cover_1

กองทุนเทใจช่วยเยาวชนและกลุ่มผู้หญิงฟื้นฟูทักษะอาชีพแก้วิกฤติเศรษฐกิจในชุมชน พื้นที่จังหวัดยะลา และสุรินทร์

เงินบริจาคของคุณจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้พัฒนาทักษะ และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มผู้หญิงในแต่ละหมู่บ้าน50ครอบครัว

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
3 ก.พ. 2566

อัปเดตโครงการฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้ากลุ่มผู้หญิง ในจังหวัดสุรินทร์ 20 คน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

3 ก.พ. 2566 - 3 ก.พ. 2566

มูลนิธิขวัญชุมชน พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จัด 3 กิจกรรม ต่อไปนี้

1. กิจกรรมการฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้า ในกลุ่มผู้หญิง ผู้สูงอายุ และวัยแรงงานในชุมชน ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ช่วงระหว่างวันที่ 9-10 กรกฏาคม พ.ศ. 2565 สถานที่ ศาลาวัดบ้านพันษี และ กลุ่มทอผ้าบ้านจันทร์แสง จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 20 คน

- การฟื้นฟูทักษะอาชีพทอผ้าไหมในชุมชนประกอบด้วย การเรียนรู้ร่วมกันในการนำพืชไม้ให้สี และสีธรรมชาติ ประกอบด้วย ครั่ง(สีแดง) คราม(สีน้ำเงิน) เข(สีเหลืองสด) ใบมะม่วงและใบยูคา(สีเหลืองอมน้ำตาล) , ดอกจาน (สีเหลืองทอง) , คำเงาะ (สีส้มสด) , มะเกลือ (สีดำ – น้ำตาล) เป็นวงแลกเปลี่ยนทักษะการปรับปรุงสีเพื่อให้ได้ใกล้เคียงมาตราฐานและมีเป้าหมายสำหรับการค้าขายสินค้าของชุมชน , การพัฒนาลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ และการตลาด (ผลิตผ้าให้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ) โดยในด้านการตลาดเราได้ผลิตสินค้าผ้าไหมทอมือชุมชนขายผ่านเพจ Khwan Silk Crafts

- การลงพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามผลการผลิตตามกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการลงติดตามเยี่ยมสมาชิกช่างทอที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และ วัยแรงงาน ที่มีภาระในการเลี้ยงดูเด็กเล็กวัยเรียนในชุมชน พื้นที่บ้านจันทร์แสง บ้านพม่า บ้านพันษี ตำบลจารพัต จำนวน ช่างทอผ้า 12 คน /ครัวเรือน และ บ้านปะนอย ตำบลหนองเหล็ก จำนวน 3 คน/ครัวเรือน รวมจำนวน 15 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

 

2. การเสริมความเข้มแข็งให้กับกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการจัดการ และเกิดเงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิกเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

- เงินทุนสนับสนุนของกองทุนเทใจ ไปช่วยให้ทีมมูลนิธิขวัญชุมชนสามารถขับเคลื่อนงานสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนให้กับช่างทอที่ขาดโอกาสและต้องการทุนในการตั้งต้นหรือต่อยอดกิจการในกระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือด้วยกี่ไม้โบราณและกี่กระตุก โดยกองทุนนี้ได้มีการจัดตั้งชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์ผ้าไหมสร้างสรรค์” ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 26 หมู่ที่ 5 บ้านพันษี ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

- ประโยชน์ตรงกับสมาชิกประกอบด้วย ผู้หญิงทอผ้าที่มีภาระในการเลี้ยงดูบุตรหลาน และผู้หญิงทอผ้าสูงอายุที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากมีความยากจน และ ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หรือมีความเร่งด่วนในการใช้เงินดำรงชีวิตประจำวัน ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสถาบันการเงินเพราะกลุ่มผู้หญิงทอผ้าส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำเป็นเรื่องยากมากเพราะไม่มีหลักทรัพย์คำประกัน การจัดตั้งรวมกลุ่มออมเพื่อการผลิตผ้าไหมนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายามวิกฤติ เช่น เป็นเงินทุนในการจัดซื้อเส้นไหมที่มีคุณภาพ ค่าเดินทางมาเรียนในเมืองของลูกหลาน ค่าเทอม (การศึกษาบุตรหลาน) ค่าปุ๋ย (ช่วงฤดูกาลในการทำนาผลิตข้าว) และ ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยฯลฯ ปัจจุบันเราช่วยเหลือผู้หญิงทอผ้าที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วทั้งหมด 54 ครั้ง รวมเป็นเงินหมุนเวียนในกลุ่มออมทรัพย์เป็น ยอดเงินหมุนเวียนจำนวน 77,751.26 บาท (ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565) ปัจจุบันกลุ่มออมฯ มีจำนวนสมาชิกเป็นกุล่มผู้หญิงทอผ้า, ผู้สูงอายุทอผ้า และเยาวชนตกงานในชุมชนรวมจำนวน 45 คน

 

3. การจัดทำแปลงเพาะกล้าไม้และปลูกพรรณไม้ให้สีเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการอบรมมาตราฐานการย้อมสีธรรมชาติในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เราได้แจกเมล็ดพันธ์ครามเพื่อให้สมาชิกนำส่งปลูกรอบบ้านและในพื้นที่ว่างแปลงนาของครัวเรือนช่างทอ โดยเริ่มที่กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านจันทร์แสง หมู่ที่ 17 ตำบลจารพัต อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านแห่งนี้มีสมาชิกจำนวน 12 คน แต่การทำงานเพิ่มจำนวนไม้ให้สีประสบปัญหาน้ำท่วมแปลงนาในฤดูฝนในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนทอผ้าอย่างมากเพราะนอกจากน้ำจะท่วมแปลงครามแล้วยังท่วมขังแปลงปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวไรซ์เบอร์รี่อีกด้วย

 

ความประทับใจจากผู้หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรม


นางสาวเผือด ผนึกทอง ช่างทอผ้าสูงอายุอายุ 71 ปี บ้านจันทร์แสง หมู่ 17 ตำบลจารพัต เป็นผู้สูงอายุที่รับเลี้ยงหลานวัยรุ่นจำนวน 2 คนอายุ 12 และ 15 ปี หลานกำลังเรียนหนังสือ
แม่เผือด “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ตอนรับเงินที่ขายผ้าได้ยายดีใจจนนอนไม่หลับเลย น่าจะมีโครงการดีๆแบบนี้ตั้งแต่ตอนที่ยายเป็นสาว และการมาร่วมเรียนย้อมผ้าเราได้รู้จักช่างทอด้วยกันและคุยแลกเปลี่ยนวิธีการย้อมผ้าจะนำกับไปปรับปรุงการทอผ้าตนเองได้”

 


นางสายใจ คงทน เดิมไม่เคยทอผ้า รับจ้างทั่วไป เราอุดหนุนเส้นเครือยืนจำนวน 100 เมตรเพื่อให้ได้มีอาชีพทอผ้าเป็นรายได้เสริมและเป็นทุนเริ่มต้นในการทำอาชีพทอผ้า
“ตนเองเจ็บป่วยจากโควิค และป่วยด้วยโรคชิกุนกุนย่า ปวดตามเนื้อตัว ตอนช่วงโควิคลำบากมากเพราะต้องกักตัวครั้งละ 14 วันถึง 2 ครั้ง ไม่มีเงินและมีของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น รู้สึกดีใจมาก ทอผ้าได้มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน"

 


นางสาวปักษา มีทรัพย์ เดิมทำงานอยู่โรงงานทอผ้า อพยพย้ายกลับบ้านช่วงโรคระบาดโควิค – 19 และได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ น้าปักษาดูแลหลาน 2 คน ช่วงวัยประถม และกำลังจะต้องดูแลหลานน้อยวัย 2 เดือนอีก 1 คนเพราะพ่อแม่ของเด็กไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ “รู้สึกดีใจที่ได้มาทอผ้าอยู่ที่บ้าน เราได้มีงานทำและมีรายได้ อย่างน้อยก็ได้อยู่ที่บ้าน ได้ดูแลหลานๆที่พ่อแม่เขามาฝากไว้ให้เลี้ยง ทุกวันนี้มีความสุขกับงานที่ทำและคิดว่ามันดีกว่าตอนที่อยู่โรงงานน่ะ” ปัจจุบันน้าปักษาเป็นช่างทอที่ฝีมือดีมากคนหนึ่งของหมู่บ้าน

