cover_1

สอนหญิงทันภัยหญิง

เด็กและเยาวชน

เงินบริจาคของคุณจะจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้กับเด็กผู้หญิงภาคอีสาน1,000คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
27 ธ.ค. 2566

อัปเดตโครงการมอบชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เด็กนักเรียนหญิง จำนวน 433 คน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

27 ธ.ค. 2566 - 27 ธ.ค. 2566

มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดีได้จัดทำชุดการรู้ด้วยตนเองประเด็นเรื่องภัยใกล้ตัวในครั้งนี้ มีเป้าหมายไปที่โรงเรียนขยายโอกาส (โรงเรียนประถมศึกษาที่ที่เปิดสอนในระดับมัธยมต้น) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ

ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นชุดข้อมูลที่ประกอบไปด้วยเอกสารความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยอันตรายและความรุนแรง น้องๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน การเข้าถึงหรือติดต่อหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน ผ่านชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้

 

ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย

  • ชุดข้อมูลความรู้ เอกสารที่เกี่ยวกับภัยประเภทต่างๆ รายชื่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน ข้อมูลความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
  • เกมตอบคำถามเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจ
  • อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ของที่ระลึกในการเข้าร่วมกิจกรรม

โดยน้องๆ จะตอบคำถามเล่นเกมในชุดการเรียนรู้ และส่งคำตอบให้กับคุณครู ทางโรงเรียนรวบรวมคำตอบและแบบประเมินอื่นๆ กลับมายังมูลนิธิ มูลนิธิได้ดำเนินการส่งของที่ระลึกให้กับน้องๆ ที่ร่วมตอบคำถาม

รายชื่อโรงเรียนจัดส่งชุดการเรียนรู้

โรงเรียน จำนวน
โรงเรียนบ้านสำโรง (คุรุประชาสามัคคี) 102
โรงเรียนเวตวันวิทยา 45
โรงเรียนบุเปือยวิทยาคาร 101
โรงเรียนภูสิงห์ประชาเสริมวิทย์  185
รวมทั้งสิ้น 433

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้าร่วมโครงการ

  • ชุดการเรียนรู้นี้ช่วยให้รู้จักหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยหรือความรุนแรงประเภทต่างๆ
  • ชุดการเรียนรู้นี้ช่วยให้รู้วิธีจัดการหรือเอาตัวรอดจากภัยความรุนแรงหรือสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ
  • ข้อมูลในชุดการเรียนรู้นี้มีประโยชน์สามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกคนในครอบครัว เพื่อน หรือช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้
ความประทับใจของผู้ที่ได้รับประโยชน์



" รู้สึกว่าชุดการเรียนรู้นี้ให้ความรู้และประโยชน์ต่อตนเองมาก ๆ เพราะทำให้รู้จักป้องกันตนเองเมื่อตัวเองเจอกับสถานการณ์ที่โหดร้ายเช่นนั้น และทำให้รู้จักเอาชนะความกลัวเมื่อต้องถูกคนอื่นบูลลี่ตนเอง และทำให้รู้จักกับหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือ "

" ทำให้เรารู้ว่าต้องรับมือกับเรื่องต่างๆ อย่างไร ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้ต่างๆ มันทำให้หนูรู้ว่าควรรับมือจากคำบูลลี่ยังไง และคำบูลลี่พวกนั้นมันทำให้หนูอยากจะย้ายโรงเรียนเลยด้วยซ้ำ เพราะมันยังหลอกหลอนหนูอยู่ทำวันไม่จบไม่สิ้น โดนมาจะ 4 เดือนแล้วแต่ทุกวันนี้ก็ทำตัวให้ตัวเองไม่รู้สึกกับคำบูลลี่พวกนั้นค่ะ "

" รู้สึกมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะได้รับความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ และมีหน่วยงานที่คอยช่วยสนับสนุนเมื่อเราเจอปัญหา นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความกล้าในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่รุนแรงได้ "

27 ธ.ค. 2565

อัปเดตโครงการสอนเด็กนักเรียนหญิงในภาคอีสาน 688 คน ให้รู้ทันภัยหญิง

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

27 ธ.ค. 2565 - 27 ธ.ค. 2565

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการดำเนินการครั้งที่ 1 ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 360 คน ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดสถานการณ์การณ์โรคโควิด19 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนได้เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้อบรมเยาวชนหญิง จำนวน 688 คน รวมผู้เข้าอบรมอบรมทั้งสิ้น จำนวน 1,048 คน สำเร็จตามโครงการ โดยผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย รวมถึงเรียนรู้วิธีการป้องกันภัยดังกล่าวและสามารถเข้าถึงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือได้

ขอบเขตของกิจกรรม

  1. เรียนรู้เกี่ยวกับภัยใกล้ตัวและภัยที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
  2. ข้อมูลในการเข้าถึงหรือติดต่อหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย
  3. เรียนรู้วิธีการป้องกันตัวขั้นพื้นฐานผ่านการสาธิต

