เจอเต่าบาดเจ็บ ต้องช่วยเหลือเต่าจึงจะรอด
ทุกวันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันเต่าโลก เพื่อให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ รวมถึงตระหนักในความปลอดภัยและการรุกล้ำที่อยู่อาศัยของเต่า
สำหรับในประเทศไทย เดือนพฤษภาเป็นช่วงเวลาเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ซึ่งเป็นฤดูที่เต่าและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ โดยจะเดินออกจากแหล่งที่อยู่เพื่อตามหาเต่าตัวอื่น ดังนั้นเต่าที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือใกล้ชุมชนอาจออกมาบนถนนและได้รับบาดเจ็บจากการถูกรถทับได้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รักษาเต่าและตะพาบไทยไม่มีเจ้าของที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจำนวนสูงขึ้นในเดือน มิย-สค อย่างเห็นได้ชัดในแต่ละปี และในปี 2563 มีเต่าและตะพาบน้ำบาดเจ็บกระดองแตกจากอุบัติเหตุรถทับจำนวน 107 ตัว
เมื่อเข้าหน้าฝน หรือช่วงเวลาที่ฝนตกบ่อย ผู้ขับขี่ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์อาจช่วยกันสังเกตและช่วยกันเพิ่มความระมัดระวังเพื่อลดการขับรถทับเต่า ในพื้นที่ชานเมืองที่มีแหล่งน้ำ หรือพื้นที่ที่กำลังพัฒนากลายเป็นเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่เต่ามักออกมาเพื่อหลบเลี่ยงผู้คน ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังและความพยายามในการสังเกตมากเพราะกระดองของเต่ามีสีดำหรือสีเข้มยากแก่การมองเห็นในเวลากลางคืน
“ถ้าชนหรือทับเค้าแล้ว อยากให้ลงไปช่วยเค้าหน่อยนะคะ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่ทับแล้วเค้าจะตาย มีหลายครั้งที่มีคนนำมาส่ง แล้วเราก็ช่วยเค้าได้” สัตวแพทย์หญิง ดร. ฐนิดา เหตระกูล ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ เล่าถึงประสบการณ์การช่วยเหลือเต่าที่ได้รับอุบัติเหตุ
เมื่อเต่าถูกรถชนหรือรถทับ กระดองอาจแตกร้าวขึ้นอยู่กับความรุนแรงและมุมที่ทับ โดยเนื้อเยื่อภายใต้กระดองที่แตกนั้นสามารถสมานและเพิ่มความหนาจนเหมือนกระดองได้ เพราะกระดองนั้นสร้างจากเนื้อเยื่อและกระดูกของเต่ามีเส้นเลือดและประสาทไปเลี้ยง แต่ใช้เวลานานมาก เต่าอาจเสียเลือดมากหรือติดเชื้อจนไม่สามารถรอดชีวิตได้ ดังนั้นการช่วยเหลือเต่าบาดเจ็บหรือกระดองแตกร้าวเสียหายให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจึงสำคัญมาก
เมื่อพบเต่าบาดเจ็บ เราสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดให้เต่าได้ด้วยการดูแลง่ายๆ ดังนี้
- เคลื่อนย้ายเต่าออกจากถนน ด้วยการจับด้านข้างของกระดองสองข้างยกเต่าขึ้นตรงๆ หากเต่ามีขนาดใหญ่หรือกระดองแตกเสียหายมาก ให้หาแผ่นไม้หรือพื้นแข็งสอดเข้าใต้เต่า แล้วยกขึ้น
- ประเมินความวิกฤติ สำรวจดูแผล หากเต่ายังมีแรงตอบสนอง ขยับตัวขัดขืน หรือพยายามเดินลงน้ำไปเอง แสดงว่าเต่ายังมีสภาพที่ดี หากไม่ตอบสนอง หรือเดินหนีจากแหล่งน้ำ หรือเลือดออกมาก ควรได้รับการตรวจและรักษาจากสัตวแพทย์
- ห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดแผล หากกระดองแตกเป็นชิ้นใหญ่พยายามอย่าให้กระดองเคลื่อนหรือขยับมาก ใส่ในภาชนะใหญ่กว่าเต่านิดหนึ่งเพื่อให้เต่าสามารถขยับตัวเพื่อหายใจได้ เพื่อนำส่งรักษา
- การนำส่งรักษา ให้ค้นหาคลีนิคหรือโรงพยาบาลสัตว์พิเศษ Exotic Pets ใกล้ๆ ติดต่อกู้ภัย หรือ จส. 100 เพื่อขอความช่วยเหลือ
ปกติการดูแลรักษาเต่าที่ได้รับบาดเจ็บนั้นใช้เวลานาน อาจใช้เวลานานถึง 4-6 เดือน เพราะจำเป็นต้องระวังและรักษาเรื่องการติดเชื้อ รักษาแผล และการฟื้นฟูร่างกายก่อนนำกลับสู่พื้นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจึงค่อนข้างสูง โดยค่ายาอุปกรณ์ทำแผลประมาณวันละ 300-500 บาท เต่าบางตัวอาจมีความจำเป็นต้องตรวจเลือด เอ็กซเรย์ เย็บแผล วางยาสลบ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้นไปอีก ผู้ที่ช่วยเหลือนำเต่าส่งโรงพยาบาลอาจไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ โดยมากทางโรงพยาบาลจะมีกองทุนในการรักษา หรือสามารถติดต่อกองทุนรักษาเต่าบาดเจ็บ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ (02 251 8887) เพื่อขอนำเต่าเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการได้
หากพบเต่าอยู่ในที่เสี่ยงต่อการได้รับอุบัติเหตุ ควรนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสะอาดที่เป็นน้ำไหล มีตลิ่งที่เต่าสามารถขึ้นจากน้ำได้ ห่างไกลชุมชน มีแหล่งอาหารในน้ำ เช่นพืชน้ำหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก สามารถปรึกษาสถานที่ปล่อยที่เหมาะสมกับเต่าได้ที่ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ หรือ เพจ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ - VMARC
นอกจากเต่าออกมาหาคู่ในช่วงหน้าฝนแล้ว เต่ายังต้องออกมาหาที่วางไข่ซึ่งต้องเป็นที่แห้งเที่สามารถฝังและกลบไข่ได้ รวมถึงออกมาหาอาหาร หรือเดินออกจากที่อยู่อาศัยมาไกลจนหลงทาง ดังนั้นเราอาจพบเต่าบนถนนได้ตลอด ควรช่วยกันเคลื่อนย้ายเต่าออกจากถนนเต่าที่พบยังไม่โดนชนหรือบาดเจ็บ โดยเต่าไทยทุกชนิดถือเป็นสัตว์ที่อยู่ภายใต้ พรบ. คุ้มครองสัตว์ป่า การเก็บไว้ครอบครองถือเป็นการผิดกฎหมาย ควรนำไปปล่อยในพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม หรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลรักษา เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และรักษาให้เต่าได้ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ขอขอบคุณหมอ ณ. อ.สพ.ญ.ดร.ฐนิดา เหตระกูล และหมอปิ้ว น.สพ. นรภัทร โตวณะบุตร ที่ร่วมให้ความรู้สำหรับบทความนี้ด้วยค่ะ
แหล่งข้อมูล
- ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เพจ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ - VMARC
- โครงการกองทุนรักษาเต่าบาดเจ็บ
- https://animals.howstuffworks.com/reptiles/turtle-shell1.htm#:~:text=Fractured shells are common and,slowly repair itself and regrow
- https://cobras.org/8-amazing-turtle-facts
- https://www.pawpick.com/exotic-pet-hospital/
- https://www.js100.com