เงินบริจาคของคุณจะจัดซื้ออุปกรณ์และแสงไฟส่องสว่างให้กับชุมชนในการเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่าใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี3หมู่บ้าน
เมื่อได้รับเงินบริจาคแล้ววันที่ 16 มีนาคม 2566 คณะผู้รับผิดชอบโครงการได้จัดซื้ออุปกรณ์และแสงไฟส่องสว่างเพื่อช่วยเหลือชุมชนในการเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่าในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยอุปกรณ์ที่ได้จัดซื้อผ่านการระดมทุนมีดังนี้
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,950 บาท
เมื่อได้รับอุปกรณ์แล้ว ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 ทางโครงการได้มอบวิทยุสื่อสาร 6 เครื่องและไฟฉายคาดหัว 6 ชุดให้กับกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมป่าลั่นจำนวน 7 ราย ประจำหมู่ 2 บ้านสะพานลาว ตำบลสหกรณ์นิคม จังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนรับมอบคือ นายอนุชิต ปัสสาสัย โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากส่งมอบอุปกรณ์ก็คือทำให้ทีมป่าลั่นมีวิทยุสื่อสารสำหรับการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าออกจากชุมชน ทดแทนวิทยุชุดเก่าที่เสียหายและไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ ในช่วงที่โครงการลงพื้นที่นั้น บ้านสะพานลาวพบช้างป่าหนึ่งฝูงที่มีจำนวนอย่างน้อย 20 ตัวในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสะพานลาว ตำบลสหกรณ์นิคมซึ่งออกมาหากินกล้วยและพืชเกษตรตามบ่อน้ำและห้วยใกล้กับพื้นที่ชุมชน ทำให้ทีมป่าลั่นได้ทดลองใช้วิทยุสื่อสารในเย็นวันนั้นและสามารถผลักดันช้างกลับเข้าป่าได้อย่างปลอดภัยทั้งคนและช้าง
ต่อมา ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 โครงการได้มอบไฟฉายเทอร์โบไลท์จำนวน 4 กระบอกให้กับหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่ 6 (โป่งช้าง) ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิในพื้นที่หมู่ 4 บ้านเนินสวรรค์ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งพื้นที่นี้มีช้างป่าทั้งช้างโทนและช้างฝูง อย่างน้อย 15 ตัววนเวียนมาในพื้นที่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงต้นปีซึ่งตรงกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเกษตรกลุ่มมันสำปะหลัง หลังจากที่ได้รับอุปกรณ์แล้ว ตัวแทนระบุว่าจะใช้ไฟฉายในการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าต่อไปหากพบข่าวช้างป่าเข้ามาในชุมชน
ในวันที่ 2 เมษายน 2566 ทางโครงการได้ส่งมอบไฟฉายทั้งหมด 36 กระบอกให้กับตัวแทนหมู่บ้านที่มีข่าวการพบช้างป่าและเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่มีพื้นที่เกษตรติดกับพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 4 หมู่บ้าน จาก 3 ตำบลในอำเภอทองผาภูมิ ประกอบด้วย
นายวันชัย สูนคำ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่ 6 โป่งช้าง รับมอบไฟฉายเทอร์โบไลท์ 4 กระบอก
เกษตรกรที่บ้านและไร่ข้าวโพดอยู่ติดกับแนวป่าอุทยานรับมอบไฟฉายเทอร์โบไลท์ 1 กระบอก
ข้อสรุปที่ได้จากการดำเนินโครงการคือตัวแทนชุมชม 9 กลุ่มจาก 5 หมู่บ้าน 4 ตำบลในอำเภอทองผาภูมิ ได้แก่ 1) หมู่ 4 บ้านเนินสวรรค์ ตำบลปิล๊อก 2) หมู่ 6 บ้านไร่ ตำบลห้วยเขย่ง 3) หมู่ 5 บ้านภูเตย บ้านเขาพระอินทร์ ตำบลชะแล 4) หมู่ 7 บ้านชะอี้ ตำบลชะแล และ 5) หมู่ 2 บ้านสะพานลาว ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับไฟฉายส่องสว่างเทอร์โบไลท์จำนวน 40 กระบอกสำหรับการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าไม่ให้ก่อความเสียหายกับพืชเกษตร และเพิ่มความปลอดภัยของชุมชนในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ทางโครงการได้ใช้เงินระดมทุนสนับสนุนวิทยุสื่อสาร 4 เครื่อง ไฟฉายคาดหัวและแบตเตอรี่ 6 ชุด และเสบียงอาหารและน้ำสำหรับอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมป่าลั่นอีกด้วย
ตัวแทนอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมป่าลั่นรับมอบเสบียงอาหารและน้ำสำหรับเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า
อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมป่าลั่นรับมอบวิทยุสื่อสาร 5 เครื่องและไฟฉายคาดหัวพร้อมแบตเตอรี่ 6 ชุด
สำหรับข้อเสนอแนะในการระดมทุนครั้งถัดไป ผู้รับผิดชอบโครงการเห็นว่า นอกจากไฟส่องสว่างสำหรับการเฝ้าระวังช้างป่าและผลักดันช้างป่านั้น ไฟส่องสว่างในพื้นที่สัญจรก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะตามถนนหรือพื้นที่สัญจรที่ไม่มีไฟทางหลวง หรือพื้นที่ขอบไร่ชายป่าที่ติดกับพื้นที่อนุรักษ์ การใช้ไฟส่องสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้ไม่ต้องต่อสายไฟและเสาไฟจากสายไฟหลักซึ่งใช้งบประมาณสูง มีระยะเวลาการดำเนินการที่ยาวนานกว่า และดำเนินการได้ยากกว่า ดังนั้น การใช้เสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้สามารถมองเห็นช้างป่าระหว่างการสัญจรได้ง่ายขึ้น และยังเพิ่มความปลอดภัยต่อทั้งชีวิตคนและช้างป่ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ไพรวัลย์ พิมพา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 บ้านเขาพระอินทร์ ตำบลชะแล
“...ก่อนหน้าที่จะได้รับอุปกรณ์ช้างก็มาเรื่อย ๆ มากินมัน ข้าวโพด ความเสียหายเป็นกระจุก กระจายไป ชาวบ้านต้องมาไล่เอง ปกติชาวบ้านก็ใช้ไฟฉายไฟกรีดยาง มอง 20-30 เมตรก็ไม่รู้เรื่องแล้ว เมื่อได้ไฟฉายแล้วน่าจะช่วยได้ดีระดับนึงเลย เพราะการมองเห็นน่าจะโอเคกว่า บางครั้งเราได้ยินเสียงอยู่แต่เดินไปเราก็ไม่กล้า มองไม่เห็น แต่มีไฟแล้วมองเห็นช้างง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น ผลักดันง่ายขึ้น...”
บัวลม โทนทอง เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในหมู่ 5 บ้านภูเตย ตำบลชะแล
“...ก่อนหน้านี้ก็ตกใจนะ (เมื่อเจอช้าง) เคยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ว่าอยากได้ตรงนี้ เพราะที่เราอยู่ ที่อยู่กับหลาน เราก็อยู่กับความมืดเนาะ ... ก็เลยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ว่าอยากได้ไฟ ... เพราะเราอยู่กับช้าง มันไม่ใช่ฝูงควายเนอะ เราก็อยากได้ที่เราพอจะอยู่ได้ ที่ทำให้พวกเรา พวกชาวบ้านปลอดภัย ...
(เมื่อได้ไฟฉายแล้ว) มันก็คงจะดีกว่า เหมือนช้างมา เราก็ใช้ความสว่างช่วยตัวเรา เมื่อก่อนเราก็อยู่กับความมืด เราก็กลัวมาก ถ้าเราได้แสงสว่างมาเนี่ย มันก็คงจะดีกว่าแต่ก่อนน่ะค่ะ”
เอกพรรดิ์ ก้อนทอง ตัวแทนเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าหมู่ 7 บ้านชะอี้ ตำบลชะแล
“...ก็คงจะดี คือว่า หนึ่ง มันสว่าง เราได้เห็นได้อะไร ส่องดีกว่า น่าจะดีกว่าที่เราใช้อยู่นะ เพราะก็ต้องการแบบที่ระยะที่อยู่ไกล ๆ หน่อยน่าจะเห็น อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าสว่างเขาน่าจะตกใจกว่าไฟที่เราใช้อยู่นะ...”
