cover_1

“Save แม่สอด” ร่วมด้วยช่วยบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลหน้าด่านสู้โควิด-19

เงินบริจาคของคุณจะจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครให้กับโรงพยาบาลสนาม12แห่ง

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
11 พ.ย. 2564

อัปเดตโครงการดำเนินการบริการ Migrant Home Isolation และ Migrant Community Isolation

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

11 พ.ย. 2564 - 11 พ.ย. 2564

    มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนได้ทำงานประสานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนภารกิจ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ไร้สถานะ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้วยทั้งปัญหาด้านการสื่อสารและสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ทำให้โรงพบาบาลแม่สอดมีภาระงานที่หนักอยู่แล้วที่ต้องรักษาพยาบาลกลุ่มประชากรไทยแล้วยังต้องมาให้บริการกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีจำนวนสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับประชากรไทยในพื้นที่ รวมถึงด้านการจัดการทรัพยากรที่เป็นไปอย่างจำกัด ภาคีเครือข่ายองค์กรเอกชนจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งและสนับสนุนระบบการดูแลกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้ได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ตรวจ และรักษาโรคโควิดอย่างทันท่วงทีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยการทำงานผ่านระบบดูแลสาธารณสุข 2 ช่องทางคือ

1. Migrant Home Isolation (HI) การสนับสนุนภารกิจร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 องค์กรในการให้บริการดังนี้

  • จัดตั้งศูนย์ประสานงานแจ้งรับผู้ป่วยทางโทรศัพท์ (call center) โดยมีอาสาสมัครรับสายภาษาพม่า ป้อนข้อมูลเข้าระบบการรักษาและเชื่อมกับระบบของโรงพยาบาลแม่สอด
  • การบันทึกอาการและส่งต่อข้อมูล Tele-med ให้ พญ.ภมรรัตน์ คำปา แพทย์หัวหน้าโครงการ Migrant Home Isolation โดยสามารถสมัครจะโทรศัพท์สอบถามผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านทุกรายถึงค่าอุณภูมิในร่างกายและออกซีเจนในแต่ละวันเป็นเวลา 14 วัน และหากค่าอุณภูมิในร่างกายและออกซีเจนอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหรือต้องส่งตัวเข้ารับการ x-ray ปอดหรือส่งต่อไปยังสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลแม่สอดหรือโรงพยาบาลสนามต่างๆ แพทย์จะเป็นผู้สั่งส่งต่อได้อย่างทันท่วงที
  • การจัดส่งอุปกรณ์การดูแลรักษาตัวเองที่บ้านในระบบ Home Isolation โดยสนับสนุนอุปกรณ์ ปรอทวัดไข้แบบหลอด เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาสามัญประจำบ้านเบื้องต้น โดยการระดมทุนผ่านเทใจได้ใช้งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ ปรอทวัดไข้แบบหลอดจำนวน 400 ตัว เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจำนวน 400 เครื่อง และชุดหมี PPE จำนวน 100 ชุด
  • การจัดบริการรถรับ-ส่ง ผู้ป่วยที่ต้องมารับบริการ x-ray ปอดที่โรงพยาบาลรวมถึงการส่งชุดยังชีพเพื่อการกักตัวที่บ้าน
  • การสนับสนุนชุดอาหารยังชีพเพื่อผู้ป่วยสามารถกักตัวได้ที่บ้าน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มักทำงานรับจ้างรายวัน ไม่สามารถกักตุนหรือมีอาหารเพียงพอในการกักตัวที่บ้านได้ครบกำหนดเวลา รวมถึงผู้ป่วยบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นเพียงคนเดียวที่มีรายได้ การส่งมอบชุดอาหารจึงช่วยให้ครอบครัวมีอาหารเพียงพอกับสมาชิดในครอบครัวทุกคน รวมถึงสามารถกักตัวได้ครบกำหนดระยะเวลาอีกด้วย

    สรุปจำนวนผู้เข้ารับบริการ Migrant Home Isolation (HI) ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 26 ตุลาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 253 ราย โดยได้ส่งต่อคนไข้ไปรับการรักษาพยาบาลต่อในระบบ โรงพยาบาลแม่สอด และ โรงพยาบาลสนาม จำนวน 48 ราย ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีผล ATK ลบ จำนวน 7 ราย โดยแยกเป็นเชื้อชาติ พม่า 67.19% กะเหรี่ยง 27.67% อิสลาม 1.58% และ มอญ กัมพูชา ปะโอ อเมริกัน นาคา อย่างละ 0.40%

 

