cover_1

Give for Child Fight COVID-19 เทใจให้เด็กชายแดนใต้ เพื่อชีวิตที่สดใส หลังโควิดหมดไป

เด็กและเยาวชน
อื่นๆ

เงินบริจาคของคุณจะนำไปจัดซื้อปัจจัยทางการศึกษา ทุนการศึกษา ถุงยังชีพให้กับเด็กและครอบครัวยากไร้300ครอบครัว

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
22 ส.ค. 2565

อัปเดตโครงการมอบถุงยังชีพให้ครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อนจากโควิด19 ใน จ.ยะลา 50 ครอบครัว

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

22 ส.ค. 2565 - 22 ส.ค. 2565

วันที่ 14 -17 สิงหาคม 2595 เวลา 09.00-15.00 น. สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม พมจ.ยะลา ได้ลงพื้นที่ ตำบลปุโรง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เทศบาลตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และ และเทศบาลตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อมอบถุงยังชีพแก่ครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด19 จำนวนทั้งหมด 50 ชุด/ครอบครัว ซึ่งข้างในถุงบรรจุด้วยของต่อไปนี้

  1. ข้าวสาร จำนวน 5 กิโลกรัม
  2. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 10 ห่อ
  3. ปลากระป๋อง จำนวน 10 กระป๋อง
  4. ผงซักฟอก จำนวน 1 ถุง
  5. ไมโล ชนิดผง จำนวน 1 ถุง
  6. ชุดข้าวยำ 1 ชุด (ประกอบด้วย บูดูข้าวยำ ปลาป่น มะพร้าวคั่ว)
  7. ซองเงินจำนวน 500 บาท

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแก่ครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น เด็กกำพร้าแต่ยังมีญาติที่สูงอายุอยู่ด้วยกัน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวที่ตกงานยังหางานทำไมได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน บางครอบครัวเพิ่งหายจากการติดเชื้อโควิด หลังจากที่ต้องพักรักษาตัวหลายวันทำให้มีสุขภาพย่ำแย่ต่อเนื่อง และยังไม่สามารถออกไปทำงานได้อย่างปกติ เด็กบางคนจบม.6แล้วไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากต้นทุนชีวิตมีไม่มากพอสำหรับการเรียนหนังสือในห้องเรียน หลายๆคนต้องออกไปรับจ้างเพื่อเลี้ยงปากท้องคนที่บ้าน บางคนมีหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือและต่อทุนขายของ เพื่อหวังกำไรเลี้ยงครอบครัว ด้วยเศรษฐกิจในปัจจุบันกำไรจากการขายของวันต่อวันจึงไม่เพียงพอสำหรับแลกกับปัจจัยในการเลี้ยงชีพต่างๆ ส่งผลให้หัวหน้าครอบครัวหลายๆครอบครัว เดินทางไปรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย (แต่ร้านอาหารที่ประเทศมาเลเซียก็ยังเปิดได้บางส่วน ทำให้งานมีจำนวนจำกัดสำหรับบคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น) เพื่อส่งเงินให้คนที่บ้านมีกินมีใช้ เด็กๆหลายคนในหมู่บ้านที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ ในช่วงที่โควิด 19 กำลังระบาด เด็กๆหลายมีความรู้สึกอยากอยู่คนเดียว ไม่ค่อยอยากไปเจอเพื่อน และมีความรู้สึกเครียดหาทางออกในชีวิตไม่ได้ตลอดเวลา เด็กๆหลายคนหนีหน้าไม่ออกมาเจอพี่ๆ การลงพื้นที่มอบของให้ความช่วยเหลือครั้งนี้พี่ ๆ ได้พบปะพูดคุยทั้งผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ พมจ.ได้ประเมินความช่วยเหลือต่างๆเบื้องต้นเช่น ซ่อมแซมบ้าน สร้างห้องน้ำ เป็นต้น

ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ เด็กบางคนขาดผู้ดูแลทำให้บางครอบครัวต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งบางครั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น งานเก็บขวดขาย งานเสิร์ฟอาหาร งานก่อสร้าง งานตัดต้นไม้ งานปีนต้นไม้เก็บผลผลิตต่างๆ เป็นต้น นี่เป็นเพียงบางส่วนของความเดือดร้อนที่ได้ยินจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ การเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้ทำให้ทีมงานทุกคนรู้สึกประทับใจ ที่สามารถสร้างรอบยิ้มและความประทับจากจากคนในชุมชนได้