รายชื่อโรงเรียนและจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ที่ รายชื่อโรงเรียน จำนวนนักเรียน
1 โรงเรียนโนนกุงวิทยาคม 115
2 โรงเรียนเสนางคนิคม 196
3 โรงเรียนสำโรงวิทยาคาร 132
4 โรงเรียนปลาค้าววิทยานุสรณ์ 86
5 โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา 81
6 โรงเรียนมัธยมบักดองวิทยา 78
  ยอดรวมการจัดกิจกรรม  688

สิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับหลังการอบรม

  • ได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับตนเอง
  • ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองและเอาตัวรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์รุนแรง
  • ได้รับความสนุกจากการเข้าร่วมกิจกรรมและเรียนรู้
  • ชื่นชอบเนื้อหาในการทำกิจกรรม
  • ได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการเข้าร่วมกิจกรรม
  • เห็นด้วยมากที่สุด และเห็นด้วยอย่างมาก ว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • เห็นด้วยมากที่สุด และเห็นด้วยอย่างมาก ว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในประเด็นความรุนแรงและรู้ถึงหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้

ความประทับใจของผู้ที่เข้าร่วมอบรม

  • ได้รู้วิธีการป้องกันตัว รู้จักระมัดระวังและชอบพี่ๆ มากเลยค่ะชอบมาก อยากให้พี่ๆมาอีก กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชอบที่สุดเลยค่า ชอบของรางวัลทุกอย่างเลยค่ะ 
  • ประทับใจกับกิจกรรมนี้มากเลยค่ะ คำถามง่าย ตอบง่าย มีประโยชน์มากๆค่ะ สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ของรางวัลน่ารักมากๆค่ะ พี่วิทยากรมีความรู้ที่หลากหลาย น่ารักมากค่ะ
  • รู้สึกมีความรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รู้สึกปลอดภัยขึ้น และสนุกสนาน, สิ่งที่ได้เรียนรู้: ได้รู้ภัยต่างๆ และวิธีแก้ปัญหา, คำแนะนำ: อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก
  • รู้สึกสนุกและมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโจรและการถูกลวนลามต่างๆ และสามารถนำไปใช้ได้จริง ขอบคุณค่ะ
  • ได้ความรู้มากมายและได้ความรู้หลากหลายของพี่ๆไปใช้เป็นประโยชน์มากและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและความรู้สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้
9 ธ.ค. 2564

อัปเดตโครงการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการและเพิ่มรอบการอบรม

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

8 ธ.ค. 2564 - 8 ธ.ค. 2564

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของโครงการตลอดปี 2564 ทางมูลนิธิจึงมีแผนการขยายระยะเวลาการเปิดระดมทุน และปรับเปลี่ยนรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมดังนี้

  • ขยายระยะเวลาการบริจาคจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
  • เพิ่มวงเงิน จำนวน 68,750 บาท สำหรับจัดกิจกรรมเพิ่ม 5 กิจกรรม จำนวนเป้าหมาย 250 คน รวมวงเงินทั้งสิ้น 343,750 บาท เป้าหมาย 25 กิจกรรม 1,250 คน
  • เบิกงบประมาณมาจัดกิจกรรมไปแล้ว 1 ครั้ง ยอดเงิน 65,000 บาท (6 กิจกรรม 360 คน)
  • เริ่มเตรียมซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อจัดกิจกรรมเดือนเมษายน 2565 และเริ่มจัดกิจกรรมในเดือนพฤษภาคม 2565
  • หากไม่สามารถลงในพื้นที่โรงเรียนได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID19 เตรียมแผนการปรับกิจกรรมเป็นจัดส่งชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองแทนการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน โดยรายละเอียดของชุดการเรียนรู้มีดังต่อไปนี้

    ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่จะชวนน้องๆ นักเรียนหญิง มาเรียนรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน การเข้าถึงหรือติดต่อหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน ผ่านชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้

    ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

  • ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภัยประเภทต่างๆ รายชื่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐาน
  • เกมส์กิจกรรมตอบคำถามเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจ
  • อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ของที่ระลึกในการเข้าร่วมกิจกรรม

    ใช้รับของที่ระลึกสุดพิเศษหลังกิจกรรม เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมแล้วส่งกิจกรรมตอบคำถามกลับมายังมูลนิธิทางไปรษณีย์ (มีจดหมายพร้อมแสตมป์และไปรษณียบัตรพร้อมส่งแนบมาด้วย) หรือถ่ายรูปส่งกลับมาให้ทีมงานทางเฟสบุ๊ค

    สอบถามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ 093 408 1124 (เฟรนด์) 092 362 0784 (เบียร์)

    มูลนิธิปิดทำการทุกวันศุกร์และเสาร์

    ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟสบุ๊ค มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี

FB Page: www.facebook.com/Pratthanadee.Foundation


26 พ.ค. 2563

อัปเดตโครงการกิจกรรมสอนหญิงทันภัยหญิง กลับมาจัดอีกครั้งในเดือนมิ.ย. 63

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

26 พ.ค. 2563 - 26 พ.ค. 2563

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ไกล้เคียง ทำให้หลายโรงเรียนปิดทำการและไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ มีผลทำให้ชั่วโมงการเรียนของนักเรียนไม่เพียงพอ และโรงเรียนจึงไม่สามารถให้มูลนิธิฯ เข้าไปจัดกิจกรรมได้ อีกทั้งการเดินทางที่ไม่สะดวกในหลายพื้นที่มีผลต่อการจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมถึงการระดมทุนที่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรมทำให้มูลนิธิไม่สามารถจัดกิจกรรมต่อได้ในปีที่ผ่านมา

