cover_1
โครงการใหม่

สร้างความตระหนักรู้ถึงสวัสดิภาพของช้างไทยผ่านการฉายภาพยนตร์สารคดี

สัตว์
สิ่งแวดล้อม/ธรรมชาติ
อื่นๆ

เงินบริจาคของคุณจะช่วยสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ประจำชาติไทยให้กับชาวต่างชาติ และคนไทย10ประเทศ

ระยะเวลาระดมทุน

22 เม.ย. 2568 - 15 มิ.ย. 2568

พื้นที่ดำเนินโครงการ

ทั่วประเทศ

เป้าหมาย SDGs

LIFE ON LAND

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

เด็กและเยาวชน
5,000คน
ประชาชนไทย
3,000คน
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (International Film Festivals)
5,000คน
ผู้ชมออนไลน์ (Online Viewers)
500,000คน

ในปัจจุบันช้างไทยกำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงจากการทารุณกรรม การถูกใช้งานหนัก และการขาดการดูแลที่เหมาะสม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของช้างไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยยังขาดความตระหนักในการอนุรักษ์ช้างและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงขอเชิญร่วมสนับสนุนการสร้างสารคดีเรื่อง "Unspoken Souls" ที่จะถ่ายทอดภารกิจของควาญช้างหนุ่มวัย 22 ปี ผู้มุ่งมั่นปลดปล่อยช้างบ้านกว่า 55 เชือกจากการถูกทารุณและใช้งานอย่างหนัก เราหวังว่าสารคดีนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจและแรงบันดาลใจแก่ผู้ชม เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสำหรับช้างไทยทุกเชือก

ปัญหาสังคม

ช้างไทย สัตว์ประจำชาติที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ประเทศไทยเคยมีช้างมากกว่า 100,000 เชือก แต่ปัจจุบันจากสถิติของภาครัฐพบว่ามีช้างบ้านเหลืออยู่ประมาณ 5,400 เชือก และช้างป่าอีกเพียง 4,500 เชือก ทำให้ช้างกลายเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เหลือเพียงอีกสองขั้นก็จะหายไปจากโลกนี้ แม้ว่าช้างป่าจะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ..2562 แต่ในทางกลับกันช้างบ้านนั้นมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก

การเอาชีวิตรอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช้าง มูลค่า 26,000 ล้านบาท

หลายทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยไม่ได้เป็นมิตรกับช้างมากนัก ช้างถูกฝึกอย่างทารุณให้แบกนักท่องเที่ยวเป็นเวลานานโดยไม่ได้พัก หรือแสดงละครสัตว์ผิดธรรมชาติ เช่น การยืนสองขา หรือวาดภาพดอกไม้ การเอาชีวิตรอดในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ง่ายสำหรับช้าง และก็ไม่ง่ายสำหรับควาญช้างที่จำใจต้องใช้งานช้างอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพ

แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้างค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยเลิกกิจกรรมขี่ช้างและการแสดงละครสัตว์ มุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้างมากขึ้น ทิศทางนี้ดูเหมือนจะให้ความหวังกับช้างไทยมากขึ้น แต่แล้วสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19

ความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้และแรงสนับสนุนจากสังคมไทย

ในช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพังทลายลงจากโควิด-19 ช้างหลายร้อยเชือกไม่ได้เพียงแค่เผชิญความอดอยาก แต่ยังขาดการดูแลที่เหมาะสม ควาญช้างจำนวนมากสูญเสียอาชีพและรายได้ สำหรับช้างบ้านแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติระดับชาติที่คุกคามชีวิตของพวกมัน และพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่เพียงพอที่จะรับประกันการอยู่รอดของช้างไทยได้อีกต่อไป

ในเวลานั้น ช้างและควาญช้างต่างร้องขอความช่วยเหลือจากสังคมภายนอก แต่น่าเสียดายที่เสียงเหล่านั้นกลับส่งไปไม่ถึงเมืองใหญ่และไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยส่วนใหญ่ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นช่องว่างระหว่างช้างไทยกับคนไทย และชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความตระหนัก รวมถึงการสนับสนุนจากสังคมไทยอย่างจริงจัง

คำถามสำคัญก็คือ เราจะลดระยะห่างนี้ลงได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้สังคมไทยมีส่วนร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ช้าง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของสัตว์ประจำชาติไทย

Unspoken Souls – สารคดีที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงแทนช้างไทยและควาญช้าง

