cover_1

ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้

เงินบริจาคของคุณจะระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลนครพนมและโรงพยาบาลแขวงคำม่วน2โรงพยาบาล

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
12 มี.ค. 2567

อัปเดตโครงการสำเร็จแล้ว!!โตโน่ ภาคิน ส่งมอบศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง ให้โรงพยาบาลนครพนม จากโครงการ ONE MAN AND THE RIVER

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

12 มี.ค. 2567 - 12 มี.ค. 2567

สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีสำหรับโครงการ ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจะส่งต่อความสุขและโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีของประชาชน 2 ฝั่งโขงของ โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ศิลปินและนักแสดงชื่อดัง รวมกับผู้สนับสนุนและมีส่วนเกี่ยวข้องจากทุก ๆ ภาคส่วน หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงไปเมื่อปี 2565

 

ล่าสุด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โตโน่ และทีมงานจากโครงการ ONE MAN AND THE RIVER ได้ส่งมอบศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง ให้กับโรงพยาบาลนครพนม จ.นครพนม พร้อมเปิดช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดเรียบร้อย ส่วนด้านฝั่งลาวก็มีการจัดซื้อและมอบเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อใช้สำหรับการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 12,000 ราย

 

นายนฤพนธ์ ยุทธเกษมสันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม กล่าวว่าปัจจุบันมีการเปิดประเทศจะมีผู้เดินทางมาเยือนจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้น จากทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการแพทย์และสุขภาพ ในด้านสาธารณสุข จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการรองรับผู้สูงอายุ มีประชากรสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์และสุขภาพในจังหวัดนครพนม ปี 2563 เราให้บริการผู้ป่วยนอก 320,210 ครั้ง ผู้ป่วยใน 27,992 ครั้ง คาดว่าการเปิดประเทศจะมีประชากรต่างชาติ เดินทางเข้ามารักษาจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันยังเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการก่อตั้งศูนย์หัวใจสองฝั่งโขงโรงพยาบาลนครพนม จะช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) ในจังหวัดนครพนม และพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐานการรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและทุพลภาพ โดยในส่วนของโรงพยาบาลนครพนมนั้นได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนเมษายนและระหว่างที่เรากำลังพัฒนาบุคลากรให้ด้านนี้ให้มากขึ้น เราได้ทีมศูนย์หัวใจเพื่อแผ่นดินจากโรงพยาบาลสกลนครมาช่วยก่อน

ด้าน น.ส.เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม กล่าวว่า เทใจดอทคอมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดมทุนและจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วนให้ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการใช้งาน ความพร้อมของเจ้าหน้าที่และบุคคลากรทางการแพทย์ จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามานำเสนอต่อคณะกรรมการกลาง โดยกระบวนการดังกล่าวทางองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น hand social enterprise ช่วยออกแบบกระบวนเพื่อให้การคัดเลือกโปร่งใสที่สุด และการทำศูนย์หัวใจสองฝั่งโขงยังได้ความอนุเคราะห์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากที่ต่าง ๆ ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผศ.นพ.ไชยสิทธิ์ วงศ์วิภาพร หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจโรงพยาบาลทรวงอก น.พ.ธนพัฒน์ เลิศวิทยากำจร นายแพทย์ชำนาญการ อายุรกรรม (หัวใจ) ผศ.พ.ญ.รัตนา คำวิลัยศักดิ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่ได้ร่วมกันคัดเลือกเพื่อให้ได้เครื่องที่ดีและเหมาะสมกับโรงพยาบาลที่จะเป็นศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง

ด้าน โตโน่ ภาคิน เล่าว่า “พวกเราทั้งพี่น้องชาวไทยและพี่น้องชาว สปป.ลาวได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน โดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92,500,000 บาทวันนี้ถือเป็นวันที่ดีมาก ๆ อีกวันที่เรามาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการปิดโครงการ เพื่อส่งสอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง (Cath Lab)” ที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการจัดตั้งศูนย์หัวใจแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การทำห้องสวนหัวใจใหม่ที่มีระบบความปลอดภัยจากอันตรายจากรังสีต่าง ๆ รวมถึงการทำระบบไฟฟ้าสำรองที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ระบบไฟฟ้าจะดับทั้งเมืองนครพนม

นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในห้องตรวจรักษาแบบครบครัน ได้แก่ เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว, เครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ, เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ, เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด, เครื่องปั้มหัวใจไฟฟ้า, เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ พร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้เพื่อให้วิเคราะห์การตรวจรักษาได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันเราทราบว่าทั้งสองโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากโครงการหนึ่งคนว่ายหลายคนให้ อย่างคุ้มค่าเช่นโรงพยาบาลนครพนมมีการใช้งานเครื่องต่าง ๆ ทุกวัน ขณะที่โรงพยาบาลแขวงคำม่วนได้ใช้ตรวจรักษาคนลาวไปแล้วกว่า 12,000 คน

“ผมรู้สึกดีใจที่พวกเราได้มีส่วนร่วมทำให้พี่น้องชาวไทยและชาว สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดีและทีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสุดท้ายนี้ผมขอบคุณพระคุณทุก ๆ ท่านที่มีส่วนในการทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงตามเจตนาที่ได้ตั้งใจไว้”

18 ต.ค. 2566

อัปเดตโครงการสรุปผลการจัดซื้อOne Man And The River ให้กับโรงพยาบาลทั้งสองโดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92.5 ล้านบาท

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

18 ต.ค. 2566 - 18 ต.ค. 2566

จากการว่ายน้ำเมื่อปลายปี 2565 ของโครงการ One Man And The River #หนึ่งคนว่ายหลายคนให้ การระดมทุนได้เกินเป้าหมาย ต้นปีที่ผ่านมาคณะทำงานได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้งสองโดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92.5 ล้านบาท

โรงพยาบาลนครพนม ได้เครื่องมือแพทย์ 11 รายการ ดังนี้

  1. ศูนย์ปฏิบัติการสวนหัวใจ 1 ศูนย์ ที่โครงการได้จัดซื้ออุปกรณ์ครบครัน ประกอบด้วย
    - เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว
    - เครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ 
    - เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ
    - เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด 
    - เครื่องปั้มหัวใจไฟฟ้า
    - เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ
    - ระบบ IT ต่างๆ เพื่อให้การวิเคราะห์แม่นยำ 
    - งบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานให้รองรับการใช้งาน
  2. เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กชนิดความถี่สูงพร้อมชนิดควบคุมแรงดันและชนิดไม่สอดใส่ท่อ 1 เครื่อง สำหรับ PICU (ห้องไอซียูเด็ก)
  3. เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญานชีพ Monitor NIBP 1 เครื่อง สำหรับ PICU (ห้องไอซียูเด็ก)
  4. เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและแรงดันพร้อมระบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ ขนาดกลาง จำนวน 5 เครื่อง
  5. เครื่องควบคุมการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 20 เครื่อง
  6. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้า 3 Motor 12 เตียง
  7. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้าชนิด 4 motor ชนิดชนิดที่ชั่งน้ำหนักได้ 2 เตียง
  8. เตียงผู้ป่วยสำหรับไอซียูปรับด้วยไฟฟ้าชนิด 4 motor จำนวน 3 เตียง
  9. เตียงสำหรับผู้ป่วยควบคุมด้วยรีโมทคอลโทลที่นอนโฟม (Stroke) 12 เตียง
  10. เครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ 1 เครื่อง
  11. เครื่องวัดความดันโลหิต 5 เครื่อง

 

โรงพยาบาลแขวงคำม่วน ได้เครื่องมือแพทย์ 20 รายการ ดังนี้

  1. เครื่องช่วยหายใจเด็ก ชนิด nCPAP จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจ หรือหลังจากถอดท่อช่วยหายใจทางหลอดลม เพื่อช่วยให้ทารกหายใจเหนื่อยน้อยลง 
  2. เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียงผู้ป่วย Bedside Monitor ที่สามารถติดตามภาวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต จำนวน 5 เครื่องเพื่อติดตั้งในห้อง ICU 
  3. เครื่องกระตุกหัวใจ AED จำนวน 3 เครื่อง เพื่อติดตั้งในห้องฉุกเฉิน รถกู้ชีพ 
  4. เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติพร้อมขาตั้ง 12 เครื่อง เพื่อติดตามอาการคนไข้ในแผนกและวอร์ดผู้ป่วยในต่างๆ
  5. เครื่องวัดความดันชนิดสอดแขนจำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้แผนก OPD , ผู้ป่วยฉุกเฉิน
  6. เครื่องดึงคอ/ดึงหลัง (traction) จำนวน 1 เครื่อง สำหรับแผนกกายภาพบำบัดที่ปัญหาด้านกระดูกคอและสันหลัง
  7. เครื่องอัลตร้าซาวด์สำหรับกายภาพ จำนวน 2 เครื่อง แผนกกายภาพบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ
  8. หม้อต้มแผ่นประคบร้อน จำนวน 1 เครื่อง(แผนกกายภาพบำบัด)
  9. Infant Incubator 2 เครื่อง
  10. Radian Warmer 2 เครื่อง
  11. Surgical Light (อยู่ระหว่างการขนส่ง)
  12. Infusion Pump 5 เครื่อง
  13. Syringe Pump 5 เครื่อง
  14. ชุดกล้องส่องตรวจและผ่าตัดโพรงจมูลและท่อมซิล ENT Diagnostic Set 1 ชุด
  15. เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง 1 เครื่อง
  16. ULTRASOUND 4 มิติ แผนกสูติ 1 เครื่อง
  17. เครื่องวัดการบีบตัวของมดลูก ครรภ์แฝด 1 ชุด
  18. ชุดกล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ้พร้อมเครื่องล้างกล้องส่องตรวจ 1 เช็ต
  19. อุปกรณ์ผ่าตัดสมอง (เครื่องเจาะและตัดกะโหลกชนิดความเร็วสูง)
  20. Autocave เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อขนาด 280 ลิตร
21 มี.ค. 2566

