cover_1

ช่วยช้างตกงาน ในชุมชนปกาเกอะญอ

เงินบริจาคของคุณจะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงช้างให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง8ชุมชน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
28 ต.ค. 2565

อัปเดตโครงการสร้างรายได้ให้กลุ่มควาญช้างและเกษตรกร เพื่อผลิดตอาหารช้างใน 5 ชุมชน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

28 ต.ค. 2565 - 28 ต.ค. 2565

หลังจากเกิดวิกฤติจาก COVID-19 ปี 2563 การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ปางช้างขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว และปิดตัวลง ทำให้ครอบครัวควาญช้างและช้างต้องตกงาน คนไม่มีรายได้และช้างไม่มีอาหาร ควาญช้างและช้างต้องเดินเท้ากลับคืนสู่บ้านเกิด โดยมีช้างในพื้นที่ ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ต้องเดินทางกลับบ้าน 120 เชือก กระจายอยู่ใน 5 ชุมชน นอกจากช้างแล้วควาญช้างอย่างน้อย 150 คน และสมาชิกใน 90 ครอบครัว กว่า 320 คนต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 การเดินทางกลับสู่ชุมชนครั้งนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งตัวและเตรียมความพร้อม ทั้งคนและช้างต่างเดือดร้อน เนื่องจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ และพืชอาหารที่มีอยู่ในชุมชนไม่เพียงพอต่อการบริโภคของช้าง คนเลี้ยงช้างเองก็ไม่มีรายได้พอที่จะเดินทางและซื้อพืชอาหารช้างได้

ภายหลังจากที่ช้างกลับคืนถิ่น มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการระดมทุนจัดซื้ออาหารให้กับช้างในพื้นที่ ในขณะที่ชุมชนทั้ง 5 ชุมชนได้ปรึกษาหารือเพื่อร่วมกำหนดทางแก้ไขปัญหาคนกับช้าง ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้างและควาญช้าง และปัญหาผลกระทบของชุมชนที่เกิดขึ้นเมือช้างจำนวนมากกลับคืนสู่ชุมชน มูลนิธิรักษ์ไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายฝ่ายปกครองอำเภอแม่แจ่ม และองค์กรภาคเอกชน ร่วมกันจัดประชุมหารือและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนการตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง กลุ่มกิจกรรมอาชีพเช่น กลุ่มสตรีผลิตข้าวซ้อมมือที่แบ่งรายได้เพื่อเลี้ยงช้าง กลุ่มโฮมสเตย์ศึกษาภูมิปัญหาปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) กับการเลี้ยงช้าง เพื่อให้เกิดการระดมทุนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับควาญช้าง ช้าง และชุมชน

กิจกรรมภายใต้งบประมาณจากการระดมทุนจาก เทใจ เพื่อต่อยอดแนวทางการแก้ไขปัญหาของควานช้าง ช้างและชุมชน มูลนิธิรักษ์ไทย ได้ดำเนินกิจกรรมดังนี้

1. จัดประชุมกับคณะกรรมการกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ณ บ้านห้วยผักกูด ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือควาญช้าง ช้าง และแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรป่าไม้ ที่ควาญช้างปล่อยให้ช้างเข้าไปหากิน โดยมีแนวทางการจัดการคือ

  1. การส่งเสริมการปลูกพืชอาหารช้าง โดยสมาชิกในกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง แต่ละรายที่มีพื้นที่เกษตรกรรมที่ปกติปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจะแบ่งพื้นที่ปลูกพืชอาหารช้าง เช่น กล้วย หญ้า และอ้อยเป็นต้น
  2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยในชุมชนมีกลุ่มโฮมสเตย์ของผู้เลี้ยงช้าง พร้อมขายกาแฟซึ่งเป็นผลผลิตการเกษตรในชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยว
  3. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตช้าง คนเลี้ยงช้างและวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง
  4. ประสาน องค์การบริหารส่วนตำบลและมูลนิธิรักษ์ไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำกลุ่มปุ๋ยหมักจากมูลช้าง

