอยบ้านซองกาเรีย, ศูนย์พักคอยบ้านเวียคะดี้, ศูนย์พักคอยบ้านใหม่พัฒนา, ศูนย์พักคอยโรงเรียนอนุบาลสังขละบุรี, และ โรงพยาบาลสนาม (คริสเตียน) โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อภายในศูนย์เฉลี่ย 20-30 คน และยังพบปัญหาขาดบุคลากรในการดูแลผู้ติดเชื้อในศูนย์พักคอย เนื่องจากในพื้นที่สังขละบุรีมีจำนวนสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างน้อย ไม่เคยประสบกับสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้มาก่อน ทำให้การรับมือกับจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากเป็นไปอย่างยากลำบาก ทางโครงการจึงได้สนับสนุนให้มีอาสาสมัคร เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ติดเชื้อ ตลอดจนทำกิจกรรมกับเด็กในศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนและเด็ก โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการ ดังนี้

  • ในช่วงเดือนกันยายนที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โครงการได้จัดจ้างอาสาสมัคร จำนวน 8 คน เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลเด็กในศูนย์พักคอย 5 แห่ง และโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง โดยมูลนิธิวันสกายได้ดำเนินการอบรมอาสาสมัครในการดูแลและทำกิจกรรมกับเด็กเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และเมื่อทางภาครัฐประกาศให้มีการปิดศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนามทั้ง 6 แห่ง โครงการจึงได้ปรับกิจกรรมให้อาสาสมัครเหล่านี้ประสานงานกับภาครัฐเกี่ยวกับข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่และลงไปตามชุมชนเพื่อสำรวจครอบครัวที่มีเด็กและส่งมอบถุงยังชีพเด็กให้กับครอบครัว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน
  • ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 ทางโครงการได้ดำเนินการส่งมอบขนม นม หนังสือนิทาน สีและของเล่นให้กับศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนามทั้ง 6 แห่ง โดยเฉลี่ยตามจำนวนเด็กและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จนกระทั่งมีคำสั่งให้ปิดศูนย์พักคอยทุกแห่งในวันที่ 31 ตุลาคม 2564

  • เจ้าหน้าที่อาสาสมัครของโครงการทำกิจกรรมสันทนาการให้กับเด็กผู้ติดเชื้อในศูนย์พักคอย ในช่วงวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ทั้งกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด – 19 และการดูแลตัวเอง รวมถึงกิจกรรมให้ความสนุกสนานเพื่อคลายความเครียดให้กับเด็กที่ต้องแยกจากครอบครัว คลายความกังวลจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ลดความคิดถึงที่มีต่อครอบครัวและสามารถอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นได้ในศูนย์พักคอย

  • เจ้าหน้าที่มูลนิธิและอาสาสมัครโครงการลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้กับครอบครัวที่มีเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อและเด็กจำเป็นต้องกักตัวภายในบ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง รวมถึงมีการติดตามเยี่ยมบ้านเด็กเป็นระยะและพาเด็กไปตรวจหาเชื้อเมื่อกักตัวครบกำหนด โดยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงและเริ่มมอบถุงยังชีพให้กับครอบครัวเป้าหมายโดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน

    ตามนโยบายของส่วนกลางในการคลายมาตรการต่างๆ ในพื้นที่และสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์พักคอยทั้ง 6 แห่ง ถูกปิดตัวลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โดยให้มีการรักษาภายในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามกรณีผู้ป่วยหนัก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ให้ทำการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) และมีกำหนดให้โรงเรียนในพื้นที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ทางโครงการจึงปรับแผนไปตามมาตรการของภาครัฐ โดยมีกิจกรรม ดังนี้

  • สนับสนุนผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อให้กับโรงเรียนเพื่อใช้ในการดูแลเด็กนักเรียนเมื่อมีการเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 โดยส่งมอบให้กับโรงเรียน 13 แห่ง ในระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2564

  • อาสาสมัครโครงการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยที่ต้องทำ Home Isolation ที่บ้าน เพื่อมอบถุงยังชีพ ขนมและนมให้กับครอบครัวที่มีเด็ก ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงทุกวัน

  • อาสาสมัครโครงการลงพื้นที่ชุมชนให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด – 19 กับครอบครัวที่ยังไม่ติดเชื้อ โดยมี 3 หัวข้อหลักในการให้ความรู้กับชุมชน คือ
    1. การป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อเมื่ออยู่ที่บ้าน การใช้ชีวิตในสังคม โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องไปโรงเรียน
    2. ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวที่ยังตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อมีเด็กหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยและแนวทางในการทำ Home Isolation
    3. ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อหายจากการติดเชื้อโควิด – 19 และแนวทางการปฏิบัติตัว
    ซึ่งกิจกรรมให้ความรู้กับชุมชนนี้มีแผนจะเริ่มดำเนินการช่วงเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ อยู่ในระหว่างการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผ่อนปรนให้โครงการสามารถเข้าทำกิจกรรมภายในชุมชนได้
 

เสียงจากผู้รับประโยชน์

เด็กชายเวคิน อายุ 11 ปี 
สถานการณ์
เด็กเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ทำ Home Isolation ที่บ้าน โดยอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่ต้องกักตัว เนื่องจากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ไม่มีรายได้เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานได้
ความช่วยเหลือที่ได้รับ ถุงยังชีพสำหรับผู้ใหญ่และถุงยังชีพสำหรับเด็ก
ความรู้สึกเมื่อได้รับความช่วยเหลือ รู้สึกดีใจมาก เนื่องจาก อาหารที่มีอยู่กำลังจะหมดและไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ

 

เด็กหญิงรัศมี เด็กหญิงสุวิมล เด็กชายสุเมธ
สถานการณ์ พ่อและแม่เป็นผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม แต่เด็กยังตรวจไม่พบเชื้อ จึงทำให้ต้องกักตัวในบ้านในฐานะผู้มีความเสี่ยงสูง

ความช่วยเหลือที่ได้รับจากโครงการ 
1. ถุงยังชีพสำหรับเด็ก รวมถึงข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมัน
2. เด็กชายสุเมธ อายุ 6 ปี ทางมูลนิธิวันสกายรับมาดูแลที่สำนักงาน เนื่องจาก พี่สาวตรวจพบเชื้อและเข้ารักษาตัวที่ศูนย์พักคอย ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิวันสกายดูแล แต่ก็กักตัวอยู่ภายในห้อง เนื่องจากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง
3. อำนวยความสะดวกพาเด็กไปตรวจหาเชื้อรอบสองในระหว่างกักตัว

ความรู้สึกเมื่อได้รับความช่วยเหลือ ดีใจที่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือ ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็จะลำบากมากเนื่องจาก เด็กยังเล็ก พ่อ แม่และพี่สาวที่เป็นเสาหลักให้ครอบครัวติดเชื้อหมด

 

 

19 ต.ค. 2564

อัปเดตโครงการแจ้งรายละเอียดการใช้เงินส่วนต่างจากการบริจาค

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

19 ต.ค. 2564 - 19 ต.ค. 2564

เนื่องจากทางโครงการได้รับเงินบริจาคมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ตามรายละเอียดนี้

เป้าบริจาคเดิม 58,000 บาท
ยอดบริจาคทั้งหมด 86,573 บาท
ค่า fee 10% ของเทใจ 8,657.30 บาท
เหลือเป็นยอดที่ต้องโอนให้ทางมูลนิธิ 77,915.70 บาท
คิดเป็นส่วนต่าง 19,915.70 บาท

จึงขออนุญาตแจ้งรายละเอียดการใช้เงินส่วนต่างดังนี้
1. นมกล่องสำหรับเด็ก 3 ปีขึ้นไป จำนวน 50 คน สำหรับเด็กที่ติดเชื้อและต้องทำ Home Isolation เป็นเวลาประมาณ 14-28 วัน ช่วงรักษาตัวและกักตัวหลังตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
รวมเป็นเงิน 15,000 บาท 

2. อุปกรณ์ป้องกันและฆ่าเชื้อสำหรับครอบครัวที่มีเด็กและยากจน สำหรับครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้ป่วยที่ต้องทำ Home Isolation ทนการไปอยู่ที่ศูนย์พักคอย ประกอบด้วย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัยและน้ำยาทำความสะอาด ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละบ้าน จำนวน 25 ครอบครัว ครอบครัวละ 240 บาท รวมเป็นเงิน 6,000 บาท

*หมายเหตุ*
ข้อมูลนี้ปรับไปตามแผนของทางพื้นที่ เนื่องจากจำนวนศูนย์พักคอยลดลงเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนซึ่งต้องเตรียมตัวในการเปิดเรียน จึงมีการปรับให้เป็นการทำ Home Isolation ที่บ้านแทน