เงินบริจาคของคุณจะเปิดกองทุนเทใจเพื่ออนาคตประเทศไทยให้กับโครงการเพื่อเด็กและเยาวชน1กองทุน
กองทุนสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการแก้ไขประเด็นปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ ใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบไปด้วย (1) ภาวะทุพโภชนาการ (2) การศึกษา (3) การจ้างงาน (4) สุขภาพจิต
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ และเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่จะร่วมกันสร้างรากฐานที่มั่นคงให้พวกเขาสามารถเติบโตขึ้นเป็นคนแบบที่พวกเขาอยากเป็น มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาสมควรได้ใช้ รวมถึงเป็นพลังขับเคลื่อน สร้างอนาคตของชาติไปในทิศทางที่พวกเขาอยากเห็น
แต่เด็กและเยาวชนไทยทุกวันนี้กำลังเผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบอันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ และการระบาดของโควิด-19 ยังกินระยะเวลายาวนานกว่าที่ใครจะคาดการณ์ได้ ทำให้ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วถูกแก้ได้ยาก และต้องใช้ทั้งทรัพยากร เวลา และพลังงานมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยกำลังถูกผลักออกไปนอกเส้นทางการเจริญเติบโตแบบที่พวกเขาควรจะได้เดินตามปกติ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลักสำคัญซึ่งเป็นรากฐานในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
งานวิจัยเรื่องภาวะโภชนาการและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: การทบทวนวรรณกรรม ได้สรุปเอาไว้ว่า ภาวะทุพโภชนาการในเด็กนั้นส่งผลกระทบระยะยาวต่อชีวิตของพวกเขามากกว่าที่คิด จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2016 พบว่า การมีภาวะโภชนาการต่ำกว่าเกณฑ์ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต เจ็บป่วย และการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ เช่น อุจจาระร่วง ปอดบวมหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน และมาลาเรีย อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะแคระแกร็น (Stunting) ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการของสมองและอวัยวะอื่นๆ ที่ล่าช้า ส่งผลต่อสติปัญญาของเด็ก
ในทางกลับกัน การมีภาวะโภชนาการเกินในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง รวมถึงการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต ทำให้ประสบปัญหาในการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก มีผลต่อคุณภาพชีวิต และความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากเพิ่มค่าใช้จ่ายทางสุขภาพและการสูญเสียสุขภาวะจากภาวะพิการ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
นอกจากนี้ จากการนำเสนอของ PPTV ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอิสระ และผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส. ยังชี้ให้เห็นว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เด็กไทยไม่ใช่แค่ขาดสารอาหาร เพราะพ่อแม่ตกงาน ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนให้เด็กทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภาวะโภชนาการเกินหรือเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการเรียน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของเด็กจากการเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างที่เคยอีกด้วย
อ้างอิงจากการรายงานของมติชน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ส่งผลให้มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดถึง 11% (เมื่อดูจากเส้นแบ่งความยากจนที่ตัดในระดับรายได้ 2,700 บาท/คน/เดือน) นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาไทยโดยรวม จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ คาดการณ์กันว่าเด็กไทยกว่า 1.8 ล้านคนหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), เว็บไซต์ The Standard)
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ ก็ย่อมส่งผลต่ออัตราการจ้างงานที่ลดน้อยลงไปด้วย จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 7.5 แสนคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันถึงเกือบเท่าตัว อัตราการว่างงานและผู้มาใช้สิทธิ์ว่างงาน ม.38 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้ว่า อัตราการว่างงานนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากันในทุกกลุ่มประชากร เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุและระดับการศึกษา จะพบว่า ในปีที่ผ่านมากลุ่มที่มีอายุน้อยและระดับการศึกษาสูง คือกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด และหากดูตามช่วงอายุแล้ว กลุ่มที่ว่างงานสูงที่สุดในช่วงไตรมาศแรกของปี 2021 คือ กลุ่มประชากรอายุ 20-24 ปี ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นกลุ่มเยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั่นเอง
