ปัญหาขยะอันตรายจากชุมชนเกิดจากการประชาชนยังขาดความรู้ และขาดการส่งเสริมการเรียนรู้ ขาดวิธีการจัดเก็บที่เหมาะสมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ประชาชน ทิ้งขยะอันตรายไปกับขยะทั่วไป
ขยะอันตรายจากชุมชนจึงถือว่าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอีกปัญหาของสังคมไทย!
อย่างไรก็ตามการจะแก้ปัญหานี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นจิตสำนึกเพื่อนำไปสู่ การปลูกฝัง เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติ ในการลดปริมาณ และมีการคัดแยกขยะอันตรายจากชุมชนออกจากมูลฝอยทั่วไปก่อนนำไปแยกทิ้ง รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการและวิธีการจัดเก็บรวบรวมให้เหมาะสม แยกประเภทให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำขยะอันตรายจากชุมชนไปกำจัดและทำลายให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของขยะอันตรายจากชุมชนแต่ละประเภทต่อไป
Green Box waste จึงใช้รูปแบบกิจกรรมจัดการขยะอันตรายจากชุมชน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1. กระบวนการอบรมให้ความรู้เรื่องขยะอันตรายจากชุมชน
2. สร้างกระบวนการจัดเก็บรวบรวมขยะอันตรายจากชุมชนให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น
3. แนะนำเรื่องการกำจัดและทำลายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทางโครงการได้ร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้าน สมคิด สุขขำ ต.ท่าบุญมี จ.ชลบุรีที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้กับลูกบ้าน พร้อมเป็นอำเภอนำร่องที่ปลอดขยะอันตราย ขั้นตอนแรกเราได้จัดกระบวนการอบรมให้ความรู้เรื่องขยะอันตรายจากชุมชน พร้อมกิจกรรมการเล่นเกมตอบคำถามโดยมีของรางวัลให้ และให้ผู้เข้าร่วมการอบรมออกมาแสดงความคิดเห็นและเล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้ไปทั้งหมดว่ามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพื่อสามารถนำไปใช้ปรับปรุงในการทำกิจกรรมครั้งต่อไป
ขั้นตอนสอง เน้นกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการจัดเก็บรวบรวมขยะอันตรายจากชุมชน โดยการจัดกิจกรรมขยะพิษแลกไข่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีส่วนร่วมในการนำขยะพิษมาทิ้งในตู้ทิ้งขยะพิษเพื่อชุมชนปลอดภัย และส่งมอบตู้ ทิ้งขยะพิษเพื่อชุมชนปลอดภัยให้แก่ผู้ใหญ่บ้านตู้ทิ้งขยะพิษที่ส่งมอบให้กับ หมู่บ้านทับจุฬา ม. 6 ต.ท่าบุญมี อ. เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี
สุดท้าย หลังจากเก็บรวบรวมขยะได้แล้ว นั่นคือ กระบวนการนำขยะอันตรายจากชุมชนไปกำจัดและทำลายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้ทำการติดต่อบริษัทเอกชน คือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) ให้มารับขยะอันตรายจากชุมชนเพื่อนำไปกำจัดและทำลายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งบริษัทดังกล่าวนั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเรื่องการกำจัดของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการประเภทฝังกลบของเสียอันตราย
จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
สรุปค่าใช้จ่าย ยอดเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่านเทใจดอมคอม 31,599 บาท
รายละเอียดการจ่ายเงิน
1. ค่าจัดทำตู้ทิ้งขยะพิษ + สติ๊กเกอร์ชื่อขยะพิษ 15,300 บาท
2. ค่าจัดทำแผ่นพับให้ความรู้+ค่าจัดทำป้ายโครงการ 5,495 บาท
3. ค่าไข่ไก่ (ใช้ในกิจกรรมขยะพิษแลกไข่) 1,300 บาท
4. ค่าของรางวัลสำหรับกิจกรรมตอบคำถาม 1,437 บาท
5. ค่าเหมารถไปรับตู้ทิ้งขยะพิษ 500 บาท
6. ค่ากำจัดขยะพิษ 8,000 บาท
7. ค่าจัดทำตู้สำหรับเป็นต้นแบบต่อไป
รวม 31,732 บาท
ผลการดำเนินโครงการ
จาการจัดกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย 50 คน ผลของการอบรมทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องขยะอันตรายจากบ้านเรือนซึ่งวัดผลได้จากการที่ ผู้เข้ารับการอบรมช่วยกันนำขยะพิษมาทิ้งที่ตู้ทิ้งขยะพิษที่ทางผู้ใหญ่บ้านกำหนดจุดไว้ให้ซึ่งแค่ระเวลา 1 เดือน สามารถรวบรวมขยะไว้ได้ 60 กิโลกรัม ประมาณครึ่งรถกะบะ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนใจพอสมควร และจะช่วยกันทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกัน ลดการเกิดขยะพิษพร้อมทั้งช่วยกันคัดแยกทิ้งให้ถูกต้องต่อไป