cover_1

ด่วน! ระดมทุนตั้งครัวและของใช้จำเป็นจากโกดังพลุระเบิด จ.นราธิวาส

เงินบริจาคของคุณจะตั้งครัวกลางและจัดหาของใช้จำเป็นให้กับผู้ประสบภัย จากเหตุโกดังพลุในตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก นราธิวาส ระเบิด1,000คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
18 ก.ย. 2566

อัปเดตโครงการจัดโรงครัว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่มูโนะ จ.นราธิวาส

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

18 ก.ย. 2566 - 18 ก.ย. 2566

จากสถานการณ์โกดังพลุระเบิด ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ซึ่งผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ กลุ่มลูกเหรียงในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน จึงได้มีการพูดคุย ระดมความคิด และประเมินศักยภาพองค์กรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น จากการพูดคุยและหารือร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งครัวสนาม รวมถึงประชาสัมพันธ์เพื่อระดมของใช้ที่จำเป็น อาทิ เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ชุดที่นอน ขอใช้ส่วนตัว รวมถึง ชุดชั้นใน เป็นต้น เพื่อกระจายและส่งมอบให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในพิกัดโกดังระเบิด

กลุ่มลูกเหรียง ลงพื้นที่จัดตั้งครัวสนาม ปรุงอาหาร พร้อมรับประทาน ดังนี้

  • วันที่ 3 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ โรงเรียนบ้านมูโนะ จำนวน 1,040 ชุด
  • วันที่ 5 – 9 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ร่วมกับครัวพระราชทาน จำนวน 7,500 ชุด (วันละ 1,500 ชุด)
  • วันที่ 11 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ จุดรับบริจาคชุมชน จำนวน 1,000 ชุด
  • วันที่ 13 – 17 สิงหาคม 2566 สนับสนุนวัตถุดิบ ไก่สับ ไข่สด ลูกชิ้นทอด ให้กับ ร้านค้าในชุมชนทำอาหารสำหรับอาสาสมัครคัดแยกของบริจาค และอาสาสมัครจัดการขยะรื้อสิ่งก่อสร้าง จำนวนวันละ 380 กล่อง/ชุดของว่าง
  • วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จัดตั้งครัวสนาม ณ โรงเรียนบ้านมูโนะ จำนวน 1,200 ชุด

โดยการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง มีกลุ่มเป้าหมาย ที่มารับอาหารจากครัวสนาม จำนวน 1,000 คน – 1,500 คน/ครั้ง รวมกลุ่มเป้ามหายที่ได้รับประโยชย์จากการจัดตั้งครัวสนาม จำนวนทั้งสิ้น 18,240 คน เมนูอาหารในแต่ละครั้งประกอบด้วย กับข้าว 3 อย่าง (เมนูน้ำ ทอด และยำ) หรือบางวันจะเป็นก๋วยจั๊บน่องไก่ชิ้นใหญ่ หมี่ผัดไก่ไข่และปลาเส้น และในทุกครั้งที่มีการจัดตั้งครัวสนาม จะมีลูกชิ้นทอด ไอศกรีม และเบเกอรี่ให้รับเพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มารับอาหาร ประกอบด้วย เด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน ,เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน, กลุ่มจิตอาสาทั่วไป ที่มาร่วมจัดการขยะ/ของบริจาค โดยการลงพื้นที่ทุกครั้ง กลุ่มลูกเหรียงจะมีการประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ นายอำเภอเมืองสุไหงโก–ลก, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมูโนะ รวมถึงกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เนื่องจากการประสานงานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะช่วยทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกและมีความเฉพาะมากยิ่งขึ้น ทำให้การให้ความช่วยเหลือในแต่ละครั้งตอบโจทย์ความต้องการและสามารถที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือทันที

