cover_1

“สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง” เพื่อพลิกชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง (ฉบับปรับปรุงใหม่ 2565)

ผู้ป่วย ผู้พิการ

เงินบริจาคของคุณจะถูกนำไปเป็นค่าจัดพิมพ์สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง2,140คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
31 มี.ค. 2566

อัปเดตโครงการโครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง ฉบับปรับปรุง ปี 2565

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

31 มี.ค. 2566 - 31 มี.ค. 2566

ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์

สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งกับการเป็นเข็มทิศให้กับผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว

จากการที่ผู้ป่วยต้องเจอกับความสับสนจากข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาเยอะมาก และยากต่อการประมวลข้อมูล ซึ่งตัดสินใจได้ยากว่าข้อมูลใดจริงเท็จ ข้อมูลใดสามารถนำมาปฏิบัติตามได้ รวมทั้งควรจะตัดสินใจรับการรักษา และการดูแลตัวเองอย่างไร

การที่มีสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง เปรียบเสมือนการมีเข็มทิศชี้แนวทางในการดูแลรักษา และการดูแลให้แก่ตัวผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวซึ่งเป็นผู้ดูแล

“ อันดับแรกเลยที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนกังวลคืออาหาร ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด การกิน กินอะไรได้ กินอะไรไม่ได้เพราะว่าอาหารมันคือชีวิตประจำวันของมัน พี่ก็เปิดดูเลยอาหารที่เรากินได้ อาหารที่กินไม่ได้ ตอนแรกก็ยังงง อย่างเช่นพวกอาหารแปรรูป บางทีก็ไม่เข้าใจ เนื้อแดงก็ไม่รู้เนื้อแดงคืออะไร หมูกินได้ไหม ตอนนั้นที่มีเรื่องอบรม แล้วก็มีสอนใช้สมุดก็ได้เข้า ไปฟังเรื่องอาหารแล้วก็จะมีคุณหมอต่างๆที่ทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ของ Art for cancer พี่จะเข้าไปทุกอัน แล้วก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น ” (ผู้ป่วยคนที่ 4, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ การมีสมุดมันคือการแพลน แพลนเนอร์เลยว่าเขียนว่าเราจะต้องเริ่มจากอะไร อย่างเช่นของพี่นะ ให้คีโม พี่ก็จะไปถามคุณหมอว่าคีโมที่ให้เขาเรียกว่าสูตรอะไร ผลข้างเคียงคืออะไร พี่ก็จะมาจดไว้ ยาที่ได้พอ หลังจากพี่ได้คีโมมาแล้วพี่ต้องมากินอะไร ผลข้างเคียงที่พี่ต้องเจอต้องกินอะไรบ้าง กินเท่าไร ฉันต้องไป เจาะเลือดวันไหน อาหารที่เราจะต้องกินเข้าไปเพื่อเพิ่มเม็ดเลือดขาว และก็จะจดแพลน ” (ผู้ป่วยคนที่ 4, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ ในเรื่องของการบันทึกมันทำให้เรารู้แต่ละสเต็ปที่สำคัญ แล้วเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันเหมือนเป็นแผนที่ชีวิตให้เรา ไม่เคว้งคว้าง ” (ผู้ป่วยคนที่ 5, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ คนรู้จักที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์บางทีก็ให้ข้อมูลได้ไม่ตรงกัน พอเราจด นอกจากได้รักษาแล้วเนี่ยตัวเราก็จะเข้าใจและได้รู้จักกระบวนการรักษาที่เกิดขึ้น คือเราอยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าก่อนหน้านี้ พอคำว่าคีโมก็นึกถึงแต่ภาพอาการแพ้ แต่พอเรามาได้เรียนรู้ว่าคีโมเป็นยังไงเราก็คุยปรึกษากับคุณหมอ แล้วเราก็จดบันทึกมันก็จะเป็นอาการของเราที่ไม่ใช่มันฟุ้ง พอเขาบอกว่าแพ้ก็จะแพ้ตาม แต่อันนี้มันทำให้ เราอยู่กับปัจจุบัน เพราะเราจดสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงเป็นการวิจัยตัวเราเองจริงๆที่ไม่ได้ฟังชาวบ้านมา คิดว่ามันเป็นประโยชน์มาก ” (ผู้ป่วยคนที่ 2, 17 พฤศจิกายน 2565)

สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งกับการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยมะเร็งกับบุคคลรอบข้าง

การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยมะเร็งกับบุคคลรอบข้างนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลหรือระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งนั้นประสบกับทั้งปัญหาทางด้าน ร่างกาย และจิตใจที่มีความเครียดจากอาการของโรคมะเร็งที่เป็น