อัปเดตโครงการส่งมอบเครื่องมือแพทย์รอบแรกถึงโรงพยาบาลแขวงคำม่วนแล้ว

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

21 มี.ค. 2566 - 21 มี.ค. 2566

เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม ทางโครงการONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ได้ดำเนินการนำเครื่องมือแพทย์ข้ามจากฝั่งไทยไปส่งถึงมือคุณหมอและพยาบาล ณ โรงพยาบาลแขวงคำม่วนเรียบร้อยแล้ว และจัดให้มีกระบวนการเทรนนิ่งการใช้เครื่องมือต่างๆ เพราะหลายเครื่อง เช่น เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องในแผนกกายภาพ ทางโรงพยาบาลยังไม่เคยมีใช้มาก่อน

 

สำหรับรายการเครื่องมือแพทย์รอบแรกประกอบด้วย 

1.เครื่องช่วยหายใจเด็ก ชนิด nCPAP จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจ หรือหลังจากถอดท่อช่วยหายใจทางหลอดลม เพื่อช่วยให้ทารกหายใจเหนื่อยน้องลง 

2.เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียงผู้ป่วย Bedside Monitor ที่สามารถติดตามภาวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต จำนวน 5 เครื่องเพื่อติดตั้งในห้อง ICU 

3.เครื่องกระตุกหัวใจ AED จำนวน 3 เครื่อง เพื่อติดตั้งในห้องฉุกเฉิน รถกู้ชีพ 

4.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติพร้อมขาตั้ง 12 เครื่อง เพื่อติดตามอาการคนไข้ในแผนกและวอร์ดผู้ป่วยในต่างๆ

5.เครื่องวัดความดันชนิดสอดแขนจำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้แผนก OPD , ผู้ป่วยฉุกเฉิน

6.เครื่องดึงคอ/ดึงหลัง (traction) จำนวน 1 เครื่อง สำหรับแผนกกายภาพบำบัดที่ปัญหาด้านกระดูกคอและสันหลัง

7.เครื่องอัลตร้าซาวด์สำหรับกายภาพ จำนวน 2 เครื่อง แผนกกายภาพบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ

8.หม้อต้มแผ่นประคบร้อน จำนวน 1 เครื่อง(แผนกกายภาพบำบัด)

 

โดยอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจในเด็ก และกลุ่มอุปกรณ์กายภาพทางโรงพยาบาลไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่อุปกรณ์หลายอย่าง เช่น Bedside monitor ก็ไปเสริมการทำงานในห้อง ICU ให้มีมากขึ้น 

พ.ญ.จิตตะยา สีมุกดา แพทย์ประจำห้อง NICU/PICU กล่าวว่า ห้อง NICU พูดง่ายๆ คือ ICU เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ห้อง NICU ในละแวกแขวงหรือจังหวัดคำม่วนมีเพียงเราที่เดียว ดังนั้นหากมีการคลอดเด็กตามสุขศาลา (ที่ไทยเรียกว่าอนามัย) หรือคลอดเอง และพบว่าเด็กไม่แข็งแรงจะถูกส่งมาที่เราทันที ทำให้ปี 2022 เราให้บริการเด็กในห้องนี้ไปกว่า 272 คน และมีอัตราการเสียชีวิต 26 คน

“การมีเครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กโดยเฉพาะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราไม่มีเครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กมาก่อน โดยที่ผ่านมาเราต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดสวมหน้ากากสำหรับเด็ก แต่ก็ทำให้เด็กเสี่ยงตาบอดจากอ๊อกซิเจนที่รอดผ่านแมสได้ เครื่องนี้จึงลดอันตรายได้มาก เราดีใจมากที่ได้เครื่องช่วยหายใจ 2 เครื่องมาช่วยชีวิตเด็ก”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งมอบครั้งนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีเครื่องมือแพทย์อีกมากที่กำลังเตรียมส่งมอบรอบสองที่คาดว่าจะส่งแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ เช่น เครื่องอัลต้าซาวด์ อุปกรณ์ผ่าตัดสมอง ชุดกล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ และอื่นๆ