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ จำนวน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผู้หญิงทอผ้าที่ขาดโอกาสในตำบลจารพัตจำนวน 5 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่บ้านพันษี หมู่บ้านจันทร์แสง บ้านสะดอ บ้านโสภาเปรียง บ้านพม่า และตำบลหนองเหล็ก หมู่บ้านปะนอย บ้านลำหอก  จำนวน 45 คน/ครัวเรือน
ผู้ได้รับประโยชน์ในครัวเรือนๆละ 3 คน รวมจำนวน 135 คน (เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง)

กลุ่มผู้หญิงทอผ้า แรงงานสมทบที่อยู่ในสายพานการผลิตผ้าไหม เช่นผู้สูงอายุ มีทักษะความชำนาญในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับครัวเรือน และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังลูกหลานของช่างทอผ้าในเรื่องการศึกษา เพราะรายได้จากการทอผ้าของครัวเรือนนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน ค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าเทอมของบุตรหลาน
3 ก.พ. 2566

อัปเดตโครงการฝึกทักษะการนวดช่วยเยาวชนและกลุ่มผู้หญิง จังหวัดยะลา เพื่อสร้างอาชีพ 52 คน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

3 ก.พ. 2566 - 3 ก.พ. 2566

กลุ่มลูกเหรียงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมฝึกทักษะการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่สนใจและนิยมศึกษากันอย่างมาก การนวดเป็นวิธีที่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด สามารถทำได้ด้วยตัวเองและสามารถช่วยผู้อื่นได้ ผู้เรียนสามารถนำความรู้และวิธีการปฏิบัติไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังสามารถทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมการรักษาแบบแพทย์แผนไทย เพื่อให้ยังคงอยู่ควบคู่กับวัฒนธรรมไทยได้อีกด้วย

วัน เวลา สถานที่ : 8 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมแม่ชม บ้านลูกเหรียง จังหวัดยะลา

ผู้เข้าร่วม จำนวน : 52 คน

ผู้ได้รับประโยชน์ : ผู้ที่อาจจะได้รับความรู้การนวด คนในชุมชน และเครือญาติ 80 คน

สิ่งที่ได้รับผล/เกิดการเปลี่ยนแปลง

  1. ผู้รับการอบรม มี คุณธรรม ศีลธรรม และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
  2. ผู้รับการอบรม มีความรู้และทักษะในการนวดแผนไทย
  3. นอกจากทักษะการนวดแล้ว ผู้รับการอบรมมีทักษะขั้นฐานต่างๆ
    (1) ทักษะการแก้ปัญหา
    (2) ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
    (3) ทักษะการตระหนักรู้ในตน
    (4) ทักษะการจัดการกับอารมณ์
    (5)ทักษะการจัดการกับความเครียด

 

ความประทับใจจากผู้ได้รับการอบรมการนวด


พี่ปัทมา (นามสมมติ)
พี่ปัทบอกว่าตนมีลูก 4 คน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงลูกลำพังคนเดี่ยวมา 6 ปี ช่วงโควิด เป็นช่วงที่โจทย์ชีวิตยากมากๆ ร้านอาหารที่มาเลเซียถูกสั่งปิด ทำให้ต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน และเปิดร้านข้าวแกงเป็นแผงเล็กๆหน้าบ้าน แต่ก็ขายไม่ได้ทำให้ขาดรายได้ ลูกๆต้องเรียนออนไลน์จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ทำให้ต้องไปหยิบยืมเงินเพื่อนบ้านและญาติๆ เพื่อให้ลูกได้มีโทรศัพท์ไว้เรียนออนไลน์ ติดหนี้รวม 12,000 บาท หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกนวดทำให้ตนมีทักษะในด้านนี้ ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ร้านนวดในเมืองยะลาจนถึงปัจจุบัน สามามรถผ่อนจ่ายและปิดหนี้ได้ภายใน 4 เดือน ทุกวันนี้มีเพื่อนบ้านจ้างนวดพิเศษตอนเย็นที่บ้าน ทำให้พอมีเงินจ่ายกับข้าวในวันรุ่งขึ้น พี่ปัทเล่าว่า ตอนนี้กำลังเก็บเงินเผื่อดาวน์รถมอเตอร์ไซส์ เนื่องก่อนหน้านี้ได้ขายทำทุนขายข้าวแกงแต่ก็จมทุน พี่ปัทขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการ ที่ได้มอบโอกาสได้เรียนรู้ในการฝึกทักษะการนวดในครั้งนี้