แต่นอกจากเยาวชนที่เรียนจบตามระบบการศึกษาแต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการทำงานแล้ว ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาเพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงสถานการณ์โควิดที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบ ซึ่งพวกเขายังไม่มีทักษะหรือวิชาชีพติดตัว ทำให้มีโอกาสจะไม่ได้รับการจ้างงานเช่นเดียวกัน เมื่อมีเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้อยู่ในช่วงการฝึกอบรม และไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานใดๆ (NEET - Not under education, employment, or training) เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ต่อไปอีก เช่น อาชญากรรม เป็นต้น
เป็นมิติปัญหาที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และยังไม่มีนโยบาย หรือความช่วยเหลือที่ครอบคลุมมากนัก รวมถึงความเข้าใจในประเด็นสุขภาพจิตของคนในสังคมไทยเองก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น กล่าวคือ ยังมีความเข้าใจผิดหลายประเด็นต่อผู้ป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วย ต้องการความช่วยเหลือ หรือแม้แต่คนที่รู้ตัวว่าป่วยก็ยังไม่อยากยอมรับ และไม่อยากเข้ารับการรักษา เพราะกลัวสายตาผู้คนในสังคม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพจิตนี้มีอยู่จริง และส่งผลกระทบต่อเยาวชนจริง อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในประชากรวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี ปัญหาสุขภาพจิตคิดเป็น 16% ของปัญหาสุขภาพทั้งหมด โดยกว่าครึ่งของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ไม่เคยได้รับการตรวจหรือบำบัด รักษา
ทั้งนี้พบว่าในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพจิตเป็นตัวการสร้างความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และการฆ่าตัวตายจัดเป็นสาเหตุลำดับ 3 ของการเสียชีวิตของประชากรวัย 15-19 ปี นอกจากนี้ จากจำนวนประชากรวัยรุ่นทั่วโลก ที่ 90% อาศัยในประเทศรายได้ขั้นกลางและขั้นต่ำ จำนวนการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นกว่า 90% เกิดในประเทศเหล่านี้
ข้อมูลจาก Mental Health Foundation (UK) ระบุว่า มีเด็กและวัยรุ่นราว 1 ใน 10 ที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิต โดย 70% ของเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหา ไม่ได้รับการตรวจหรือรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพกว่า ขณะที่ในยุโรป WHO ระบุว่ามีราว 8%-23% ของเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต และยุคโควิด-19 มีผลซ้ำเติมปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นให้เพิ่มมากขึ้น HealthDay News (มี.ค. 2564) เปิดเผยผลสำรวจผู้ปกครองเกือบ 1,000 คนที่มีลูกวัยรุ่นพบว่า เกือบครึ่งของผู้ปกครองสังเกตุว่าลูกตนมีสัญญาณความเครียดหรือสุขภาพจิตที่แย่ลง ส่วนหนึ่งเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากอยู่กับเพื่อน ชอบเข้าสังคม แต่โควิดจำกัดให้วัยรุ่นเจอเพื่อนได้น้อยลง
กองทุนเทใจเพื่ออนาคตประเทศไทย (TaeJai Future Generation Fund) เล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และควรได้รับการสนับสนุน
หากเราปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ลงมือกระตุ้นการแก้ไขเยียวยา อาจส่งผลอย่างร้ายแรงต่ออนาคตของประเทศได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับเยาวชนของชาติตั้งแต่วัยเด็ก ย่อมส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงแข็งแรงได้
เปิดกองทุนเทใจเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TaeJai Future Generation Fund เพื่อเป็นช่องทางการระดมเงินช่วยเหลือ สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขใน 4 ประเด็นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเยาวชนของชาติ
มอบเงินช่วยเหลือให้กับโครงการเพื่อสังคมที่เปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์เทใจดอมคอม ทั้งที่ดำเนินการโดยองค์กรและบุคคลทั่วไป ที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขหรือเยียวยาปัญหา 4 ประเด็นหลัก - ภาวะทุพโภชนาการในเด็ก - การศึกษา - การจ้างงานในกลุ่มเยาวชน - สุขภาพจิต
เจ้าของโครงการมีตัวตนจริง มีความโปร่งใสในการทำงาน โครงการมีแนวคิดในการตรวจวัดผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน
เทใจจะทำการตัดยอดเงินบริจาคที่เข้ามาใหม่ และสมทบทุนเข้าโครงการที่อยู่ในเงื่อนไข รวมถึงรายงานผลการจัดสรรผ่านหน้า "ความคืบหน้า" ของหน้าระดมทุนนี้
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
กองทุนเทใจเพื่ออนาคตประเทศไทย (TaeJai Future Generation Fund) | 1กองทุน | 4,000,000.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 4,000,000.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 400,000.00 |
เทใจดอทคอม เริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม เทใจเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และ สถาบัน ChangeFusion ร่วมกันสร้างพื้นที่กลางนี้ขึ้นมา เราอยากให้เทใจเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และให้สมาชิกของเทใจสามารถมีส่วนร่วมติดตามผลการดำเนินโครงการที่ตนบริจาคได้
ดูโปรไฟล์ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้