เมื่อมีบันทึกพิชิตมะเร็งเป็นสื่อกลางนั้นก็ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยมะเร็งและคนรอบข้างดีขึ้น ทำให้ผู้ดูแลเข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังคิดรู้สึกและมุ่งหวังได้มากขึ้น ซึ่งนั้นทำให้ผู้ดูแลเองก็ปรับตัวได้ถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการการดูแล

“ ตอนนั้นเราจากที่ไม่เคยมีสมุดตัวจดบันทึก คุณแม่ก็เหมือนจดสะเปะสะปะตามกระดาษบ้างล่ะ หรือติดหน้าตู้เย็นบ้างล่ะ หรือไม่ได้จดบ้างฝากบอกเราแต่เราก็ลืมค่ะ แล้วตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราจะหาวิธีช่วยให้ท่านได้จดจำได้ยังไง แล้วบังเอิญได้มาเจอในเพจของกลุ่มมะเร็ง ก็เลยได้รู้จักแล้วก็ส่งไปให้คุณแม่ค่ะ ท่านก็เลยบอกว่ามันดีมากๆดีตรงที่สามารถจดรายละเอียดได้หลากหลาย ” (ผู้ดูแลผู้ป่วยคนที่ 1, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ สำหรับของน้องชอบใช้สติ๊กเกอร์บอกความรู้สึกคือน้องก็จะแปะลงไป ก็คือน้องเขียนด้วย คุณแม่เขียนด้วย ก็คือจากเดิมเนี่ยเราไม่มีสมุดเนี่ยคือเราก็จะเขียน ของน้องก็จะมีเพจของน้อง น้องก็เขียนระบายลงในเพจหรือว่าเขียนเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ แต่ว่าเพจเนี่ยก็จะเลื่อนขึ้นเลื่อนลง มันก็จะไม่สามารถรวมเหตุการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ในแต่ละปี 5-6 ปีที่น้องเจอมา แล้วก็สมุดมันจะมีในเรื่องของความรู้สึก แล้วก็มีอย่างหนึ่งที่น้องเขียนไว้ก็คือ 10 สิ่งที่อยากทำ บางทีเราก็ไม่รู้ เขาเก็บของเขาบางทีเขาก็ไม่ได้ให้เราอ่าน แต่ว่าเราไปเจอเราก็ อันนี้ลูกเราอยากทำ เราก็มาเช็คว่าอันไหนบ้างที่เขาทำไปแล้วบ้าง บางทีบางอย่างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ” (ผู้ดูแลผู้ป่วยคนที่2, 17 พฤศจิกายน 2565)

ไม่เพียงแต่การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลเท่านั้น แต่สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งยังมีส่วนช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ราบรื่นขึ้นอีกด้วย เช่น ในการบันทึกอาการข้างเคียงหลังจากรับการรักษา

เมื่อถึงเวลานัดครั้งต่อไปการที่ผู้ป่วยสามารถแจ้งได้ว่าการรับการรักษาครั้งก่อนหน้ามีอาการหรืออาการข้างเคียงอย่างไรบ้างนั้น ช่วยให้การวางแผนการรักษาในขั้นต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ คิดว่าช่วยนะคะเพราะว่าถ้าเกิดคนได้เล่มนี้เห็นแล้วว่ามันจะมีว่าได้ยาอะไรแล้วมีอาการข้างเคียงอะไร แล้วให้บันทึก แล้วก็บางทีมันมีให้โน็ตในจุดที่ว่าเหมือนอยากจะถามอะไรคุณหมอ เวลาเจออาการสำหรับ Care Giver ถ้าเกิดว่าเจอปัญหาอะไรในคนไข้มันมีให้จด ก็จะแนะนำให้จดไว้เพราะว่ามันเจอปัญหาเวลา ดูแลคนไข้ เจอแต่พอมาหาคุณหมอลืมหมดอาการต่างๆ เออบางทีจดไว้นะ พอมาเจอคุณหมอเตรียมๆไว้ เลยว่าจะเปิดหน้าไหนให้คุณหมอดูแบบเนี้ยมันก็จะช่วยได้ บางทีได้ยาไปแล้ว side effect อะไรบ้างที่ เกิดขึ้นแบบนี้อ่ะค่ะ เพราะหมอเขาค่อนข้างเอาใจใส่และเข้าใจคนไข้ อยากรู้จริงๆว่าเกิดปัญหาอะไรบ้างในการรับยา ” (บุคลากรทางการแพทย์คนที่ 1, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ ก็ในส่วนของตัวเองนะคะที่เห็นรู้สึกว่าเล่มนี้มันมีประโยชน์กับคนไข้ที่แบบในเคสรายใหม่ ซึ่งเหมาะมาก ซึ่งมันรวมทุกอย่างเลยเท่าที่ดูมีตั้งแต่การจะปฏิบัติตัว การจะเตรียมตัวยังไงแล้วก็ตลอดจนกำลังใจ เพราะว่าบางทีในคนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอ่ะ บางทีเขายังอยู่ในระยะปฏิเสธอยู่ บางทีเขาก็ยังไม่ได้ยอมรับ การที่ใครจะไปคุยหรือไปให้ความรู้เขาก็ยังไม่รับ แต่หมอรักษาเขาก็รักษาไปแต่เขาก็ยังคิดว่าฉันยังไม่ใช่ๆ ” (บุคลากรทางการแพทย์คนที่ 2, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ ประโยชน์ที่ได้จากเราชัดๆเลยคือการบันทึก การทบทวน ซึ่งถ้าเราถามย้อนไปเหมือนคุณหมอนัด 1 เดือน หมอถามย้อนไปคนไข้บอกว่าปวด ปวดตรงไหนจำไม่ได้แล้ว อะไรที่ส่งผลต่อการปวดเขาจะจำไม่ได้ แต่ว่าจะมีประมาณ 2 รายนะคะที่เอาสมุดกลับมาให้เราดู ก็คือเขาจะปวดวันนี้ ซึ่งคุณหมอจะทำนายได้ พยากรณ์โรคได้ว่าคือมันน่าจะสาเหตุมาจากปวดแบบชนิดนี้เพื่อที่จะจัดการอาการรบกวนคนไข้ได้ค่ะ ” (บุคลากรทางการแพทย์คนที่ 3, 17 พฤศจิกายน 2565)

