เงินบริจาคของคุณจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตให้กับเด็กที่ต้องแยกจากครอบครัว และขาดคนดูแล200คน
ทั้งเด็กที่เป็นผู้ป่วยต้องแยกจากพ่อแม่เพื่อกักตัวอยู่ในศูนย์พักคอยและรักษาตัวในโรงพยาบาล เด็กที่พ่อแม่เป็นผู้ป่วยแล้วต้องอยู่บ้านเพียงลำพังเนื่องจากพ่อแม่ต้องเข้ารับการรักษา เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ไร้คนดูแลอีกต่อไป การเยียวยาจิตใจและจัดหาผู้ดูแลให้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำโครงการนี้จึงจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตให้กับเด็กที่ต้องอยู่เพียงลำพัง ทำความเข้าใจและเยียวยาจิตใจเด็กในสถานการณ์ยากลำบากนี้ รวมถึงช่วยเหลือแพทย์พยาบาลในการสื่อสารกับเด็กกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถพูดไทยได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ สังขละบุรีถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เนื่องจาก มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1001 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนประชากรในสังขละบุรีที่มีอยู่ประมาณ 40000 คน สูงเป็นลำดับ 2 ของจ.กาญจนบุรี มีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ย 50-80 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 คน ตัวเลขทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ทำให้เกิดมาตรการควบคุมสูงสุดในพื้นที่ ปิดชุมชนที่การแพร่ระบาดอย่างหนัก เช่น ชุมชนมอญ จัดให้มีจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกกระจายอยู่ในชุมชนและจัดตั้งศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย เนื่องจาก สถานพยาบาลในสังขละบุรีมีไม่เพียงพอและแต่ละแห่งมีข้อจำกัดในการรับผู้ป่วย ถึงขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ จากที่เป็นพื้นที่สีขาวไม่พบผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดมาเป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการแพร่ระบาดในระดับวิกฤต ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะเด็กในชุมชนที่ไม่คุ้นเคยกับสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ โดยจำแนกเด็กที่ได้รับผลกระทบตามผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้ 1. เด็กต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง เมื่อพ่อแม่ต้องเข้ารับการรักษาตัว 2. เด็กถูกกักตัวในศูนย์พักคอยเนื่องจากตรวจพบเชื้อและรอทำการตรวจซ้ำ 3. เด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่จากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเด็กในแต่ละกลุ่มมีแนวทางในการแก้ปัญหาต่างกัน กลุ่มที่ 1 เด็กที่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง เมื่อพ่อแม่เข้ารับการรักษาตัว มักมีปัญหาในการดำรงชีวิต เนื่องจากไม่มีผู้ดูแล นอกจากอาหารที่เด็กจะได้รับจากภาครัฐแล้ว มูลนิธิฯ ยังจัดหานม ขนมและสิ่งของจำเป็นให้กับเด็ก รวมถึงลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้เด็กคลายความกังวล จัดให้มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้เมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ กรณีที่เป็นเด็กเล็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทางมูลนิธิฯ จัดให้มีครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อช่วยดูแลเด็กในระยะสั้น กลุ่มที่ 2 เด็กที่แยกจากครอบครัวและถูกกักตัวในศูนย์พักคอย พบว่าเด็กมีความเครียดที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง ไร้สถานะที่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ ทำให้เด็กเกิดความโดดเดี่ยวและแปลกแยก มูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจัดให้มีอาสาสมัครภายใต้ชื่อ “จิตอาสา...ฟ้าเดียวกัน” เพื่อคัดเลือกผู้มีจิตอาสาในชุมชนเข้าไปช่วยดูแลเด็กในศูนย์พักคอย เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างเด็กกับบุคลากรทางการแพทย์และอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย รวมถึงจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและมุมของเล่นภายในศูนย์พักคอยเพื่อช่วยลดความเครียดให้กับเด็ก กลุ่มที่ 3 เด็กที่สูญเสียพ่อแม่จากการติดเชื้อโควิด มูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาญจนบุรี ดำเนินการจัดหา “ครอบครัวอุปถัมภ์” ทั้งที่เป็นครอบครัวเครือญาติและครอบครัวผู้มีจิตเมตตา เพื่อช่วยดูแลเด็กแทนการนำเด็กเข้าสู่สถานสงเคราะห์ เนื่องจาก เราเชื่อว่าการเติบโตขึ้นมาภายใต้การดูแลในรูปแบบครอบครัวจะทำให้เด็กมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและความคิด มีทักษะในการใช้ชีวิตที่ดีและเหมาะสมตามช่วงวัยกว่าการอยู่ในสถานสงเคราะห์ โดยนอกจากจะจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์แล้ว ยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดูแลเด็ก รวมถึงด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย
ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดให้เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อลดความเครียดให้กับเด็กและครอบครัวเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา และการนำแนวคิดของ “โครงการครอบครัวอุปถัมภ์” มาใช้ในการช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียพ่อแม่และไร้ที่พึ่ง ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาไม่สามารถอยู่กับครอบครัวโดยกำเนิดได้มากกว่า 30 คน ทั้งเด็กกำพร้า เด็กที่พ่อแม่เจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตเภทจนไม่สามารถดูแลเด็กได้หรือเด็กถูกทอดทิ้งจากครอบครัวโดยกำเนิดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาญจนบุรีจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กเหล่านี้ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
นำข้อมูลที่ได้รับมาแยกกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ช่วงวัยและความสามารถในการดูแลตัวเองของเด็ก รายได้ของครอบครัว ความสัมพันธ์กับญาติและชุมชน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือและจัดทีมเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือ เด็กโตที่สามารถดูแลตัวเองได้: จัดหานม ขนมและสิ่งของจำเป็นให้กับเด็ก ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กอาทิตย์ละ 2 สัปดาห์ พร้อมแจ้งช่องทางการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน หากเด็กต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เด็กเล็กที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้: จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งที่เป็นเครือญาติและบุคคลอื่นที่มีความพร้อมในการดูแลเด็กระยะสั้นหรือจัดหาสถานที่และอาสาสมัครเพื่อดูแลเด็กในระหว่างที่พ่อแม่เข้ารับการรักษาตัว
กลุ่มเด็กที่เข้ารักษาตัวในศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม จัดกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น เล่นดนตรี งานฝีมือ งานศิลปะ โดยจัดหาอุปกรณ์และชักชวนให้ทำกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์และมุมของเล่นสำหรับเด็กเล็กภายในศูนย์พักคอยเพื่อช่วยลดความเครียดให้กับเด็กและรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเมื่อต้องแยกจากครอบครัวและอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ สนับสนุนอุปกรณ์สื่อสารและจัดกิจกรรมสื่อสารระหว่างครอบครัวเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ที่ต้องแยกจากกัน เพื่อบรรเทาความคิดถึงและคลายความกังวลให้เด็ก
กลุ่มเด็กที่สูญเสียพ่อแม่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประสานงานครอบครัวเครือญาติของเด็กที่มีความพร้อมในการดูแลเพื่อรับอุปการะเด็กต่อไป กรณีที่เด็กไม่มีครอบครัวเครือญาติที่พร้อมดูแล มูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.กาญจนบุรี จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีความพร้อมในการดูแลเด็ก โดยนำข้อมูลของเด็กและครอบครัวมาพิจารณาร่วมกัน มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นกับครอบครัวอุปถัมภ์ อบรมเพื่อเสริมศักยภาพในการดูแลเด็ก ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวอุปถัมภ์และเด็ก เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงให้กำลังใจกับครอบครัวอุปถัมภ์ในการช่วยเหลือเด็ก
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
ค่าจัดทำถุงยังชีพเด็ก ประกอบด้วย นมกล่อง/ขนม สำหรับเด็กที่ต้องอยู่ลำพังที่บ้าน สำหรับ 14 วัน (ระยะเวลาในการรักษาตัวของพ่อแม่) ชุดละ 100 บาท | 200ชุด | 20,000.00 |
ค่าจัดทำมุมของเล่นในศูนย์พักคอย ศูนย์ละ 2000 บาท จัดซื้อหนังสือนิทาน หนังสืออ่านเล่น ของเล่น อุปกรณ์กีฬา(ที่เหมาะสมกับเด็กผู้ป่วย) | 8ศูนย์ | 16,000.00 |
ค่าอุปกรณ์สำหรับจัดกิจกรรมให้กับเด็ก เช่น สมุดภาพระบายสี ปูนปลาสเตอร์ ของรางวัลให้กับเด็ก เป็นต้น ศูนย์ละ 2000 บาท สำหรับทำกิจกรรมตลอด 3 เดือน | 8ศูนย์ | 16,000.00 |
ค่านมผงและของใช้จำเป็น เช่น ผ้าอ้อม ฯลฯ ในการดูแลเด็กเล็กที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เป็นเวลา 14 วัน (ช่วงเวลาที่พ่อแม่เข้ารับการรักษาตัว) | 20คน | 6,000.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 58,000.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 5,800.00 |
ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้