ในปี 2363 นี้ มูลนิธิฯ ได้วางแผนที่จะจัดกิจกรรมอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2563 จากเงินบริจาคที่ได้ทำการระดมทุนมาเพิ่มเติม และขยายเวลาการระดมทุนต่อจนถึงเดือนตุลาคม

22 ก.ค. 2562

อัปเดตโครงการสอนเด็กนักเรียนหญิงในภาคอีสาน 360 คน ให้รู้ทันภัยหญิง

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

22 ก.ค. 2562 - 22 ก.ค. 2562

ลงพื้นที่ภาคอีสานครั้งแรก ทีมงานมูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสอนการรักษาสิทธิ์ของตนเอง การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยอันตราย และทักษะการป้องกันตัว ให้แก่นักเรียนหญิง จำนวน 360 คน ใน 6 กลุ่ม ต่อไปนี้

โรงเรียน ระดับชั้น จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วม (คน)
โรงเรียนสิรินธรวิทยานุสรณ์ จ.อุบลราชธานี ม.2 89
โรงเรียนบึงมะลูวิทยา จ.ศรีสะเกษ ม.2 50
โรงเรียนบึงมะลูวิทยา จ.ศรีสะเกษ ม.5 54
โรงเรียนห้วยข่าพิทยาคม จ.อุบลราชธานี ม.2-3 60
โรงเรียนตาลสุมพัฒนา จ.อุบลราชธานี ม.2-3 70
โรงเรียนตาลสุมพัฒนา จ.อุบลราชธานี ม.4 37
นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 360

ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน (จากนักเรียน 355 คน)

  • 85% ของนักเรียนไม่เคยผ่านการอบรมในลักษณะนี้มาก่อน (นักเรียนมีความเข้าใจคาดเคลื่อนในช่วงแรกเพราะคิดว่ามาให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา และหรือกฎหมายจราจร)
  • 85% เคยมีประสบการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง

นักเรียนที่มีประสบการณ์และอยู่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ดังต่อไปนี้  

  • 68% พบเห็นคนทะเลาะและตบตีกัน
  • 29% พบเห็นพี่น้องทะเลาะตบตีกัน
  • 12% พ่อแม่ ทะเลาะตบตีกัน
  • 13% ถูกเพื่อนทำร้ายร่างกาย
  • 94% ของนักเรียนที่ไม่ทราบว่าหากเกิดความรุนแรงขึ้นกับตนเองหรือคนรอบข้าง หน่วยงานใดที่สามารถช่วยเหลือและติดต่อได้
  • 20% ของนักเรียนไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นกับตนเองและผู้อื่น

ผลลัพธ์ของผู้ที่ผ่านการทำกิจกรรม

ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ภายหลังการอบรม
นักเรียนกว่า 22% ไม่รู้และเข้าใจว่าภัยอันตรายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในบ้านและจากบุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้อง  นักเรียน 100% ทราบว่าภัยอันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั้งจากบุคคลภายในครอบครัวและบุคคลภายนอก 
นักเรียนกว่า 66% เข้าใจว่าการถูกลงโทษโดยการกักบริเวณเป็นการกระทำที่ถูกต้องและสามารถทำได้โดยไม่มีความผิด   นักเรียน 100% ทราบว่าผู้ปกครองหรือบุคคลอื่นๆ ไม่สามารถกักขัง หน่วงเหนี่ยวนักเรียนได้ ซึ่งการทำโทษสามารถทำโดยวิธีอื่นที่ไม่กระทบต่อร่างกายและจิตใจ  
นักเรียนกว่า 83% ไม่รู้ว่าหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดความรุนแรงและจะเข้าถึงหน่วยงานนั้นๆ ได้อย่างไร  นักเรียน 100% ทราบว่าหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดความรุนแรงและจะเข้าถึงหน่วยงานนั้นๆ

ผลการประเมินกิจกรรมของนักเรียน:

  • มากกว่า 75% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคว่า “คุณได้รับความรู้และเข้าใจภัยอันตรายมากยิ่งขึ้น”
  • มากกว่า 51% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคว่า “คุณได้รับความรู้และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานและการเข้ารับการช่วยเหลือหากเกิดภัยอันตราย”
  • มากกว่า 43% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยกับประโยคว่า “คุณได้รับความรู้และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานและการเข้ารับการช่วยเหลือหากเกิดภัยอันตราย”
  • มากกว่า 49% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคว่า “คุณสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้”
  • มากกว่า 43% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยกับประโยคว่า “คุณสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้”
  • มากกว่า 38% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคว่า “คุณสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมไปบอกคนอื่นๆ ได้”
  • มากกว่า 38% ของผู้เข้าร่วม เห็นด้วยกับประโยคว่า “คุณสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมไปบอกคนอื่นๆ ได้”