เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนงบ เครื่องมือ และความรู้-ทักษะให้กับชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อช่วยเฝ้าระวัง ดูแล และฟื้นฟูป่าแทนคนปลายน้ำ รวม35ชุมชน
สู้ไฟป่าและฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วยการสนับสนุนให้ชาวบ้านต้นน้ำช่วยเฝ้าระวัง ดูแล และฟื้นฟูป่าแทนคนปลายน้ำ ปีที่แล้วมีชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนในเชียงใหม่สามารถลดพื้นที่ไฟไหม้ได้ 70% เมื่อชาวบ้านป้องกันไม่ให้มีไฟป่า ไม่ให้ป่าโดนบุกรุก ก็ช่วยให้เรามีอากาศสะอาด มีน้ำใช้ ป้องกันน้ำท่วม มีที่ให้เราและคนใกล้ตัวได้ไปสัมผัสธรรมชาติที่สวยงามได้ เป็นการท่องเที่ยวและเยียวยาจิตใจให้คนเมือง ดังนั้น การสนับสนุนโครงการนี้ฯ ซึ่งเรียกว่าเป็นการ จ่ายเพื่อบริการทางนิเวศ (payment for ecosystem services -PES) ผ่านการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้พิทักษ์ป่า แบบวัดผลได้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้ดาวเทียมติดตามพื้นที่เผาไหม้/ร่องรอยการเผา (burnscar) ขอบเขตการปกคลุมของป่าไม้ (forest cover) ว่าไม่มีการแหว่งหาย และความสมบูรณ์ของป่า (NVDI) ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร รวมถึงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
สถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM2.5 และไฟป่ากลายเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งผู้คนและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ พื้นที่ป่าไม้โดนเผาไปกว่า 3 ล้านไร่ทุกปี โดยพื้นที่เผาไหม้ทั่วประเทศนั้นเป็นการไหม้จากไฟป่าถึง 65% ซึ่งเป็นต้นทางสำคัญของฝุ่นพิษ pm2.5 ที่กำลังทำลายสุขภาพของคนทั่วประเทศอย่างรุนแรง เกิดมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจดังที่เห็นตามข่าวอยู่ตลอดเวลา
เนื่องจากพื้นที่ป่ามีถึง 102 ล้านไร่ทั่วประเทศ ลำพังกำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่เพียงพอ ชุมชนหมู่บ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันดูแลป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ฯ ช่วยป้องกันและดับไฟ และยังฟื้นฟูปลูกป่าทุกๆปี โดยที่แทบไม่มีความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปเลย ทั้งๆที่การพิทักษ์ป่าของชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของคนเมืองอย่างเรา จึงเกิดโครงการสนับสนุนให้ชุมชนพิทักษ์ป่าได้มีทรัพยากรและเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลป่าหลายร้อยหรือหลายพันไร่ รอบๆหมู่บ้านของพวกเขาได้
มีตัวอย่างมากมายของชุมชนหมู่บ้านที่กลายเป็นผู้พิทักษ์ป่า ที่คอยจัดการป้องกันและดับไฟ นอกจากนั้นยังป้องกันการบุกรุกป่า ร่วมปลูกฟื้นฟู และหาวิธีอยู่ร่วมกับป่าแต่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย เช่น ในปี 2567 มีการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่บ้านแม่สาน้อย บ้านปงไคร้ ซึ่งดูแลป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์และสวยงามหลายพันไร่ในเขตอุทยานสุเทพปุย เกิดการรวมทีมชุมชนทุกเจนเนอเรชันในพื้นที่ ทั้งทำแนวกันไฟหลายสิบกิโล อยู่ยามเฝ้าระวังไฟในป่ากันสามเดือน และเข้าเผชิญไฟร่วมกับเจ้าหน้าที่ จนสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ความร้อนได้กว่า 70% เกิดกติกาชุมชนที่เกี่ยวกับการจัดการไฟและการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ชาวบ้านช่วยกันปลูกต้นไม้ท้องถิ่นที่ทนไฟเป็นแนวกันไฟธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และยังพัฒนาให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจเชิงดูแลป่าในพื้นที่ เพื่อลดการพึ่งพางบจากภายนอกอีกด้วย
