cover_1

สานฝันให้นักกายกรรม(ไร้)สัญชาติ

เด็กและเยาวชน

เงินบริจาคของคุณจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนและสังคมให้กับชุมชนชาติพันธุ์ดาระอัง หมู่บ้านปางแดงนอกอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่85ครัวเรือน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
28 ก.ย. 2560

อัปเดตโครงการความประทับใจจากเจ้าของโครงการสานฝันให้นักกายกรรม(ไร้)สัญชาติ

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

28 ก.ย. 2560 - 28 ก.ย. 2560

โครงการสานฝันให้นักกายกรรม(ไร้)สัญชาติ โดยมูลนิธิมะขามป้อม มีแนวคิดที่เน้นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ภายในตัวของผู้เข้าร่วม โดยใช้หลักสูตร Problem based and Project based learning

เป้าหมาย

ต้องการสร้างกลุ่มเยาวชนผ่านสื่อละครสร้างสรรค์ทางปัญญา ที่เอื้อประโยชน์และสอดคล้องประเด็นปัญหาในชุมชนและงานพัฒนา นอกจากนั้นยังเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวก เกิดกิจกรรมที่คนหลายๆ กลุ่มสามารถเข้าถึงและเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติที่นำไปสู่เชิงพฤติกรรมได้

 

วงจรการเรียนรู้ Experiential Learning Model (ELM) มี 4 ขั้นตอนดังนี้
  1. การทดลองปฏิบัติ
  2. การสะท้อนผล
  3. การวิเคราะห์
  4. การนำไปปฏิบัติอีกครั้ง

*** ทุกขั้นตอนจะเชื่อมต่อและกระตุ้นการเรียนรู้โดยการเสริงแรงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วม

 
 
พื้นที่การจัดการแสดงทั้ง 5 ชุมชนในอำเภอเชียงดาว
ชุมชน เด็ก/เยาวชน ผู้ใหญ่ รวม
ชุมชนอรุโณทัย 43 8 51
หมู่บ้านห้วยอีโก้ 50 20 70
รร.นพค.13 204 9 213
รร.บ้านปางแดง 220 15 235
มูลนิธิมะขามป้อม 40 20 60
รวม 554 82 629
 
ผลการดำเนินการเกิดผลการตอบแทนทางบวกต่อหลายระดับ ดังต่อไปนี้  
 
การเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล มีทั้งหมด 3 ด้าน 
  • การพัฒนาความรู้ เช่น เยาวชนเกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ หลุดจากกรอบเดิมๆ สมาธิ การวางแผน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การะดมความคิด สื่อสาร คิดก่อนพูด การใช้เหตุผลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเปิดรับทัศนคติเพื่อน การทำงานที่มีจุดมุ่งหมายแน่ชัด การประนีประนอม การได้สะท้อนมุมมองของตนเอง
  • การพัฒนาทักษะ เช่น เยาวชนเกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะด้านการแสดง ทักษะด้านการบริหารจัดการโครงการ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะทางศิลปะ ทักษะการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม
  • การพัฒนาทัศนคติ เช่น เยาวชนเกิดการได้ช่วยเหลือผู้อื่น การทุ่มเทการทำงาน ร่วมมือรับความลำบาก ความรับผิดชอบ การรู้จักใจเขา-ใจเรา ใจกว้างมากขึ้น กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ การเอาชนะความยากลำบาก ความเข้มแข็ง การทำเพื่อสังคม ความสามัคคี การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักตนเองมากขึ้น ความอดทน กำลังใจ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ ความรู้สึกละเอียดอ่อน ความสัมพันธ์ การแบ่งปัน เข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น มีวินัย รู้จักเสียสละ นิ่งมากขึ้น มองโลกในแง่ดีและมองโลกในแง่ร้ายเท่าๆ กัน มีทุกข์ก็ต้องมีสุข มีความต้องการของตนเองและความรู้ความต้องการของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ มีความสุข ค้นพบคุณค่าของตัวเอง และสามารถส่งต่อพลังนี้ให้คนรอบข้างได้
การเปลี่ยนแปลงระดับกลุ่ม
  • เรียนรู้การสร้างผลงานละคร (Theater production)
  • การพัฒนาบทละครมาจากประสบการณ์จริงในชีวิต
  • เปิดใจรับฟัง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง
  • มุ่งสร้างเสริมทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม
  • ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน
การเปลี่ยนแปลงระดับครอบครัว
  • ภูมิใจในตัวลูกมากๆ
  • เห็นผลของการใช้ศิลปะสร้างสรรค์ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ก็สามารถอบรมให้ลูกเป็นคนดีได้
  • ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในกิจกรรมของโครงการ
  • หลังเสร็จโครงการ สามารถเปิดรอบขายการแสดงเพื่อสร้างได้รายเสริมให้ครอบครัวน้อง เพราะพ่อแม่มีโอกาสได้งานทำน้อย
การเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน
  • มีพื้นที่ในการเชื่อมต่อของกลุ่มผู้ใหญ่กับเด็กๆ และเยาวชน
  • กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
  • การฝึกปฏิบัติการละครชุมชนเพื่อเรียนรู้จากกระบวนการผลิตละครจากประเด็นปัญหาและปัญญาของชุมชนเพื่อนำกลับไปแสดง สะท้อนเรื่องราวให้ชุมชนเกิดการเสวนาแล้วแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนร่วมกัน
  • การแสดงของเด็กๆ เป็นสิ่งดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวและเกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจใจชุมชน
 
