cover_1

Street Style Thailand: ตามติด ชีวิตคนไร้บ้าน

อื่นๆ

เงินบริจาคของคุณจะนำไปมอบเป็นค่าแรง ค่าอินเตอร์เน็ต และค่าอุปกรณ์ให้กับคนไร้บ้าน1คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว

ระยะเวลาระดมทุน

10 มี.ค. 2558 - 14 พ.ค. 2558

พื้นที่ดำเนินโครงการ

จ.กรุงเทพมหานคร

เป้าหมาย SDGs

DECENT WORK AND ECONOMIC GROWTHREDUCED INEQUALITIESPARTNERSHIPS FOR THE GOALS

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

คนไร้บ้าน
1คน

ชีวิต "Street" ที่หลายคนมองข้าม แต่วันนี้เราจะชวนคุณสัมผัส...ตามติด...ชีวิตของคนไร้บ้าน เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสของคุณ

ปัญหาสังคม

ที่มา/ความสำคัญโครงการ :

ชีวิต "Street" ที่ทุกคนมองข้าม
วันนี้ Street Style Thailand จะชวนคุณสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน เพียงนิ้วสัมผัส

ผม "ฐิติฤกษ์ พรหมวนิช" จบรัฐศาสตร์ แต่สนใจด้านการสื่อสารเพื่อสังคม จับพลัดจับผลูมาเขียนบล็อกเล่าเรื่องแคมเปญสร้างสรรค์เพื่อสังคมกับทีม Zero Sum Good

เมื่อ 2 เดือนที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปดูโครงการ Food For Friends (รถหมูแดง) โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเศรษฐีคนหนึ่งได้ติดต่อไปที่มูลนิธิกระจกเงา บอกว่ามีเงินอยู่ 2 ล้านบาท อยากจะเปิดโรงทาน มูลนิธิคิดไปคิดมาก็รู้สึกว่าถ้าสร้างโรงทานมันคงช่วยคนได้ไม่เยอะ ก็เลยตั้งใจว่าจะให้โรงทานนี้เป็นโรงทานที่เคลื่อนที่ได้ ช่วยเหลือคนได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดข้าวและยาสามัญไปให้ ทุกๆวันจันทร์ที่เสาชิงช้าจะมีคนไร้บ้านมารอรับข้าวรับยานับสองร้อยคนได้ ทันทีที่รถหมูแดงมาจอดเทียบปุ๊บ คนไร้บ้านเหล่านี้ก็จะเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ

ครั้งนั้น ผมมีโอกาสได้รู้จักกับพี่จี พี่จีเป็นฝ่ายสื่อสารของมูลนิธิกระจกเงา ครั้งนั้นพี่เค้าได้แนะนำให้ผมรู้จักคนไร้บ้านคนหนึ่งที่ชื่อว่า "พี่เอ"

ผมพยายามเล่าถึงโปรเจ็คที่ผมอยากจะทำหลังจากที่ได้เห็นเคสของออสเตรียที่ชื่อ VinziRast โปรเจ็คที่ว่านี้คือการมอบสมาร์ทโฟนให้กับคนไร้บ้านเพื่อถ่ายทอดชีวิต ความรู้สึกนึกคิด และเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอในแต่ละวัน ด้วยภาษาที่เรียบง่ายที่สุดในตอนนั้น

(จากนี้คือบทสนทนาที่ผมคุยกับพี่เอ เป็นจุดที่ทำให้ผมเห็นความเป็นไปได้ที่แคมเปญนี้จะสำเร็จ)

