เงินบริจาคของคุณจะสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กชายขอบได้อิ่มท้อง168คน
ทางศูนย์การเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในเรื่องของการประกอบอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาทุกคน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาหารกลางวัน เพื่อรับประทานภายในศูนย์การเรียน ซึ่งในทุกๆ ภาคการศึกษา คุณครูทุกคนของศูนย์การเรียนก็จะมีการประชุมหารือ ร่วมกับครูที่ดูแลโภชนาการ เพื่อจัดทำตารางอาหารและวิธีการจัดหาวัตถุดิบ สำหรับนำมาประกอบอาหารกลางวัน โดยทุกเมนูที่จะนำมาประกอบอาหาร จะต้องอิงถึงหลักโภชนาการ คุณค่าทางสารอาหารทั้ง 5 หมู่ ที่นักเรียนในแต่ละคนจะต้องได้รับ ซึ่งวัตถุดิบหลักๆ ที่นำมาประกอบอาหาร จะเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ สามารถหาได้ตามตลาดนัดของชุมชน เป็นพืชผลที่อยู่ในฤดูกาลนั้นๆ
สำหรับตารางกิจกรรมการประกอบอาหารของนักเรียน ก็จะแบ่งเวรให้นักเรียนในแต่ละระดับชั้น ดังนี้
ในทุกๆ ครั้งที่นักเรียนแต่ละคนจะมาทำเวรอาหาร จะมีคุณครูประจำชั้นและครูผู้ดูแลโภชนาการในโรงอาหารคอยให้ความรู้ ตั้งแต่กระบวนการก่อนจะประกอบอาหาร ผู้ที่จะประกอบอาหารนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงรสชาติของอาหาร โภชนาการ คุณค่าของสารอาหาร หรือความสุขดิบของอาหารเพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือความสะอาดในการประกอบอาหาร นั่นเป็นสิ่งที่ครูได้เน้นย้ำนักเรียนทุกคนที่เป็นเวรประกอบอาหารจะต้องตรวจเช็คตนเอง ว่าเนื้อตัวสะอาดสะอ้าน เล็บไม่ยาว หรือดำ ต้องล้างมือ สวมใส่หมวก ผ้ากันเปื้อน และถุงมือทุกครั้งที่จะต้องมาประกอบอาหาร
ในการเตรียมวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารก็เช่นกัน วัตถุดิบจะต้องมีความสะอาด สดใหม่ และปราศจากสารปนเปื้อน แต่เราอาจหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ให้ผักหรือเนื้อสัตว์มีสารปนเปื้อน ครูและนักเรียนทุกคนที่เป็นเวรประจำวัน จึงต้องพิถีพิถันในขั้นตอนของการล้างทำความสะอาดผักและเนื้อสัตว์ ก่อนนำมาประกอบอาหาร นักเรียนทุกคน จะได้รับหน้าที่ในการประกอบอาหารแต่ละครั้งแตกต่างกันไป บางครั้งจะได้จัดเตรียมวัตถุดิบในส่วนของเตรียมผัก หั่นผัก บางครั้งจะได้เตรียมวัตถุดิบในส่วนของเนื้อสัตว์ หรือบางครั้งก็จะได้อยู่ในส่วนของการตรวจเช็คดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ทำอาหาร และพื้นที่ในโรงอาหาร
แม้ว่าในแต่ละครั้งนักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่ในส่วนที่ได้รับผิดชอบไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ครูคอยเน้นย้ำเสมอคือนักเรียนทุกคนถือเป็นคนสำคัญ และหากขาดส่วนใดหรือใครไป การประกอบอาหารของเราก็อาจจะเกิดความล่าช้า ซึ่งการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นความสำคัญอย่างมาก เมื่อการประกอบอาหารเสร็จสิ้นลง ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของเวรที่รับผิดชอบการประกอบอาหารเสร็จสิ้นเรียบร้อย นักเรียนจะต้องล้างเครื่องครัว อุปกรณ์ในการประกอบอาหารให้สะอาด จากนั้นนำเข้าที่เหมือนเดิม รวมถึงพื้นที่ในการประกอบอาหาร พื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่หลังโรงอาหารที่เป็นพื้นที่ล้างถาดข้าวของโรงอาหาร
