จ้างคนว่างงานในชุมชนคลองเตย ให้เป็นผู้ดูแลสู้ภัยโควิดในชุมชน

จ้างงาน 150 คนเพื่อทำงานสนับสนุนการควบคุมโรคในชุมชน เช่น จัดเก็บ/อัพเดทข้อมูลผู้ป่วย แจกจ่ายอาหาร/ของใช้ที่จำเป็นให้แก่คนที่กักตัวอยู่ในบ้าน เป็นต้น และเป็นการสร้างรายได้ให้ 150 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเรื่องจ้างงานในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 นี้
ระยะเวลาโครงการ 10 พ.ค. 2564 ถึง 30 มิ.ย. 2564 พื้นที่ดำเนินโครงการ ระบุพื้นที่: แขวงคลองเตย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ยอดบริจาคขณะนี้
1,685,000 บาทเป้าหมาย
1,485,000 บาทสำเร็จแล้ว
ความคืบหน้าโครงการ
ผลจากการจ้างงานในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 7 พค. 64 - 30 กค. 64
ผลจากการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานคนในชุมชนรวมทั้งหมด 140 คน ทำให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และส่งผลให้การทำงานช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั่วถึงมากขึ้น
ปัญหาสังคมและวิธีการแก้ไขปัญหา
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งในแง่สุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรคือ เรื่องของเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากนโยบายป้องกันการแพร่ระบาด , การปิดกิจการของสถานประกอบการหลายแห่ง และ การเฝ้าระวังการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้ประชากรบางส่วน ประสบกับภาวะตกงาน ไปควบคู่กับสภาวการณ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครอย่าง ชุมชนคลองเตย ซึ่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคสูง ทำให้ประชากรในชุมชนที่สุขภาพแข็งแรงอยู่ แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ คนที่เคยมีงานทำก็ต้องโดนพักงาน เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่มีโอกาสทำงาน ขาดรายได้ และต้องกักตัวอยู่ในชุมชนที่แออัด รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือคนในพื้นที่จากอาสาสมัครและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ กล่าวได้ว่า
คนในชุมชนโดนบังคับไม่ให้ออกไปทำงาน
คนนอกชุมชนก็ไม่กล้าเข้ามาเป็นอาสาสมัคร
กลุ่มดนตรีเพื่อการแบ่งปันในนาม “คลองเตยดีจัง” จึงริเริ่มโครงการจัดจ้างงานแก่ผู้ว่างงานในพื้นที่ชุมชนคลองเตยขึ้น โดยจะให้ผู้ได้รับการว่าจ้างดังกล่าว เป็นกำลังสำคัญในการเข้าช่วยเหลือ จัดการ และ กระจายสิ่งของบริจาคต่างๆให้ทั่วถึงในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงรายได้ ให้เกิดการหมุนเวียนเงินเพิ่มเติมในชุมชน ในสภาวการณ์ที่ชุมชนเปราะบางเช่นนี้ เพราะอาสาสมัครจากนอกพื้นที่ก็ไม่กล้าเข้าไปในชุมชนคลองเตย ทำให้มีของที่รอให้คนเข้าไปช่วยกันจัดการอีกเยอะมาก
อาชีพที่ต้องการจ้างแรงงานมาช่วยกันทำประกอบด้วย
1. ขับรถส่งของที่ได้รับบริจาค แจกจ่ายไปยังชุมชนต่างๆ
2. คนฉีดพ่นฆ่าเชื้อในพื้นที่ชุมชน ที่ถือว่าทุกจุดเป็นจุดเสี่ยง
3. คนช่วยจัดการของที่ได้รับบริจาคและแพ็คถุงยังชีพ ให้พร้อมนำไปแจกจ่าย
4. คนทำอาหารในครัวกลาง เพื่อแจกจ่ายอาหารไปยังครอบครัวที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน
5. คนเก็บข้อมูลในชุมชน เพื่ออัพเดทสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
1. คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งประสบปัญหาการว่างงาน จำนวน 150 คน
2. ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องโควิด-19 ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อครอบครัวของตนเองและชุมชน
3. โครงการคลองเตยดีจังจะลงพื้นที่ติดตามการทำงาน การมอบความช่วยเหลือ
ข้อมูลภาคี, พาร์ทเนอร์
โครงการคลองเตยดีจัง ดูแลพื้นที่ในชุมชนคลองเตยอยู่อย่างน้อย 4 ชุมชน ได้แก่
1. ชุมชนริมคลองวัดสะพาน
2. ชมชุนโรงหมู (โซนโรงไฟฟ้าและโซนตึกแถว)
3. ชุมชนบ้านมั่นคง
4. ชุมชนแฟลต 23-24 และแฟลต 25
จำนวนคนได้รับการจ้างงาน อัพเดท ณ วันที่ 17 พ.ค 2564
การจ้างงานในชุมชนคลองเตยแบ่งออกเป็นทีมต่างๆดังนี้
1. คนจากชุมชนโรงหมู เป็นทีมแพ็คถุงยังชีพ 39 คน
2. ทีมขับรถส่งของ 7 คน
3. คนจากล็อค 1-3 เป็นทีมฆ่าเชื้อ รับส่งคนติดโควิด 30 คน
4. ส่งอาหารในชุมชน 12 คน
5. คนจากชุมชนริมคลองวัดสะพานและแฟลต 23-24 เป็นทีมครัวกลาง 9 คน
6. คนจากชุมชนพัฒนาใหม่ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในชุมชน 11 คน
รวมทั้งหมด 108 คน
จ้างงานคนในชุมชนคลองเตย 140 คน
ผลจากการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีการจ้างงานคนในชุมชนรวมทั้งหมด 140 คน ทำให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนในชุมชนคลองเตยให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้ไปได้ เกิดการจ้างงาน ต่อไปนี้
- การจ้างงานแพ็คถุงยังชีพที่คลองเตยดีจัง ชุมชนโรงหมู 54 คน
- การจ้างงานขับรถรับส่งของบริจาคและถุงยังชีพจากจุดแพ็คของไปยังชุมชน 7 คน
- การจ้างงานฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในชุมชน และรับส่งคนติดโควิด 30 คน
- การจ้างงานส่งอาหารให้กับกลุ่มเสี่ยงที่กักตัวอยู่บ้าน 5 คน
- การจ้างงานคนในชุมชนทำอาหารในครัวกลางเพื่อส่งไปให้กลุ่มเสี่ยงที่กักตัวในบ้านและคนที่ได้รับความเดือดร้อน 21 คน
- การจ้างงานทำฟาร์มและฝึกทักษะอาชีพที่ g Garden สวนผักใจกลางพระราม 9 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จำนวน 18 คน
บันทึกผู้ได้รับการช่วยเหลือ
นางสาวประภาพร ฉัตระเนตร ชื่อเล่น เอิร์น
"ปัจจุบันไม่ได้เรียนแล้ว ก่อนโควิดเคยเป็นพนักงาน 7-11 แต่พอโควิดมา ตอนนี้เข้ามาช่วยทำงานแพคถุงยังชีพ รู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานเพราะว่าจะได้มีเงินเอาไว้ใช้จ่ายช่วงนี้ได้ ส่วนในอนาคตอยากเก็บเงินไว้ซื้อของใช้ในบ้าน และ ของเล่นของสำหรับใช้เด็ก"
นายเกียรติชัย ช่างถม ชื่อเล่น จ๊อด
"ตอนนี้ทำงานเป็นลูกจ้างประจำของสำนักงานเขตคลองเตย และเปิดร้านตัดผมของตัวเอง พอโควิดมาก็ต้องปิดร้านตัดผมทำให้รายได้ลดลง เพราะเงินเดือนจากการทำงานสำนักงานเขตจะเอาไว้ใช้เรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน ส่วนรานได้จากร้านตัดผมจะเอาไว้ใช้ในครัวเรือน โชคดีที่ได้มาทำงานขับรถส่งของบริจาคทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าอาหารลงไปได้เยอะแลมีรายได้เพิ่มขึ้น"
ภาพประกอบ
การจ้างงานแพ็คถุงยังชีพ
การจ้างงานขับรถรับส่ง
การจ้างงานส่งอาหารในชุมชน
การจ้างงานครัวกลาง
การจ้างงานทำฟาร์มและฝึกทักษะอาชีพที่ g Garden สวนผักใจกลางพระราม 9
ผลจากการจ้างงานในชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 7 พค. 64 - 30 กค. 64
ผลจากการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานคนในชุมชนรวมทั้งหมด 140 คน ทำให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และส่งผลให้การทำงานช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั่วถึงมากขึ้น
แผนการใช้เงิน
ลำดับ | รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|---|
1 | จ้างงานคนตกงาน คนละ 300 บาทต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน (1 เดือน) | 150 คน | 1,350,000.00 |