โรงพยาบาลต้องใช้มาตรฐานการรักษากับผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม นั่นคือ คำมั่นที่โรงพยาบาลอุ้มผางที่ปฏิบัติต่อประชากร 67,687 คน
ทุกวันนี้โรงพยาบาลอุ้มผาง รักษาคน 5 กลุ่มคือ 1.สิทธิบัตรทอง 25,099 คน 2.ประกันสังคม 1,542 คน 3.ข้าราชการ 1,312 คน 4.บุคคลที่มีปัญหาสถานะฯ 5,352 คน และ 5.ไม่มีหลักประกันสุขภาพ 34,382 คน ตกค่าใช้จ่าย 10-12 ล้านบาท
แต่ทราบหรือไม่ว่า... บุคคลที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพสามหมื่นกว่าคน ทางโรงพยาบาลไม่สามารถเบิกค่ารักษากับกองทุนใดๆ ด้วยเหตุที่ว่า พวกเขาเป็นชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ บ้างเป็นประชาชนในหมู่บ้านชายขอบ หรือบางคนจากประเทศพม่าที่เป็นแรงงานทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย
วันนี้โรงพยาบาลอุ้มผางจึงมีสภาวะขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงต้นปีเป็นช่วงที่สภาวะอากาศหนาวเย็นมาก คนไข้ที่เข้ารับการรักษาตัวส่วนมากมาด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัวพวกโรคหอบหืด จำเป็นต้องใช้ยาพ่นเพื่อรักษาตัวเป็นจำนวนมาก มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางจึงร่วมมือกับเทใจดอทคอมเพื่อระดมทุนในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาเฉพาะหน้าก่อน
เรื่องเล่าเรื่องยา เป็นเหมือนนิยายที่ไม่รู้จับ (Never Ending Story) ตราบเท่าที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนชายแดนยังคงมีอยู่ และการกระจายงบประมาณยังคงใช้หลักความเป็นธรรมเชิงคณิตศาสตร์ตามรายหัวประชากรซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นจริงในพื้นที่อุ้มผางที่ยังมีประชากรเกินครึ่งเป็นผู้ไร้สถานะและไม่อาจได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพใด ๆ
ทั้งนี้เราหวังว่า สิ่งที่เราจะทำได้ในอนาคตนอกจากเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับความเท่าเทียมกันแล้ว เราจะพยายามหาแนวร่วมใจดี เช่น บริษัทที่ขายยาในการปันน้ำใจให้แก่ปู้เจ็บป่วยที่ไม่อาจเข้าถึงยาต่อไป
ตัวอย่างเคสผู้ป่วยที่ไม่มีกองทุนใด ๆ ช่วยเหลือ
นางชิชะพอ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) อายุ 48 ปี เป็นบุคคลอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจัดทำเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เกิดที่บ้านกะลิคี ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางด่านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ตอนอายุ 17 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านสามัคคี ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง
ชิชะพอเริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อปี 2552 ด้วยอาการซีด เข้ารับการเจาะเลือด แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค anemia จึงรับยาและเจาะเลือดซ้ำเรื่อยมา ต่อมาปี 2553 แพทย์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้าย อายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้ความเห็นว่าควรได้รับการฟอกล้างไตเพื่อขับของเสียออก แต่นางชิชะพอไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ แพทย์จึงทำได้เพียงให้การรักษาทางยาเท่านั้น แต่อากาารไม่ทุเลา แพทย์ตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางประจำหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลแม่สอด และได้ทำการเจาะหน้าท้องเพื่อทำการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ “ชิชะพอ” ถูกเจาะเส้นเลือดบริเวณต้นคอเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ซึ่งต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง
สถานะทางการเงิน : โรงพยาบาลอุ้มผางต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง