เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนค่าอาหารและค่าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่จำเป็นให้กับแม่และเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว5ครอบครัว
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกโดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ความเชื่อ การศึกษาหรือฐานะทางสังคม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ส่งผลก่อให้เกิดความเจ็บปวดสูญเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์และทรัพย์สินแก่ผู้ถูกกระทำ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกระทำและต่อสังคมส่วนรวม
แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในอ.แม่สอดได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวไม่แตกต่างจากผู้หญิงชาติอื่นๆทั่วโลก
โครงการปัจจัยพื้นฐานสำหรับแม่และเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เป็นการสนับสนุนเรื่องค่าอาหารและค่าอุปโภคบริโภคอื่นๆที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านพักชั่วคราวของ Freedom Restoration Project จนกว่าสถาพร่างกาย จิตใจได้รับการเยียวยารักษา ได้รับการเสริมพลังและพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
จากรายงานของ UN women (UN women, Global estimates 2020) ระบุว่า ในปี 2020 มีผู้หญิงและเด็กประมาณ 47,000 คนทั่วโลกถูกฆ่าโดยคู่ของตนหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว และโดยเฉลี่ยแล้วจะมีผู้หญิงหรือเด็ก 1 คนถูกฆ่าโดยสมาชิกในครอบครัวของตนทุก ๆ 11 นาที UN women ยังระบุอีกว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้หญิงและเด็กที่ถูกฆ่าโดยคู่ของตนหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวมากที่สุด ในปี 2020 มี ผู้หญิงและเด็กในเอเชียถูกฆ่าโดยคู่ของตนเองหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ทั้งหมด 18,000 คน
บริบทในพื้นที่ของอำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียร์มาร์ ทำให้อำเภอแม่สอดมีประชากรแรงงานข้ามชาติค่อนข้างหนาแน่น จากสถิติสถานการณ์แรงงานจังหวัดตาก ไตรมาส 1 ปี 2565 ระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานทั้งหมด 54,047 (สำนักงานแรงงานจังหวัดตาก ไตรมาส 1, 2565) แล้วตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอดอีกกี่พันคน กี่หมื่นคน? ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post (BOHWONGPRASERT, 2020) กล่าวว่า อาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในแม่สอดประมาณ 30,000 คน
จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ของคุณเซี๊ยะ วัชราภรณ์ กู่แก้วเกษม ตลอดระยะเวลาสิบห้าปีที่ผ่านมา ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติที่ถูกสามีทำร้ายจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่างในการจะขอความช่วยเหลือหรือหนีออกมาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง เช่น ข้อจำกัดในเรื่องภาษา ข้อจำกัดความรู้กฎหมายพื้นฐาน ข้อจำกัดเรื่องข้อมูลว่าจะต้องไปขอความช่วยเหลือที่ไหนอย่างไร การไม่มีสถานะทางกฎหมายหากจะไปแจ้งความก็กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากจะไปพักที่บ้านพักเด็กและครอบครัวของภาครัฐก็มีความกังวลเรื่องการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในบ้านพักเพราะผู้หญิงแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในสื่อสารภาษาไทยและเจ้าหน้าที่บ้านพักไม่สามารถสื่อสารภาษาพม่าได้ ไม่มีญาติหรือเพื่อนที่คอยให้ความช่วยเหลือ ผู้หญิงข้ามชาติที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ หากจะหนีออกมาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงก็กังวลว่าจะดูแลตัวเองและลูกๆอย่างไร ฉะนั้นผู้หญิงแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จึงต้องอยู่ภาวะจำทนในความสัมพันธ์ที่รุนแรง
FRP ยังเชื่ออีกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญสียและผลกระทบได้ดีที่สุด แต่ FRP ได้ประสบเห็นความสำคัญด้วยว่าการทำงานยุติความรุนแรงต้องทำควบคู่ไปกับการความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ช่วงโควิค 19 ที่ผ่านมาเราเห็นว่าความต้องการที่พักที่ปลอดภัยของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บ้านพักเด็กและครอบครัวของทั้งเอกชนหรือของภาครัฐในพื้นที่ ประสบข้อท้าทายในการรองรับความต้องการที่เกิดขึ้น ทาง FRP จึงได้จัดตั้งบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2020 ขึ้น หนึ่งเพื่อตอบสนองการขาดแคลนบ้านพักสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และสองเพื่อให้บ้านพักเป็นที่ที่ผู้หญิงและเด็กจะได้รับจการเยียวยาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ได้รับการเสริมพลังใจ และฝึกทักษะอาชีพต่างๆเพื่อให้แม่และลูกๆสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง จากบทความของ (Davis & Srinivasan, 1995) การที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาอาศัยที่บ้านพักชั่วคราว นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เล่าเรื่องราวของตนเองแล้วแต่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการรับฟัง การยอมรับและได้รับการเชื่อในเรื่องที่เขาประสบมา shelter เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถระบายความรู้สึกต่างๆและได้รับการปลอบประโลมใจ และทำให้ผู้หญิงหลายๆคนรู้สึกว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาความรุนแรงเพียงผู้เดียว
FRP เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธารายบุคคล จากคนที่เชื่อในสิ่งที่ FRP ทำว่าจะเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ไม่มากก็น้อย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในบ้านพัก ในบางเดือนทาง FRP ต้องปฏิเสธแม่และลูกที่ต้องการที่พักที่ปลอดภัย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2022 เราได้ปฏิเสธผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายไปทั้งหมด 16 คนด้วยกัน
FRP เชื่อว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นหน้าที่ของทุกคน ของทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันไม่ยอมทน ไม่อนุญาตและยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เราแต่ละคนทำในส่วนที่ตัวเองทำได้เพื่อสร้างวัฒนธรรม และทัศนคติที่ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ
แหล่งอ้างอิง:
https://www.unodc.org/documents/data-and-analysis/statistics/crime/UN_BriefFem_251121.pdf
https://www.unwomen.org/en/what-we-do/ending-violence-against-women/facts-and-figures#notes
https://tak.mol.go.th/labor_statistics
Davis, L. V., & Srinivasan, M. (1995). Listening to the Voices of Battered Women: What Helps Them Escape Violence. Affilia, 10(1), 49–69.
ระดมทุนเพื่อสนับสนุนค่าอาหาร และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆสำหรับแม่ๆและเด็กๆที่มาใช้บริการบ้านพักชั่วคราวของ FRP
1.จัดสรรเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนค่าอาหาร และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆสำหรับแม่ๆและเด็กๆที่มาใช้บริการบ้านพักชั่วคราวของ FRP เช่น ค่าข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำมัน ยารักษาโรค ค่าเล่าเรียนลูกๆ เครื่องนุ่มห่ม ผ้าอ้อมเด็ก และของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอื่นๆ โดยค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเหล่านี้จะตกอยู่ประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อคุณแม่หนึ่งท่านกับลูกๆ2-4 คน ผู้หญิงและเด็ก 15-20 คน (แม่ 5 คน เด็กๆประมาณ 10-15 คน) ที่จะได้รับผลประโยชน์จากเงินบริจาคนี้ทุกเดือน
ทำสรุปบัญชีค่าใช้จ่ายตามจริงเป็นรายเดือน รวมถึงจะมีรายงานผลการทำงานและผลกระทบทางสังคมเมื่อครบ 1 ปี
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
ค่าอุปโภคบริโภคและความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในบ้านพักชั่วคราวของ FRP 5 ครอบครัว x 6,000 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน | 5ครอบครัว | 360,000.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 360,000.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 36,000.00 |
ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้