cover_1

Happy meal for Happy Granny : เติมรัก ปันอิ่ม

ผู้สูงอายุ

เงินบริจาคของคุณจะให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสิ่งจำเป็นให้กับผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตตามลำพัง ไม่มีลูกหลานส่งเสียเลี้ยงดู100คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
16 มี.ค. 2566

อัปเดตโครงการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและแจกชุดอาหารให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ จำนวน 109 คน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

16 มี.ค. 2566 - 16 มี.ค. 2566

 

มูลนิธิโคเออร์ดำเนินกิจกรรมสงเคราะห์ข้าวสารอาหารแห้ง ให้แก่ผู้สูงอายุและคนพิการยากไร้ ใน จ.สระแก้ว และจ.สุรินทร์ เป็นเวลากว่า 36 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและแจกชุดอาหาร 1 ชุด/เดือน

ชุดอาหารจะประกอบด้วย ข้าวสาร 10 กิโลกรัม และ/หรือ ไข่ไก่ ปลาร้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กุนเชียง ปลากระป๋อง นมกล่อง UHT ตามความเหมาะสม ซึ่งจะลงพื้นที่ในทุกๆ อาทิตย์แรกของเดือน

ในระยะเวลารณรงค์โครงการ Happy meal for Happy Granny : เติมรัก ปันอิ่ม ผ่านเทใจดอทคอม ระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีผู้รับประโยชน์ ในพื้นที่ จ.สระแก้ว และจ.สุรินทร์ จำนวนทั้งสิ้น 109 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 86 คน และคนพิการ จำนวน 23 คน รายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตาราง : สรุปโครงการจากการประเมินโดยการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ใน จ.สระแก้ว และจ.สุรินทร์ 

ที่

ผู้รับประโยชน์

ก่อนทำโครงการ ผลที่ได้รับ อุปสรรค/ข้อเสนอแนะ
1 ผู้สูงอายุ 1.อยู่โดดเดี่ยว ขาดกำลังใจ
2.ขาดแคลนอาหาร
1.การเยี่ยมเยียนทำให้ผู้สูงอายุได้มีคนให้พูดคุย ปรับทุกข์และให้กำลังใจ
2.การมอบชุดอาหารช่วยให้ผู้สูงอายุมีอาหารครบมื้อ
1.ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการช่วยเหลือที่ยั่งยืนได้
2.ผู้สูงอายุบางคนมีภาระจากการต้องดูแลลูกที่พิการ หรือหลานที่ลูกฝากไว้ให้เลี้ยงดูเพราะต้องไปทำงานต่างจังหวัด
2 คนพิการ 1.ไม่มีรายได้เนื่องจากปัญหาทางกายภาพ
2.เป็นผู้มีภาวะพึ่งพิงในครอบครัวที่มีฐานะยากจน
1.การมอบชุดอาหารสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนพิการ และครอบครัวที่ต้องดูแลคนพิการได้
2.ชุดอาหารที่ได้รับสามารถช่วยสมาชิกคนอื่นๆ ในครัวเรือนทำให้คนพิการรู้สึกมีคุณค่า
1.คนพิการที่ได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ป่วยติดเตียง ตาบอด พิการจากกับระเบิด ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ยั่งยืนได้

 

ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

 นางบุญยัง มีหล้า หรือป้าน้อย อาศัยอยู่คนเดียวในกระต๊อบใกล้ๆ กับบ้านของญาติ ที่บ้านคลองอึ่งดำ ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ปัจจุบันป้าอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน และไทรอยด์ อีกทั้งดวงตาก็พร่ามัว ทำให้ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ ในขณะที่ญาติๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันมีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ มีฐานะไม่สู้ดีนัก การช่วยเหลือกันเองจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากโคเออร์ ป้าน้อยต้องอยู่แบบอดมื้อกินมื้อ

ป้าน้อยบอกกับเราว่า ..“มันดีมากที่โคเออร์ ได้ช่วยเหลือให้ข้าวสารอาหารแห้งแก่ป้าช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายของป้า และญาติด้วยเพราะในวันที่เขาไม่มีรายได้ ไม่มีคนจ้างงาน เขาออกไปหาเก็บผัก ขุดปู ขุดเขียด มาทำกินได้ แต่เขาไม่มีข้าวสาร ก็ได้แบ่งปันกันไปได้ สำหรับป้าไม่เคยมีหน่วยงานไหนช่วยเหลือ มีแค่เงินคนแก่ ป้าดีใจมาก ไม่ใช่แค่ช่วยป้าแต่ยังช่วยคนที่จุนเจือป้าด้วย”

 คุณยายปั่น ฟองเกิด อายุ 85 ปี อาศัยอยู่ลำพังคนเดียวที่ บ้านโนนเสาเอ้ ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โคเออร์ได้รับข้อมูลความลำบากของยายจากอาสาสมัคร  เมื่อราวๆ สิบกว่าปีมาแล้ว สามีของยายเสียชีวิตลงทำให้ต้องอยู่คนเดียว ยายพิการขาขาดจากกับระเบิด ที่เกิดจากการออกไปหาเก็บของป่าขายที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยายมีลูก 3 คน สองคนไปทำงานและมีครอบครัวในต่างจังหวัด เหลือหนึ่งคนที่มีครอบครัวและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันแต่ก็มีความขัดสน หาเช้ากินค่ำ และได้นำหลานวัย 7 ขวบที่ป่วยจิตเวชมาฝากให้ยายปั่นเลี้ยงเวลาต้องออกไปทำงาน

ยายปั่นเล่าให้ฟังเกือบทุกครั้งที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนว่า..“ถึงมีลูกก็ไม่ช่วยอะไร และยังเอาหลานมาฝากให้เลี้ยงต้องหุงหาข้าวให้กิน แค่เบี้ยคนแก่กับคนพิการก็ไม่พอกิน ขอบใจที่ให้ข้าว ให้ของแห้ง ช่วยได้เยอะ”

ป้าน้อยและยายปั่นเป็นเพียงตัวอย่างของผู้รับผลประโยชน์จากชุดอาหารที่ได้รับแต่ละเดือน ไม่เพียงแต่ได้ปันความอิ่มเท่านั้น หากแต่การได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนในแต่ละครั้ง ยังเป็นการได้รับฟัง พูดคุย ปรับทุกข์ เติมความรัก และสร้างรอยยิ้มให้พวกเขาได้อีกด้วย

 

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ 
จำนวนผู้รับประโยชน์(คน) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผู้สูงอายุ 86 1.ผู้สูงอายุได้รับอาหารครบมื้อ และมีโภชนาการที่ดีขึ้น
2.ผู้สูงอายุได้รับการบรรเทาใจ จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร
คนพิการ 23 1.ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนพิการ ครอบครัวหรือผู้ดูแลได้
2.คนพิการหรือผู้ป่วย รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น

 

 

วิดีโอกิจกรรม