สัมภาษณ์ผู้ได้รับถุงยังชีพ


นางสาวนาปีซะห์ สาแม (ชื่อเล่นซะห์) อายุ 28 ปี มีลูก 3 คน คนโตอายุ 5 ขวบ (พิการเดินไม่ได้) คนที่ 2 อายุ 3 ขวบ คนที่ 3 อายุ 7 เดือน อาศัยอยู่กันตามลำพังที่กระท่อมหลังเล็กๆที่ปลูกแยกจากบ้านพ่อแม่ ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันหลายคน ซะห์บอกว่าตนไม่ได้ทำงาน แต่งงานมาก็มีลูกเลย จนลูก3 คน ก็ยังไม่เคยทำงาน ซ้ำลูกคนโตพิการเดินไม่ได้ ทำให้ต้องอยู่กับลูกตลอด พ่อแม่ตนลำบากมีลูกหลายคน พอลูกๆเริ่มโตเป็นสาวก็ให้แต่งงานเพื่อหวังให้สามีเลี้ยงดูจะได้แบ่งเบาภาระค้าใช้จ่ายในบ้าน ปัจจุบันสามี อายุ 30 ปี เป็นไรเดอร์ส่งอาหารที่ภูเก็ต 3-4 เดือนถึงจะกลับมาเยี่ยมตนและลูกสักครั้ง จากการพูดคุยซะห์เล่าว่าตนเป็นห่วงเรื่องการเรียนของลูกเพราะลูกคนกลางยังไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนแถมยังไม่มีมอเตอร์ไซด์ไว้ขับไปส่งลูกที่โรงเรียน มอเตอร์ไซด์ที่เคยมี สามีก็นำไปขับส่งอาหารที่ภูเก็ต วันนี้ดีใจมากๆที่กลุ่มลูกเหรียงมาเยี่ยมมามอบของและมอบเงิน เป็นบุญของลูกๆที่จะได้กินขนมอร่อยๆในเย็นวันนี้


นางสาวยามีหล๊ะ บือแน (กะละห์) เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุ ได้ 7 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกสาว ส่วนลูกชายเป็นทหารเกณฑ์ประจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กะละห์เล่าว่าตนและลูกๆลำบากมากๆ ไม่มีบ้านอยู่ อาศัยกระท่อมเล็กๆที่พี่สะใภ้สร้างให้ เมื่อก่อนมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพอได้ส่งเสียลูกสาวเรียนจบม.3 ได้ แต่ปัจจุบันนี้ร่างกายไม่แข็งแรงกล้ามเนื้อแขนและมือ ไม่แข็งแรงไม่สามารถทำงานได้ อาศัยเบี้ยเลี้ยงจากลูกชายและเบี้ยผู้พิการไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนลูกสาวเรียนจบม.6 อยากเรียนต่อแต่ยังไม่มีโอกาส ปัจจุบันลูกสาวรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน เช่นงานทั่วไปในร้านก๋วยเตี๋ยวและปลูกผักสวนครัวไว้ขายในร้านน้ำชาในหมู่บ้าน วันนี้ดีใจมากๆที่กลุ่มลูกเหรียงมาเยี่ยมมามอบของ รู้สึกมีกำลังใจที่ได้เห็นคนนอกพื้นที่มาเยี่ยม ขอบคุณผู้สนับสนุนทุกคนที่ส่งความห่วงใยมาให้ในครั้งนี้

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมครั้งนี้

22 ธ.ค. 2563

อัปเดตโครงการมอบของใช้จำเป็น และทุนการศึกษาให้ครอบครัวเด็กยากไร้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

22 ธ.ค. 2563 - 22 ธ.ค. 2563

จากการเปิดระดมทุนจากน้ำใจของคนไทยทั่วประเทศผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม ทำให้เราได้ยอดเงินบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 278,546 บาท คิดเป็นเพียง 26% ของยอดเงินที่ตั้งเป้าไว้ พร้อมนี้ เราได้รับบริจาคสนับสนุนโดยตรงผ่านบัญชีธนาคารของเครือข่ายฯ จากสมาคมชาวปัตตานีจำนวน 300,000 บาท และจากบริษัท ฟิลิปเวน (ประเทศไทย) จำกัด อีกจำนวน 60,000 บาท รวมยอดเงินบริจาคที่เราได้รับในโครงการจำนวนทั้งสิ้น 638,546 บาท ทำให้เราไม่สามารถที่จะดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวเด็กยากไร้ให้ครบ 300 ครัวเรือนตามจำนวนที่วางไว้ในโครงการได้

