cover_1

โครงการปลากด อุปกรณ์กายภาพบำบัดด้วยการเล่นเกม

เงินบริจาคของคุณจะพัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเกมให้กับเด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ทำกายภาพบำบัด15คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว

ระยะเวลาระดมทุน

21 ส.ค. 2565 - 31 ธ.ค. 2565

พื้นที่ดำเนินโครงการ

ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120

เป้าหมาย SDGs

GOOD HEALTH AND WELL-BEINGINDUSTRY, INNOVATION AND INFRASTRUCTURE

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

ผู้พิการ
15คน

โครงการปลากด เป็นโครงการพัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเกม เพื่อให้เด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ทำกายภาพบำบัดไปพร้อมกับการเล่นเกมที่ชอบ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจและความสนุกสนานให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยากทำกายภาพบำบัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อนั้นแข็งแรงและคงสภาพไปได้นานขึ้น

ปัญหาสังคม

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจัดเป็นกลุ่มโรคหายากที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหรือการควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อค่อยๆ ตายลงจนสูญเสียการควบคุมอวัยวะนั้นไป ตัวอย่างของโรคที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น เช่น Duchenne, Spinal Muscular Atrophy (SMA), Charcot-Marie-Tooth Disease (CMT) จุดกำเนิดและอาการของแต่ละโรคนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อยแต่ที่เหมือนกันคือส่งผลทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยค่อยๆ อ่อนแรงลง ปัจจุบันโรคกลุ่มนี้มีวิธีการรักษาวิธีเดียวคือการทำ Gene Therapy ซึ่งราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพึ่งพิงวิธีการบรรเทาและชะลออาการด้วยยาและการทำกายภาพบำบัด

สำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากควบคู่ไปกับการรับประทานยา หากขาดการทำกายภาพบำบัดที่สม่ำเสมอแล้ว เด็กจะเกิดอาการกล้ามเนื้อฝ่อและข้อติด ส่งผลต่อการใช้อวัยวะนั้นและความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ความท้าทายของนักกายภาพบำบัดก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปวยเด็กอยากทำกายภาพบำบัด เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว การทำกายภาพบำบัดนั้นเจ็บปวดและไม่สนุก เด็กๆ จึงไม่ค่อยอยากทำ

 

 

ปลากด คือ อุปกรณ์กายภาพบำบัดด้วยการเล่นเกม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ป่วยเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อเด็กทำกายภาพบำบัดมากขึ้นก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อคงตัวอยู่ได้นานขึ้นและลดปัญหาข้อติด วิธีการทำงานของปลากด คือ การแปลงอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่มีใช้อยู่ทั่วไปให้กลายเป็นจอยบังคับเกมที่สามารถใช้เล่นเกมในเครื่องเกมต่างๆดังนั้นเมื่อเด็กใช้อุปกรณ์กายภาพบำบัดของปลากดแล้วก็จะเหมือนกับเป็นการกดปุ่มบนจอยบังคับเกมเพื่อบังคับตัวละครในเกมนั่นเอง

ปลากดประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ 

1. อุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ติดไว้ด้วย digital switch และ sensor ต่างๆ ซึ่งเมื่อผู้ใช้ใช้อุปกรณ์ switch และ sensor ก็จะส่งสัญญาณ digital ไปยัง Plakod box 

2. Plakod box หรือกล่องปลากด เป็นกล่องแปลงสัญญาณจาก digital switch และ sensor ต่างๆ มาให้กลายเป็นปุ่มบนจอยบังคับเกม ผู้ใช้สา่มารถเลือกได้ว่า switch นั้นจะให้เป็นปุ่มไหนโดยการเสียบสายเข้าช่อง และเชื่อมต่อกับ Game console

3. Game console หรือเครื่องเกม ปลากดสามารถเชื่อมต่อได้กับ game console ยอดนิยมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Nintendo Switch, PlayStation, Xbox, PC, หรือ Mobile game ทำให้เด็กสามารถเลือกเล่นเกมที่ตนเองชอบได้โดยใช้อุปกรณ์กายภาพบำบัดในข้อ 1

 

