Bye Bye Plastic Bags Thailand

โครงการ Bye Bye Plastic Bags Thailand ส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และผลักดัน "Eco Education" วิชาเรียนที่ส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับบรรจุเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ "มาร่วมมือกัน รักษาโลกของเรากันนะครับ"
ระยะเวลาโครงการ 10 ต.ค. 2564 ถึง 10 ต.ค. 2566 พื้นที่ดำเนินโครงการ ทั่วประเทศ
ยอดบริจาคขณะนี้
170,800 บาทเป้าหมาย
330,000 บาทปัญหา
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วง 10 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2561) นอกจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 24.10 ล้านตัน เป็น 27.93 ล้านตัน ปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2561 คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของขยะมูลฝอย หรือประมาณ 2 ล้านตันโดย 1.20 ล้านตัน เป็นถุงพลาสติก ส่วนที่เหลือเป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก สำหรับขยะพลาสติก มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ที่เหลือ 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics) อย่างเช่น ถุงใส่อาหาร ถุงหิ้ว แก้วพลาสติก กล่องพลาสติก กล่องโฟม เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแม้พลาสติกจะมีอายุยาวนานแต่กลับมีอายุการใช้งานที่สั้นมาก โดยถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น
ในปัจจุบันมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ของรัฐบาลไทยที่ใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและการรวมตัวของคนในพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด ทั้งการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน การมีระยะเวลาห้ามออกนอกเคหะสถาน พร้อมทั้งสั่งให้ปิดสถานบริการและร้านอาหาร ส่งผลให้ธุรกิจรับส่งอาหารถูกใช้บริการมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือทำให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากขึ้น ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ จากเฉลี่ย 5,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน
พลาสติกเหล่านี้เมื่อมีปริมาณมากขึ้นจนเกินสมดุลได้กลายเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในแต่ละปี ขยะพลาสติกกว่า 12 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลจำนวนไม่น้อย ทั้งเต่าทะเล ปลา นก ได้รับสารพิษ และเกิดอันตรายถึงชีวิตจากการบริโภคถุงพลาสติก
วิธีแก้ไข
ปัญหาดังกล่าว ทาง Bye Bye Plastic Bags Thailand โดยการนำของน้องลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร อายุ 13 ปี ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action มีอยู่ 6 โปรเจกต์คือ
1. สนับสนุนห้างสรรพสินค้าและร้านค้าให้ลดเลิกการแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ริเริ่มในปี พ.ศ. 2562
2. Eco Education ผลักดันการบรรจุวิชาที่ชวนให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับโครงการ Chula Zero Waste จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงการศึกษาธิการ
3. Green Guideline จัดทำแนวทางปรับร้านอาหารและคาเฟ่ให้รักษ์โลก เช่น เมนูที่ไม่มีเนื้อสัตว์ให้เลือกและลดการใช้ภาชนะพลาสติก ปัจจุบันกำลังทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันที่เราเสิร์ชหาเวลาหิวอย่าง Wongnai เพื่อเพิ่มให้ผู้ใช้ช่วยรีวิวความ Eco ของร้าน
4. Green Brand สนับสนุนผู้ผลิตให้ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
5. ขับเคลื่อนให้ลดการตัดไม้ทำลายป่า สนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งบริษัท ภาครัฐ และโรงเรียน กำหนดจำนวนต้นไม้ที่จะปลูกทดแทนต่อปี
6. ผลักดันพลังงานทางเลือก คัดค้านการสร้างโรงงานถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในไทย
แผนการดำเนินงานหลังการระดมทุน
ทางทีม Bye Bye Plastic Bags Thailand มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการที่จะรณรงค์ให้คนในสังคม ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งรวมทั้งการปลูกฝังนิสัยรักสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ จึงได้จัดระดมทุนครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ของทางทีม ดังนี้
1. จัดทำสื่อรณรงค์การงดใช้พลาสติกเพื่อใช้ในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในโครงการ Ban Single Use Plastic เดินทางเพื่อพบปะผู้บริหารของหน่วยงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือในการงดใช้ถุงพลาสติก
2. กิจกรรมกลุ่มเยาวชนอาสาเก็บขยะเดือนละ 1 ครั้ง
3. กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น วันคุ้มครองโลก,วันสิ่งแวดล้อมโลก, วันมหาสมุทรโลก เป็นต้น
4. จัดทำสื่อและเดินทางไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ตามโรงเรียนและศูนย์เยาวชนต่างๆ เดือนละ 1 ครั้ง
5. ทุกกิจกรรมที่จัดทำจะมีการอัพเดตรูปภาพ และสรุปผลการดำเนินงานในเพจ Bye Bye Plastic Bags Thailand และหน้าโครงการบนเว็บไซต์เทใจดอทคอม
6. จัดทำสรุปผลการดำเนินกิจกรรม เพื่อเก็บเป็นข้อมูล รวมทั้งเพิ่มเติมและแก้ไขการจัดทำกิจกรรมครั้งต่อไปในอนาคต
แผนการใช้เงิน
ลำดับ | รายการ | จำนวน | จำนวนเงิน (บาท) |
---|---|---|---|
1 | สนับสนุนโครงการ Ban Single Use Plastics จัดทำสื่อรณรงค์กการงดใช้พลาสติกเพื่อใช้ในสื่อออนไลน์ต่างๆ การเดินทางเพื่อพบปะผู้บริหารของหน่วยงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือในการงดใช้ถุงพลาสติก | ระยะเวลา 1 ปี | 40,000.00 |
2 | กิจกรรมกลุ่มเยาวชนอาสาเก็บขยะ เดือนละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000 บาท | 12 เดือน x 5,000 บาท | 60,000.00 |
3 | กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่นวันคุ้มครองโลก, วันสิ่งแวดล้อมโลก, วันมหาสมุทรโลก เป็นต้น รวมทั้งหมด 8 วัน ครั้งละ 10,000 บาท | 8 ครั้ง x 10,000 บาท | 80,000.00 |
4 | จัดทำสื่อและเดินทางไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ตามโรงเรียนและศูนย์เยาวชนต่างๆ เดือนละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายครั้งละ 10,000 บาท | 12 เดือน x 10,000 บาท | 120,000.00 |