และขั้นตอนที่สำคัญต่อจากนั้นคือการจัดการกับเศษอาหารที่มีในทุกๆ ครั้ง ซึ่งหากเราไม่มีระบบจัดการเศษอาหารที่ดี ปัญหาที่จะนำมาคือของเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเน่า เป็นที่เพาะเชื้อของเชื้อโรคต่างๆ และเป็นศูนย์รวมของแมลงวันที่จะเข้ามาตอมเศษอาหารได้ ครูผู้ดูแลจะพานักเรียนที่มีทักษะและพละกำลังในการขุดหลุม เพื่อนำเศษอาหารไปฝังดินที่แปรงเกษตรของศูนย์การเรียน ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำเศษอาหารมาฝังนั้นก็มีมากมาย นอกจากจะไม่ทำให้โรงอาหารเป็นที่เพาะเชื้อโรคแล้ว ก็ยังทำให้ดินนั้นมีปุ๋ยเพิ่มยิ่งขึ้น เกิดความสมดุลย์และมีจุรินทรีย์ที่ดีๆ อยู่ในดินเพิ่มขึ้นด้วย
หลังจากที่ภารกิจของการประกอบอาหารได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ครูและนักเรียนก็จะมีการถอดบทเรียนเพิ่มเติมร่วมกันทุกครั้ง เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กันเสมอ นักเรียนหลายคนเกิดการตั้งคำถามในระหว่างประกอบอาหาร บางคนได้คลายความสงสัยจากการได้มาร่วมประกอบอาหาร หรือบางคนมีข้อเสนอแนะในการปรกอบอาหาร ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่ทำให้ครูและนักเรียนได้รับทักษะในการประกอบอาหาร แต่ยังทำให้ครูและนักเรียน ได้กลับมาทบทวน มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ได้รับจากโครงการ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังทำกิจกรรม
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ | อธิบาย | จำนวนที่ได้ประโยชน์ | ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น |
เด็กเล็ก | นักเรียนชั้นอนุบาล ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา | 61 คน | เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลได้ทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีพัฒนาการที่เจริญเติบโตสมวัย |
เด็กโต | นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา | 213 คน | นักเรียนชั้นประถมศึกษาของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ได้องค์ความรู้ในการทำอาหาร การจัดเตรียมวัตถุดิบ การดูแลและใส่ใจหลักสุขอนามัย และการจัดการขยะ เศษอาหารที่ถูกวิธี |
คุณครู | คุณครูของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา | 10 คน | คุณครูมีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น ที่จะนำมาอบรมให้กับนักเรียน ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้อย่างถูกต้อง |
ครูอาสาสมัคร | กลุ่มครูนักศึกษาฝึกงาน | 8 คน | นักศึกษาฝึกงานที่ได้เข้ามาร่วมกันแบ่งปันและเรียนรู้ในโครงการนี้ ทำให้มุมมองของการจัดการเรียนรู้ เพิ่มมิติให้กับศูนย์การเรียนหลายมิติ การจัดกิจกรรมมีความสนุก ไม่น่าเบื่อ เพราะมีนักศึกษาฝึกงานคอยเพิ่มเติมข้อมูลที่ตนเองได้เรียนรู้มา |
ระบบนิเวศ | พื้นที่ในโรงอาหาร และพื้นที่ใกล้เคียงของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา | 6 ไร่ | ระบบนิเวศโดยรอบๆ ของศูนย์การเรียนเริ่มมีคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งคุณภาพของดิน คุณภาพของน้ำ และอากาศ ที่เราพยายามจะจัดการกับเศษอาหาร ให้ถูกวิธี นั่นเริ่มนำมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเมื่อเราไม่ทิ้งเศษอาหารไปตามแนวระบายน้ำ ก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้น ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าของเศษอาหาร อากาศก็สดชื่น ถ่ายเทมากยิ่งขึ้น |