"Unspoken Souls" คือสารคดีความยาว 85 นาที ที่กำลังจะถูกเผยแพร่ในระดับนานาชาติ บอกเล่าเรื่องราวของควาญช้างหนุ่มชาวไทยที่พยายามสร้างชีวิตที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีให้กับช้างที่เขาดูแลอยู่ สารคดีนี้ใช้เวลากว่า 4 ปีในการผลิต โดยครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวช้างของไทยมากว่า 20 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการสื่อสารดังนี้:

  1. เผยแพร่ให้เห็นถึงปัญหาด้านการเงิน การดูแลสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ช้างบ้านไทยและควาญช้างต้องเผชิญ แต่ไม่เคยมีใครได้เห็นหรือรับรู้
  2. ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช้างไทย โดยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เน้นการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้างเป็นสำคัญ
  3. กระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนและดูแลช้าง สัตว์ที่ยิ่งใหญ่ประจำชาติที่มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนาน

เรื่องย่อของสารคดี

สารคดีนี้เล่าเรื่องราวของ “นิวเด็กหนุ่มไทยธรรมดาคนหนึ่ง ผู้มีพ่อเป็นเจ้าของปางช้างแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ แต่หลังจากที่พ่อเสียชีวิตไป เขากลับต้องเผชิญกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ราวกับฝันร้าย คือการดูแลชีวิตช้างกว่า 55 เชือก หลายคนอาจมองช้างเป็นเพียงเครื่องมือทำเงิน แต่นิวกลับต้องการให้ช้างได้มีชีวิตอิสระที่พวกมันไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยความขาดประสบการณ์และเงินทุน เขาจึงต้องการความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายที่เป็นไปได้

ด้วยความช่วยเหลือจาก “เล็ก ชัยเลิศนักอนุรักษ์ช้างที่เป็นที่รู้จัก นิวเริ่มต้นภารกิจที่ท้าทายในการเปลี่ยนธุรกิจขี่ช้างและละครสัตว์ที่พ่อสร้างไว้ ให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ปลอดภัยสำหรับช้าง แต่เส้นทางนี้กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งปัญหาในการดูแลช้างที่ได้รับบาดเจ็บ และการขาดเงินทุนเพื่อเลี้ยงช้างอีกหลายสิบเชือก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ นิวจึงพยายามสุดความสามารถเพื่อสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวังให้กับช้างของเขา

ครอบครัวโอคุโนะ (Okuno Family)

โปรเจกต์นี้ดำเนินงานโดยครอบครัวโอคุโนะ ซึ่งประกอบด้วย ยาสุฮิโกะ โอคุโนะ (พ่อ), มิเอโกะ ซาโฮะ (แม่) และ โค โอคุโนะ (ลูกชาย) ซึ่งย้ายจากโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น มาอาศัยที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี ค.. 2004

  • ยาสุฮิโกะ โอกุโนะ เป็นช่างภาพสารคดี ผู้กำกับวิดีโอ และโปรดิวเซอร์ ที่มีประสบการณ์เดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำเสนอประเด็นทางสังคม เช่น การยุติการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ในแอฟริกาใต้ ชุมชนผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ถูกทอดทิ้งในเกาหลีใต้ และเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อเอชไอวีในไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เค.เอ็ม. ต้มยำ ผู้ผลิตสารคดีหลักของโครงการนี้
  • มิเอโกะ ซาโฮะ เป็นนักเขียนและผู้กำกับด้านครีเอทีฟวิดีโอ ที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปีในการเล่าเรื่อง เธอร่วมผลิตและกำกับสารคดีขนาดสั้นหลายเรื่องให้กับสถานีโทรทัศน์ NHK World ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องราวของนักกิจการเพื่อสังคมไทย
  • โค โอคุโนะ นักเล่าเรื่องรุ่นใหม่ เกิดที่ญี่ปุ่นและเติบโตที่เชียงใหม่ เขาจบการศึกษาด้านปรัชญาและเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม และเคยทำงานด้านการผลิตคอนเทนต์ที่กรุงบรัสเซลส์ ก่อนตัดสินใจกลับมาเมืองไทยเพื่อร่วมผลิตสารคดี “Unspoken Souls”

ครอบครัวโอกุโนะเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเกิดผลกระทบ และพบเห็นช้างหลายร้อยเชือกทั่วประเทศที่กำลังอดอยากอย่างช้าๆ ในฐานะคนรักสัตว์และในฐานะชาวญี่ปุ่นที่เห็นประเทศไทยเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง พวกเขาจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง?”

