cover_1
รายเดือน
+1

บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก

เด็กและเยาวชน
ผู้ป่วย ผู้พิการ

เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่พักชั่วคราวให้กับครอบครัวผู้ป่วยเด็กขั้นวิกฤต500ครอบครัว

บริจาคให้โครงการนี้

บริจาค

เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่พักชั่วคราวให้กับครอบครัวผู้ป่วยเด็กขั้นวิกฤต500ครอบครัว

บริจาค

เทใจรองรับ e-Donation ลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า

29 ม.ค. 2567

อัปเดตโครงการความช่วยเหลือบ้านพักพิงครอบครัวผู้ป่วยเด็ก ตั้งแต่ปี 2564-2566

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

29 ม.ค. 2567 - 29 ม.ค. 2567

มูลนิธิโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ ประเทศไทย มุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กและครอบครัว ผ่านโครงการบ้านพักพิงโรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก

ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็กมีพื้นที่บริการทั้งหมด 4 แห่ง ดังนี้

  1. บ้านพักพิงฯ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)
  2. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
  3. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
  4. บ้านพักพิงฯ โรงพยาบาลศิริราช

ให้บริการที่พักชั่วคราวให้กับครอบครัวผู้ป่วยเด็กขั้นวิกฤต และโรคเรื้อรัง ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ให้ได้อยู่ใกล้ชิดบุตรหลานในยามที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ห้องน้ำ ห้องอาหาร มีมาตรการคัดกรองและปฏิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง

จากการระดมทุนโครงการบ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก มูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยเด็กได้มากกว่า 5,300 คน ให้ได้อยู่ใกล้ชิดบุตรหลานระหว่างที่รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2564 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 1,000 คน
  • ปี พ.ศ. 2565 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 1,300 คน
  • ปี พ.ศ. 2566 ให้บริการผู้เข้าพักกว่า 3,000 คน

 

ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

 " น้องป่วยเป็นโรคมะเร็งกระดูก ระยะเวลาในการป่วยมากกว่า 1 ปี อาการเริ่มแรกของน้องมีอาการเจ็บที่หัวเข่าด้านขวาเดินไม่ถนัดแต่ฝ่าเท้ายังเหยียบพื้นได้อยู่ จึงได้พาน้องไปตรวจที่โรงพยาบาลตราดคุณหมอให้น้อง Admit และพาน้องไปสแกนกระดูก แต่คุณหมอยังไม่แน่ใจจึงได้ส่งตัวน้องมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การเดินทางลำบากเพราะน้องไม่สามารถเดินเองได้กลัวกระดูกแตกได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ให้มาเข้าพักที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ชั้น 12 ตึก(สก.) หลังจากที่ได้เข้ามาพักในบ้านพักพิงฯ รู้สึกอบอุ่นสบายใจ อยู่แบบครอบครัวแบบพี่น้อง มีรอยยิ้มมีเพื่อนใหม่ๆ ทำให้มีกำลังใจดูแลลูก
และสุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิง ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ หากมีอะไรที่คนเป็นแม่จะขอพรได้ ก็ขอให้ลูกหายจากอาการป่วย และกลับไปใช้ชีวิตในวัยเด็ก เหมือนเด็กๆ ในวัยเดียวกัน และเจริญเติบโตไปตามวัยอย่างแข็งแรง ปราศจากโรคภัยใดๆ ตลอดไป "

 แม่อัจฉราพร ภู่ระย้า อายุ 38 ปี อาชีพทำสวน มาจากจังหวัดตราด และน้องต้นข้าว อายุ 13 ปี

 

 

 " น้องป่วยด้วยโรคมาแฟนชิโดม ป่วยมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ตอนคลอดน้องออกมาได้ 2 วัน อาของน้องได้สังเกตเห็นตาดำของน้องทั้ง2 ข้างเป็นสีฟ้าจึงตามหมอมาดูอาการ ในตอนนั้นหมอก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวน้องมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช จึงได้ทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชประมาณ 2 อาทิตย์ ได้รู้ผลว่าน้องเป็นโรคมาแฟนชิโดมค่ะ ตอนแรกก็มีความกังวลว่าจะมาทำอะไรตรงไหนก่อน และต้องนำตัวน้องไปรักษาที่ตึกไหนและต้องไปติดต่อยังไง น้องจะเป็นโรคอะไรที่ร้ายแรงรึเปล่าและจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าการที่เรามีบัตรส่งตัวมาแล้วจะเสียค่าใช้จ่ายยังไง ไม่รู้ว่าจะพักที่ไหน และทางพยาบาลก็ได้แนะนำให้มาเข้าพักที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลศิริราช
เมื่อเข้ามาพักแล้วดิฉันรู้สึกมีความสุขและสบายใจมาก ทั้งเรื่องที่พักอาศัยและอาหารการกินและรู้สึกอบอุ่น เจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ คอยให้กำลังใจ เวลาที่รู้สึกไม่ดี รู้สึกดีใจมากที่ได้อยู่ใกล้ลูกในขณะที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ต้องขอพูดว่าทั้งคุณหมอคุณพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ เป็นคนพิเศษของแม่ทุกๆ ท่านเลยคะ ถ้าดิฉันขอพรได้จะขอให้ลูกไม่ป่วย และขอให้น้องแข็งแรงและออกมาอยู่กับพ่อแม่นานๆ ตลอดไปค่ะ ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านเลยนะคะ "