จุดเด่นของปลากด คือ

1. ความยืดหยุ่นของอุปกรณ์กายภาพที่สามารถออกแบบได้หลากหลายตามความต้องการของนักกายภาพ ด้วยการใช้ switch และ sensor ต่างๆ

2. ความยืดหยุ่นของ Game console ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเกมได้หลากหลาย

3. ความยืดหยุ่นของการเลือกเกม ผู้ใช้สามารถเลือกเล่นเกมที่ชอบได้่ไม่จำกัด

4. สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อน และนักกายภาพบำบัดเอง ด้วยการเล่นเกมด้วยกัน

 

ปัจจุบันปลากดอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยอาศัยความร่วมมือกับศูนย์กายภาพบำบัดและคณะกายภาพบำบัดตามมหาวิทยาลัยเป็นสถานทีทดลองใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของอุปกรณ์ ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการนำไปตั้งทดลองใช้ที่ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ซึ่งมีเด็กมารับบริการอยู่ประมาณ 10-15 คน เด็กแต่ละคนจะต้องมาทำกายภาพบำบัด 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนั้นก็ยังมีผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุยังมารับบริการกายภาพบำบัดอีกเป็นจำนวนมาก เป็นโอกาสในการขยายกลุ่มผู้ใช้งานไปยังกลุ่มอื่นเพิ่มเติม

เกมที่เลือกใช้ทดลองในครั้งนี้มี 3 เกม ได้แก่ เกม Mario Maker ซึ่งเป็นเกม Mario ตะลุยด่านที่สามารถสร้างด่านเองได้ ทำให้เราสามารถออกแบบด่านที่เหมาะสมกับจังหวะการกายภาพบำบัดของผู้ใช้ในเรื่องของความยากง่ายและระยะเวลาได้ เกม Mario Kart ซึ่งเป็นเกมแข่งรถยอดนิยม เล่นง่ายเพียงบังคับซ้ายขวาและปล่อยพลัง และเกม Taiko no Tatsujin ซึ่งเป็นเกมตีกลองตามจังหวะเพลง เล่นง่ายใช้เพียงสองปุ่มเท่านั้น

 

 

 

Targets

ประเภท จำนวน รายละเอียด เปลี่ยนแปลง
ผู้พิการ 15 เด็กพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์เป็นประจำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยอุปกรณ์กายภาพบำบัดทั่วไป เด็กพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ทำกายภาพบำบัดที่สนุกสนานมากขึ้น

วิธีการแก้ปัญหา

  1. พัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดด้วยการเล่นเกม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ป่วยเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง

แผนการดำเนินงาน

  1. หลังจากการติดตั้ง ทีมงานจะเข้าเก็บข้อมูลการใช้งานเป็นระยะ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาอุปกรณ์เพิ่มเติมต่อไป

แผนการใช้เงิน

รายการจำนวนจำนวนเงิน (บาท)
ทีวี 42 นิ้ว

2เครื่อง16,000.00
ขาตั้งทีวี

2ตัว8,000.00
เครื่องเกม Nintendo Switch พร้อมอุปกรณ์เสริม (เช่น เคส ฟิล์มหน้าจอ)

2เครื่อง24,000.00
กม Mario Maker (2,100 บาท), Mario Kart (2,100 บาท), และ Taiko no Tatsujin (400 บาท)

2ชุด9,200.00
รวมเป็นเงินทั้งหมด57,200.00
ค่าสนับสนุนเทใจ (10%)5,720.00
ยอดระดมทุน
62,920.00

ผู้รับผิดชอบโครงการ

มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่คนพิการและคนไม่พิการสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มูลนิธิมุ่งเน้นการสร้างความเป็นเพื่อนระหว่างคนพิการและคนไม่พิการผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันโดยมีนวัตกรรมและองค์ความรู้มารองรับเพื่อให้กิจกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ และเน้นการสร้างชุมชนเพื่อให้กิจกรรมนั้นมีความต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้าง งานของมูลนิธิครอบคลุม 3 ด้านได้แก่ กีฬา กิจกรรมนันทนาการ การศึกษาและการจ้างงาน ข้อมูลเพิ่มเติม https://together-foundation.org

ดูโปรไฟล์

สร้างเพจระดมทุน

ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการนี้

สร้างเพจระดมทุนให้โครงการนี้
icon