จากการลงพื้นที่จัดตั้งสนาม ประการที่หนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือการลงไปเซ็ตมาตรฐานอาหารใหม่ ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ในทุกครั้งที่ลูกเหรียงมีการลงพื้นที่ทำอาหาร จะมีการแยกเป็น 2 ครัวแยกครัวเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาหารของทั้ง 2 กลุ่ม ก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น อาหารของเด็กเด็ก ต้องไม่เผ็ด วัตถุดิบที่ใช้ ต้องทำให้เด็กรู้สึกอยากรับประทานอาหาร หรือถ้าเป็นอาหารของผู้ใหญ่ อาจจะต้องเน้นปริมาณ หรือเผ็ดได้ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมา มีตัวแทนชุมชนได้บอกเล่าให้เราฟังว่า อาหารของเด็กเผ็ด ปริมาณไม่เพียงพอ (ไม่อิ่ม) ได้รับไม่ทั่วถึง ซึ่งหลังจากที่กลุ่มลูกเหรียงถอยทัพกลับ หน่วยงานอื่นเข้าไป ชุมชนมีแนวคิดและมีวิธีการในการสื่อสารและออกแบบเมนูอาหารที่สามารถตอบโจทย์กับทุกกลุ่มเป้าหมาย ประการที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพของอาหาร (วัตถุดิบสดใหม่และรสชาติอร่อย) รวมถึงปริมาณของอาหารที่เพียงพอ ทำให้ชุมชนรอการกลับมาของครัวลูกเหรียง ซึ่งทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ ชุมชนตื่นตัว เด็กและคุณครูรอที่อยากจะรับประทานอาหารจากครัวลูกเหรียงอีกครั้ง

นอกเหนือจากการลงไปให้ความช่วยเหลือในส่วนด้านอาหารและมอบของบริจาคแล้ว ทางกลุ่มลูกเหรียงร่วมมือกับสวนครูองุ่น โดยมูลนิธิกระจกเงา ในการจัดการระบบของบริจาค เนื่องจากการจัดการที่ผ่านมายังไม่เป็นระบบที่ดี ซึ่งการลงพื้นที่ในการทำอาหารแต่ละครั้ง จะแยกทีมส่วนหนึ่งไปช่วยจัดการระบบรับและกระจายของบริจาค เพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดภาวะของบริจาคล้น ในขณะเดียวกันเกิดการกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็กแยกช่วงอายุ เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนชุดทำแผลและชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับโรงพยาบาลสุไหงโก–ลก และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมูโนะด้วย

 ซึ่งในอนาคตหากมีการดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มลูกเหรียงได้มีการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ซึ่งความต้องการจำเป็นที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ได้แก่

  • อาหาร
  • อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน (ตู้เสื้อผ้า/อุปกรณ์ครัว/อื่นๆ)
  • การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัวได้กลับมาใช้ชีวิตได้แบบปกติต่อไป
ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์ 

 " รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าเป็นโชคดีของพวกเราชาวมูโนะทุกคนที่มีโอกาสได้กินอาหารอร่อยๆ แบบนี้เพราะครั้งสุดท้ายที่ได้กินของอร่อยๆ คือก่อนเกิดเหตุการณ์ เพราะทำกับข้าวกินเองเราว่ากับข้าวฝีมือเราอร่อยที่สุดแล้ว ตอนนี้ที่บ้านไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว แต่วันนี้ยังดีและที่อาหารอร่อย ๆ ให้พวกเราได้กินอีกครั้ง รู้สึกดีใจมากๆ ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่มาช่วยเหลือเราวันนี้ " ก๊ะยะห์ (ชาวบ้านหมู่บ้านมูโนะ)

 “ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ นานมากแล้วค่ะที่ไม่ได้มีอาหารอร่อยๆ แบบนี้กิน ขอบคุณที่มาสร้างรอยยิ้มและเติมพลังกาย และพลังใจให้กับชาวบ้านที่มูโนะนะคะ อาหารเยอะมาก ทุกคนที่มาทำอาหารก็ใจดี ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง นอกจากตัวเองได้กินแล้วก็ยังมีอาหารให้กลับไปกินที่บ้านและเผื่อคนที่บ้านด้วย ขอบคุณมากๆ ที่ไม่ลืมพวกเรา ทำให้รู้ว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ขอบคุณจริงๆ " นางรอสือดะห์ (ผู้ปกครองนักเรียน)

 “ ขอบคุณพี่ๆ ทุกคนที่มาทำอาหารอร่อยๆ ให้หนูและเพื่อนๆ คุณครู และทุกคนที่มูโนะได้ทานกันนะคะ ดีใจมากๆ เลย อาหารทุกอย่างอร่อยทุกอย่าง มีความสุขและอิ่มมากๆ ค่ะ ” เด็กหญิงเอสเมญ่า เจ๊ะแว (นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ)

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์  อธิบาย  จำนวนที่ได้ประโยชน์
เด็กและเยาวชน
  • นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ
  • นักเรียนโรงเรียนข้างเคียง(อาศัยในพื้นที่ตำบลมูโนะ)
970 คน x 3 ครั้ง = 2,910 คน
กลุ่มคนเปราะบาง