2. กิจกรรมวันช้างคืนถิ่น ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ณ บ้านห้วยผักกูด ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระตุ้นการการท่องเที่ยว และระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มช้าง ควาญช้างในระยะยาว ในกิจกรรมครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เข้าร่วม 10 หน่วยงาน 5 ชุมชน มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 400 คน ในการจัดกิจกรรมช้างคืนถิ่น ได้มีการเสวนาถึงการท่องเที่ยวในชุมชนหลังโควิด โดยทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมมองว่าจุดเด่นของชุมชนคนเลี้ยงช้างบ้านห้วยผักกูด คือ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง ให้ช้างกลับมาอยู่ในพื้นที่ทั้งคนและช้างไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น ควาญช้างได้อยู่กับครอบครัวและสร้างพื้นที่อาหารให้กับคนและช้าง โดยการเพิ่มแปลงอาหารให้กับคนและช้างโดยการปลูกหญ้าอาหารช้าง ต้นกล้วย มะละกอ อ้อยฯ เพื่อลดการค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้ออาหารในช่วงหน้าแล้ง ประเด็นสุดท้าย การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้นและกระจายไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

 

ความประทับใจจากตัวแทนชุมชน


นายสาธิต ตาชูความดี 
อยากขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้บริจาคทุกๆท่านที่ช่วยเหลือช้างในพื้นที่แม่แจ่ม ความประทับใจที่เกิดขึ้นคือ ผมและชุมชนมองว่าวิกฤตโควิดก็เป็นโอกาสที่ทำให้ชุมชนมองเห็นปัญหา มองเห็นหน่วยงานที่มาช่วยเหลือ และเห็นว่าชุมชนเราเองก็มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นที่ท่องเที่ยวได้ ไม่จำเป็นจะต้องออกไปรับจ้างข้างนอกชุมชนทั้งหมด ที่สำคัญคือมองเห็นการช่วยเหลือกัน ทั้งคนในและนอกชุมชนรวมถึงหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ที่ร่วมช่วยเหลือไม่ขาดสาย ตลอดระยะเวลาที่เกิดการระบาดของโรค ชุมชนห้วยผักกูดเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องของวิถีคนเลี้ยงช้าง และที่พักโฮมสะเตย์ การท่องเที่ยวกับช้าง ทุกวันนี้ชุมชนเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาพักทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น


นายดวงจันทร์ ธรรมชาติมณี
 ทุกวันนี้ผมมีแปลงหญ้าให้ช้าง สามารตัดได้ตลอดทั้งปี แปลงนี้มีอาหารให้คนในครอบครัวได้กินด้วย เช่น กล้วย อ้อย ผลไม้ และผักอื่นที่มีในแปลง ผมและครอบครัวไม่ต้องออกไปตัดหญ้าที่อื่นแล้ว ช้างที่มีอยู่ทุกวันนี้ คนในครอบครัวได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องออกไปรับจ้างภายนอก ครอบครัวมีความสุขกับการเลี้ยงช้างในชุมชน ผมอยากขอบคุณมูลนิธิรักษ์ไทยที่เข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่เกิดโควิด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังช่วยทุกวัน


น.ส.ศรีทอง แซ่ตั้ง 
ตอนนี้บ้านนากลางช้างทุกเชือกได้กลับไปทำงานในปางช้างแล้ว ประทับใจและดีใจมากตอนที่เกิดโรคระบาด ช้างตกงาน คนและช้างไม่มีรายได้ ได้มีคนเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่ให้เงินซื้อหญ้าให้ช้าง ให้แนวคิดในการปรับตัวช่วงช้างกลับบ้าน ให้เงินทุนในการปลูกหญ้า ทุกวันนี้ช้างได้มีหญ้ากิน ไม่ต้องออกไปหาไกล อีกความประทับใจคือ ช่วงที่ช้างไม่มีงานทำ กลุ่มผู้หญิงได้รวมกลุ่ม ทอผ้าขาย เช่นผ้าพันคอ ย่ามย้อมสีขี้ช้าง ทำให้ได้ขาย มีรายได้มาช่วยเหลือครอบครัวในช่วงที่ทุกๆคนไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