เงินบริจาคของคุณจะขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตลอด 1 เทอมเต็ม24,000คน
ในปี 2566 มีผู้สมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 10 รวม 1,281 คน โดยผ่านการคัดเลือกและเข้าสอนในโรงเรียนรวม 80 คน
ปัจจุบันในภาคเรียนที่ 2/2566 เรามีครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ 129 คน ทำงานใน 5 ภาค 54 โรงเรียน และพัฒนานักเรียนอยู่ 13,081 คน
ตลอดทั้งปี 2566 เรามีครูผู้นำฯ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2565 จนถึงภาคเรียนปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 182 คน ทำงานใน 5 ภูมิภาค 60 โรงเรียน และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์ในทุกภาคเรียนรวมทั้งสิ้น 36,040 คน (เรียนกับครูผู้นำฯ ไปแล้ว 22,959 คน กำลังเรียนอีก 13,081 คน)
เรามุ่งมั่นว่าในปี 2567 ไปจนถึง ปี 2569 เราจะคัดสรรครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 300 คน เพื่อเข้าถึงนักเรียน 100,000 คน ใน 175 โรงเรียน และเครือข่ายศิษย์เก่าจะเข้าถึงนักเรียนได้อีก 500,000 คน โดยเราวางเป้าหมายที่จะขยายการทำงานผ่าน 3 เสาหลัก
ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์
“ ครูเขาไม่ได้เดินเข้ามาสอนแล้วออกไป แต่เป็นครูในทุก ๆ สถานที่ ทุกช่วงเวลาของชีวิต ตอนเรียนม. 2 ทางโรงเรียนได้รับครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เข้ามาเป็นครั้งแรก คือครูแขและครูกอล์ฟ ผมจึงได้รู้จักมูลนิธินี้ผ่านครูทั้งสองคน จากที่เคยออกไปเล่นช่วงเวลาพัก ก็ใช้เวลาว่างตรงนั้นมาพูดคุยกับครูแขครูกอล์ฟแทน เพราะได้แลกเปลี่ยนและมีกิจกรรมให้ทำตลอด ทำให้ผมได้ซึมซับกระบวนการ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิตแบบใหม่ ๆ กระบวนการสอนของครูแข เป็นการสอนที่ให้เด็กได้ลงมือทำและเรียนรู้ไปด้วยตัวเอง จากที่ไม่ชอบวิชานี้ กลายเป็นพวกผมชอบวิชาภาษาอังกฤษกันมาก ๆ ตอนม. 3 ครูแขได้ให้นักเรียนไปลองสัมภาษณ์ชาวต่างชาติ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกผมเพราะตามปกติแล้วแทบไม่มีโอกาสได้เจอคนต่างชาติเลย และพี่แขพี่กอล์ฟไม่ได้สอนแค่คำศัพท์เท่านั้น แต่ยังสอนทักษะการตัดวิดีโอคลิปอีกด้วย แนวคิดของครูแขครูกอล์ฟที่ผมยังจดจำมาใช้จนวันนี้ คือการให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสการเรียนรู้เท่ากัน ” น้องนรากร แก้วมณี (บีท) นักเรียนโรงเรียนวัดสังฆราชาที่ได้เรียนกับ ‘ครูแข’ ภรปภัช พิศาลเตชะกุล และ ‘ครูกอล์ฟ’ ศุภเกียรติ คุ้มหอยกัน ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 1 ปัจจุบัน บีทกำลังสอบใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูและฝึกสอนที่โรงเรียนวัดสังฆราชา
“ ครูแพรวมีวิธีการสอนที่เข้าใจเด็ก เด็กคนไหนเรียนรู้ได้เยอะก็สนับสนุน เด็กกลุ่มไหนเรียนรู้ช้า ก็จะค่อย ๆ สอนจากขั้น 1 ไป 2 ทำให้เด็กตามคนอื่นทัน และไม่หงุดหงิดเวลาเด็กตามไม่ทัน เห็นน้องพยายามเข้าใจความต่างของนักเรียน เราก็คิดว่าบางทีเราก็ไม่เข้าใจเวลาเด็กทำไม่ได้ แต่จริง ๆ เด็กแค่มีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน อย่างครูแพรวมีประสบการณ์ชีวิตเยอะ ก็จะไม่ได้เน้นสอนแต่วิชาการอย่างเดียว ในด้านการจัดการเรียนการสอน ก็มีลำดับชัดเจน มีการนำเข้าสู่บทเรียน และใช้สื่อหลากหลาย เช่น บางครั้งครูแพรวก็ใช้คลิปเสียงมาสอนภาษา กระบวนการเรียนการสอนใช้เทคโนโลยี เป็นประโยชน์และทันสมัย เราไม่ได้เป็นครูพี่เลี้ยงที่สอนเขาอย่างเดียว หลายครั้งเราก็ได้เรียนรู้จากเขาด้วย ” ครูกัญญา พุทธินาม (ตู่) ครูภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นครูพี่เลี้ยงของครูแพรว ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9
“ พี่รู้จักโครงการ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ช่วงปี 63-64 ได้รู้ว่าครูที่มาสอนมาในชื่อ ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ พอได้ฟังคำนี้แล้วมันมีพลัง อย่างมีน้องคนนึงจบจากรัฐศาสตร์ แล้วมาสอนคณิตศาสตร์ ตอนแรกเราคิดว่าวิชานี้จะเป็นข้อจำกัดของเด็กสายนี้ไหม ที่เขาไม่ถนัด แต่น้องเขาก็มุ่งมั่น ทำได้ดี พาทุกคนก้าวข้ามตรงจุดนี้ ทำให้เห็นว่าคนคนหนึ่งสามารถเรียนรู้ได้มากมาย ถ้าเราใส่ใจ นอกจากครูทีชจะเป็นผู้นำทางวิชาการแล้ว เขายังทำให้เด็กยอมรับ และกับครูพี่เลี้ยงก็ทำงานกันได้โอเค การร่วมงานกับเพื่อนครูก็ดี และเขาก็มีบ้านพักอยู่ใกล้โรงเรียน เมื่อมีกิจกรรมต่างๆในชุมชนก็มาร่วม อย่างกิจกรรมลงทะเบียนแอพ Thai D ของกระทรวงมหาดไทย มีการมาใช้พื้นที่ของโรงเรียน ให้นักเรียนและคนในพื้นที่มาลงทะเบียนใช้บัตรประชาชนผ่านทางออนไลน์ ครูทีชก็มาช่วยลงทะเบียนให้นักเรียน มีครูคนหนึ่งสอนคณิตศาสตร์ เขาก็ใช้ทุนชุมชนมาเกื้อกูลการศึกษาพานักเรียนไปเรียนที่สถานประกอบการทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แล้วสอนวางแผนทางการเงิน การลงทุน เจ้าของกิจการเองก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน เราอยากให้เด็กมีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน โดยใช้ทุกวิชาเป็นสื่อพาเด็กไปถึงจุดนั้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เด็กมุ่งมั่นและมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะของศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตัวครูผู้นำ พอได้เข้ามาก็มีโอกาสพัฒนาตนเอง เป็นผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ จึงสามารถส่งต่อไปถึงเด็กได้ ครูแต่ละคนมีแนวคิด เจตคติที่ดี จึงพาจนเองเข้ามาสู่เส้นทางของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ” ผอ. ศิริพงษ์ จำใช้ ผู้อำนวยการโรงเรียนชิตใจชื่น จังหวัดปราจีนบุรี