เงินบริจาคของคุณจะช่วยเหลือค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเดินทางไปทำขาเทียมให้กับ“น้องใบเตย” เด็กหญิงพิการซ้ำซ้อน ในช่วงระยะเวลาการเดินทางมารักษา6ครั้ง
“น้องใบเตย” อายุ 10 ปี ผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา เกิดมาพิการซ้ำซ้อน “เพดานโหว่ ลิ้นไก่สั้น หัวใจรั่ว ลำตัวคด ใบหน้าบิดเบี้ยว มีขาเล็กลีบ 1 ข้าง รูหูตีบเล็ก และไม่มีรูทวาร” เคยฝันว่าอยากมีโอกาสก้าวเดิน
เมื่อปลายปี 2565 เจ้าหน้าของมูลนิธิฯ ที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมและมีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อของน้องจึงทราบว่าในช่วงที่โควิด 19 ระบาด คุณพ่อไม่ได้พาน้องไปพบแพทย์ต่อเนื่อง จึงต้องเริ่มต้นการรักษาใหม่ และแพทย์ได้มีการส่งตัวน้องเข้ามารักษาต่อที่สถาบันสิรินธร และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 น้องได้รับขาเทียมเพื่อฝึกเดิน แต่เนื่องจากว่าทางบ้านเกรงเรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าที่พัก จึงตัดสินใจไม่ได้พาน้องรักษาอย่างต่อ และการที่น้องไม่ได้ทำกายภาพอย่างถูกต้องต่อเนื่อง ทำให้เจ็บกล้ามเนื้อและผิวหนังส่วนที่สัมผัสกับขาเทียม มูลนิธิฯ ได้เข้าไปพูดคุยกับคุณพ่อของน้องอีกครั้ง จนคุณพ่อเปลี่ยนใจและยินยอมให้ดำเนินการรักษาน้องใบเตยต่อ
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ประสานการช่วยเหลือน้องใบเตย เพื่อเข้ารับการรักษาที่สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จ.นนทบุรี โดยแพทย์เฉพาะทางได้หล่อแบบอุปกรณ์เสริม (ขาเทียม) สอนฝึกกายภาพ พร้อมมอบวอร์คเกอร์อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวเดินกลับไปหัดเดินที่บ้านหลังสวมขาเทียม
แม้เธอจะเดินได้เพียงแค่ก้าวได้แค่สั้นๆ ก็ดีใจมาก “เพราะหนูอยากช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด” น้องใบเตยพูดด้วยรอยยิ้มกว้างสดใส
ปัจจุบันนี้น้องใบเตยยังคงต้องฝึกเดินและยังต้องเดินทางไปที่สถาบันสิรินธรฯ เพื่อปรับขาเทียมให้สามารถพยุงตัวและเดินได้โดยไม่เจ็บขา เพราะเนื่องจากลำตัวน้องใบเตยผิดรูป จึงไม่สามารถเดินได้และทรงตัวนานๆ ได้
หากน้องใบเตยมีอาการเจ็บขาในขณะฝึกเดินในชีวิตประจำวัน พ่อน้องใบเตยจะนัดกับคุณหมอเพื่อเดินทางไปพบเพื่อนำขาเทียมไปปรับให้เหมาะกับสรีระร่างกาย นอกจากนี้น้องใบเตยยังคงต้องกินอาหารเสริมทุกวันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงกระดูกและกล้ามเนื้อของร่างกาย
ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจบุญทุกท่านที่บริจาคเงินช่วยเหลือน้องใบเตย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ | อธิบาย | จำนวนที่ได้ประโยชน์ | ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น |
เด็กและเยาวชน | น้องใบเตย | 1 คน | น้องใบเตยสามารถเดินได้ และยังคงเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง |