Kick It Off! ร่วมสนับสนุนวงการฟุตบอลเยาวชนไทย

เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกีฬาฟุตบอลของเด็กๆเยาวชนไทยในชุมชนระดับรากหญ้า ให้เข้าถึงการฝึกซ้อมอย่างมีมาตรฐาน ด้วยโครงการพัฒนาศักยภาพของโค้ชฟุตบอลอาสาและสนับสนุนอุปกรณ์พื้นสำหรับการฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอลตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
ระยะเวลาโครงการ 01 ส.ค. 2565 ถึง 31 ม.ค. 2566 พื้นที่ดำเนินโครงการ ทั่วประเทศ
ยอดบริจาคขณะนี้
6,259 บาทเป้าหมาย
357,500 บาทปัญหาสังคมและวิธีการแก้ไขปัญหา
ฟุตบอลถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยในปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากที่มีความสนใจและต้องการเล่นกีฬาฟุตบอล แต่โอกาสในการเข้าถึงการฝึกซ้อมอย่างมีมาตรฐานนั้นมีน้อยมาก
ในปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนหรืออะคาเดมี่อย่างเป็นทางการของสมาคมฟุตบอลทั้งหมด 452 แห่ง โดยกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งนี้พบว่ามีเพียงร้อยละ 15 หรือคิดเป็นประมาณ 68 แห่งเท่านั้น ที่เปิดให้เยาวชนไทยได้ฝึกฟุตบอลแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และอะคาเดมี่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเมือง จึงทำให้เด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจในกีฬาฟุตบอลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างต่างจังหวัดและเยาวชนที่ขาดทุนทรัพย์ในการเข้าฝึกซ้อมกีฬาในอคาเดมี่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการฝึกซ้อมตามที่ตนเองสนใจ
จากการศึกษาปัญหาพบว่า มีสมาชิกในชุมชนหรือผู้ฝึกสอนฟุตบอลเยาวชนที่เห็นปัญหาดังกล่าวได้อาสาตนเองฝึกซ้อมฟุตบอลให้กับพื้นที่ตนเองโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อขยายโอกาสในเด็กในชุมชนของตนเองได้เข้าถึงการฝึกซ้อมฟุตบอลมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่พบในการฝึกซ้อมฟุตบอลในชุมชนคือ ผู้ฝึกสอนขาดองค์ความรู้ในการจัดการฝึกซ้อมอย่างมีระบบและมาตรฐาน และขาดอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้เยาวชนที่ต้องการฝึกฝนฟุตบอลไม่ได้รับการฝึกซ้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานและพัฒนาทักษะกีฬาฟุตบอลไปได้มากเท่าที่ควร
โครงการ Kick It Off เล็งเห็นว่าการฝึกซ้อมโดยผู้ฝึกสอนจิตอาสาในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศถือเป็นรากฐานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเยาวชนในระดับรากหญ้า (Grassroots) อย่างแท้จริง หากสามารถยกระดับองค์ความรู้ให้กับอาสาสมัครในพื้นที่ได้ จะสามารถเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เข้าสู้การเป็นนักกีฬาอาชีพได้มากขึ้น การสร้างโค้ชชุมชน 1 คนทำให้สามารถพัฒนาเด็กเยาวชนในการเล่นฟุตบอลได้ถึง 20-50 คน หากสามารถสร้างโค้ชชุมชนได้ 20 คนทั่วประเทศ อาจทำให้เยาวชนเข้าถึงการฝึกซ้อมได้มากถึง 1000 คนต่อปี ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากีฬาฟุตบอลไทยในอนาคตต่อไป
โครงการจึงต้องการขยายโอกาสในการพัฒนาด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานการฝึกซ้อมฟุตบอลของผู้ฝึกสอนฟุตบอลเยาวชนอาสาในระดับชุมชนทั่วประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ฝึกสอนเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการฝึกซ้อมฟุตบอลให้กับเด็กและเยาวชนกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และสนับสนุนอุปกรณ์ฝึกซ้อมที่จำเป็นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาฟุตบอลไทยอย่างยั่งยืน
ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
- ประชาสัมพันธ์โครงการและคัดเลือกชุมชนที่จะได้รับการสนับนสนุนจำนวน 10 ชุมชน
- ทำข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการเข้าร่วมโครง และจัดอบรมเรื่องพื้นฐานความปลอดภัยในการทำงานกับเด็กและเยาวชน
- ดำเนินการประสานและสนับสนุนโค้ชอาสาให้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร G Diploma ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานองค์ความรู้ในการออกแบบการสอนและฝึกซ้อมให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเอง
- โค้ชอาสาจัดทำแผนการสอนและการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง โดยโครงการสนับสนุนอุปกรณ์พื้นที่ฐานที่จำเป็นสำหรับการฝึกซ้อม
- โค้ชดำเนินการฝึกซ้อมตามแผนที่วาง โดยมีกิจกรรมให้โค้ชอาสาที่เข้าร่วมโครงการได้แชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเทคนิคเพื่อพัฒนาแผนการสอน
- ทีมงานลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการฝึกซ้อมในแต่ละชุมชน
- ถอดบทเรียนของโค้ชผู้เข้าร่วมโครงการ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- นายปวรุตม์ ศรีบุญเกิด
- จุฑามาศ ตันติวัฒน์นิยม
- ปลื้มปีติ เหลืองสุวิมล
- เทียนชัย ภัทรชน
Kick It Off - โครงการพัฒนาโค้ชอาสาระดับชุมชน
Facebook https://www.facebook.com/kickitoffTH
แผนการใช้เงิน
ลำดับ | รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|---|
1 | อุปกรณ์ฝึกซ้อมชุดละ 20,000 บาท | 10 ชุด | 200,000.00 |
2 | ค่าสนับสนุนอบรมโค้ช G Diploma (ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยง) คนละ 5,000 บาท | 10 คน | 50,000.00 |
3 | ค่าประชาสัมพันธ์โครงการ | 1 | 30,000.00 |
4 | ค่าติดตามและประเมินผล | 1 | 45,000.00 |