จากความสำเร็จดังกล่าวและอีกหลายตัวอย่างของเครือข่ายป่าชุมชน จึงเกิดการต่อยอดการสนับสนุนกลายมาเป็นโครงการชุมชนพิทักษ์ป่า ที่จะขยายไปสนับสนุนชุมชนอีกหลายสิบชุมชนในปี 2568 นี้ เพื่อเตรียมรับมือกับฤดูกาลแห่งไฟป่าในประเทศไทย ที่กำลังจะมาในเดือนมีนาคม ไปจนถึงต้อนฤดูฝนนี้ เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้มีความพร้อมรับความเสี่ยงของไฟป่า ที่ถาโถมจากวิกฤตสภาพอากาศของโลก เพราะไม่อยากจะให้เกิดขึ้นไฟป่าที่รุนแรงมากอย่างไฟป่าที่แคลิฟอเนียในช่วงปีใหม่ ซึ่งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
นอกจากนั้น ยังมีความซับซ้อนเรื่องการที่ชุมชนในพื้นที่ป่าไม่มีสิทธิในการจัดการที่ดินทำกินของตนเอง ทั้งๆ ที่หลายชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าและอุทยาน ซึ่งชาวบ้านมักรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม จึงเกิดปัญหาในพื้นที่จนนำไปสู่ไฟป่าที่เกิดจากความขัดแย้ง โครงการจึงร่วมกับชุดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่ีมุ่งเป้าแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและจัดการเรื่องสิทธิในการทำกินและการดูแลพื้นที่ตามกฏหมายใหม่ ทั้งในรูปแบบป่าชุมชนและกฏหมายอุทยาน ม19 และ ม65 เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจถาวรที่จะสร้างรายได้ที่ควบคู่ไปกับการดูแลป่า ทั้งการทำเกษตรยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการลดสร้างรายได้ใหม่เพื่อทดแทนพื้นที่เกษตรที่ใช้ไฟในป่า ลดการใช้ไฟเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ และเมื่อมีรายได้มั่นคงก็จะทำให้ชุมชนมีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการดูแลพื้นที่ป่ารอบๆได้ ไม่ต้องพึ่งพางบจากหน่วยงานภายนอกในที่สุด โดยโครงการจะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้หลังฤดูไฟ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาโอกาสที่ยั่งยืนของชุมชนผู้พิทักษ์ป่า
โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน บริหารจัดการโดยสถาบัน ChangeFusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ โดยมีภาคีดังต่อไปนี้ มูลนิธิสภาลมหายใจเชียงใหม่, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ, มูลนิธิฮักเมืองน่าน, เทใจ, ชุดโครงการวิจัยภาคป่าไม้เพื่อแก้ฝุ่น PM2.5 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันธรรมรัฐเพื่อการจัคพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, คณะอนุกรรมการรัฐบาลเปิดของสำนักงาน กพร, สสส, The Centre for Humanitarian Dialogue (HD), The Next Forest, FORRU
สนับสนุนชุมชนที่มีศักยภาพเป็นผู้พิทักษ์ป่าให้สามารถดูแลป้องกันและฟื้นฟูป่าได้ทั้งในทางงบประมาณ ความรู้ และเทคโนโลยี/เครื่องมือต่างๆที่จำเป็น มีองค์กรพี่เลี้ยงที่ร่วมสนับสนุนช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงสามารถช่วยเชื่อมโยงการสนับสนุนของภาครัฐได้
พัฒนาให้ชุมชนพิทักษ์ป่าเกิดระบบเศรษฐกิจที่ทั้งสร้างรายได้และเอื้อเฟื้อดูแลธรรมชาติไปพร้อมๆกัน เช่น การให้บริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเกษตรที่ไม่เผาและฟื้นสร้างธรรมชาติ การให้บริการดูแลป่าในแนวทางคาร์บอนเครดิต ฯลฯ และสามารถแบ่งรายได้บางส่วนมาเป็นกองทุนจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อการจัดการไฟป่า และการฟื้นฟูดูแลธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
เชื่อมโยงการพิทักษ์รักษาป่าโดยชุมชนกับหน่วยงานและนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะในกลไกระดับพื้นที่และจังหวัด ให้มีความเชื่อมโยง รับรอง และสนับสนุนงานซึ่งกันและกัน
คัดเลือกชุมชนที่มีความตั้งใจและผลงานในการดูแลพื้นที่ป่ารอบๆชุมชนตนเอง โดยเฉพาะชุมชนที่ทำงานกันเป็นเครือข่ายร่วมกับองค์กรประชาสังคม มหาวิทยาลัย และหน่วยงานป่าไม้-อุทยาน