20 ธ.ค. 2565

อัปเดตโครงการประชุมการจัดหาเครื่องมือแพทย์แก่ 2 โรงพยาบาล

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

20 ธ.ค. 2565 - 20 ธ.ค. 2565
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ เทใจดอทคอมได้เดินทางไปจังหวัดนครพนมเพื่อร่วมหารือการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์

 

• เช้าวันแรกพวกเราได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ประเทศลาว ทางผอ.โรงพยาบาลและคุณหมอได้พาชมห้องต่างๆ พบว่า

ห้องไอซียู ที่ปัจจุบันมีเตียงคนไข้ 10 เตียง แต่มีมอนิเตอร์เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพียงแค่ 3 เครื่อง อีกทั้งยังขาดแคลนเครื่องให้ยาและสารต่างๆ ที่สำคัญต่อการช่วยกันช่วยชีวิตคนไข้ 

จากนั้นคณะได้สำรวจความต้องการของแผนกเด็ก พบว่าเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อดูแลเด็กใช้งานมากว่า 10 ปี ฟังค์ชั่นหลายอันเสีย รวมถึงตู้อบสำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีเพียง 2-3 ตู้เท่านั้น ไม่นับตู้ให้ความอบอุ่นเด็ก รวมถึงเครื่อง NST ที่ใช้วัดอัตราการเต้นหัวใจของเด็กในครรภ์มารดาที่กำลังคลอดมีเพียง 1 เครื่องเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดสวนทางกับอัตราการคลอดที่มีถึง 10-15 คนต่อวัน

ส่วนสถานกาารณ์ห้องผ่าตัด ที่รพ.ไม่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับรักษาโรคทางหู คอ จมูก รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดสมอง ทำให้คนไข้เหล่านี้ต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ใกล้ 

การเยี่ยมเยียนวันแรกทำให้เราได้ข้อสรุปที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล

 

ขณะที่วันถัดมา คณะได้เดินทางไปที่ โรงพยาบาลนครพนมเพื่อพบกับ นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและทีมแพทย์

ซึ่งหลังจากทีมแพทย์ไปประชุม ทำให้ได้ข้อสรุปว่า โรงพยาบาลต้องการทำห้องCATH LAB (Cardiac Catheterization Lab)หรือที่เรียกกันว่า ห้องปฏิบัติการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก

โรงพยาบาลชี้ความสำคัญว่า ปี 2564และปี 2565 อันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของคนไข้ในโรงพยาบาล เกิดจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เมื่อเราไม่มีเครื่องมือทำให้โรงพยาบาลต้องตัดสินใจส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลอุดรธานี แต่ระยะเวลาการส่งต่อต้องใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง ซึ่งการใช้เวลาที่มาก ทำให้คนไข้เสียชีวิตค่อนข้างเยอะ 

ภาพประกอบ : เส้นทางการส่งต่อคนไข้เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น

โดยปีที่ผ่านมามีการส่งเคสไปฉีดสีมากกว่า 100 ราย ไม่นับโรงพยาบาลอื่นในพื้นที่อีกที่ต้องส่งต่อเช่นกัน ทว่าโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ประเภท STEMI จำเป็นต้องส่งให้ไวที่สุด ไม่เช่นนั้นคนไข้ กล้ามเนื้อหัวใจตายไปเรื่อย เกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หลายปีที่ผ่านคนไข้ที่นครพนม(ทั้งจังหวัด) เพิ่มมากขึ้น และอัตราตายเพิ่มสูงขึ้น ปีล่าสุด คือ ตาย 23 จาก 151 หรือประมาณ 15% ซึ่งเกินเกณฑ์ไปมาก เพราะเขตเคยตั้งเป้าว่าอัตราการเสียชีวิตไม่ควร 8%ห้องปฏิบัติการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจจะทำให้อัตราการรักษาดีขึ้น เสียชีวิตน้อยลง และที่สำคัญโรคหัวใจนี้เป็นภาวะฉุกเฉิน สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคครอบคลุมทำให้ประชาชนเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า

ภาพประกอบ : สถิติการเสียชีวิต

จากนั้นผอ.ได้นำไปชมพื้นที่วางแผนการทำ CATH LAB (Cardiac Catheterization Lab) ซึ่งอยู่ในอาคารใหม่ที่กำลังเตรียมส่งมอบ

 

สำหรับขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเครื่องซึ่งจะจัดส่งได้ภายในไตรมาสแรกของต้นปี 2566 และจะนำภาพมาฝากอีกครั้ง