พี่ตี (นามสมมติ)
เป็นสาวโสดที่ต้องดูแลพ่อพิการและแม่ ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง เมื่อก่อนพี่ตี ทำงานที่โรงงานไม้ยางพาราแถวบ้าน ช่วงโควิดที่ผ่านมาโรงถูกปิดทำให้พี่พรตกงาน ระหว่างนี้พี่ตีได้ซื้อขนมปี๊บมาแบ่งใส่ถุงเพื่อวางขายที่ร้านค้าในหมู่บ้านซึ่งรายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายมากว่ารายรับ ลำพังเบี้ยผู้พิการและผู้สูงอายุก็ยังไม่พอ จนพี่ตีได้มาเข้าร่วมโครงการ ได้ฝึกทักษะการนวดทำให้พี่ตีได้รับงานนวดที่บ้าน ตกวันละ 2-3 คน พอมีรายได้ดูแลครอบครัว และได้อยู่ไลก้ชิดดูแลพ่อกับแม่ที่บ้าน ปัจจุบันพี่ตีมีลูกค้าประจำหลายคน ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดลูกค้ามีโทรมาจองคิวล่วงหน้ากันหลายคน พี่ตีพูดทั้งน้ำตาขอบคุณทางโครงการที่มอบโอกาส ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้มีรายได้สามารถดูแลครอบครัวได้


น้องดา (นามสมมติ)
เด็กสาวที่เพิ่งจบม.6 ในปีที่ผ่านมา น้องดามีพี่น้อง 5 คน ดาเป็นคนกลางพี่ๆต่างมีครอบครัวและได้แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น พ่อแม่น้องดาเช่าแผงขายผักในตลาดเนื่องด้วยแม่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทำให้ต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แม่สุขภาพไม่ค่อยดีหน้ามืดล้มในตลาดทำให้ต้องหยุดงานเกือบ 1 ดือน ครอบครัวขาดรายได้ น้อง2คนยังเล็กและต้องเรียนหนังสือ น้องดาจำเป็นต้องหยุดเรียนและหางานทำ ครั้งแรกได้เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารและพนักงานหลังร้านที่แห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา ทำได้ประมาณ3เดือนก็ออกมาเข้าร่วมโครงการกับทางกลุ่มลูกเหรียง น้องดาบอกว่า เป็นทักษะที่ไม่ค่อยเปิดสอนหรือถ้ามีก็ต้องเสียเงินไปเรียน น้องดาไม่ลังเลในการตัดสินใจรับคว้าโอกาสในการเรียนรู้ครั้งนี้ ปัจจุบันน้องดาได้เข้าทำงานที่ร้านนวดใกล้บ้าน มีลูกค้าประจำหลายคน เนื่องจากเป็นเด็กเรียบร้อยตั้งใจทำงาน น้องดาและครอบครัวขอขอบคุณทางโครงการที่ได้หยิบยื่นโอกาสดีๆให้เด็กชายแดนใต้ มีทักษะการนวดสามารถต่อยอดและพัฒนาตนเองได้ในอนาคต อีกทั้งยังมีรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลกระทบจากทำกิจกรรม

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ จำนวน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เยาวชนหญิง ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา มีข้อจำกัดด้านการประกอบอาชีพ 14 คน 1.สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้
2.ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว
3.ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้ มีทัศนคติเชิงบวกในการประกอบอาชีพที่สุจริต
4.มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง รักการเรียนรู้ และสามารถพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
คนเปราะบางบุคคลที่อยู่ที่ภาวะยากลำบาก เช่น ด้านการประกอบอาชีพ แม่เลี้ยงเดี่ยว หญิงหม้าย ผู้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เป็นต้น  23 คน 1.ผู้ที่ผ่านการอบรมมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้
2.มีโอกาสทางสังคมมากขึ้น
3.รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในครอบครัวและในชุมชนได้
ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่รับรู้การสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ค เพจ เป็นต้น 15 คน 1.มีอาชีพเสริมและช่วยเหลือผู้ว่างงานให้มีความรู้และมีทักษะการนวดได้
2.สามารถต่อยอดกับงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ได้
3.เป็นแนวทางในการตัดสินใจ เพื่อประกอบอาชีพ