2. Migrant Community Isolation (CI)

    การสนับสนุนอาสาสมัครจำนวน 2 คน เพื่อเป็นผู้ช่วยในการสื่อสารและดูแลผู้ป่วยในสถานกักตัวรูปแบบชุมชนในกลุ่มประชากรข้ามชาติ จัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เพื่อแยกตัวผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองหรือส้มออกจากครอบครัว หรือกรณีผู้ป่วยไม่สามารถกักตัวในรูปแบบ Home Isolation ได้ อาจจะด้วยข้อจำกัด การอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นในบ้านหลังเดียว หรือไม่สามารถจัดแยกห้องพักห้องสุขาได้

    มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนได้เริ่มให้การสนับสนุนตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 โดยหน้าที่อาสาสมัครได้แก่

  • ภารกิจในสถานกักตัว Migrant Community Isolation (CI)
  • อ่านข้อควรปฏิบัติในระหว่างการรักษาตัวในรูปแบบ Migrant Community Isolation (CI)
  • บันทึกอุณหภูมิร่างการ และ ค่า Oxygen ในเลือด
  • เขียนชื่อบัตรให้คนไข้ที่มาใหม่
  • ส่งสารให้ผู้ป่วย ส่งของใช้และยาไปให้ผู้ป่วย
  • รอรับสายโทรศัพท์จากผู้ป่วยที่ต้องการของใช้บางอย่างที่ขาดหรือลืมนำติดตัวมาจากที่บ้าน
  • เขียนบัตรให้กับคนไข้ที่มาใหม่
  • รายงานรายชื่อผู้ป่วยที่ต้องไปเอกซเรย์ประจำวัน
  • ภารกิจงานส่งเสริมป้องกันโรคในชุมชน
  • ตรวจคัดกรองโควิดในชุมชนอิสลาม
  • เป็นผู้ช่วยทั่วไปในงานการฉีดวัคซีนในชุมชน

    สรุปจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจาก Migrant Community Isolation (CI) โพธิวิชชาลัย ระหว่างวันที่ 5 กันยายน – 8 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 378 คน

 

เสียงจากผู้รับประโยชน์

ท่านที่ 1 คุณขนิษฐา ก่อสัมพันธ์กุล, พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

คุณขนิษฐาหรือพี่ขม หัวหน้าคลินิกหมอครอบครัวทีมคุณภาพที่เป็นผู้ขับเคลื่อนงานการจัดตั้งศูนย์ Community Isolation หรือเรียกว่าศูนย์ CI ทั้งในแต่ละชุมชนโดยมีเจ้าภาพเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์ CI ที่จัดตั้งโดยชุมชน หรือแม้แต่ศูนย์ CI ที่บริหารจัดการโดย รพ.แม่สอดเอง

คุณขนิษฐา ก่อสัมพันธ์กุล เสื้อสีน้ำเงินขณะลงเยี่ยมผู้ป่วยกักตัวที่บ้านและมอบอาหารเพื่อการกักตัวในชุมชน เขตเทศบาลอำเภอแม่สอด

 

ท่านที่ 2 แพทย์หญิงภมรรัตน์ คำปา, นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

พญ.ภมรรัตน์ หรือหมอกุ้ง ที่รับหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน Home Isolation และผู้ป่วยกักตัวในรูปแบบ Factory Isolation

แพทย์หญิงภมรรัตน์ คำปา ขณะปฏิบัติหน้าที่ ลงชุมชนให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เขตแม่สอด

คำถาม : สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นอย่างไรบ้างคะ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่แม่สอด ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงระบาดรอบแรกประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจาก 500 เป็น 3,000 คน ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ทำให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่รับรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ โรงพยาบาลแม่สอดหน่วยรักษาผู้ป่วยหลัก ได้ปรับตึกผู้ป่วย 8 ชั้น ให้เป็นตึกรักษาผู้ป่วยโควิดจากจำนวนเตียงสองร้อยกว่าเตียง แต่กลับต้องรับรักษาผู้ป่วยจำนวนห้าร้อยกว่าคน การรักษาตัวในโรงพยาบาลเน้นการรักษาชีวิตผู้ป่วย ในกลุ่มสีเหลืองและแดง โดยยังคงผู้ป่วยสีเขียวอีกกว่า 70-80% ที่ต้องมีวิธีการรักษาที่ไม่สามารถจัดบริการได้ที่โรงพยาบาล การรักษาผู้ป่วยในระบบ Community Isolation (CI) และ Home Isolation (HI) จึงเป็นทางออกของการลดการระบาดในกลุ่มประชากรทั้งไทยและประชากรข้ามชาติ

การจัดตั้งศูนย์รับดูแลในชุมชน Community Isolation (CI) เพื่อชะลอความแออัดใน รพ.จึงเกิดขึ้น โดยนำร่องที่พื้นที่ห้วยม่วง ตำบลท่าสายลวด ซึ่งก็เป็นพื้นที่ระบาดแรกๆ ของแม่สอด แต่ CI แห่งนี้ก็มีข้อจำกัด เพราะจัดตั้งโดยชุมชน ทรัพยากรระดมภายในชุมชน จึงไม่สามารถขยายหรือดูแลผู้ป่วยจากชุมชนอื่นได้ เมื่อสถานการณ์เริ่มระบาดไปทั่วแม่สอด เกิดการจัดตั้ง CI ขึ้นอีกหลายแห่ง และก็ยังคงข้อจำกัดของรับผิดชอบหลักที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ยังคงเน้นการดูแลประชากรไทยเท่านั้น ทำให้ประชากรข้ามชาติมีอัตราการเสียชีวิตสูง ประกอบช่วงที่มีการระบาดในชุมชนอิสลาม ผู้นำชุมชนจึงพร้อมร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ CI ขึ้นในชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยสีเขียวไร้สิทธิ์การรักษาพยาบาล และเมื่อ CI อิสลามรับผู้ป่วยเต็มแต่ผู้ป่วยมีมากกว่าจำนวนเตียง ทาง รพ.แม่สอด จึงได้เปิด CI อีกแห่งที่โพธิวิชชาลัย เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่เป็นกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ยังคงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

การจัดตั้งระบบดูแลติดตามผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) เพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้านและเป็นการลดการแออัดของระบบการรักษาที่โรงพบาลเนื่องจากเตียงไม่เพียงพอ และเป็นการหยุดการระบาดในระดับครอบครัวและชุมชนอีกด้วย คนไข้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีความพร้อมในการดูแลตัวเองที่บ้าน จากตัวเลขการให้บริการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่กักตัวที่บ้านทั้งหมดกว่า 4,000 คน ประสบความสำเร็จ เพราะหากต้องสร้างหรือมีสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยทั้งหมด คงต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งบุคลากรก็ไม่เพียงพอ ระบบ HI ช่วงแรกสำหรับกลุ่มคนไทย แต่ภายหลังได้ขยายบริการสู่กลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยการสนับสนุนของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในแม่สอด เพราะกลุ่มเป้าหมายมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารการให้บริการจึงจำเป็นต้องมีล่ามแปลภาษาช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานได้สะดวกมากขึ้น

คำถาม : การจัดการศูนย์ CI และระบบ HI ความสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรค

ศูนย์ CI ที่จัดตั้งโดยชุมชนจะได้รับการสนับสนุนจากทางชุมชนทั้งเรื่องการจัดการและการสนับสนุนทรัพยากร ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นประชากรไทยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย งบประมาณในการจัดการสามารถจัดสรรได้ แต่ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ประสบปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยราชการ การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและองค์กรภาคเอกชนจึงเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในพื้นที่และถือเป็นจุดแข็งของอำเภอแม่สอด เช่นเดียวกับระบบ HI การสนับสนุนในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่สุดแล้วการให้บริการดูแลด้านสุขภาพต้องเป็นแบบองค์กรรวมไม่สามารถทำแบบแยกส่วนได้แต่ละระบบเกื้อหนุนกันและกัน นำไปสู่เป้าระยะยาวคือ การรักษาผู้ป่วยโควิดให้เร็ว ลดระบาดในชุมชนโดยให้เป็นไปอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ทุกชุมชนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างของสัญชาติหรือสถานะทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคนเข้าใจดีว่าโรคโควิดไม่ได้เลือกระบาดในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภาพการช่วยเหลือและการทำงานจึงเป็นการประสานความร่วมมือกัน

คำถาม : สนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน

ด้วยการจัดสรรทรัพยากรจากหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อจำกัดและล่าช้าไม่ทันต่อความเร็วของการระบาด การใช้ต้นทุนเดิมของการมีภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในการสร้าง สนับสนุนกลไกการคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน การส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการที่ตรงกับระดับความรุนแรงของโรค การสนับสนุนล่ามแปลภาษา รวมไปส่งการส่งต่อชุดอาหารที่ผู้ป่วยสามารถกักตัวได้ที่บ้านโดยไม่ลักลอบออกไปทำงานเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดเพิ่มจึงเป็นผลสำเร็จของการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความเร็ว ยืดหยุ่นในการทำงานต่อการตอบสนองปัญหาซึ่งนับว่ามีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคในพื้นที่ได้

คำถาม : คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้และการเตรียมความพร้อม

โรคโควิดจะยังอยู่กับทุกคน ความที่พื้นที่เป็นชายแดนย่อมมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคต่างๆ เป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว และด้วยโรคโควิดเป็นโรคระบาดใหม่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดการแก้ปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ควบคู่ไปกับการสรรหาวัคซีนที่ดี ผลข้างเคียงน้อยจะเป็นทางออกของอนาคต แต่สิ่งที่ทีมสาธารณสุขชายแดนได้เรียนรู้คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ผ่านมา การทดลองระบบต่างๆ ว่าใช้ได้หรือมีอุปสรรค จะทำให้สามารถรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้