สร้างอาชีพ เพื่อเด็กๆขาดโอกาสในชุมชนคลองเตย 40 คน

ฝึกทักษะการทำงานที่จำเป็นและสร้างรายได้ให้แก่เด็กเยาวชนชุมชนคลองเตย 40 คน เช่น การขายเสื้อผ้ามือสอง และเพนท์เล็บเจล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตให้เด็กเยาวชนคลองเตย
พื้นที่ดำเนินโครงการ ระบุพื้นที่: แขวงคลองเตย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ยอดบริจาคขณะนี้
274,889 บาทเป้าหมาย
264,000 บาทสำเร็จแล้ว

ปัญหาสังคมและวิธีการแก้ไขปัญหา
คลองเตย เป็นชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีประชากรมากกว่าหนึ่งแสนคน จากการนำเสนอของสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่าชุมชนคลองเตยมีปัญหาที่ทับซ้อนมากมาย เช่น ปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัย ความรุนแรง ยาเสพติด ปัญหาทางด้านการศึกษา หรือเศรษฐกิจในครัวเรือน เป็นต้น
ชุมชนโรงหมู ชุมชนบ้านมั่นคง ชุมชนแฟลต 23-24-25 และชุมชนริมคลองวัดสะพานนี้ คือ 4 ชุมชนจาก 46 ชุมชนในเขตคลองเตย ที่กลุ่มอาสาสมัครคลองเตยดีจังทำงานมานานกว่า 9 ปี โดยการใช้ดนตรีและศิลปะ พัฒนาเด็กเยาวชน จึงได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษา และฐานะทางครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กัน
“วันนี้ให้น้องหยุดเรียน เพราะป้าไม่มีเงินค่าขนมให้น้อง” หนึ่งในบทสนทนาของกลุ่มคลองเตยดีจัง กับผู้ปกครองของเด็กชุมชนริมคลองวัดสะพาน จากการลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย 4 ชุมชน มีเด็กเยาวชนในชุมชนจำนวน 1,207 คน จากประชากรทั้งหมด 5,013 คน พบว่า มีเด็กมากกว่า 40 คนที่ออกจากระบบการศึกษาเรียบร้อยแล้ว และอีก 190 คนที่กำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางการศึกษา เพราะฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ และอีกหลายคนตกงาน แถมหนี้สิน-รายวันก็มาทุกวัน นี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การศึกษาถูกมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา การออกจากระบบการศึกษาเพื่อหวังทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัวจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักแบบนี้ ประกอบกับความรู้และไม่มีทักษะเฉพาะติดตัวมากนัก การหารายได้จึงเป็นไปได้ยาก
คลองเตยดีจัง จึงมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมให้เด็กได้พัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การบริหารเวลา ควบคู่กับ Hard skill ที่เป็นทักษะความรู้ทางวิชาชีพพร้อมกับสร้างรายได้ให้กับเด็กเยาวชนทั้ง 4 ชุมชน โดยได้เริ่มออกแบบกิจกรรมหลักสูตรที่คาดว่าจะเป็นไปได้ ได้แก่ การขายเสื้อผ้ามือสอง และเพนท์เล็บเจล โครงการหวังว่า เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจะมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับตนเอง แบ่งเบาภาระครอบครัวในเบื้องต้นลงได้ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพให้แก่เด็กเยาวชนได้ในอนาคต
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. วางแผนหลักสูตร
2. เปิดรับสมัครเด็กเข้าร่วมโครงการ โดยดำเนินการดังนี้
1) ประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางโทรศัพท์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย
2) ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านเสียงตามสายแต่ละชุมชน
3) ติดต่อแกนนำธรรมชาติ(คนในชุมชนที่เป็นที่เคารพ นับถือ) เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์
4) ติดโปสเตอร์เปิดรับสมัครตามร้านค้าชุมชน
5) แจกใบปลิวประชาสัมพันธ์กิจกรรมตามบ้าน
3. ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ Facebook เพื่อรับบริจาคเสื้อผ้า และระดมทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับ Workshop
4. ประชุมและแนะนำแนวทางการศึกษาให้กับเด็กที่เข้าร่วมโครงการ
5. ทำระบบคัดแยกเสื้อผ้า โดยให้เด็กที่เข้าร่วมโครงการมาเรียนรู้ และคัดแยกร่วมกัน
6. จัดกิจกรรม workshop ตามหลักสูตรที่วางไว้ ดังนี้
1) เรียนและฝึกทักษะการขายเสื้อผ้ามือสอง และการทำเล็บเจล 4 ครั้ง โดยเรียนเรื่องการขายออนไลน์ การวางแผนระบบการเงิน การวิเคราะห์ต้นทุนที่เหมาะสม
การทำแผนการตลาด การผลิตสื่อและการหากลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ
2) ลงพื้นที่ตลาดเพื่อทดลองขาย 4 ครั้ง
7. สรุปผลการดำเนินโครงการ
ข้อมูลภาคี, พาร์ทเนอร์
กลุ่ม Music sharing เกิดจากกลุ่มอาสาสมัครนักดนตรีที่รวมตัวกัน โดยเริ่มจากการเปิดขอรับบริจาคเครื่องดนตรีและสอนดนตรีให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส เช่น เด็กเยาวชนในพื้นที่ชายแดน เด็กชาติพันธุ์ เด็กในพื้นที่สลัมอื่น ๆ
ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการหลักอยู่ในชุมชนคลองเตย จึงใช้ชื่อโครงการว่า “คลองเตยดีจัง” โดยใช้กระบวนการทางด้านดนตรีและศิลปะในการพัฒนาเด็กและเยาวชน มาเป็นเวลากว่า 8 ปี ซึ่งทำงานกับเด็กและเยาวชนหลากหลายวัยจะมีการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัยและลักษณะเด็กในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย และการทำงานกับเด็ก เยาวชน 7 ปีที่ผ่านมา มีเด็กในชุมชนที่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นครูอาสาสมัตรสอนดนตรีได้ 4-5 คน
ในส่วนเครือข่ายการทำงานจะมีการทำงานร่วมกับกรรมการชุมชน แกนนำตามธรรมชาติในชุมชน เชื่อมประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
แผนการใช้เงิน
ลำดับ | รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|---|
1 | ค่า Art work เพื่อประชาสัมพันธ์ | 1 ครัง | 3,000.00 |
2 | ค่ารถขนของสำหรับ workshop ขายเสื้อผ้ามือสอง วันละ 1,500 บาท | 4 ครั้ง | 6,000.00 |
3 | ค่าอาหารและอาหารว่าง ระหว่างการ workshop ขายของออนไลน์ 8 ครั้ง วันละ 100 บาท | 20 คน | 16,000.00 |
4 | ค่าเดินทางทีม Staff วัน workshop ขายของออนไลน์ ครั้งละ 500 บาท 5 คน | 4 ครั้ง | 10,000.00 |
5 | ค่าตอบแทนวิทยากรด้านการขาย ครั้งละ 2,000 บาท | 4 ครั้ง | 8,000.00 |
6 | ค่าเดินทางของเยาวชนที่เข้าร่วม workshop ขายของออนไลน์ วันละ 200 บาท จำนวน 20 คน | 4 ครั้ง | 16,000.00 |
7 | ค่าอุปกรณ์การทำเล็บ ชุดละ 1,500 บาท | 20 ชุด | 30,000.00 |
8 | ค่ารถขนอุปกรณ์สำหรับ workshop การทำเล็บเจล วันละ 1,500 บาท | 4 ครั้ง | 6,000.00 |
9 | ค่าตอบแทนวิทยากร workshop การทำเล็บเจล ครั้งละ 2,000 บาท | 4 ครั้ง | 8,000.00 |
10 | ค่าอาหารและอาหารว่าง ระหว่างการ workshop การทำเล็บเจล 8 ครั้ง วันละ 100 บาท | 4 ครั้ง | 16,000.00 |
11 | ค่าเดินทางทีมStaff วัน workshop การทำเล็บเจล ครั้งละ 500 บาท 5 คน | 4 ครั้ง | 10,000.00 |
12 | ค่าเดินทางของเยาวชนที่เข้าร่วม workshop การทำเล็บเจล วันละ 200 บาท จำนวน 20 คน | 4 ครั้ง | 16,000.00 |
13 | ค่าเดินทางของเยาวชนที่เข้าร่วม workshop การขาย ที่ตลาด วันละ 200 บ. จำนวน 40 คน | 4 ครั้ง | 32,000.00 |
14 | ค่าเดินทางStaff workshop การขาย ที่ตลาด วันละ 500 บ. จำนวน 5 คน | 4 ครั้ง | 10,000.00 |
15 | ค่าInternet ครั้งละ 200 บาท จำนวน 20 คน | 4 ครั้ง | 16,000.00 |
16 | บริหารจัดการ การประสานงานของทีมงาน เดือนละ 5,000 บาท | 3 เดือน | 15,000.00 |
17 | ค่าวัสดุ อุปกรณ์ | 10,000.00 | |
18 | ประชุมทีมงาน ครั้งละ 3,000 บาท | 4 ครั้ง | 12,000.00 |