เล่าเรื่องจากมุมมองของคนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้และเข้าใจง่ายที่สุด

ตั้งแต่แรกเริ่ม ทีมงานตั้งใจให้สารคดีนี้ต่างจากสารคดีของชาวตะวันตกที่เน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการ หรือวิจารณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพราะเราเข้าใจว่าสารคดีแบบนั้นเข้าถึงผู้ชมทั่วไปได้ยาก และมักมีมุมมองที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ชมรู้สึกห่างไกลจากเรื่องราวที่นำเสนอ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือกเล่าเรื่องจากมุมมองของคนในพื้นที่จริงๆ ด้วยการถ่ายทำชีวิตประจำวันของตัวละครหลักและช้างของพวกเขาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 3 ปี โดย ไม่มีการเขียนบทหรือวางแผนล่วงหน้า เราบันทึกเรื่องราวและอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับเป็นภาพยนตร์ชีวิตจริง ซึ่งทำให้สารคดีนี้เข้าถึงผู้ชมได้ง่ายและน่าติดตาม เราเชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับช้างและควาญช้าง จนสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งและเป็นธรรมชาติที่สุด

ความคืบหน้าของโครงการตั้งแต่ปี 2021

เราเริ่มต้นโครงการนี้ในปี 2021 และในปีเดียวกันนั้น สารคดีได้รับเลือกเข้าร่วมกิจกรรม pitching ในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจากการคัดเลือกกว่า 100 โครงการทั่วโลก เราเป็นเพียงโครงการเดียวที่ได้รับรางวัลถึงสองรางวัล คือ Excellent Pitch Award และ Sunny Side of the Doc Award พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมงาน Sunny Side of the Doc ซึ่งเป็นเวทีตลาดภาพยนตร์สารคดีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ต่อมาในปี 2023 ทีมงานได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 41 โครงการจากทั่วโลก เพื่อไปนำเสนอในงาน Sunny Side of the Doc ประเทศฝรังเศส ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญในการแนะนำสารคดีให้กับตลาดระดับโลก โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน

ในปี 2023-2024 เราได้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการตัดต่อสารคดี โดยมีที่ปรึกษาระดับโลกสองท่านเข้าร่วมสนับสนุนและให้คำแนะนำในการผลิต เพื่อให้สารคดีมีคุณภาพและสามารถสื่อสารเรื่องราวได้อย่างเต็มศักยภาพ

และล่าสุดในเดือนมีนาคม 2025 โปรเจ็กต์ของเราได้รับเลือกอย่างเป็นทางการให้เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์สารคดีไม่กี่โปรเจ็กต์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภาพยนตร์ Soft Power ของรัฐบาลไทย ด้วยเงินอุดหนุนนี้ เราจะเสร็จสิ้นขั้นตอนหลังการผลิตของภาพยนตร์ยาว 85 นาทีเต็มเรื่อง

แผนการเผยแพร่สารคดีสู่เวทีนานาชาติ

เพื่อให้สารคดีเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากคนไทยในวงกว้างที่สุด ทีมงานจึงวางแผนการฉายสารคดีนี้ในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติก่อนจะกลับมาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยเราตั้งเป้าจะฉายรอบปฐมทัศน์ในปี 2025 ที่เทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของโลก ได้แก่

  • เทศกาลภาพยนตร์เวนิส (อิตาลี), สิงหาคม 2025
  • เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติลูการ์โน่ (สวิตเซอร์แลนด์), สิงหาคม 2025
  • เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (แคนาดา), กันยายน 2025
  • เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (เกาหลีใต้), ตุลาคม 2025
  • เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนิวยอร์ก, พฤศจิกายน 2025
  • เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์), พฤศจิกายน 2025

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเผยแพร่ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง 

ทีมงานตั้งเป้าเข้าถึงผู้ชมอย่างน้อย 5,000 คนทั่วโลก ผ่านการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาช้างไทยในวงกว้าง ก่อนนำกลับมาเผยแพร่สู่สาธารณชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนการฉายสารคดีในประเทศไทย - ความยาว 60 นาที

หลังจากสารคดีได้ฉายเปิดตัวในเวทีระดับโลกแล้ว ทีมงานจะนำสารคดีกลับมาจัดฉายสู่สาธารณชนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในวงกว้าง โดยตั้งเป้าหมายในการจัดฉายสารคดีฉบับความยาว 60 นาที ตามโรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทาลัยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง เพื่อเข้าถึงนักเรียนนักศึกษาจำนวนอย่างน้อย 5,000 คน นอกจากนี้ยังมีแผนจัดฉายสารคดีในเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น Chiang Mai Design Week, Chiang Mai Arts & Culture Festival และ Bangkok Design Week โดยมีเป้าหมายเข้าถึงผู้ชมเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 คน รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 8,000 คน โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการอนุรักษ์ช้างไทยมากขึ้น

แผนการเผยแพร่สารคดีสู่ผู้ชมทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ - ความยาว 20 นาที

นอกเหนือจากการฉายในโรงภาพยนตร์และเทศกาลต่างๆ เรายังมีแผนที่จะเผยแพร่สารคดีฉบับสั้นความยาว 20 นาทีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยตั้งเป้าหมายส่งสารคดีไปยังซีรีส์สารคดีชื่อดังที่เข้าถึงได้ฟรีบน YouTube เช่น New York TimesOp-Docs, The Guardian Documentaries และ Al Jazeera Documentaries ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีฐานผู้ชมตั้งแต่ 10,000 ถึงกว่า 4,000,000 คนทั่วโลก ทีมงานคาดหวังว่าจะสามารถเข้าถึงผู้ชมจากแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างน้อย 500,000 คน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างและนำไปสู่การสนับสนุนช้างไทยในระดับสากล

สถานะปัจจุบันของโครงการและงบประมาณที่ต้องการ

หลังจากที่ทีมงานทุ่มเทแรงกายแรงใจและทุนส่วนตัวในการผลิตสารคดีนี้มานานกว่า 4 ปี โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ และแบกรับค่าใช้จ่ายในการผลิตไปแล้วหลายล้านบาท ขณะนี้สารคดี “Unspoken Souls” อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะเสร็จสมบูรณ์ เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขอรับการสนับสนุนจากคนไทย เพื่อให้สารคดีที่สำคัญเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์และพร้อมเผยแพร่สู่เวทีโลก โดยเป้าหมายในการระดมทุนครั้งนี้อยู่ที่ 2,967,300 บาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในขั้นตอนสุดท้ายของการตัดต่อและการนำสารคดีเผยแพร่สู่สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ค่าใช้จ่ายส่วนเกินหลังจากการเผยแพร่สารคดี

สารคดี “Unspoken Souls” เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของทีมงานในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมไทยตั้งแต่แรกเริ่ม และยังคงเป้าหมายนี้ไว้อย่างชัดเจน หากสารคดีสร้างรายได้เกินกว่าต้นทุนในการผลิต ทีมงานมีความตั้งใจที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจำนวน 1,000,000 บาท ไปจัดตั้งเป็น “มูลนิธิ Unspoken Souls” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือสัตว์ สิ่งแวดล้อม และชุมชนในเขตชายเเดนประเทศไทยต่อไป

วิธีการแก้ปัญหา

  1. เป้าหมายแรกของโครงการคือ การนำสารคดีไปจัดฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย โดยตั้งเป้าฉายในเทศกาลระดับโลกอย่างน้อย 5 เทศกาล ใน 5 ประเทศ เพื่อเข้าถึงผู้ชมต่างชาติอย่างน้อย 5,000 คน

  2. หลังจากเผยแพร่ในระดับนานาชาติแล้ว ทีมงานจะผลิตสารคดีฉบับสั้น 60 นาที เพื่อนำมาฉายให้กับผู้ชมในประเทศไทยช่วงปลายปี 2025 ถึงต้นปี 2026 โดยมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าจัดกิจกรรมฉายสารคดีที่โรงเรียนมัธยมศึกษา 5 แห่ง และมหาวิทยาลัย 5 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และยังมีแผนจัดฉายในเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมสำคัญๆ ทั่วประเทศเพิ่มเติม

  3. นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำสารคดีฉบับพิเศษความยาว 20 นาที เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของสื่อตะวันตกและเอเชียที่มีชื่อเสียง เพื่อเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกอย่างน้อย 500,000 คน

แผนการดำเนินงาน

  1. เม.ย. - พ.ค. 2568

    ในช่วงสองเดือนนี้ ทีมงานจะดำเนินการตัดต่อและโพสต์โปรดักชั่นขั้นสุดท้ายของสารคดีความยาว 85 นาที โดยจะทำการปรับสีและเทคนิคพิเศษด้านภาพที่ White Light Studio กรุงเทพฯ และทำการมิกซ์เสียงที่เชียงใหม่ จากนั้นจะตรวจสอบคุณภาพของตัวสารคดีฉบับสมบูรณ์ และเตรียมพร้อมสำหรับการฉายในเวทีนานาชาติภายในกลางเดือนเมษายน 2025

  2. พ.ค. - ก.ค. 2568

    ทีมงานจะร่วมกับ Film Sales Agent จากยุโรป ในการวางแผนและส่งสารคดีเข้าสู่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย เพื่อสร้างความสนใจและเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก

  3. มิ.ย. - ก.ย. 2568

    ในช่วงนี้ ทีมงานจะจัดทำสารคดีฉบับ 20 นาที สำหรับเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และฉบับ 60 นาที สำหรับจัดฉายที่สถานศึกษา งานศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงช่องทางออกอากาศในต่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางการเข้าถึงผู้ชม

  4. ส.ค. - ธ.ค. 2568

    ในช่วงนี้ ทีมงานจะนำสารคดีฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก และเดินหน้าจัดฉายในต่างประเทศเพื่อสร้างกระแสและความสนใจจากสื่อระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันก็จะเริ่มวางแผนการจัดฉายเวอร์ชัน 60 นาทีสำหรับกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย

  5. ธ.ค. 2568 - มิ.ย. 2569

    ทีมงานจะเริ่มจัดฉายสารคดีสำหรับเยาวชนและผู้ชมทั่วไปในไทย โดยเน้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และงานศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งจะเผยแพร่สารคดีฉบับ 20 นาทีทางสื่อออนไลน์ชั้นนำ เช่น New York Times, The Guardian และ Al Jazeera เพื่อให้สารคดีเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกอย่างกว้างขวางที่สุด

แผนการใช้เงิน

รายการจำนวนจำนวนเงิน (บาท)
ค่าเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือและยุโรป

สำหรับเทศกาลภาพยนตร์ 7 เทศกาล รวมค่าสมัครและค่าที่พักสำหรับ 2 ท่าน

7ประเทศ951,300.00
ค่าเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในเอเชีย

สำหรับเทศกาลภาพยนตร์ 2 เทศกาล รวมค่าสมัครและค่าที่พักสำหรับ 2 ท่าน

2ประเทศ203,000.00
ค่าตัดต่อและโพสต์โปรดักชั่นของสารคดีฉบับ 20 นาทีสำหรับเผยแพร่ออนไลน์

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการตัดต่อ กำกับสร้างสรรค์ เสียง การปรับสี คำบรรยาย

1flat480,000.00
ค่าตัดต่อและโพสต์โปรดักชั่นของสารคดีฉบับ 60 นาที สำหรับฉายสาธารณะ

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการตัดต่อ กำกับสร้างสรรค์ เสียง การปรับสี คำบรรยาย

1flat1,138,000.00
ค่าดำเนินการทัวร์ฉายสารคดีในกรุงเทพฯ

รวมค่าซื้อโปรเจ็กเตอร์ ค่าเดินทาง และค่าที่พักสำหรับ 3 ท่าน

1flat195,000.00
รวมเป็นเงินทั้งหมด2,967,300.00
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%)296,730.00
ยอดระดมทุน
3,264,030.00

ผู้รับผิดชอบโครงการ

"From Japan to Thailand: In 2004 (2547BE ), I moved to Thailand with my family and established the media production company 'K.M.Tomyam Co., Ltd.' to begin activities that serve as a cultural bridge between Japan and Thailand. Since 2014 (2557 BE), We have been producing television programs in Thailand that introduce Japanese culture. During the COVID-19 pandemic, We learned about the plight of domesticated elephants in Thailand through our friend, animal rights activist Saengduean Lek Chailert. In 2021 (2564 BE), I began producing the documentary film 'Unspoken Souls,' with Saengduean Lek Chailert as the protagonist. Currently, We are in the midst of editing the film in Bangkok. Through this film, we hope to raise global awareness of the situation of domesticated elephants in Thailand."

ดูโปรไฟล์

สร้างเพจระดมทุน

ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้

สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้
icon