project เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ อื่นๆ

จิตวิทยาให้คำปรึกษาและบำบัด แก่เด็กและผู้ที่ได้รับบาดแผลภายใน (Trauma care) จังหวัดเชียงใหม่

ช่วยเด็กและบุคคลที่ได้รับบาดแผลภายในกว่า 300 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าถึงคำปรึกษา การเยียวยา และบำบัดจากนักจิตวิทยาเชี่ยวชาญ เพื่อลดอัตราเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

ระยะเวลาโครงการ 01 เม.ย. 2566 ถึง 31 ส.ค. 2567 พื้นที่ดำเนินโครงการ ระบุพื้นที่: ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ (มูลนิธิเรดิออน อินเตอร์เนชั่นแนล), จังหวัดเชียงใหม่ (มูลนิธิช่วยเหลือเด็กในจังหวัดเชียงใหม่), จังหวัดเชียงใหม่ (ประชาชนทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่)

ยอดบริจาคขณะนี้

584,639 บาท

เป้าหมาย

584,100 บาท
ดำเนินการไปแล้ว 100%
จำนวนผู้บริจาค 321

สำเร็จแล้ว

ช่วยเด็กและบุคคลที่ได้รับบาดแผลภายในกว่า 300 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้เข้าถึงคำปรึกษา การเยียวยา และบำบัดจากนักจิตวิทยาเชี่ยวชาญ เพื่อลดอัตราเสี่ยงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

ปัญหาสังคมและวิธีการแก้ไขปัญหา

ปี 2020 ยูนิเซฟได้ทำการศึกษาในประเทศไทยเกี่ยวกับเด็กไทย พบผลที่น่ากังวลมากว่า เด็กไทย 1 ใน 7 คน มีปัญหาสุขภาพจิต

ปี 2022 Global Schools Survey ทำการสำรวจพบว่า 17.6% ของเยาวชนไทยคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือ ทุก 10 นาที จะมีผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย 1 คน

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในอาเซียน จึงเห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพจิตจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนรวยหรือคนจน เด็กหรือผู้ใหญ่ แต่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกชุมชน ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องร่วมกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น โดยเฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองต้องเข้าใจและเรียนรู้ที่จะป้องกันและสังเกตได้ตั้งแต่เริ่มต้น

หากมองถึงปัญหาดังกล่าว ทางภาครัฐยังไม่ได้มีรูปแบบการรองรับการกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างจริงจัง และวัฒนธรรมสังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปิดกว้างเรื่องการให้ความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต ยังคงเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยแพทย์กระแสหลักจากโรงพยาบาลเพื่อเป็นหนทางแก้ไขหลัก

 จังหวัดเชียงใหม่นับว่าเป็นจังหวัดมีพื้นที่และประชากรจำนวนกว่า 1,789,385 คน แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตได้เข้าทำการรักษา ประกอบกับหากไปปรึกษากับภาคเอกชน ผู้ปกครองหรือมูลนิธิที่ดูแลเด็กต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูง  ประชาชนส่วนใหญ่จึงมองว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ชะลอได้หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อเข้ารับการักษาในรูปแบบนี้ 

โครงการ“จิตวิทยาให้คำปรึกษาและบำบัด แก่เด็กและผู้ที่ได้รับบาดแผลภายใน (Trauma care)” เป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือให้กับกลุ่มคนที่ถูกทารุณกรรม ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกคุกคามทางเพศ ถูกค้ามนุษย์ และถูกใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น โดยโครงการจะเปิดกว้างให้แก่คนทุกชนชั้น ทุกวัยทุกอาชีพ รวมทั้งชุมชนรากหญ้าให้ได้เข้าถึงการรับการรักษาผ่านนักจิตวิทยาเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ รวมถึงช่วยเหลือผู้ปกครองหรือบุคคลที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ เพื่อให้การเยียวยาและการให้คำปรึกษาช่วยเหลือคนในชุมชนได้มากที่สุด และเป็นพื้นฐานต่อผู้ที่เข้ามาโครงการให้มีความรู้สามารถมีส่วนในการป้องกันให้กับผู้อื่นในสังคมต่อไปได้

มูลนิธิเรดิออนฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงมานานกว่า 15 ปี เราทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาอาสาสมัครเพื่อดูแลสุขภาพจิตของเด็กเป็นรายครั้ง พบว่า เด็กในโครงการมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้โครงการตั้งใจเปิดพื้นที่ให้บุคคลภายนอกได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากแนวโน้มการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงานในช่วงปี 2020-2022 มีเพิ่มมากขึ้น เช่นกัน ทางมูลนิธิฯ จึงจำเป็นต่อการขอความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการเพื่อเริ่มต้นให้คนกลุ่มเสี่ยงในสังคมมากมายได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งไม่เป็นเพียงการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต แต่เป็นการช่วยชีวิตคนให้มีชีวิตต่อไปได้


ขั้นตอนการดำเนินโครงการ

ขั้นตอนการเตรียมโครงการ 

1. จัดหานักจิตวิทยาเฉพาะทางจำนวน 3 คน
ทางมูลนิธิฯเป็นผู้ประสานจากผู้ที่เคยเป็นอาสาสมัครทำงานด้านสุขภาพจิตร่วมกับมูลนิธิฯ เนื่องจากมีความเข้าใจพื้นฐานและประสบการณ์การทำงานร่วมกับเด็กกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งติดต่อนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ทราบถึงแพลนการดำเนินงาน วางโครงสร้างการทำงานตามประเภทกลุ่ม และการประเมินผล (จัดสรรให้นักจิตวิทยาปฏิบัติงานเป็นรายครั้ง)

2. ประสานงานร่วมกับองค์กร/หน่วยงาน

2.1. ร่วมประสานกับผู้นำเครือข่ายมูลนิธิฯ เด็กในจังหวัดเชียงใหม่สถานสงเคราะห์เด็กในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสถานสงเคราะห์ที่มีเด็กต้องการความช่วยเหลือ เพื่อทำงานร่วมกันเรื่องการส่งเด็กเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมทั้งข้อตกลงและแนวทางร่วมกันระหว่างมูลนิธิ โดยตลอดโครงการรับในจำนวน 100 คน หรือมากกว่าในกรณีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
2.2. ร่วมประสานกับหน่วยงานภาครัฐคือ ผู้ใหญ่บ้าน 5 หมู่บ้านของตำบลสบแม่ข่า นายอำเภอหางดง สถานีตำรวจภูธรอำเภอหางดง และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพร้อมในการรองรับเด็กและประชาชนที่ต้องการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต โดยตลอดโครงการรับในจำนวน 150 คน หรือมากกว่าในกรณีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
2.3. ร่วมประสานกับโรงพยาบาลสวนปรุงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานร่วมกันด้านการส่งคนในกรณีต้องรับการรักษาจากจิตแพทย์เพื่อการจ่ายยา และส่งต่อคนที่ต้องการด้านการรักษาสุขภาพจิตแต่ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพจิตจากโรงพยาบาล

3. จัดแพลนตารางจิตวิทยาให้คำปรึกษาและบำบัด

แบ่งการช่วยเหลือออกเป็นประเภทกลุ่มคน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 (วันจันทร์-อังคาร) : บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มทำร้ายตัวเอง (ถูกค้ามนุษย์ ถูกคุกคามทางเพศ ถูกใช้ความรุนแรง ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกช่วยจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย) รับการดูแลจากนักจิตวิทยาเชี่ยวชาญ/อาจารย์
กลุ่มที่ 2 (วันพุธ-ศุกร์) : 2 กลุ่ม คือ 1.บุคคลกลุ่มเสี่ยงแต่ใช้ชีวิตได้ปกติ และบุคคลที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจ รับการดูแลจากจิตวิทยาทั่วไป 2. เด็กจากสถานสงเคราะห์เด็กในจังหวัดเชียงใหม่ รับการดูแลจากจิตวิทยาเฉพาะทางเด็ก
กลุ่มที่ 3 (วันเสาร์) : เด็กภายในโครงการ “เด็กไร้ที่พึ่ง” จำนวน 50 คน รับการดูแลจากจิตวิทยาเฉพาะทางเด็กและนักจิตวิทยาทั่วไป

