logo

สมาคมรักษ์ทะเลไทย

เข้าร่วมกับเทใจ2565

เกี่ยวกับองค์กร

ความเป็นมา วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์ของสมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก บ้านปากบางนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อปี ๒๕๒๔ ซึ่งถือเป็นองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (NGOs) องค์กรแรกของภาคใต้ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างโครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท (WCARRD) ร่วมกับโครงการจัดตั้งภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือ ชุมชนประมงขนาดเล็ก ในตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อปี ๒๕๒๘ ต่อมามีการขยายพื้นที่ทำงานไปยังพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา และชุมชนประมงชายฝั่งทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ อำเภอเทพา ถึง อำเภอระโนด แล้วมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จังหวัดสงขลา” จัดการบริหารโครงการ โดยมีคณะกรรมการโครงการ ประกอบด้วยเหล่าคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๖-๗ ท่าน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ แหล่งเงินทุนการดำเนินการในช่วงนั้น ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจาก แหล่งเงินทุนต่างประเทศ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศส องค์การแตร์ เด ซอม MISEREOR และCEBEMO เป็นต้น หลังจากนั้นนับตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมา ได้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนประมงชายฝั่ง เช่น ในพื้นที่ จังหวัดตรัง สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และภูเก็ต ทำให้คนทำงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสานการทำงานร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ตลอดจนสนับสนุนให้ชาวประมงพื้นบ้านได้มีองค์กรของตัวเอง เพื่อเป็นปากเสียงและพิทักษ์สิทธิ์ จนถึงการนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขต่อหน่วยงานต่างๆ จึงก่อเกิด “สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้” ขึ้น เมื่อปี ๒๕๓๖ และระหว่างปี ๒๕๓๕-๒๕๔๕ กองทุนสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเดนมาร์ก (DANCED) ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานสนับสนุนชุมชนประมงชายฝั่งในภาคใต้ (NGOsเล ภาคใต้) มีการจัดตั้งเป็น “โครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้” ขึ้น จนเมื่อหมดงบประมาณสนับสนุนจาก DANCED มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนให้คนทำงานและกิจกรรมของสมาพันธ์ฯ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากการพูดคุยระหว่างคนทำงานและที่ปรึกษาของโครงการมีข้อเสนอแนะว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องและมีส่วนสนับสนุนการทำงานของโครงการตั้งแต่ต้นนั้น ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนการทำงานที่เป็นโครงการให้เป็นนิติบุคคล จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือและยื่นจดทะเบียนเป็น “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” ได้รับการรับรองการจดทะเบียนจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมา และได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ขึ้นทะเบียนองค์กรเอกชนเพื่อเป็นผู้แทนในกรรมการสรรหากรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) จึงมีงบประมาณทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้การสนับสนุน เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ องค์การมหาชน(สบร.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง(สถาบันพระปกเกล้า) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) มูลนิธิซิเมนต์ไทย(SCG) และแหล่งทุนต่างประเทศ เช่น OXFAM GB สถานฑูตญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) มูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด เป็นต้น วิสัยทัศน์ ประสานความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีสโลแกนประจำสมาคม ว่า “อยากให้ปลากลับบ้าน ร่วมรักษาทะเลกับเรา” วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อร่วมมือและประสานงานกับรัฐและองค์กรเอกชนอื่นๆ ในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ๒. เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๓. เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์การทำงาน ๑. จัดตั้งและสนับสนุนองค์กรชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อสร้างผู้นำการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมชุนชนและคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ๒. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ทรัพยากรประมง การลดขยะทะเล การประมงอย่างรับผิดชอบ การใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนแปลงปัจจัยต้นทุนการประกอบอาชีพ ๓. การส่งเสริมการประมงพื้นบ้านเป็นผู้ประกอบการประมงยุคใหม่ ที่ทำประมงรับผิดชอบ และเท่าทันเทคโนโลยี ๔. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน / เศรษฐกิจการประมง การจัดการผลผลิตด้วยมาตรฐานการผลิตและต้นทุนการผลิต การทำงานกับตลาด สาธารณะ และ ผู้บริโภค สู่การมีสุขภาวะที่ดีของสังคม ๕. ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ (Gender) ๖. งานศึกษาวิจัย รณรงค์และเผยแพร่ และการสร้างข้อเสนอทางนโยบายของรัฐ ๗. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสมาคม ด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่และภาคีเกี่ยวข้อง  ผลงานสมาคมรักษ์ทะเลไทย ๓ ปี (๒๕๖๒ –๒๕๖๔)          ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพและพื้นที่สำหรับภาคประชาสังคมไทยเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและทะเลในประเทศไทย         สามารถผลักดันให้ผู้นำสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และผู้นำชุมชนในพื้นที่โครงการเข้าสู่พื้นที่ทางนโยบาย ทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการประมงได้เข้มข้นมากขึ้น, สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรชาวประมงพื้นบ้าน ให้เป็นองค์กรนิติบุคคล ประเภท “สมาคม” ส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนของชาวประมงพื้นบ้านมากขึ้น สนับสนุนการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงในพื้นที่, การจัดการผลผลิตสินค้าประมงพื้นบ้านที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และประสานงานผลักดันรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณส่วนกลาง สนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงในพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้านต่างๆในบริบททั่วประเทศ , ดำเนินงานในการสนับสนุนงานด้านการจัดการผลผลิตแบบมีมาตรฐาน จัดตั้งมาตรฐานประมงพื้นบ้านปลอดภัย หรือ (Blue Brand Standard) ของ FTFA และ TSWA และการให้ความรู้ในการมาตรฐานสากลต่างๆ     ประสานงานในการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านทางนโยบาย เช่น มีการแก้ไขกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือ เปิดให้จดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดเรือไม่เกิน ๑๐ ตันกรอสได้ยื่นแจ้งจดทะเบียนเรือ ตามกฎระเบียบของกรมเจ้าท่า โดยมีเรือประมงขนาดเล็กไม่เกิน ๑๐ ตันกรอส ยื่นจดทะเบียนเรือ และได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้แล้ว ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ลำ ในขณะที่การขึ้นทะเบียนชาวประมงพื้นบ้านตามระเบียบกรมประมง เพื่อสำรวจและรับรองสถานะชาวประมงพื้นบ้านยังดำเนินการต่อเนื่องต่อไป และในช่วงต้นปี ๒๕๖๒ ผู้นำ “สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย (FTFA) และ เจ้าหน้าที่ สมาคมรักษ์ทะเลไทย (TSWA) ได้รับมอบเข็มเกียรติยศ และประกาศนียบัตรรับรองจากรัฐบาลไทย ว่าเป็นผู้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการประมง IUU จนได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป เป็นผลสำเร็จ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒           ดำเนินโครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากของชุมชนประมงชายฝั่ง (การสร้างโรงเรือนแปรรูปสัตว์น้ำและวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตสินค้า ร้านคนจับปลา)           โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด ดำเนินการตั้งแต่ในปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ เพื่อดำเนินงานสนับสนุนสถานที่แปรรูปในชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างมีมาตรฐาน โดยสมาคมได้สนับสนุน วิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลา ให้เป็นธุรกิจชุมชนของพี่น้องประมงพื้นบ้าน เพื่อจัดการผลผลิตสัตว์น้ำประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอย่างรับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่าผลผลิตของชาวประมงพื้นบ้านที่จับได้มานั้น ถือว่าเป็นผลผลิตที่มีความปลอดภัยสูง         ปัจจุบันร้านคนจับปลาในพื้นที่ มี ๔ แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาประจวบคีรีขันธ์ , วิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลานครศรีธรรมราช, วิสาหกิจชุมชนร้านคนจับปลาสตูล และร้านคนจับปลาบ้านช่องฟืน จ.พัทลุง        โครงการสนับสนุนจากเครือข่ายประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยการสนับสนุนจาก องค์การออกแฟมจีบีประเทศไทย และ องค์กร ฮิวแมนยูไนเต็ด         โครงการนี้ สมาคมรักษ์ทะเลไทยจะทำหน้าที่เป็นองค์กรรับทุน บริหารจัดการสนับสนุน ให้องค์กรต่างๆ จำนวน ๖ องค์กร อาทิ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา(Stella Maris) สำหรับดำเนินกิจกรรมโครงการ การธรรมาภิบาลแรงงานข้ามชาติ โดยคำนึงถึงความหลากความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมพลังของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามหลักสิทธิมนุษยชน ,สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการเสริมศักยภาพสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยในการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ,มูลการศึกษาเพื่อการพัฒนา สำหรับดำเนินกิจกรรมโครงการ Public communication and Working with partner media และในส่วนสมาคมรักษ์ทะเลไทย สำหรับดำเนินกิจกรรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูลและการสื่อสาร และบริหารจัดการภาพรวม นอกจากนี้ สมาคมได้ดำเนินงานตามประเด็นทางยุทธศาสตร์ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ดังนี้ ยุทธศาสตร์การจัดตั้งและสนับสนุนองค์กรชาวประมงพื้นบ้าน/องค์กรพัฒนาเอกชน        สมาคมรักษ์ทะเลไทย ดำเนินงานการจัดตั้งองค์กรขาวประมงพื้นบ้านและให้องค์กรชาวประมง มีความเข้มแข็งขึ้นเพื่อยกระดับองค์กรชาวประมงพื้นบ้านให้เป็นองค์กรนิติบุคคล องค์กรชาวประมงพื้นบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายมีการดำเนินงานพร้อมกับมีกลไกขับเคลื่อนที่มีรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรชาวประมงพื้นบ้านโดยตรงและผ่านเครือข่าย จำนวน ๔๕ องค์กร อาทิ สมาคมเรือประมงชายฝั่งคลองนาทับ, สมาคมประมงพื้นบ้านชายฝั่งอ่าวไทย อ. สทิงพระ ,สมาคมประมงพื้นบ้านอำเภอสิงหนคร, สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ,สมาคมคนรักเลกระบี่ และ สมาคมรักอันดามัน เป็นต้น ยุทธศาสตร์ งานส่งเสริมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล        ได้ดำเนินการส่งเสริมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้ชุมชนได้เกิดจิตสำนึกต่อการดูแลปกป้องทรัพยากร แหล่งอาศัยตลอดจนการเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ รูปแบบของกิจกรรม คือ การสร้างเขตอนุรักษ์ของชุมชนชายฝั่ง การทำบ้านปลา ได้ขยายไปทุกพื้นที่ของการดำเนินงานของสมาคมฯ กิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่งโดยชุมชน ใน ยุทธศาสตร์ที่ ๑ อย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมหลักๆ เช่น กิจกรรมทิ้งซั้งกอสร้างบ้านให้ปลา, กิจกรรม “ธนาคารปูม้า” เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรปูม้าชุมชนประมงพื้นบ้าน , กิจกรรมปล่อยพันธุ์กุ้งมังกร และเขตอนุรักษ์กุ้งมังกร ที่ชุมชนชายฝั่งเขาปิหลาย ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา , กิจกรรมธนาคารปูและกั้ง ที่ ชุมชนชายฝั่งบ้านหินช้าง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นต้น ยุทธศาสตร์งานส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และ ทำงานกับผู้บริโภคสัตว์น้ำ        สนับสนุนงานแปรรูปสัตว์น้ำในรูปของวิสาหกิจชุมชน ทำให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้มีการรวมตัวกันหาวิธีการจัดการผลผลิตสัตว์น้ำของตนเองที่หามาได้โดยมีการแปรรูปอาหารทะเลให้มีมาตรฐาน