ทั้งนี้ เพื่อให้เพียงพอต่องบประมาณ จากการลงพื้นที่สำรวจนั้นเราได้พิจารณาคัดเลือกครอบครัวเด็กยากไร้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนทั้งสิ้นเพียง 188 ครัวเรือน แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 88 ครัวเรือน จ.นราธิวาส 50 ครัวเรือน และ จ.ยะลา 50 ครัวเรือน ซึ่งทางเราได้ดำเนินการลงพื้นที่มอบของและทุนไปแล้วบางส่วนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

15 ธ.ค. 2563

อัปเดตโครงการเริ่มการสำรวจพื้นที่ ครอบครัวเด็กยากไร้ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

15 ธ.ค. 2563 - 15 ธ.ค. 2563

จากการเปิดระดมทุนจากน้ำใจของคนไทยทั่วประเทศผ่านเทใจดอทคอม เพื่อให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูครอบครัวเด็กยากไร้จำนวน 300 ครอบครัว ซึ่งครอบคลุมทั้ง 33 อำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา) ได้มีชีวิตที่สดใสหลังโควิด-19 หมดไป โดยแบ่งเป็นจังหวัดละ 100 ครอบครัว ตามโครงการ “Give for Child Fight COVID-19 เทใจให้เด็กชายแดนใต้ เพื่อชีวิตที่สดใส หลังโควิดหมดไป” ซึ่งได้เริ่มเปิดระดมทุนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

PPS ได้เดินเท้าเข้าไปในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ครอบคลุมทั้ง 33 อำเภอ เพื่อค้นหาและสำรวจครอบครัวเด็กยากไร้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19

เป็นระยะเวลา 4 เดือนเต็มๆ ที่คณะทำงานเครือข่ายเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด หรือ PPS ที่พวกเราทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาส่วนตัว เพียงเพื่อต้องการเติมเต็มพลังแห่งการให้ ต้องการที่จะดูแลความรู้สึกทางจิตใจ และยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กยากไร้ ให้พวกเขาได้เปลี่ยนผ่านจากระยะวิกฤติ สู่ระยะฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งผลพวงจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ครอบครัวเด็กเหล่านี้อยู่กันด้วยความยากลำบากมาก

ซึ่งจากการลงพื้นที่ของพวกเรานั้น เราไปพบเจอกับ “ครอบครัวเด็กยากไร้” ที่ ...

  • เป็นเด็กกำพร้า พี่น้องหลายคน พ่อแม่สูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบ 
  • ไม่มีไฟฟ้าใช้ในบ้าน กลับจากโรงเรียน หากจะทำการบ้าน ต้องรีบทำก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน
  • ครอบครัวตกงาน จากพิษ Covid-19
  • กำพร้าพ่อ แม่ต้องไปทำงานที่มาเลเซีย ลูกอาศัยอยู่ตามลำพัง บางครั้งไข่ต้ม 1 ฟอง แบ่งกินกัน 3 พี่น้อง
  • มีลูกอยู่หลายคน ต้องให้สลับกันไปโรงเรียน เพราะไม่มีเงินพอสำหรับให้ลูกไปโรงเรียน
  • มีบ้านหลังเล็กๆ ผุพัง รอวันพังทลายลง ที่สำคัญไม่มีห้องน้ำใช้

และอีกหลายๆ ครอบครัว ที่เราไปเจอที่สร้างความหดหู่แก่พวกเราเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างพลังให้พวกเราไม่น้อนเลยทีเดียว  

ทั้งนี้การบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจากน้ำใจของคนไทยทั่วประเทศผ่านเทใจดอทคอม ช่วยส่งผลให้เป็นเหมือนพลังและกำลังใจสำคัญ ที่จะทำให้ครอบครัวเด็กๆ ยากไร้เหล่านี้มีสภาพจิตใจ สุขภาวะที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้หมดไปจากสังคมไทย โดยหลังจากนี้ทาง PPS จะได้เริ่มดำเนินการส่งมอบความช่วยเหลือเหล่านี้ สู่มือครอบครัวเด็กยากไร้ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือนต่อไป

PPS ต้องขอขอบคุณผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคเงินเพื่อส่งต่อความสุขและรอยยิ้มสู่ครอบครัวเด็กยากไร้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในครั้งนี้ด้วย