 แม่อัมพิกา แย้มศิลป์ อายุ 33 ปี อาชีพค้าขาย มาจากจังหวัดราชบุรี เป็นแม่ของน้องซี

 

 

 " น้องเป็นผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง อาการเริ่มต้นอ่อนเพลีย คลื่นใส้ อาเจียน ทานอาหารไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง จึงได้สังเกตุอาการและตัดสินใจปรึกษาหมอให้ทำการวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หลังจากได้ทำการ CT Scan แพทย์วินิจฉัยว่าน้องได้เป็นเนื้องอกในสมอง ทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวน้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทำให้คุณแม่เดินทางไม่สะดวกต้องใช้เวลามาก อีกทั้งต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องฉายแสง 30 ครั้ง ไม่สะดวกต่อการเดินทางไป-กลับ
เมื่อเริ่มรับการรักษาคุณหมอได้หาที่พักให้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าครอบครัวของเราจะพักที่ไหน ทางคุณหมอส่งเข้าพัก ที่บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และหลังจากที่ได้เข้ามาพักในบ้านพักพิงฯ รู้สึกอบอุ่นสบายใจ อยู่แบบครอบครัวแบบพี่น้อง และสามารถพูดระบายความรู้สึกและแชร์การรักษาตัวของน้องเบื้องต้น และเมื่อเกิดปัญหาหรือความกังวลใจก็จะได้กำลังใจจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่บ้านพักพิงฯ ได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองที่มีให้ซึ่งกันและกัน
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิงฯ ทุกท่าน ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ ได้เป็นอย่างดี "

 แม่ศิริพร บุตรดี อายุ 36 ปี อาชีพค้าขาย จากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่ของน้องมิกซ์ 

 

 

 " ลูกชายของแม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว น้องถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลในตัวจังหวัด มารักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นการรักษาซ้ำ ครั้งที่ 2 ของน้องที่รักษาตัว ทางโรงพยาบาลส่งต่อน้องมารักษาตัวที่นี่เพราะอย่างน้อยน้องยังมีโอกาสรักษาต่อและมีโอกาสจะหายจากโรคที่เป็นอยู่ ช่วงที่มาถึงความรู้สึกแรกทุกอย่างมันวุ่นมาก ไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการอะไรก่อนยังไงบ้าง แต่ด้วยความใจดีของบุคลากรในโรงพยาบาลทุกอย่างจึงเรียบร้อยด้วยดี และที่สำคัญได้รับการแนะนำที่พัก บ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลศิริราชให้ด้วย
เรารู้สึกว่านาทีที่เรามีทุกข์ มีคนยื่นมือช่วยทำให้เรามีความหวัง ได้มีความสุขในเวลาที่ทุกข์ที่สุด บ้านพักแห่งนี้ให้ความอบอุ่น ให้กำลังใจ เป็นที่พึ่งให้คนทุกข์ยากจริงๆ ดิฉันขอให้ทุกข์ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความสุข ความเจริญ สิ่งดีๆ ที่ท่านทำให้พวกเรา ขอให้กลับไปหาพวกท่านตลอดไป "

แม่สุภาพร ฤทธิ์มนตรี อายุ 43 ปี อาชีพเกษตรกร มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแม่ของน้องเจษ 

 

 

 " น้องป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วจะเล่าย้อนให้ฟังว่า หลังจากผ่าคลอดน้องเรียบร้อยคุณหมอ พบว่ามีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ จึงทำการตรวจอย่างละเอียดและพบว่าน้องมีลิ้นหัวใจรั่ว และได้ทำการรักษาน้องตั้งแต่แรกคลอด โดยในปัจจุบันน้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะน้องได้ทำการผ่าตัดรักษาตั้งแต่ตอนนั้น และมีการอัปเดตการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบต่างๆ พอน้องโตขึ้น น้องเคยเกิดภาวะช็อค จึงทำให้ผมต้องเฝ้าระวังน้องเป็นพิเศษ และในตอนนั้นผมก็ลำบากในการที่จะต้องรักษาน้องเพราะต้องเดินทางจากชุมพร เพื่อพาน้องมารักษาโดยที่ผมขับรถส่วนตัวในระยะทางร่วมกว่า 500 กิโลเมตร และยังต้องขับรถเดินทางเพียงคนเดียว ทำให้เหนื่อยและร่างกายอ่อนเพลีย อีกทั้งต้องเฝ้าน้องเป็นระยะเวลานาน
คุณหมอและพยาบาลได้แนะนำให้เข้าพักบ้านพักพิงฯ เพื่อครอบครัวผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะจะได้ดูแลน้องอย่างใกล้ชิด พอได้เข้ามาอยู่บ้านพักพิงจุฬาฯ ทำให้ผมนอนเต็มอิ่มมากขึ้น และมีแรงที่จะดูแลน้องได้ในทุกวัน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินยังสามารถลงไปหาน้องได้ทันท่วงที และยังได้กำลังจากครอบครัวผู้ป่วยท่านอื่นๆ ที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และกำลังใจจากเจ้าหน้าที่จากบ้านพักพิงด้วย
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณหมอ คุณพยาบาล และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักพิงฯ ทุกท่าน ที่ได้ดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ ได้เป็นอย่างดี "

พ่อสุริยา แก้วประสบ อายุ 35 ปี เป็นพ่อของน้องสาคร