เป็นสัตว์น้ำที่มีคุณภาพพรีเมี่ยมในแบรนด์ “ร้านคนจับปลา” ทำให้มูลค่าสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น มีช่องทางในการตลาดทางเลือกใหม่ส่งผลเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันการดำเนินงานร้านคนจับปลาครอบคลุมพื้นที่ทำงาน ๕ จังหวัด รวมทั้งการจัดกิจกรรม “รวมพลคนกินปลา” เพื่อสื่อสารเรื่องราวของชาวประมงพื้นบ้านไปยังผู้บริโภคสัตว์น้ำ ได้มีการจัดเวที “งานรวมพลคนกินปลา /Fisherfolk in Bangkok ณ. Root Garden ทองหล่อซอย ๓ ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โดยในกิจกรรมมีการเสวนา การออกร้านจำหน่ายสินค้าให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เลือกซื้อ ซึ่งเป็นสินค้าจากชาวประมงในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สตูล สงขลา ปัตตานี เป็นต้น ยุทธศาสตร์งานศึกษาวิจัย รณรงค์และเผยแพร่       งานศึกษาวิจัย รณรงค์และเผยแพร่ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๔ สมาคมฯได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่สมาคม งานวิจัยฯหลายเรื่อง อาทิ สำรวจข้อมูลสัตว์น้ำเศรษฐกิจในทะเลและสถานการณ์การจับและขายสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กในทะเล กรณีศึกษากุ้งมังกร บ้านเขาปิหลาย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ,กรณีศึกษา เพื่อการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอวนรุนเคย บริเวณ จ.พังงาฝั่งตะวันตก ,กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติทางทะเล ,หนังสือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านและทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน ,หนังสือ คำพิพากษาคดีปากบารา ,หนังสือ กรณีศึกษา การขับเคลื่อนของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรณีศึกษา ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ,หนังสือ กรณีศึกษา การสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรฯม.๑ บ้านทะเลนอก ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นต้น         ยุทธศาสตร์งานผลักดันทางนโยบายของรัฐ สมาคมรักษ์ทะเลไทยได้ดำเนินงานผลักดันนโยบายภาครัฐ ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ร่วมเสนอและผลักดันให้ ชาวประมงพื้นบ้านและภาคีเกี่ยวข้องมีพื้นที่ในทางนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อมีหลักประกันในการมีความคิดเห็นและมุมมองจากชุมชนโดยตรงมากขึ้น จนสามารถ มีผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ, สนับสนุนองค์กรชาวประมงในระดับจังหวัด เข้าไปเป็นกรรมการประมงประจำจังหวัดในสัดส่วนตัวแทนองค์กรชุมชนประมงชายฝั่ง และเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกโยบายภาครัฐ ในกรณีต่างๆ ได้ เช่น กรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงฯ เป็นต้น ยุทธศาสตร์การตั้งรับการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและโรคอุบัติใหม่        ได้ทำงานระดมปลาจากพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ทำงานของสมาคมฯ เพื่อส่งต่อไปยังผู้ที่ด้อยโอกาสและผู้ที่มีความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์โควิด จำนวน ๒ ครั้ง ได้รับผลประโยชน์ ทั้งหมด ๑๕ กลุ่ม ๙ จังหวัด และมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากการได้รับอาหารทะเลไปแจกจ่ายเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด, ศูนย์หนุนชุมชนภัยพิบัติภาคเหนือ, โรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส, , มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิเด็ก เป็นต้น ได้จัดทำโครงการทูตอาหารทะเล ในวิกฤติ COVID-๑๙ โดยเปิดรับบริจาคค่าอาหาร เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจกลุ่มอาสาสมัครชุมชน, บุคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับงานคัดกรอง งานรักษาโรค ดูแลผู้ป่วย หรือดูแลกลุ่มเสี่ยง และต้องที่กักตัวเองตามมาตรการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม กลุ่มผู้พิการ การซื้อสินค้าสัตว์น้ำจากชาวประมงพื้นบ้านในเครือข่ายของสมาคมสมาพันธ์ฯ เพื่อจัดส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์

เป้าหมาย SDGs

-

กลุ่มเป้าหมาย

-

ติดต่อ

โครงการทั้งหมด (1)