เงินบริจาคของคุณจะค่าผ่าตัดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตัน (Ischemic stroke)ให้กับเขตบริการสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก)20คน
ตลอดโครงการ "กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 12 ราย ในพื้นที่โครงการ คือเขตบริการสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก) ประกอบด้วยจังหวัด ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด
จนกระทั่งล่าสุด การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก "กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน" โดย นพ.มกร ลิ้มอุดมพร (ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และ ประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่6) และนายแพทย์เขตต์ ศรีประทักษ์ (แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้มีส่วนร่วมผลักดันการรักษาโดยวิธีการให้สวนหลอดเลือดสมองไปอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพได้แล้วครับ
ขอขอบคุณแทนผู้ป่วยทุกคนครับ🙏🏻🙏🏻😊
เรียนผู้บริจาคกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันในระยะเฉียบพลันมีเป้าหมายมุ่งเน้นเพื่อเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เป็นปกติ เพื่อลดความเสียหายจากสมองขาดเลือด โดยนอกเหนือจากการใช้ยาสลายลิ่มเลือด (Intravenous rt-PA)แล้ว การรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด (Mechanical Thrombectomy) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีอัตราประสบความสำเร็จมากถึง 80% และยังสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วย โดยสามารถทำได้แม้ผู้ป่วยมีอาการมาแล้วถึง 24 ชั่วโมง ในขณะที่การรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดสามารถให้ได้หลังจากที่มีอาการภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น
ข้อจำกัดด้านการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดมีหลายประการไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาลที่พร้อมรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีน้อยในประเทศไทย หรือ การประเมินและการส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับการผู้ป่วยคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 150,000 บาท ซึ่งผู้ป่วยในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่มีสิทธิในการรักษาด้วยวิธีนี้ ส่งผลต่อการตัดสินใจต่อแผนการรักษาทั้งตัวผู้ป่วยและสถานพยาบาล
นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง เทใจดอทคอม ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันในทุกสิทธิของเขตสุขภาพที่ 6 (ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด) หากจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด (ที่ส่งต่อยังสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) จะใช้เงินจากกองทุนเทใจนี้ร่วมชำระค่ารักษาเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ป่วยมากเกินไป ส่งผลให้ทุกโรงพยาบาลในภาคตะวันออกขยายระยะเวลา Stroke Fast Tack เป็น 24 ชั่วโมง (จากเดิม 4 ชั่วโมง 30 นาที) เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาผู้ป่วยให้มากขึ้น และปรับแผนการรักษาผู้ป่วยใหม่เพื่อรองรับการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการได้มากขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง รวม 6 ราย เป็นเงิน 549,660 บาท ผลการรักษาจากการติดตามที่ 3 เดือน ผู้ป่วย 83.3 % มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ลดภาวะพึ่งพิง มีภาวะสุขภาพจิตที่ดี มีกำลังใจในการฟื้นฟูร่างกายต่อไป
ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของบุคลากรสาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตสุขภาพที่ 6 ทุกคน ขอพระขอบคุณผู้มีบริจาคทุกท่าน นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 6 และเทใจดอทคอม ที่ช่วยผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์นี้เพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของภาคตะวันออกทุกคน
เคสที่ 4 ส่งต่อจากจังหวัดสมุทรปราการ
ผู้ป่วยหญิง อายุ 58 ปี ส่งต่อจากจังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 5 เมษายน 2563 ด้วยอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง 6 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล แรกรับที่จ.สมุทรปราการ แพทย์ได้ประเมินแล้วว่าเป็นลักษณะของหลอดเลือดแดงด้านซ้ายขนาดใหญ่อุดตัน (left middle cerebral artery infarction) แต่เนื่องด้วยระยะเวลาเกิน 4 ชั่วโมง 30 นาที ไม่สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ แต่ยังมีโอกาสในการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือดจึงได้ประสานสถานบันประสาทวิทยาเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ณ สถาบันประสาทวิทยา แพทย์ได้ทำการประเมินผู้ป่วยอีกครั้ง และเห็นว่าการผ่าตัดสามารถมีประโยชน์ จึงได้ทำการรักษาด้วยวิธีผ่านสายสวนหลอดเลือด ผลการผ่าตัดประสบด้วยดี สามารถลากลิ่มเลือดออกได้
อาการหลังผ่าตัด : มีการฟื้นตัวที่ดี แขนขาด้านขวามีแรงมากขึ้น ยกได้มากขึ้น ความสำเร็จและจากการติดตามที่ 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุง แม้จะมีแขนขาอ่อนแรงอยู่แต่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้
ค่าใช้จ่ายในการทำหัตถการของผู้ป่วย : ซึ่งเบิกไม่ได้ตามระเบียบเป็นเงิน 52,140 บาท ผู้ป่วยสามารถร่วมจ่ายได้เป็นเงิน 10,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมอง 42,140 บาท
เคสที่ 5 ส่งต่อจากจังหวัดฉะเชิงเทรา
ผู้ป่วยชาย 40 ปี ส่งต่อจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยอาการแขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ขณะเดินเข้าห้องน้ำ 3 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล (3.00 น. 4 สิงหาคม 2563) เข้ารับการรักษาที่รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา แพทย์ประเมินอาการและให้ยาสลายลิ่มเลือด แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีลักษณะของการอุดตันหลอดเลือดแดงสมองขนาดใหญ่ (right middle cerebral artery) มีโอกาสที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือด จึงได้ประสานสถาบันประสาทวิทยาเพื่อส่งต่อ ณ สถาบันประสาทวิทยา แพทย์ได้ประเมินอาการซ้ำปรากฏว่าผู้ป่วยยังไม่สามารถขยับแขนขาด้านซ้ายได้ เนื่องจากล้มเหลวจากการเปิดหลอดเลือดด้วยยาสลายลิ่มเลือด แพทย์จึงได้รักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดในวันที่ 4 สิงหาคม 2563
อาการหลังผ่าตัด : ผลการรักษาประสบความสำเร็จ สามารถลากลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาด้านซ้ายมีแรงมากขึ้น ยกยืนได้ แต่ยังไม่สามารถเดินได้เอง แพทย์ได้ปรึกษาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อเตรียมผู้ป่วยฟื้นฟูในระยะต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการทำหัตถการของผู้ป่วย : ผู้ป่วยรายนี้มีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิ 140,200 บาท ผู้ป่วยร่วมชำระ 15,000 บาท ใช้เงินกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองทดแทน 125,200 บาท
เคสที่ 6 ส่งต่อจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี
ผู้ป่วยชายอายุ 65 ปี วันที่ 8 สิงหาคม 2563 14.00 น อาการยังเป็นปกติ จากนั้นญาติไปพบผู้ป่วยนอนซึมลงไม่พูด มีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เมื่อเวลา 17.00 น. แพทย์ประเมินแล้วพบเป็นหลอดเลือดแดงด้านซ้ายขนาดใหญ่อุดตัน (left middle cerebral artery) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรง และพูดไม่ได้ แพทย์ได้ให้ยาสลายลิ่มเลือดและส่งต่อสถาบันประสาทวิทยาเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือด แพทย์ที่สถาบันประสาทวิทยาได้ประเมินอาการผู้ป่วยซ้ำอีกครั้ง และได้ทำการรักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดเมื่อเวลา 2.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2563
อาการหลังผ่าตัด : ผลการรักษาประสบความสำเร็จสามารถลากลิ่มเลือดออกมาได้เป็นจำนวนมาก (ดังรูปที่แนบ) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวที่ดี แขนขาด้านขวากลับมายกได้แม้อ่อนแรงเล็กน้อย สามารถพูดได้แต่ยังมีอาการลิ้นแข็งพูดไม่ชัดเล็กน้อย ขณะนี้ส่งผู้ป่วยกลับมาฟื้นฟูต่อที่จังหวัดปราจีนบุรีได้อย่างปลอดภัย
ค่าใช้จ่ายในการทำหัตถการของผู้ป่วย : ผู้ป่วยรายนี้มีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิ 38,390 บาท ผู้ป่วยร่วมชำระ 5,390 บาท ใช้เงินกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองทดแทน 33,000 บาท
เคสที่ 3 ส่งต่อจากโรงพยาบาลสมุทรปราการ
ผู้ป่วยชาย 59 ปี มารพ.สมุทรปราการด้วยซึม แขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง 4 ชม ก่อนมาโรงพยาบาล ทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมองพบการขาดเลือดที่ก้านสมอง ได้รับยาสลายลิ่มเลือดที่สมุทรปราการแต่ไม่สามารถเปิดเส้นเลือดได้ จึงส่งต่อสถาบันประสาทเพื่อรักษาด้วยวิธีลากสายสวน
ที่สถาบันได้ทำการรักษาด้วยวิธีลากสายสวนได้ลิ่มเลือดสมองออกมา แต่เนื่องจากเป็นตำแหน่งก้านสมองที่ขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้แม้รักษาชีวิตผู้ป่วยได้แต่ไม่สามารถฟื้นตัว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเจาะคอเพื่อดูแลต่อเนื่อง ส่งกลับรพ.สมุทรปราการ มีภาวะแทรกซ้อนคือปอดบวม ทำให้ผู้ป่วยทรุดลงและเสียชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1 เดือน
วันนี้เราได้ 2 ผู้รอดชีวิตและยังรอดพ้นจากความพิการจากการกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน โดยมี นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพ ที่ 6 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และนพ.มกร ลิ้มอุดมพร ประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่ 6 ได้ริเริ่มโครงการนี้
เคสที่ 1 ส่งต่อจากโรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 88 ปี ถูกส่งมายังโรงพยาบาลด้วยการอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรงยกไม่ได้ มีอาการซึมลง 30 นาทีก่อน แพทย์จากรพ.บางละมุง วินิจฉัยเป็นเส้นเลือดสมองใหญ่ด้านซ้ายอุดตัน ได้รับยาสลายลิ่มเลือด แต่อาการไม่ดีขึ้น และไม่สามารถหายใจเองได้ จึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อมารักษาตัวที่สถาบันประสาท เพื่อรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือด โดยแพทย์จากสถาบันประสาทใช้เวลาในการผ่าตัด 50 นาที
อาการหลังผ่าตัด : ผู้ป่วยมีอาการที่ตื่นมากขึ้น สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกและหายใจได้เอง อีก 2 วันต่อมา แขนขาด้านขวายังอ่อนแรงแต่เริ่มขยับได้ ผู้ป่วยอยู่พักฟื้นในสถาบันประสาทวิทยาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นส่งกลับเพื่อกายภาพบำบัดต่อที่โรงพยาบาลบางละมุง
เคสที่ 2 ส่งต่อจากโรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
ผู้ป่วยเพศหญิง 65 ปี มีอาการแขนขาด้านขวาอ่อนแรงและพูดไม่ได้ เข้ารักษารพ.เปาโลสมุทรปราการ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเส้นเลือดสมองใหญ่ด้านซ้ายอุดตัน ได้รับยาสลายลิ่มเลือด แต่อาการไม่ดีขึ้น และไม่สามารถพูดได้ ฟังไม่เข้าใจความหมาย จึงส่งต่อมารักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา เพื่อรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือด โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 40 นาที
อาการหลังผ่าตัด : ผู้ป่วยรู้ตัวดี พูดและฟังเข้าใจได้ แขนขาด้านขวายังมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อย จึงให้ทำกายภาพบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ ปัจจุบันอาการใกล้เคียงเป็นปกติ
ผู้ป่วยทั้งสองเคสใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล เนื่องจากการรักษาชนิดสายสวนหลอดเลือดไม่สามารถเบิกได้ตามหลักเกณฑ์กองทุนประกันสุขภาพ จึงทำให้ผู้ป่วยจ่ายได้บางส่วน และกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดร่วมสมทบค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 249,320 บาท