มาลาเรีย ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย

มาลาเรีย ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย

มาลาเรีย หรืออาจเป็นที่รู้จักว่าไข้ป่า ไข้ป้าง หรือไข้จับสั่น เป็นโรคในพื้นที่ป่าเขตร้อนชุ่มชื้น มักพบในบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบที่มีแหล่งน้ำ ลำธาร

มาลาเรีย หรืออาจเป็นที่รู้จักว่าไข้ป่า ไข้ป้าง หรือไข้จับสั่น เป็นโรคในพื้นที่ป่าเขตร้อนชุ่มชื้น มักพบในบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบที่มีแหล่งน้ำ ลำธาร หลายคนอาจเข้าใจว่ามาลาเรียเป็นโรคที่ถูกควบคุมและกำจัดจนหมดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง มีผู้ป่วยมาลาเรียทั่วโลกประมาณ 241 ล้านคน และเสียชีวิตถึง 627,000 คนในปี 2563  

อาการและความรุนแรงของโรคมาลาเรียขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับ และการตรวจรักษาที่ทันท่วงที ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไปจนถึงอุจจาระเป็นเลือด หมดสติ และเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตจากมาลาเรีย เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ปอดบวมน้ำ ตับ ไต หรือม้ามล้มเหลว อาการช็อกเนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นต้น

มาลาเรียไม่ได้เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เกิดจากเชื้อปรสิต Plasmodium ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียมากัดคน จะปล่อยเชื้อผ่านทางน้ำลาย ทำให้ผู้ถูกกัดติดเชื้อ โดยจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 10-14 วัน หลังจากโดนยุงก้นปล่องที่ติดเชื้อกัด และหากยุงก้นปล่องมากัดผู้ป่วยก็จะเป็นพาหะแพร่เชื้อมาลาเรียไปให้ผู้อื่นได้อีกด้วย

ยุงก้นปล่องออกหากินช่วงพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่ และวางไข่ในธารน้ำใสไหลริน หรือแอ่งน้ำสะอาดในป่า ผู้ที่เสี่ยงคือ กลุ่มคนที่เข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์ หรือทำงานตามชายป่าในช่วงเวลากลางคืน เช่นผู้มีอาชีพกรีดยาง ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ผู้พิทักษ์ป่าไม้ หรือคนในหมู่บ้านที่พักค้างแรมอยู่ในป่าหรือใกล้ลำห้วย

ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาพักแรมในแหล่งที่มีโอกาสโดนยุงก้นปล่องกัดและติดเชื้อมาลาเรียได้

ปัจจุบันในประเทศไทยพบโรคไข้มาลาเรียบริเวณจังหวัดใกล้ชายแดนที่มีป่าเขาเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เฉพาะใน 7 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 5,170 ราย โดยพบมากในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปในปี พ.ศ. 2567 ไม่ให้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ของประเทศไทยอีกต่อไป (มีรายงานผู้ป่วยมาลาเรียได้แต่ต้องไม่ติดเชื้อในประเทศไทย) โดยมีมาตรการให้ความรู้ และความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในการป้องกันการแพร่กระจายโรค และการกำจัดโรคให้หมดไปจากพื้นที่

มาลาเรียป้องกันได้ด้วยการป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด เมื่อเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ทายาที่มีสารไล่แมลงที่ผิวหนังทุก3-4 ชม. นอนในมุ้งชุบสารกันยุง โดยมักพบการแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม หากเดินทางหรือมีผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงเดินทางมา และมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ควรไปตรวจและบอกแพทย์เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรค เพราะมาลาเรียมีอาการเบื้องต้นคล้ายกับโรคอื่นๆ การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและทันท่วงทีสามารถรักษามาลาเรียให้หายขาดได้

เทใจมีโครงการที่ช่วยดูแลผู้พิทักษ์ป่าผู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาลาเรียจากการทำงาน โดยพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อมาลาเรียที่ได้เข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ดังนี้

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) จังหวัดชุมพร
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ ตอนบน
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี

ดูรายละเอียดเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้พิทักษ์ป่าในโครงการใครรักป่ายกมือขึ้น ได้ที่ https://taejai.com/th/d/rangersfund2022/