ผม: พี่เล่นเฟซบุคมั้ย?
พี่เอ: เล่นๆ (คำตอบนี้ทำผมอึ้งไปสักพัก เพราะคิดว่าลองถามเล่นๆดูเผื่อได้)
ผม: จริงปะพี่ แล้วพี่เล่นได้ยังไง
พีเอ: เพื่อนคนที่อ่านหนังสือออกเค้าสมัครให้
ผม: ไม่ใช่พี่ ผมหมายถึงพี่ใช้อะไรเล่น
พี่เอ: เนี่ย เครื่องเนี่ย (แกล้วงๆในถุงสีน้ำตาล แล้วก็ควักไอพอดขึ้นมา)
ผม: เฮ้ยพี่ ใช้ของดีกว่าผมอีก พี่ได้มายังไงเนี่ย
พี่เอ: เจ้าของร้านเค้าให้มา
ผม: แล้วเค้าให้พี่มาทำไม
พี่เอ: เค้าสงสาร
ผม: แล้วเวลาพี่เล่นมันต้องต่อเน็ต แล้วพี่ใช้เน็ตที่ไหน
พี่เอ: ก็มันจะมีที่ หรือไม่ก็ไปเล่นร้านเน็ต
ผม: งั้นผมขอดูเฟซบุคของพี่หน่อย ขอเป็นเพื่อนพี่ละกัน
พี่เอ: (ไม่พูดพร่ำทำเพลง ความหาสมุดจด เมื่อได้แล้วก็เอาให้ผมดู ชี้ไปที่อีเมล์) เนี่ยๆ พี่หาอันเนี้ย (สารภาพตามตรงว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเสิร์ชหาใครด้วยอีเมล์)
ผม: เฮ้ยพี่ ทำไมชื่อนี้อะ (ลองหาดูแล้วมันก็ขึ้นจริงๆ ตอนนั้นชื่อเฟซพี่แกคือ "อ้วน ระเบิดตูด")
พี่เอ: มันตลกดี
(ระหว่างที่กำลังส่งเฟซพี่แก อยู่ดีๆพี่แกก็ยื่นมือเอานิ้วลากเพื่อให้ดูโปรไฟล์ของแกในส่วนล่างๆ)
พี่เอ: พี่ๆผมเล่นเกมด้วยนะ
ผม: (ด้วยความสงสัยว่าเกมอะไรวะ ก็ลองดู เชดเด้! พี่แกเล่นแคนดี้ครัชนะครัช และที่สำคัญคือคะแนนเยอะว่ากรูอีก! นี่เป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมอึ้ง)

หลังจากนั้นก็คุยกันทั่วๆไป ไม่ได้มีใจความอะไรสำคัญมากนัก

หลังจากที่ได้คุยกับพี่แกก็เริ่มมีความหวังว่าแคมเปญนี้้น่าจะสำเร็จได้แน่ๆ เพียงแต่ต้องขอเวลาคุยอีกสักพักเพื่อสร้างความสนิทสนมและไว้ใจเรา

หลังจากที่คุยไปได้สักพัก แต่ละสัปดาห์พี่แกจะทักเฟซบุคมาคุยกับผมประมาณสองครั้ง ทุกครั้งก็ทักมาว่า "สวัสดี" เพราะแกจำได้เท่านี้ และมีอีกครั้งที่ทำให้ผมได้อึ้งกับพี่แกอีกครั้งคือพี่แก Video Call มาหาผมครับ คุยทักทายกันตามปกติ แล้วก็วางสายไปเพราะผมต้องทำงานต่อ

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมได้เริ่มคิดว่าทำไมเค้าถึงทักเรามาหรือ Video Call มาหาเราทั้งๆที่เค้าก็ไม่ได้มาขอความช่วยเหลืออะไร แล้วเป็นแบบนี้หลายครั้งจนเรารู้สึกได้ว่าจริงๆแล้วไม่ใช่แค่ปัจจัย 4 เท่านั้นที่เค้าต้องการ (ผมไม่ได้บอกนะครับว่าไม่สำคัญ) สิ่งที่เค้าอาจจะต้องการนอกเหนือจากปัจจัย 4 คือต้องการเพื่อนหรือใครสักคนที่มาพูดคุยมาคอยรับฟัง

ประโยชน์ของโครงการ :