จำนวนการรับ : นักจิตวิทยาช่วยเหลือได้ 4 คน ต่อ 1 วัน

ระยะเวลา : การให้คำปรึกษาและบำบัด 1 คนต่อ 1 เดือน เป็นจำนวน 12 ครั้ง (1 ปี)

4. ออกแบบเก็บข้อมูลและประเมินผล

จัดหาโปรแกรมเฉพาะการเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ารับการให้คำปรึกษาและบำบัด เพื่อทำการประเมินและปรับปรุงการช่วยเหลือของนักจิตวิทยา โดยข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับภายใต้การดูแลข้อมูลของมูลนิธิเรดิออน อินเตอร์เนชั่นแนล 

5. แพลนการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรมูลนิธิฯ บุคลากรภาครัฐ และกลุ่มผู้นำชุมชน

จัดโดยมูลนิธิเรดิออนฯ และนักจิตวิทยาที่ให้การดูแลรักษาปีละ 4 ครั้ง มุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านการให้คำปรึกษาเบื้องต้น การสังเกตผู้ป่วยทางสุขภาพจิตระยะแรก การช่วยเหลือผู้ที่ทำร้ายตัวเอง การเรียนรู้จักอาการผู้มีสภาวะ Trauma care เป็นต้น เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้การช่วยเหลือคนภายใต้การดูแล

การสร้างความยั่งยืนของโครงการ

1. การรักษาผู้ป่วยสุขภาพจิตให้ดีขึ้นจนสามารถกลับไปช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมต่อไปได้
และผู้เข้ารับการรักษาสามารถเป็นอาสาสมัครเพื่อทำการรักษาผู้อื่นในสังคมร่วมกับมูลนิธิในอนาคต
2. การให้ความรู้พื้นฐานแก่บุคลากรเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลภายในเพื่อกระจายการช่วยเหลือไปยังองค์กรอื่นๆ
3. โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้คนในสังคมรู้จักศูนย์ HOPE CENTER ศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม ดังนั้นเมื่อเป็นที่รู้จักจะทำให้องค์กรช่วยเหลือสังคมยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น อีกช่องทางหนึ่งคือการบริจาคของผู้เข้ารับการรักษาจะเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือและช่วยสร้างความแข็งแกร่งของศูนย์มากขึ้น




ผู้รับผิดชอบโครงการ

มานาทิพย์ ณ เชียงใหม่
ผู้จัดการประเทศและผู้รับผิดชอบโครงการ 

ศุภชัย พงศาสัตย์
ผู้จัดการสถานสงเคราะห์มูลนิธิเรดิออนฯ 

อัจฉรา สุจา
เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานมูลนิธิเรดิออนฯ 

นรรัตน์ วงศ์เจริญวิสูทธิ์
ผู้จัดการบัญชีและการเงินมูลนิธิเรดิออนฯ 


ไม่มีข้อมูล

แผนการใช้เงิน

ลำดับ รายการ จำนวน จำนวนเงิน (บาท)
1 นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญ/อาจารย์ 2,200-/วัน 80 วัน/ปี 176,000.00
2 นักจิตวิทยาเฉพาะทางเด็ก 1,500-/วัน 160 วัน/ปี 240,000.00
3 จัดอบรมบุคลากร 20,000/ครั้ง 4 ครั้ง 80,000.00
4 ระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้เข้ารับการช่วยเหลือ 1 ครั้ง 35,000.00
รวมเป็นเงินทั้งหมด
531,000.00
ค่าธรรมเนียมของเทใจ (10%)
53,100.00

ยอดระดมทุน
584,100.00