เงินบริจาคของคุณจะนำไปเลี้ยงอาหารกลางวันในวันหยุดสุดสัปดาห์ให้กับเด็กในชุมชนแออัด 3 ชุมชน ที่มาร่วมกิจกรรมกับ มูลนิธิ ซ.โซ่ อาสา80คน
โครงการอาหารกลางวัน “อิ่มนี้พี่ให้น้อง” เป็นหนึ่งในโครงการหลักของมูลนิธิ ซ.โซ่อาสา ที่จัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางกว่า 80 คน ในพื้นที่กิจกรรมของมูลนิธิ เช่น ชุมชนหัวรถจักร ตึกแดง บางซื่อ, ย่านตรอกสาเก และใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ของเด็ก กระตุ้นการเรียนรู้ ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และส่งเสริมให้เด็กมาเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน 2569)
นอกจากนี้ โครงการยังส่งเสริมการสร้างรายได้ในชุมชนผ่านความร่วมมือกับร้านค้าในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในระยะยาว
มูลนิธิ ซ.โซ่อาสา เริ่มต้นจากความตั้งใจของ ครูปู่ ธีระรัตน์ ชูอำนาจ ผู้ทุ่มเทสอนหนังสือให้เด็กด้อยโอกาสในชุมชนแออัดกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2537 และรวมกลุ่มอาสาสมัครเป็น “ซ.โซ่อาสา” ในปี 2542 เพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กยากจน และครอบครัวเปราะบาง
หลังจากทำงานอาสามาอย่างต่อเนื่อง ครูปู่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน จึงเริ่มเตรียมการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ โดยรวมครูอาสาที่มีอุดมการณ์เดียวกันเป็นคณะกรรมการ และวางแนวทางการทำงานตามหลักธรรมาภิบาล กระทั่งครูปู่เสียชีวิตในวันที่ 9 มีนาคม 2564 กลุ่ม ซ.โฟซ่อาสาจึงร่วมกันผลักดันให้การจดทะเบียนสำเร็จ และได้รับสถานะเป็น มูลนิธิ ซ.โซ่อาสา อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 เมษายน 2565 เลขทะเบียน นบ. 354
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
"โครงการอาหารกลางวันอิ่มนี้พี่ให้น้อง"
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในกลุ่มเด็กยากจนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับ มูลนิธิ ซ.โซ่อาสา ในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะในพื้นที่ ชุมชนหัวรถจักร ตึกแดง บางซื่อ และ ย่านตรอกสาเก ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ซึ่งเด็กจำนวนมากมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถจัดหาอาหารที่มีคุณภาพให้บุตรหลานได้อย่างเพียงพอ ข้อมูลจากยูนิเซฟระบุว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี 1 ใน 10 คน กำลังเผชิญภาวะความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง โดยได้รับอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย สมอง และอารมณ์
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ มูลนิธิได้จัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการให้กับเด็กกว่า 80 คน ทุกสุดสัปดาห์ โดยใช้งบประมาณ 4,800 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 249,600 บาทต่อปี (52 สัปดาห์) โครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้เด็ก “อิ่มท้อง” แต่ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และกระตุ้นให้เด็กมาเรียนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยภาระค่าใช้จ่ายประจำของมูลนิธิในด้านครุภัณฑ์และอุปกรณ์ โครงการอาหารกลางวันนี้จึงยังต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โครงการนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ประมาณ 30–40 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญสำหรับครอบครัวรายได้น้อย
การมีอาหารกลางวันคุณภาพยังช่วยให้เด็กมีแรงเรียน ไม่ขาดเรียน และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
การได้รับเงินสนับสนุนนี้ จะทำให้มูลนิธิวางแผนการจัดอาหารให้กับเด็กๆ ได้อย่างต่อเนื่อง มีการประเมินเมนูและปรับปรุงตามฤดูกาลและงบประมาณ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน
ร่วมมือกับร้านค้าในพื้นที่เพื่อต่อรองราคาวัตถุดิบ และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น เชิญชวนผู้ปกครองและชาวบ้านมาเป็น “ผู้ช่วยครัวอาสา” แบบหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดต้นทุน และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในชุมชน
วางแผนเมนูอาหารกลางวัน (รายสัปดาห์) - จัดทำเมนูหมุนเวียน 4 สัปดาห์ ใช้แนวคิด “อิ่ม อร่อย มีสารอาหารครบ 5 หมู่”