ร่วมพัฒนาแผนเนื้อหากิจกรรมการพิทักษ์ป่าอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการจัดให้มีองค์กรพี่เลี้ยง (องค์กรสาธารณะประโยชน์ และมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานของชุมชน) ไปช่วยเหลือชุมชนให้ทำแผน และดำเนินงานได้อย่างมีความชัดเจน ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความโปร่งใส โดยในแผนแบ่งออกเป็น (1) กิจกรรมดูแลทุนทางธรรมชาติเดิม เช่น การป้องกันไฟป่าด้วยแนวกันไฟ การอยู่ยามไฟ การเผชิญไฟ (2) กิจกรรมฟื้นฟูทุนทางธรรมชาติ เช่น การฟื้นฟูป่า การจัดการน้ำเพื่อป่าเปียก (3) กิจกรรมพัฒนาทุนทางเศรษฐกิจที่ดูแลธรรมชาติ เช่น การปรับการเกษตรให้เป็นแบบไม่เผา และเกษตรฟื้นสร้าง (regenerative agriculture) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและฟื้นฟูธรรมชาติ (4) กิจกรรมพัฒนาทุนทางสังคม เช่น การพัฒนาการรวมกลุ่มของชุมชนและวิสาหกิจ การบริหารจัดการ การสร้างความโปร่งใส/ธรรมาภิบาล กระบวนการสมานฉันท์ เป็นต้น
คัดเลือกสนับสนุนโครงการที่เสนอจากแต่ละชุมชนโดยให้กิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การป้องกันและจัดการไฟป่า และเมื่อสามารถดำเนินการได้จนเกิดผลเป็นรูปธรรม ก็พิจารณาสนับสนุนกิจกรรมฟื้นฟูทุนทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมในชุมชนพิทักษ์ป่า เพื่อความยั่งยืนต่อไป
ติดตามความคืบหน้าและการวัดผลที่มีความชัดเจน ทั้งใวิผลต่อการดูแลระบบนิเวศที่มีตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ และผลทางสังคม-เศรษฐกิจ ร่วมกับองค์กรพี่เลี้ยงและหน่วยวิชาการที่ร่วมสนับสนุน
นำเสนอผลลัพธ์และสรุปบทเรียน ในแต่ละปีจะจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนระหว่างชุมชนต่างๆ และในภาพรวมของโครงการในช่วงปลายปี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิธีการแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผลระหว่างชุมชนต่างๆ และเป็นฐานในการพัฒนาโครงการระยะต่อไป
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันและจัดการไฟป่า อุปกรณ์ เครื่องมือ และค่าน้ำมัน/อาหาร ที่ต้องใช้ในการทำแนวกันไฟ การอยู่ยามไฟ และการดับไฟ | 35ชุมชน | 1,750,000.00 |
ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทุนทางสังคม การวางระบบการบริหารจัดการ การทำแผน การพัฒนาข้อมูล การพัฒนาระบบการเงินบัญชีและการรายงานผลอย่างโปร่งใส การกำหนดกติกาชุมชนในการดูแลและใช้ประโยชน์ป่า | 35ชุมชน | 1,750,000.00 |
ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูป่า (คัดเฉพาะชุมชนที่พร้อม) การปลูกเสริมและฟื้นฟู การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันไฟทางธรรมชาติ การดูแลและติดตามอย่างน้อยสองปีเพื่อให้มีอัตราการรอดที่สูง | 10ชุมชน | 1,000,000.00 |
ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟูดูแลธรรมชาติ (คัดเฉพาะชุมชนที่พร้อม) การปรับพื้นที่เกษตร การทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน | 10ชุมชน | 1,000,000.00 |
ค่าสนับสนุนการทำงานขององค์กรพี่เลี้ยง ในการลงพื้นที่ การประชุมสนับสนุนการวางแผนของชุมชน การติดตาม และการช่วยจัดทำรายงานความคืบหน้าพื้นฐานของแต่ละชุมชน | 4องค์กร | 400,000.00 |
ค่าวัดและประเมินผลการป้องกันไฟและฟื้นฟูดูแลป่า และการประสานงานทั้งโครงการ ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลเขิงวิทยาศาสตร์เช่นข้อมูลดาวเทียม/โดรน การสำรวจความหลากหลายทางชีวิภาพเบื้องต้น ฯลฯ และการประสานงานติดตามทั้งโครงการ | 1กระบวนการ | 400,000.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 6,300,000.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 630,000.00 |
ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้