สิ่งที่ทำให้ผมเริ่มทำโครงการนี้ ผมมองเห็น "ความเป็นไปได้" ใน 3 ระดับ

  1. สร้างการตระหนักรู้เรื่องชีวิตของคนไร้บ้านด้วยการสื่อสารที่เรียบง่ายและย่อยง่าย (การอยู่ในหน้าฟีดเฟซบุคผมเข้าใจว่าคนจะติดตามง่ายกว่าการเปิดอ่านบทความยาวๆ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับวิถีชีวิตคนยุคนี้นัก) ในระดับนี้ผมสามารถรับประกันได้ว่าสื่อแบบใหม่นี้จะช่วยให้เราเห็นชีวิตของคนไร้บ้านในมิติที่แปลกออกไป
  2. สร้างความร่วมมือหรือเป็นช่องทางให้ความช่วยเหลือแก่คนไร้บ้านมากขึ้น ผมเชื่อว่าการเข้าถึง Mass มันจะทำให้เกิดโอกาสการกระจายทรัพยากรได้ง่ายขึ้น เช่น อาจจะมีคนมาบริจาคข้าวของให้กับกระจกเงามากขึ้น มีคนมาเสนองานให้คนไร้บ้าน มาให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรีย และผมก็คิดว่าเรื่องราวแบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นในบ้านเราได้เช่นกัน (จุดหมายในระดับนี้ผมไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ คงเป็นเรื่องที่ต้องให้สังคมตัดสินว่าประเด็นเรื่องคนไร้บ้านเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญหรือไม่ และจะช่วยเค้าได้อย่างไรบ้าง)
  3. ในระยะยาว ถ้าประเด็นเรื่องคนไร้บ้านได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจจริงๆ ประชาชนอาจมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันนโยบายรัฐเพื่อสนับสนุนโอกาสให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลไลหนึ่งที่จะช่วยให้คนไร้บ้านหลุดจากวงจรของการอยู่ข้างถนน (จุดหมายนี้ผมยิ่งรับประกันไม่ได้ใหญ่เลย เพราะเป็นเรื่องที่สังคมต้องตัดสินว่าคนไร้บ้านเหล่านี้ควรจะได้รับการปฏิบัติพื้นฐานเหมือนมนุษย์คนอื่นๆในสังคมหรือไม่)
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผมรับประกันได้มีเพียงสิ่งเดียวคือการทำให้คุณได้ "เห็น" อีกมุมหนึ่งของชีวิต ซึ่งผมว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้คร่าวๆก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่ทำให้คนทั่วไปได้เห็นมุมมองใหม่ๆของสังคม

กิจกรรมที่จะดำเนินโครงการ :

สิ่งที่เราจะทำคือการมอบสมาร์ทโฟนให้กับคนไร้บ้าน เพื่อถ่ายทอดชีวิต ความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของการเป็นคนไร้บ้านในแต่ละวัน เค้ากินอะไร นอนยังไง ไปเจอใคร รู้สึกยังไง ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดให้เป็นสื่อที่ย่อยง่ายซึ่งเหมาะกับชีวิตอันเร่งรีบของคนในยุคปัจจุบัน

ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เราได้ทดลองโครงการนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแม้จะยังไม่มีคนติดตามมากนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่ทำให้ได้เรียนรู้ (ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Street-Style-Thailand/789732634397602)

เมื่อเดือนกว่าๆ ผมได้ข่าวสุดช็อคจากพี่เอ ที่ทำให้ผมรู้สึกทั้งเสียใจและก็ยินดีในคราวเดียวกัน ข่าวล่าสุดนี้ พี่แกบอกว่าแกได้งานที่มูลนิธิกระจกเงาแล้ว ซึ่งมันหมายความว่าพี่แกมีงานทำ มีบ้านอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งแล้ว แต่นั่นก็ทำให้พี่เอไม่สามารถเป็นตัวแทนของ "คนไร้บ้าน" ได้อีกต่อไป ทั้งๆที่โครงการกำลังไปได้สวย

