มูลนิธิสื่อสร้างสุข เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานสื่อในจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2546 โดยรวมตัวกันในนามศูนย์ข่าวประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้มูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี โดยการนำของนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เพื่อทำงานสื่อมัลติมีเดีย วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซด์ท้องถิ่น สร้างสังคมสุขภาวะให้แก่คนอุบลราชธานี โดยก่อตั้งองค์กรในปี 2551 จดทะเบียนมูลนิธิในปี 2556 มีเป้าหมาย หรือพันธกิจ คือ การทำหน้าที่ของสื่อสร้างสุขภาวะ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีภารกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.งานพัฒนระบบอาหารยั่งยืน sustainable Food System หรือที่รู้จักในชื่อ โครงการกินสบายใจ มีนางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีภารกิจคือ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบอาหารที่ยั่งยืน และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติได้ 2. งานรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีภารกิจคือ สร้างทักษะให้ประชาชนเฝ้าระวังสื่อและข้อมูลข่าวสาร/พัฒนานักสื่อสาร และศูนย์ตอบโต้ข่าวลวงผ่านแพลตฟอร์ม mojo esan เพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้ 3.งานสื่อสารสาธารณะเพื่อสุขภาวะ มุ่ง SDGs มีนายสุวาทิต กุลทิต เป็นผู้รับผิดชอบงาน มีเป้าหมายเพื่อสื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น หนุนเสริมกระบวนการทำงานของภาคประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนในการพัฒนาสังคมอุบลราชธานีสู่สุขภาวะ และยกระดับสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4.งาน Green Economy ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ นำเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มีนายเอกลักษณ์ นพรัตน์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า ด้วยการเชื่อมโยงความร่วมมือการดำเนินงานตาม MOU คนอุบล 1.9 ล้านคน ปลูกต้นไม้ 1.9 ล้านต้น มุ่งสู่ Green economy carbon credit มูลนิธิสื่อสร้างสุข ตั้งอยู่เลขที่ 330/5 หมู่ 17 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 โทรศัพท์ มือถือ 087-3786955 เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของเราได้ที่ Page ค้นคำว่า“สื่อสร้างสุข”
สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ 25 กลุ่ม ให้มีความรู้ด้านการผลิต ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การดูแลพืชผัก ข้าว ผลไม้อินทรีย์ การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีเกษตรกรจำนวน 233 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน และเปิดตลาดในหลายรูปแบบ เช่นตลาดในสวน ตลาดเขียวให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้า รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากห้างสุนีย์สนับสนุนพื้นที่ในการเปิดร้านกินสบายใจช็อปโดยไม่มีค่าเช่า เพื่อให้อาหารเกษตรอินทรีย์เข้าถึงผู้บริโภคคนเมืองมากขึ้น ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เครือข่ายอีสานโคแฟค มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมกับเครือข่ายโคแฟคประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการ "โคแฟคอีสานสื่อดี Anti-fakenews" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีพื้นที่ทำงานใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทั้งนี้เพื่อเป็นการหารูปแบบการสื่อสารใหม่ๆที่มีลักษณะเฉพาะในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักในปัญหาข่าวลวง และสร้างทักษะใหม่ๆในการรับมือ รู้เท่าทัน และแก้ไขปัญหา โดยผลการดำเนินงานมีกลไกการรับมือข่าวลวงในระดับภาคอีสานและกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้กับสังคม โดยมีรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจ อาทิ การประยุกต์ใช้วัฒนธรรมหมอลำเข้ามาร่วมเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในนามหมอลำโคแฟค และเกิดนวัตกรรมหมอลำ AI เพื่อสื่อสาร เครื่องมือการ์ดเกมส์ Fact Check เด้อ บัตรคำเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายใช้เป็นไกด์คำถามในการตรวจสอบข่าว จากการทำงานทำให้เกิดชิ้นงานสื่อที่เป็นการแก้ไขข่าวลวงและการรณรงค์เพื่อให้รู้ทันกลลวงกว่า 300 ชิ้น
330/5 หมู่ 17 ต.ไร่น้อย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี 34000