สังคมและชุมชนในพื้นที่จัดแสดง
  • ผู้ชมมีแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์/คนไร้สัญชาติ
  • มีโอกาสได้เห็นงานพัฒนาผ่านศิลปะการแสดงกายกรรม
  • เกิดเครือข่ายกลุ่ม/ชุมชน เพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์/คนไร้สัญชาติ
  • สร้างความเข้าใจและกระตุ้นการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้
  • มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน (Crowdfunding)
 

ความประทับใจต่อผู้สนับสนุน

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนกิจกรรมนี้ทุกท่าน การสนับสนุนของท่านเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับน้องๆ กลุ่มเป้าหมายทั้ง 6 คนและครอบครัวของพวกเขา ในฐานะหัวหน้าโครงการรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่สามารถสร้างพื้นที่ให้ทุกท่านมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในหัวใจของน้องๆ ครอบครัวและชุมชนของพวกเขาว่า ทุกความพยายามของพวกเขาที่ต้องการจะพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ของตัวเองให้ดีขึ้น นั้นไม่ได้มีความสำคัญต่อแค่คนภายใน แต่คนภายนอกชุมชนก็แสดงให้เห็นคุณค่าเหล่านี้ผ่านน้ำใจ กำลังใจและการสนับสนุนของทุกท่าน ขอบคุณมากเลยครับ ขอบคุณจากใจจริงครับ
 
นายธนุพล ยินดี 
หัวหน้าโครงการ

 

7 ก.ค. 2560

อัปเดตโครงการน้อง ๆ ฝึกซ้อมกายกรรม พร้อมออกแสดงในอำเภอเชียงดาว

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

7 ก.ค. 2560 - 7 ก.ค. 2560

การซ้อมละครเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม โดยพี่กอล์ฟ (หัวหน้าโครงการและผู้กำกับการแสดง)นัดหมายการซ้อมที่ สนามฟุตบอล โรงเรียนบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 4 โมง ถึง 5 โมงครึ่ง ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ และทุกกิจกรรมเกิดจากการเรียนรู้แบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน (PROBLEM-BASED LEARNING) เพื่อฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ การหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ผ่านการทำงานกลุ่ม โดยน้อง ๆ ผู้เข้าร่วมสนใจที่จะพูดถึงปัญหาความไม่สามัคคีของคนในชุมชน

ในแต่ละชั่วโมงการซ้อมละคร น้องผู้เข้าร่วมทั้ง 6 คน จะได้เล่นเกมจากแบบฝึกหัดการแสดงเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และเข้าสู่เนื้อหา โดยกิจกรรมเหล่านี้จะฝึกทักษะการทำงานกลุ่มและหาทางแก้ปัญหาในรูปแบบสร้างสรรค์และสนุกสนาน ทั้งยังเป็นการละลายพฤติกรรมกลุ่มอีกด้วย จากนั้นก็จะเป็นการซ้อมละครในแต่ละฉาก ซึ่งการซ้อมละครจะใช้รูปแบบ Devising theater ที่เปิดโอกาสให้นักแสดงทั้งหลายมีส่วนร่วมในการออกแบบเรื่องราว เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ และรูปแบบของการแสดง โดยมีผู้กำกับเป็นคอยให้คำปรึกษา ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้นักแสดงรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในการแสดงตั้งแต่กระบวนการแรกจนสุดท้าย

การแสดงรอบปฐมนิเทศ 

โดยหลังจากการซ้อมมาเดือนกว่า ๆ พวกเราตัดสินใจทดลองเล่นละครเรื่อง “สัตว์ในนิทานที่หน้าไป” ในหมู่บ้านปางแดงนอก ซึ่งเป็นหมู่บ้านของน้อง ๆ เพื่อให้พ่อแม่และญาติ ๆได้ดูผลงาน ทั้งยังนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงในการซ้อมครั้งต่อไป ก่อนที่จะเริ่มทัวร์แสดง 5 พื้นที่ในอำเภอเชียงดาว ซึ่งหลังจากการแสดงรอบทดลอง ผู้ชมต่างชื่นชมในผลงานและความสามารถของนักแสดงที่สามารถแสดงออกมาได้อย่างน่ารักและน่าประทับใจ อีกทั้งประเด็นยังสอดคล้องกับภาวะปัญหาการทำงานพัฒนาในชุมชน