แต่โชคดีฟ้าเป็นใจ พี่เอ๋ หัวหน้าโครงการ Food For Friends และโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับคนไร้บ้านคนใหม่ แกชื่อว่าพี่บิน เป็นคนที่รู้จักเพื่อนคนไร้บ้านเยอะมาก ครั้งหนึ่งแกเคยเป็นไกด์นำทัวร์คนไร้บ้านที่มูลนิธิกระจกเงาเป็นคนจัด พาอาสาสมัครไปพูดคุย แจกของกินของใช้ให้กับคนไร้บ้านในย่านสนามหลวง-ราชดำเนิน

ณ วันนี้ ผมได้รับบริจาคมือถือมาหนึ่งเครื่อง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนทางด้านเงินทุนในด้านอื่นๆ เช่น ค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน ค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง รวมไปถึงผมตั้งใจว่าอยากจะให้ค่าแรงให้กับพี่คนไร้บ้านที่ร่วมโครงการทั้งสองคน

หากระดมทุนเกินเป้าหมายที่กำหนด จะถูกนำไปเพิ่มในส่วนค่าใช้จ่ายส่วนสำรอง

หากระดมทุนเกิน 150% จะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อคนไร้บ้านต่อไป

สมาชิกภายในทีม :

ฐิติฤกษ์ พรหมวนิช (Thitirerk Phromvanich)

เรียนจบรัฐศาสตร์ แต่สนใจด้านการสื่อสารเพื่อสังคม จับพลัดจับผลูมาเขียนบล็อกเล่าเรื่องแคมเปญสร้างสรรค์เพื่อสังคมกับทีม Zero Sum Good (https://www.facebook.com/zerosumgood) เขียนเรื่องคนอื่นมาเยอะ ถึงเวลาที่จะต้องลุยเองบ้าง

เบอร์โทรศัพท์ 090-9949472

E-mail: naocrituss@gmail.com

FB: https://www.facebook.com/thitirerk

ภาคี :

วิธีการแก้ปัญหา

  1. ระดมทุนมอบค่าแรง ค่าอินเตอร์เน็ต และค่าอุปกรณ์ ให้กับคนไร้บ้านเพื่อถ่ายทอดชีวิต ความรู้สึกนึกคิด และเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอในแต่ละวัน ด้วยภาษาที่เรียบง่ายที่สุดในตอนนั้น ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดให้เป็นสื่อที่ย่อยง่ายซึ่งเหมาะกับชีวิตอันเร่งรีบของคนในยุคปัจจุบัน

แผนการดำเนินงาน

  1. มอบค่าแรง อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ให้กับคนไร้บ้าน เพื่อถ่ายทอดชีวิต ความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของการเป็นคนไร้บ้านในแต่ละวัน พวกเขากินอะไร นอนยังไง ไปเจอใคร รู้สึกยังไง โดยติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Street-Style-Thailand/789732634397602

แผนการใช้เงิน

รายการจำนวนจำนวนเงิน (บาท)
ค่าแรงพี่เอ

1เดือน900.00
ค่าแรงพี่บิน

3เดือน2,700.00
ค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน

3เดือน1,200.00
ค่าอุปกรณ์ เช่น ที่ชาร์จมือถือ

1ชุด450.00
ค่าใช้จ่ายส่วนสำรอง

1ครั้ง2,000.00
รวมเป็นเงินทั้งหมด7,250.00
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%)725.00
ยอดระดมทุน
7,975.00

ผู้รับผิดชอบโครงการ

เทใจ - TaejaiDotCom

เทใจ - TaejaiDotCom

กรุงเทพมหานคร

เทใจดอทคอม เริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม เทใจเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และ สถาบัน ChangeFusion ร่วมกันสร้างพื้นที่กลางนี้ขึ้นมา เราอยากให้เทใจเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และให้สมาชิกของเทใจสามารถมีส่วนร่วมติดตามผลการดำเนินโครงการที่ตนบริจาคได้

ดูโปรไฟล์

สร้างเพจระดมทุน

ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้

สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้
icon