กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ
- 15 ตุลาคม 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมจัดทำแนวทางการจัดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา
ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 2 เพื่อร่วมวางแผนการดำเนินงาน งบประมาณและแบ่งขอบเขตการทำงาน
- 15 พฤศจิกายน 2566 ออนไลน์ผ่าน ZOOM : ประชุมจัดเตรียมงาน ครั้งที่ 3 เพื่อวางแผนการจัดการแข่งขันและกติกาการแข่งขันดูนกเมืองพะเยา
- 16 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 1เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
- 17 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม
ที่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 3 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม
- 20 พฤศจิกายน 2566 ที่สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 4 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนความรู้เบื้องต้นและการใช้คู่มือดูนกให้กับเยาวชนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
- 21 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 5 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
- 22 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และหนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 6เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม
- 24 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้ : อบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 5 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกให้กับนักเรียนโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม
- 26 พฤศจิกายน 2566 ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย : ประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตก่อนเริ่มกิจกรรมการแข่งขันดูนก
- 26-27 พฤศจิกายน 2566 ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย : การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย
- 30 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : อบรมการใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 6 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกเพิ่มเติมให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
- 6 ธันวาคม 2566 ที่โรงเรียนบ้านจุน อำเภอจุน : การอบรมใช้หนังสือคู่มือและอุปกรณ์ ครั้งที่ 7 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เข้าสอนการใช้อุปกรณ์ดูนกเพิ่มเติมให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน
- 9-10 ธันวาคม 2566 ที่ท่าเรือโบราณกว๊านพะเยา และบริเวณริมกว๊านพะเยา : เปิดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 1 บริเวณลานหน้าอุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยาและอุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา โดยรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ร่วมกับคณะผู้บริหาร อบจ.พะเยา คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองพะเยา ผู้บริหารสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่อุทยานและอาสาสมัคร เพื่อเป็นการสื่อสารและเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าถึงกิจกรรมการดูนก ตลอดจนเพื่อเป็นการแสดงให้ผู้บริหารในหน่วยงานรัฐเห็นถึงควาสำคัญของกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม
การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 2 ท่าเรือโบราณกว๊านพะเยา และบริเวณริมกว๊านพะเยา
- 16-17 ธันวาคม 2566 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อำเภอจุน : การแข่งขันดูนกเมืองพะเยา สนามที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ
- 17 ธันวาคม 2566 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อำเภอจุน : ประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก
- 18 ธันวาคม 2566 ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา : ประชุมสรุปผลการดำเนินงานเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 1 และแนวทางการจัดเทศกาลดูนกเมืองพะเยา ครั้งที่ 2 เพื่อขยายภาคีเครือข่ายร่วมงาน การเปิดรับสมัครอาสาสมัครดูนกเพื่อช่วยงานเจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานฯ และการระดมทุน
- 27 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าอุทยานการเรียนรู้ TK Park พะเยา อุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อบจ.พะเยา และลานอนุเสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง : จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมดูนกริมกว๊านพะเยา ในงานดอกไม้เมืองพะเยา ครั้งที่ 1 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
ข้อสรุปโครงการ
- กิจกรรมเทศกาลดูนกเมืองพะเยาครั้งที่ 1 เป็นการแข่งขันดูนกของเด็กและเยาวชนจากอำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจและอำเภอจุน ทั้งหมด 40 คน โดยเกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ และมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนและเยาวชนกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้และเครื่องมือการเรียนรู้ที่เข้าได้ถึงยาก (อุปกรณ์ดูนกและหนังสือคู่มือดูนกมีราคาแพง) รวมถึงยังเป็นการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ดูนกที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้ออกมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และยังได้พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้อีกด้วย
- จากผลการประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก พบว่า จำนวนเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าลดลง เหลือเพียง 2 คน และเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่มีภาวะติดเกมส์แล้ว แสดงว่าการจัดกิจกรรมแข่งขันดูนกเมืองพะเยานี้สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าและภาวะติดเกมส์ในเด็กได้จริง
- การบริหารจัดการโครงการและงบประมาณ ยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่ต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
- มีภารกิจหลักอยู่แล้วทำให้งานหลักได้รับผลกระทบ ในครั้งถัดไปทำให้ต้องเปิดรับสมัครอาสาดูนก หรือ ให้ผู้เข้าแข่งขันรุ่นที่ 1 เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันรุ่นถัดไป สำหรับการจัดสรรงบประมาณยังไม่เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต้องมีการวางแผนระดมทุนล่วงหน้าก่อนเริ่มกิจกรรมอย่างน้อย 60 วัน และเพิ่มช่องทางการระดมทุน รวมถึงสร้างการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หลากหลายและกระจายการรับรู้ให้กว้างมากขึ้นนอกจากพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อดึงคนที่สนใจจากนอกพื้นที่เข้ามาในจังหวัดพะเยามากขึ้น เป็นการกระตุ้นและเชื่อมโยงสู่การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยงเชิงประสบการณ์ เป็นต้น
ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์
" คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาตินกและเกิดอาชีพใหม่คือไกด์นำเที่ยวพาดูนก ได้ความรู้เกี่ยวกับนก วิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกและลักษณะของนก คิดว่าควรมีกิจกรรมนี้อีก เพราะจะได้สืบสานการดูนกและไปสอนต่อให้รุ่นต่อๆ ไป โดยให้ผู้เข้าแข่งขันจากรุ่นที่ 1 ไปสอนรุ่นต่อไปครับ " นายสถาพร ควรคิด น้องฮ๊อต สังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองพะเยา
" คาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถทำให้มีความสุข ได้พักผ่อนในช่วงวันหยุด การแข่งขันในสนามแรกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยแข่งขันดูนกมาก่อน สนามที่ 2 ก็เริ่มคุ้นชินมากขึ้น และสนามที่ 3 รู้สึกว่ามันง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ นอกจากนี้ยังได้ความรู้ต่างๆ ธรรมชาติของนก การอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ด้วยค่ะ " เด็กหญิงพรหมธิดา สุขเกษม สังกัดโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ
" ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรเลย เพียงอยากเก็บสะสมผลงาน เกียรติบัตร และความสนุกเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้กลับมาเกินความคาดหวังไว้มาก สนามที่ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทรายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้สังเกตนกได้ง่าย เป็นนกน้ำเยอะ และสนามที่ 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เป็นพื้นที่ป่าไม้ จะยากที่สุดเพราะเป็นป่าค่อนข้างทึบแต่มีความสนุกอยู่เพราะได้เดินป่าขึ้นเขาด้วย แถมได้ทั้งความรู้และคำแนะนำจากพี่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯด้วยครับ " นายเอกรินทร์ โคจรานนท์ สังกัดโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม อำเภอแม่ใจ
" คาดหวังว่าจะได้รู้จักสายพันธุ์ที่แปลกใหม่ ได้ทักษะการดูลักษณะนกพื้นฐาน เช่น หางยาว สนามแรกตื้นเต้นมาก เพราะไม่เคยได้ลองทำอะไรแบบนี้ สนามที่ 2 มีพัฒนาการมากขึ้นเพราะเคยได้ทำมาก่อนแล้ว และสนามที่ 3 ได้รู้จักอุปกรณ์มากขึ้น ไม่ตื่นเต้น ทำได้ดีมากขึ้น ได้จำนวนสายพันธุ์มากขึ้นครับ " นายกวีรพัฒน์ ขวัญตน สังกัดโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้
" ได้ประสบการณ์ใหม่ ได้พบเจอพี่ๆ และน้องๆ ได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่มและมีความสามัคคีมากขึ้น และคิดว่าควรมีกิจกรรมนี้ขึ้นอีก เพราะการมาแข่งขันครั้งนี้รู้สึกประทับใจมาก ให้รุ่นๆ ต่อไป ได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคีและได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ด้วยค่ะ " นางสาวกัลยรัตน์ ไชยพรหม สังกัดโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม อำเภอดอกคำใต้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ |
อธิบาย |
จำนวนที่ได้ประโยชน์ |
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น |
เด็กและเยาวชน |
นักเรียนโรงเรียนบ้านจุน โรงเรียนพวงพะยอม โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และเยาวชนสังกัดสำนักการเรียนรู้ (อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่ใจ) |
40 คน |
จากผลการประเมินภาวะติดเกมส์และสุขภาพจิตหลังเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันดูนก พบว่า จำนวนเด็กที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าลดลง เหลือเพียง 2 คน และเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่มีภาวะติดเกมส์แล้ว แสดงว่าการจัดกิจกรรมแข่งขันดูนกเมืองพะเยานี้สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าและภาวะติดเกมส์ในเด็กได้จริง |