อนุชิต ปัสสาสัย อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมป่าลั่นหมู่ 2 บ้านสะพานลาว ตำบลสหกรณ์นิคม
“....(ก่อนที่จะได้รับไฟฉายและชุดวิทยุสื่อสารมา) มันก็เสี่ยง ทำงานลำบาก ไม่มีวอ ไม่มีไฟ .... (พอได้ไฟได้วอมา) ก็ทำงานปกติ มันก็ทำงานสบาย ง่ายขึ้น ... รู้สึกดีใจ ก็เราไม่มีไง ของหมดแล้ว มันก็เสียมา เราใช้ประจำไง ... (การมีแสงไฟมันช่วยเรายังไงบ้าง) มองเห็นง่ายเลยแหละ หาช้างเจอ เราก็ปลอดภัย มันก็สำคัญมากเลยแหละ ไฟกับวอนี่เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก อย่างอื่นนี้ยังพอได้ แต่ถ้าไฟไม่สว่างนี่ อันตรายครับ ถ้าเราหาช้างนี่ เราหาเขาไม่เจอเราก็ไล่เขาไม่ได้ มีไฟ มีความปลอดภัย สอง วอนี่ ประสานงานกันตลอด ทำงานได้...
ไฟหัวใช้สำหรับเดินทาง คนนึงต้องมีสองอัน ไฟหัวอันนึง ไฟเทอร์โบไลท์อันนึง เวลาเจอก็ใช้ไฟใหญ่ เวลาเดินเข้าไปก็ใช้ไฟเล็กก่อน ประหยัด เพราะบางครั้งก็ใช้เวลานาน อันเดียวไม่พอ บางก็เกือบสว่าง....
(เปรียบเทียบความปลอดภัยระหว่างมีไฟกับไม่มีไฟ) ถ้ามีไฟ ความปลอดภัยก็ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยดีกว่า มั่นใจ ถ้าไม่มี มันไม่สว่างนี่ 50-50 เลยนะ บางทีเขาแจ้งมา เราก็ต้องไป บางทีไฟไม่พอ เราก็ต้องไป ในเมื่อเราทำงานตรงนี้แล้ว แต่มันก็ไปด้วยความเสี่ยงอะ เราเป็นลูกพี่ ก็เป็นห่วงไง อันตราย.... ไล่ช้างกลางคืนดีกว่า มันเซฟตี้ (ปลอดภัย) ดีกว่า เขามองเราไม่เห็น...”
คลิปสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับไฟฉายและวิทยุสื่อสาร
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ | จำนวน | ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น |
ช้างป่าเอเชีย ในอำเภอ ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี |
ช้างป่าอย่างน้อย 2 ฝูง จำนวนอย่างน้อย 30 ตัว | ช้างป่าถูกผลักดันออกจากพื้นที่เกษตรด้วยแสงจากไฟฉาย |
เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 4 คน และอาสาสมัครหรือตัวแทนชุมชนเฝ้าระวังช้างป่าจาก 5 หมู่บ้าน จาก 4 ตำบลในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี | 1) เกษตรกรอย่างน้อย 4 คน 2) อาสาสมัครและตัวแทนชุมชนเฝ้าระวังช้างป่าอย่างน้อย 15 คน |
1) เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยช้างป่าได้รับไฟฉายส่องสว่างในการเฝ้าระวังพืชเกษตรของตนเอง 2) เกษตรกรและอาสาสมัครรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นในการเฝ้าระวังช้างป่า 3) อาสาสมัครพร้อมช่วยเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าออกพื้นที่เกษตรของชุมชน 4) อาสาสมัครมีกำลังใจในการเฝ้าระวังช้างป่ามากขึ้นเพราะอุปกรณ์พร้อม |