นอกจากนี้โดยทั่วไปเวลาอันจำกัดของการรักษาทำให้บุคลการทางการแพทย์ไม่สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้มากนัก โดยเฉพาะด้านความคิดความรู้สึกและสุขภาพทางใจ ที่ไม่ใช่ผลจากการรักษาอาการของโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามข้อความที่ถูกบันทึกในบันทึกพิชิตมะเร็งกลับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อความดังกล่าว และส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

“ เราจับทางไม่ถูก คือไม่ได้ดูแลยายตั้งแต่ต้นนะคะจะเป็นน้องอีกคนดูแล ทีนี้เราก็ได้เอาสมุดเล่มนี้ฝากพยาบาลเอาเข้าไปให้คุณหมอ เราก็เลยได้เข้าไปพบหมอพอคุณหมออ่านคุณหมอก็รู้สึกว่า คุณยายก็เหมือนแบบยังมีความผูกพันกับคุณหมอ คุณหมอก็เลยบอกว่างั้นส่งกลับไปโรงพยาบาลต้นสังกัด ก็คือคุณหมออีกคนหนึ่งที่เป็นทีมเดียวกันค่ะ เป็นระยะประคับประคองที่แบบคุณยายไม่ต้องกังวลนะ คุยกับคุณหมอเลยคุณหมอคนนี้เป็นคนที่เข้าใจ ก็ได้ส่งกลับไปที่โรพยาบาลต้นสังกัดค่ะ เป็นระยะประคับประคองใจค่ะ ทำให้มีกระบวนการต่อไปได้จากที่เขาไม่นัดแล้วค่ะ ” (ผู้ดูแลผู้ป่วยคนที่ 3, 17 พฤศจิกายน 2565)

สามารถดูวิดีโอกิจกรรมได้ที่ : สรุปโครงการ"บันทึกพิชิตมะเร็ง" ฉบับปรับปรุงปี 2565

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อธิบายจำนวนที่ได้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
กลุ่มคนเปราะบาง
  1. ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ดูแลและบุคลากรทางการแพทย์
  2. บุคคลทั่วไป
67,453 ราย
1,138,811 ราย
ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : รายงานผลการดําเนินงาน โครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง ฉบับปรับปรุง ปี 2565

18 ม.ค. 2566

อัปเดตโครงการโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง จำนวน 34 โรงพยาบาล

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

18 ม.ค. 2566 - 18 ม.ค. 2566

โครงการบันทึกพิชิตมะเร็งมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34 โรงพยาบาล ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่

  • โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
  • โรงพยาบาลตำรวจ
  • โรงพยาบาลราชวิถี
  • โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
  • โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  • โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา
  • โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี
  • โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี
  • โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี
  • โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง
  • โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์อินเตอร์ 3
  • โรงพยาบาลสุรินทร์
  • โรงพยาบาลน่าน
  • โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น
  • โรงพยาบาลสมุทรปราการ
  • โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
  • โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
  • โรงพยาบาลนครปฐม
  • โรงพยาบาลราชบุรี
  • โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
  • โรงพยาบาลค่ายสุรนารี
  • โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
  • โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
  • โรงพยาบาลระนอง
  • โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
  • โรงพยาบาลกระบี่
  • โรงพยาบาลตระการพืชผล
  • โรงพยาบาลชัยภูมิ
  • โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

ส่งมอบสมุดบันทึกพิชิตมะเร็งจำนวน 20,000 เล่ม

  • จุดแจกจ่ายตามโรงพยาบาล จำนวน 17,500 เล่ม
  • ช่องทางออนไลน์ 2,500 เล่ม

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้น เมื่อทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งจะประสบกับความรู้สึกสับสนและตกใจ ความไม่รู้และความวิตกกังวล ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากพยายามที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อวางแผนการรักษาให้กับตนเอง

อย่างไรก็ตามยิ่งผู้ป่วยตามหาข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่กลับยิ่งสร้างความสับสนเพิ่มมากขึ้นจากวังวนของข้อมูลที่มากเกินไป โดยเฉพาะข้อมูลที่ค้นพบได้จากอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงง่าย หากแต่ไม่มีสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ข้อมูลชุดใดมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่เชื่อถือได้ นำไปปฏิบัติตามได้ โดยไม่มีผลเสียต่อร่างกายและการวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง

ดังนั้นเมื่อ บันทึกพิชิตมะเร็งได้รวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษา และการปฏิบัติตนของผู้ป่วยมะเร็งเอาไว้แล้ว โดยเนื้อหานั้นได้มีที่มาที่ชัดเจน มีเอกสารอ้างอิงมากพอจะน่าเชื่อถือและทำให้ง่ายต่อการไปค้นคว้าต่อได้นั้น จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปรับตัวง่ายขึ้นต่อการที่จะต้องอยู่ร่วมกับมะเร็ง 

ความรู้สึกของผู้ป่วยหลังทราบว่าเป็นมะเร็ง

“คือตอนนั้นทันทีที่เรารู้ปุ๊บเราหาข้อมูล เพราะงั้นข้อมูลจะไหลเข้ามาเยอะมาก คนนั้นว่าอย่างนั้น อ่อ คนนั้นผ่าตัดที่นั้นสิ กินอันนั้นสิ ทุกอย่างจะเข้ามาแบบรวดเร็วมาก คือตอนนั้นรู้สึกทางกายก็คือทำอะไรไม่ทัน รู้สึกว่าฉันมีทางเลือกแบบเยอะมาก คือทุกอย่างมันจะมีข้อมูลแบบถาโถมเข้ามาในช่วงแรก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้ คือเราศึกษาไปเรื่อย ๆ เราก็จะเข้าใจมากขึ้น ความกังวลเราก็จะลดลงเรื่อย ๆ” (ผู้ป่วยคนที่ 1, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ได้ยินครั้งแรกก็ตอนหลังผ่าตัดมดลูก ก็มาทราบผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัด คุณหมอบอกว่าเป็นมะเร็งชนิดแพร่กระจายเร็ว ณ ตอนนั้น ก็ไม่อยากจะเชื่อ แล้วเราก็เต็มไปด้วยความสงสัย ตอนนั้นคือยังไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เราโฟกัสในสิ่งที่เราสามารถทำได้ แล้วก็ควบคุมได้ ก็คือดูแลตัวเองในเรื่องของจิตใจ อาหาร การออกกำลังกายและการดูแลจิตใจของคนรอบข้างเพราะว่ามันก็ส่งผลรวมกันค่ะ” (ผู้ป่วยคนที่ 2, 17 พฤศจิกายน 2565)

“ก็เหมือนทุกท่านเลยนะคะ ก็รู้สึกช็อคนะคะ คุณหมอบอกว่าผลจากเมมโมแกรม อัลตร้าซาวด์นะคะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังอีก 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยเราก็ยังมีความหวังนะคะ ก็เลย ก็ยังมีหวังแต่ว่าพยายาม พยายามที่จะหวัง ไม่คิดในแง่ร้ายก่อน เหมือนให้กำลังใจตัวเองก่อนค่ะ แต่ว่าพอช่วงระหว่างการรอคอยผลนะคะ มันก็ทำให้เราเริ่มหาข้อมูล สมมติว่าเราเป็นเราจะต้องรักษายังไง ตัดสินใจทำยังไง” (ผู้ป่วยคนที่ 3, 17 พฤศจิกายน 2565)

2 พ.ย. 2565

อัปเดตโครงการอัพเดทกิจกรรมโครงการสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง (ฉบับปรับปรุงใหม่ 2565) เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเดือนเมษายนถึงกันยายน 65

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

2 พ.ย. 2565 - 2 พ.ย. 2565

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทางผู้ดำเนินงานจึงได้มีโครงการทำให้แผนดำเนินการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนี้

เดือนเมษายน - กันยายน 2565 : ทาง Art For cancer ได้จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้แก่ผู้ป่วยมะเร็งและกิจกรรมสอนใช้สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งร่วมกับ 11 โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในรูปแบบออนไลน์ ตามรายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1 : วันที่ 22 เมษายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “ความหวังใหม่! วัคซีนรักษาเฉพาะบุคคลและเครื่องฉายแสงแบบตรงจุด” ร่วมกับโรงพยาบาบจุฬาลงกรณ์

ครั้งที่ 2 : วันที่ 17 พฤษภาคม 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “ไขความจริงเรื่องมะเร็ง เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์” ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

ครั้งที่ 3 : วันที่ 10 มิถุนายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “วิธีตั้งรับกับมะเร็งระยะลุกลามและระยะสุดท้าย” ร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น

ครั้งที่ 4 : วันที่ 3 กรกฎาคม 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “การฉายรังสี ความเข้าใจใหม่ที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องรู้” ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ครั้งที่ 5 : วันที่ 27 กรกฎาคม 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “มะเร็ง มรดกทางพันธุกรรม คุณเสี่ยงแค่ไหน?” ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี

ครั้งที่ 6 : วันที่ 24 สิงหาคม 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “รู้ทันมะเร็ง ตรวจคัดกรองมะเร็ง เช็คค่ามะเร็งจากเลือด สำคัญยังไง?” ร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ

ครั้งที่ 7 : วันที่ 2 กันยายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “การดูแลแบบประคับประคอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้ป่วยมะเร็ง” ร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพล

ครั้งที่ 8 : วันที่ 6 กันยายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “ถอดรหัส ทำนายวิธีการรักษามะเร็งที่เหมาะกับเรา” ร่วมกับสถานวิทยามะเร็ง ศิริราช

ครั้งที่ 9 : วันที่ 8 กันยายน 2022 งานเสวนาออฟไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “LIVE AND DIE AS YOU DESIGN อยู่ได้อย่างใจ ตายอย่างที่ออกแบบ” ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ครั้งที่ 10 : วันที่ 22 กันยายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “ชีวิตใหม่หลังการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง” ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี

ครั้งที่ 11 : วันที่ 28 กันยายน 2022 งานเสวนาออนไลน์ให้ความรู้หัวข้อเรื่อง “ตรวจจับมะเร็งเต้านม รู้ไว รักษาเร็ว หายได้” ร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี

เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 : เริ่มลงพื้นที่สอนใช้สมุดบันทึกพิชิตมะเร็งตาม รพ.ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการบันทึกพิชิตมะเร็งมีจุดแจกจ่ายสมุดบันทึกพิชิตมะเร็งที่เข้าร่วมโครงการ 25 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยโครงการยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถส่งมอบสมุดบันทึกพิชิตมะเร็งให้ถึงมือผู้ป่วยได้ครบจำนวน 20,000 รายทั่วประเทศ

 

 

2 มี.ค. 2565

อัปเดตโครงการกิจกรรมโครงการสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง (ฉบับปรับปรุงใหม่) เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

2 มี.ค. 2565 - 2 มี.ค. 2565

กิจกรรมโครงการ

  • เดือนกรกฏาคม – กันยายน 64 ดำเนินการหาความร่วมมือเพื่อขอการสนับสนุนโครงการ (ยังไม่ครบตามเป้าของโครงการ จึงต้องดำเนินการเสาะหาการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนเพิ่มเติม)
  • เดือนสิงหาคม – กันยายน 64 ดำเนินการประสานสถาบันทางการแพทย์เพื่อขอข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง การดูแลตัวเอง วิธีการรักษาและปฏิบัติตัว และฟังก์ชั่นการใช้งาน
  • เดือนกันยายน – ตุลาคม 64 ดำเนินการออกแบบสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง
  • เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 64 ดำเนินการจัดพิมพ์สมุดบันทึกฯ
  • เดือนกุมภาพันธ์ 65 เปิดตัวสมุดบันทึกและเริ่มดำเนินการแจกจ่ายไปตามรพ. เป้าหมาย
  • เดือนมีนาคม 65 จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ผู้ป่วยมะเร็งใน 11 รพ.เป้าหมาย