จัดซื้อวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ - ทำสัญญากับร้านค้าท้องถิ่นหรือซัพพลายเออร์ประจำ ลดต้นทุนด้วยการซื้อจำนวนมาก (เช่น เหมารายเดือน)
เตรียมและจัดเสิร์ฟอาหาร - ใช้ทีมงานอาสาหรือพนักงานครัวประจำจัดเตรียม - มีระบบเช็กจำนวนนักเรียนที่มาเรียนเพื่อปรับปริมาณอาหารในแต่ละวัน
เก็บข้อมูลและรายงานผล - บันทึกข้อมูลการใช้จ่ายประจำวัน (บัญชีรายรับ-รายจ่าย) - ถ่ายภาพกิจกรรมการแจกจ่ายอาหาร เพื่อใช้รายงานผลกับผู้สนับสนุน - รวบรวม feedback จากเด็ก ครู และผู้ปกครองทุกสิ้นเดือน
ประชาสัมพันธ์และเพิ่มผู้สนับสนุน - ทำโพสต์และสรุปรายงาน “วันนี้น้องๆ กินอะไร” สัปดาห์ละครั้ง - สื่อสารผ่าน Facebook และ LINE ของมูลนิธิ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือเพิ่มเติม - ออกแบบโปสเตอร์หรือคลิปสั้นเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการ เพื่อขยายฐานผู้บริจาค
รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|
ค่าอาหารกลางวันสำหรับ 6 เดือน (26 สัปดาห์) 60 บาท ต่อคน | 80คน | 124,800.00 |
รวมเป็นเงินทั้งหมด | 124,800.00 | |
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%) | 12,480.00 |
มูลนิธิ ซ.โซ่อาสา ก่อตั้งขึ้นโดย นายธีระรัตน์ ชูอำนาจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ครูปู่ ซ.โซ่อาสา ครูเกษียณผู้มุ่งหวังในการสร้างสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการทำงานอาสาสมัคร สอนหนังสือเด็กในกลุ่มเปราะบาง ชุมชนแออัดย่านสนามหลวง มาตั้งแต่ปี 2537 ในปลายปี 2542 ครูปู่ได้เข้าอบรมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์เด็กเร่ร่อน ของกรุงเทพมหานคร ด้วยเจตนารมณ์อยากมีส่วนรับผิดชอบสังคม เมื่อการอบรมสิ้นสุดลงครูปู่ได้ชักชวนเพื่อนอาสาสมัคร ประกอบด้วยครูมุ้ย และครูน้องร่วมกันเริ่มต้นทำงานครูอาสาในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครภายใต้ชื่อกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการทำงานคือ ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กในชุมชนแออัด เด็กในกลุ่มเปราะบางที่ครอบครัวฐานะยากจน ขาดโอกาส มีความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตที่สุ่มเสี่ยง ยาวนานกว่า 20 ปี ผลจากการทำงานอาสาทำให้ครูปู่ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ได้แก่ รางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2556 ประเภทนักสงเคราะห์วิชาชีพ จากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และรางวัลเพชรกนก และกนกนาคราช ที่มอบให้บุคคลหรือองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม จัดโดยสมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียงในปี 2561 หลังจากการทำงานอาสามาอย่างยาวนาน มีครูอาสาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยงานอาสาสมัครมากมาย ครูปู่เห็นว่า การทำให้กลุ่ม ซ.โซ่อาสา เกิดความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงเตรียมการสำหรับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ กลุ่ม ซ.โซ่อาสาใช้เวลาเตรียมการอยู่หลายปี เพื่อให้มีคณะกรรมการซึ่งมาจากครูอาสาที่ทำงานในกลุ่ม ซ.โซ่อาสามาอย่างยาวนาน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสานต่อเจตนารมณ์ และการรวบรวมทุนทรัพย์ในการจัดตั้งกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ให้เป็นมูลนิธิ ที่ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบสังคม เป็นองค์กรที่ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่แสวงหากำไร จนกระทั่งครูปู่ล้มป่วย และเสียชีวิตในวันที่ 9 มีนาคม 2564 กระทั่งกลุ่ม ซ.โซ่อาสาได้จดทะเบียนมูลนิธิสำเร็จ และได้ประกาศให้มีสถานะเป็นมูลนิธิ ซ.โซ่อาสา ในวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยมีทะเบียนมูลนิธิเลขที่ นบ. 354 โดยมีวัตถุประสงค์คือ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กในกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสในสังคม ด้วยการจัดหาทุนการศึกษา จัดค่ายสัญจร เพื่อแบ่งปันโอกาสให้เด็กในชนบท และเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนด้านงานอาสาสมัครให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
ดูโปรไฟล์ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้
สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้