เงินบริจาคของคุณจะนำไปซื้อและปลูกกล้าไม้ป่าชายเลนให้กับพื้นที่ป่าชายเลน20ไร่
ร่วมฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม 22,000 ต้น เพื่อสร้างแหล่งอาหาร เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการฟื้นฟูป่าชายเลนที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการบุกรุกทำลาย ที่มีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของกิจกรรมพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการขยายตัวของเมือง
วิธีการฟื้นฟูผ่านกิจกรรมสำคัญได้แก่
กิจกรรมนี้จะส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกในชุมชนรอบป่าชายเลน เน้นหนักไปที่กลุ่มผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากกลุ่มนี้ได้พึ่งพิงป่าชายเลนในฐานะแหล่งอาหารของครอบครัวและอาชีพเสริม ทั้งการจับสัตว์น้ำ เช่น หอยจุ๊บแจง หอยแครง กุ้งเคย ปูดำ ปลากระบอก พืชผักเช่น ผักหวานป่า ยอดลำเพ็งตลอดจนถึงสมุนไพรต่างๆ เช่น ใบขลู่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ป้องกันคลื่นลมและภัยธรรมชาติดังเช่นการป้องกันชุมชนให้รอดพ้นจากภัยสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ตลอดจนการลดปริมาณคาร์บอนให้กับโลก ซึ่งป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 6,200 กิโลกรัม/ไร่/ปี มากกว่าป่าบกที่เก็บกักคาร์บอนได้ 1,300 กิโลกรัม/ไร่/ปีเท่านั้น โดยคาดว่ามีผู้หญิงและเด็กได้รับผลประโยชน์โดยตรงจำนวน 1,000 คน จาก 200 ครอบครัว พื้นที่ดำเนินการได้แก่พื้นที่อ่าวพังงา(ตอนใน) ประกอบด้วยป่าชายเลนคลองทองหลางครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบลได้แก่ หล่อยูงอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงาและป่าชายเลนคลองพารา ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่รวมกันทั้ง 2 พื้นที่กว่า 5,700 ไร่
ปัญหาป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย สาเหตุหลักมาจากแผนการพัฒนาของจังหวัดภูเก็ตและปริมณฑลที่มุ่งตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีกิจกรรมสำคัญได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 17 ล้านคนต่อปี และมีแผนที่จะขยายมากขึ้น เช่น การผลักดันให้ภูเก็ตและอ่าวพังงาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำโลกหรือมารีน่าฮับ กิจกรรมดังกล่าวล้วนนำมาสู่การดำเนินการที่คุกคามและซ้อนทับพื้นที่ป่าชายเลนและความขัดแย้งกับชุมชนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ผู้หญิงและเด็กไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบหรือพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน ทั้งที่ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักและมีองค์ความรู้เรื่องป่าชายเลนในฐานะพื้นที่สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของครอบครัวและชุมชน ที่ผ่านมาทางชุมชนและเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา ได้ลุกขึ้นแสดงตัวเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้และบริหารจัดการป่าชายเลน โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามสร้างกลไกการมีส่วนร่วม นำเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนป่าชายเลนเริ่มกลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นได้ผลระดับหนึ่ง แต่ทิศทางใหญ่ของการพัฒนาจังหวัดและของประเทศยังไม่เปลี่ยน ทิศทางการพัฒนาป่าชายเลนของหน่วยงานภาครัฐเองยังย้อนแย้งกันจำเป็นจะต้องมีการผลักดันและรณรงค์ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
กิจกรรมปลูกป่าชายเลนเพื่อสร้างพื้นที่อาหารให้ผู้หญิงและเด็กในอ่าวพังงา จึงเป็นปฏิบัติการของชุมชน เป็นปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดสรรและออกแบบป่าชายเลนภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะไปพร้อมๆ กัน
คุณวรวัฒน์ สภาวสุ และะปาลิดา ธนาเมธปิยา ร่วมกับสมาคมความมั่นคงด้านอาหารอันดามัน
ระดมทุนซื้อกล้าไม้ป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการบุกรุกทำลายให้กลับสมบูรณ์ขึ้น เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
จัดประชุมสมาชิกในชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง – จัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจ กำหนดและวางแผนกิจกรรมร่วมกัน พร้อมกับจัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรรม 1 ชุด ที่ประกอบไปด้วย สมาชิกในชุมชน กลุ่มผู้หญิง เด็กและเยาวชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ครั้ง
เก็บเมล็ดพันธุ์ป่าชายเลนในพื้นที่ป่าชายเลนและชายฝั่ง – คณะทำงานและสมาชิกในชุมชนร่วมกันสำรวจและเก็บรวบรวมเมล็ดหรือฝักของพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนและริมชายฝั่ง เช่น โกงกาง แสมดำ แสมขาว แสมทะเล ตะบูน ลำพู ลำแพน ฯลฯ เพื่อจะนำมาเพาะเป็นกล้าไม้พร้อมปลูก จำนวน 2 พื้นที่
เพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าไม้ป่าชายเลน - นำเมล็ดพันธุ์หรือฝักพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนและริมชายฝั่ง มาเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าในแปลงเพาะพันธุ์ของชุมชน โดยการบรรจุใส่ถุงที่ย่อยสลายได้
นำไปปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม -คณะทำงาน สมาชิกในชุมชนและผู้สนใจ ร่วมกันนำพันธุ์ไม้จากแปลงพันธุ์ของชุมชน ไปปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม พร้อมทั้งบันทึกจัดทำเป็นฐานข้อมูล ทั้งชนิดและความหลากหลายของพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก จำนวนที่ปลูก จับพิกัดพื้นที่ปลูกด้วย GPS จำนวน 2 พื้นที่
มีการเฝ้าติดตามผล – คณะทำงานจะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าไปสำรวจการเปลี่ยนแปลง มีการวัดการเจริญการเติบโตของต้นไม้ อัตราการเจริญเติบโต การเปรียบเทียบความแตกต่างของชนิดพันธุ์ไม้ ฯลฯ พร้อมกับบันทึกเป็นข้อมูลของชุมชน เดือนละ 1 ครั้ง
ประเมินผลการดำเนินกิจกรรมโดยชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลประจำเดือนเป็นฐานในการประเมินผลเพื่อวิเคราะห์ วางแผนการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
กล้าไม้ป่าชายเลนพร้อมปลูก ต้นละ 15 บาท ประกอบด้วยฝัก ถุง ดินเพาะ | 22,000ต้น | 330,000.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 330,000.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 33,000.00 |
ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้