ประชาชนในพื้นที่ตำบลมูโนะ 

1,500 คน x 10 ครั้ง = 15,000 คน
อื่นๆ คุณครู/เจ้าหนาที่โรงเรียนบ้านมูโนะ 110 คน x 3 ครั้ง = 330 คน
รูปภาพกิจกรรม

 ภาพ : ทีมแม่ๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านมูโนะมาช่วยกันตักอาหารเพื่อบริการให้กับนักเรียน คุณครู ชาวบ้านในหมู่บ้านกันอย่างขยันขันแข็ง

 ภาพ : นอกจากอาหารคาวแล้ว ทีมครัวลูกเหรียงมีบริการไอศกรีมถังที่ช่วยดับความร้อนของอากาศในวันนี้ด้วย น้องๆ ชอบกันมากเลย หมดทุกถังที่เตรียมมาให้เลย

 ภาพ : อาหารเราปรุงสดๆ ใหม่ๆ ถูกสุขลักษณะใจทุกขั้นตอนพร้อมเสิร์ฟให้กับพี่น้องชาวมูโนะทุกคน

 ภาพ : น้องปังปอนด์เด็กที่มีจิตอาสาขอมาช่วยพี่ๆ แพ็คข้าวกล่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มูโนะ

 ภาพ : เมนูผัดซีอิ๊วกระทะที่ 3 เป็นเมนูยอดฮิตของนักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านที่มูโนะ อร่อยมากๆ ทุกคนการันตี

 ภาพ : คุณแม่พร้อมลูกสาวเดินทางรับก๋วยจั๊บร้อนๆ ที่ปรุงสดใหม่ๆ เพื่อรับประทานเป็นอาหารมื้อเที่ยงที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

 ภาพ : พี่ๆ พร้อมแล้วสำหรับการทำอาหารเพื่อมอบความอร่อยให้กับพี่น้องชาวมูโนะทุกคน ให้ได้อิ่มอร่อยกัน มื้อนี้เพื่อทุกคนที่นี้นะครับ พวกเราเป็นกำลังใจให้

 ภาพ : น้องๆ อาสาสมัครนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดนราธิวาสมาช่วยกันคัดแยกของบริจาค และจัดระบบการรับของบริจาคให้เป็นระบบ และระเบียบให้กับผู้ประสบภัยมูโนะตอนนี้กำลังคัดแยกทุกวัน และน้องการอาสาสมัครเพิ่มทุกวัน

 ภาพ : น้องๆ อาสาสมัครจากโรงเรียนสุไหงโกลกจังหวัดนราธิวาสพักเที่ยงมาทานลูกชิ้นหลังจากมาช่วยแยกของบริจาคที่ศาลาประชาคมรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือชาวมูโนะ คุมทีมโดยน้องโซเฟีย กระจกเงา 

 ภาพ : ข้อความและความประทับใจ หลังจากที่ทีมลูกเหรียงนำอาหารและของกินต่างๆ ไปให้กับผู้ประสบภัย คุณครู นักเรียน และชาวบ้านที่มูโนะ ผ่านทางเพจ สวท.สุไหงโกลก

 ภาพ : น้องๆ โรงเรียนบ้านมูโนะต่อแถวมารอรับน้ำอัดลมจากพี่ๆ ที่นำไปให้น้องๆ ดื่มกัน ร้อนแค่ไหนก็ไม่หวั่น

 ภาพ : ผู้ปกครองและบุตรหลานรับอาหารมานั่งทานอาหารกันบริเวณอาคารอเนกประสงค์

 ภาพ : ชาวบ้านและผู้ปกครองนักเรียนมาต่อแถวกันมารับอาหาร ที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

 ภาพ : น้องในหมู่บ้านมูโนะมารับไอศกรีมกลับบ้านและรับไปฝากน้องสาวที่บ้านอีก 1 โคน

 ภาพ : มอบชุดทำแผลและชุดพยาบาลเบื้องต้นให้กับโรงพยาบาลสุไหงโกลกและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลมูโนะ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกระจกเงา

 ภาพ : ผู้ปกครองพร้อมลูกสาวมารับอาหารที่โรงเรียนบ้านมูโนะ

 ภาพ : ผัดซีอิ๊วร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟให้กับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านมูโนะ

 ภาพ : อาสาสมัครน้องๆ มาช่วยซ่อมแซมบ้านของผู้ประสบภัยชาวมูโนะพักมาทานไอศกรีมดับร้อน