ชุมชน | พ่อค้า แม่ค้าในตลาดหมู่บ้านหล่ายฝาง ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ | 4 ร้านค้า | พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนได้มีรายได้ จากการซื้อวัตถุดิบ มาประกอบอาหาร ถือเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน |
“ สิ่งที่ประทับใจคืออาหารมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นค่ะ นักเรียนชั้นอนุบาลก็รับประทานอาหารได้เยอะขึ้น ส่วนมากก็จะลุกมาเติมอาหารตลอด มีส่วนน้อยที่จะไม่เติมอาหาร แล้วก็เห็นนักเรียนได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ก็ทำให้มีพัฒนาการในด้านการเจริญเติบโตเป็นไปตามวัยค่ะ ” นางคำกู่ ไม่มีนามสกุล ชื่อเล่น ครูคำกู่ (คุณครูศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา)
“ ในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับองค์ความรู้หลายอย่างค่ะ ทั้งในเรื่องของคุณค่าของสารอาหาร การเลือกซื้อวัตถุดิบ การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร รวมถึงการจัดการกับเศษอาหารที่เกิดขึ้นหลังจากที่นักเรียนทุกคนรับประทานอาหารแล้วเหลือเศษอาหารทิ้งไว้ในถัง สิ่งนี้ทำให้เราได้เห็นว่า นักเรียนมีความชื่นชอบอะไร ไม่ชื่อชอบอะไร และเมนูไหน ที่เป็นเมนูที่นักเรียนชอบรับประทานมากที่สุด ก็ดีใจมากๆ เลยค่ะ ที่ได้รับองค์ความรู้และทักษะสำหรับการทำงานในโรงอาหารเพิ่มมากขึ้น ขอบคุณนักเรียนทุกๆ คนด้วยค่ะ ที่มาร่วมกันประกอบอาหาร ถ้าไม่มีนักเรียน ก็น่าจะไม่ได้เห็นมุมมอง ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันมากขนาดนี้ค่ะ ” นางสาววริศรา ดอกปาน ชื่อเล่น ครูเอิร์น ( คุณครูผู้แลอาหารและโภชนาการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา)
“ ความประทับใจของผม ผมรู้สึกดีใจนะครับ เพราะว่าผมก็ไม่คิดว่าจะได้มาทำอาหารให้น้องๆ เพื่อนๆ กับคุณครูได้ทานด้วยกัน พอได้ทำทุกสัปดาห์ก็รอให้ถึงวันที่จะทำกับข้าว ลุ้นว่าจะได้เมนูอะไร วัตถุดิบมีอะไรบ้าง ผมเริ่มชื่นชอบที่จะได้ทำกับข้าว ชอบที่เวลาได้ชั่งตวงเครื่องปรุง แล้วก็ต้องให้อยู่ในโภชนาการที่เหมาะสมด้วย มีอะไรที่ต้องคำนวณเยอะ ก็เปลี่ยนการทำอาหารของผมไปเลย เลาอยู่ที่บ้าน ถ้าได้ทำกับข้าว ผมก็จะเริ่มคิดแล้วว่าต้องใส่น้ำปลาเท่าไหร่ ใส่น้ำตาลเท่าไหร่ โดยเอาช้อนมากะเอาครับ สนุกขึ้นมากๆ เลยครับ ” นายวันดี ลุงก่ำ ชื่อเล่น วันดี (นักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา)
“ ความประทับใจของหนูที่ได้เข้ามาทำอาหารก็เป็นการได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ค่ะ ได้เรียนรู้การทำอาหาร เพราะอยู่บ้านแม่ก็เป็นคนทำให้ทานค่ะ หนูก็อยู่ทานอย่างเดียว ช่วงแรกๆ ไม่รู้จักอะไรเลยค่ะ จับมีดก็กลัวๆ ไม่รู้ว่าอุปกรณ์ทำอาหารมีอะไรบ้าง พอได้มาทำกับข้าวทุกสัปดาห์ ก็เริ่มรู้จักอุปกรณ์ในการทำอาหารมากขึ้น สามารถทำกับข้าวทานเองที่บ้านได้ เวลาแม่ไม่อยู่บ้านค่ะ แล้วก็ได้แยกเศษอาหารด้วยค่ะ ปกติที่บ้านจะไม่แยกเลย บางครั้งถ้าทานไม่หมดก็แค่เอาไปคลุกข้าวให้หมาที่บ้าน หรือบางครั้งก็เททิ้งแถวนา ต้นไม้ หรือไม่ก็ครองระบายน้ำค่ะ ตอนนี้ได้รู้จักวิธีการจัดการกับขยะและเศษอาหารที่ทานไม่หมด มันได้ประโยชน์ แล้วก็ไม่ต้องทนเหม็นกับกลิ่นของเศษอาหารที่เน่าแล้วค่ะ ” เด็กหญิงพองหลาว ไม่มีนามสกุล (นักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา)