เมื่อความห่วงใยคือจุดเริ่ม เอแคลร์กับครีมภูมิแพ้แด่น้องในชุมชน

เมื่อความห่วงใยคือจุดเริ่ม เอแคลร์กับครีมภูมิแพ้แด่น้องในชุมชน

เพราะเข้าใจว่าผิวหนังที่เป็นผื่นอักเสบนั้นทรมานเช่นไร และรู้ว่ามีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่มากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมได้ รวมถึงความสนใจในวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพและความไม่เสมอภาคนี้ได้

เพราะเข้าใจว่าผิวหนังที่เป็นผื่นอักเสบนั้นทรมานเช่นไร และรู้ว่ามีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่มากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมได้ รวมถึงความสนใจในวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพและความไม่เสมอภาคนี้ได้ เอแคลร์ ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์ ผู้ก่อตั้งโครงการเอาชนะภูมิแพ้ แด่น้องในชุมชน และเพจ Claire's Choice จึงลุกขึ้นมาลงหาทางช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นผ่านการระดมทุนบนเทใจดอทคอม

“เมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองโชคร้าย ตื่นมาหายใจไม่ออกหรือกินเค้กวันเกิดตัวเองไม่ได้เพราะเป็นภูมิแพ้ค่ะ แต่พอมองกลับไปพบว่าจริงๆ แล้วเราโชคดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถซื้อยาหรือเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ เอแคลร์เคยเจอน้องคนหนึ่งจากการไปช่วยแจกของ เขาไม่มีเงินซื้อถุงเท้าใหม่และต้องใส่ถุงเท้าเก่าที่ขาดจนแทบไม่มีอะไรเหลือทุกวัน แล้วเขาจะมีเงินซื้อยาหรือครีมบำรุงผิวได้อย่างไร เอแคลร์เลยอยากช่วยตรงนี้ค่ะ”

เป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เกิด

เอแคลร์ กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ผิวหนังทั้งที่เกิดจากอาหารและอากาศ โดยตลอด 16 ปี เอแคลร์มีผื่นแดงที่คันและอักเสบอยู่เสมอ

“เอแคลร์เป็นคนที่แพ้อาหาร แพ้เหงื่อ อากาศ ฝุ่น ไม่อยากออกจากบ้านเลย อยากใส่แต่เสื้อแขนยาว เพราะแขนมีแต่รอยแดงๆ เต็มแขน เอแคลร์เชื่อว่ามีคนที่ประสบปัญหานี้จริงๆ ที่มีแผลอยู่ใต้เสื้อแขนยาว หรือคนที่ตื่นเช้ามาทุกๆ วันแล้วหายใจไม่ออกเหมือนเอแคลร์ เพราะภูมิแพ้เป็นปัญาที่พบได้ 38% ในเด็ก ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2016 ค่ะ” เอแคลร์เล่าถึงผลกระทบจากการเป็นโรคภูมิแพ้ที่เธอต้องเผชิญมาตลอดชีวิต เธอรู้ดีว่าครีมทาผิวที่ผลิตสำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งไม่มีสารเคมีบางตัวที่จะทำให้เกิดการแพ้ ต่างจากครีมบำรุงผิวที่ขายอยู่ในตลาดทั่วไป) จะช่วยบรรเทาอาการแสบคัน และรักษาแผลผื่นแดงให้ดีขึ้นได้ แต่ครีมเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง

“จำได้ว่าต้องไปโรงพยาบาลเดือนละอย่างน้อยสามครั้งค่ะ และทุกๆ อาทิตย์ต้องเสียเงินให้กับยาหรือการรักษาทางการแพทย์” เอแคลร์ตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และการมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของเธอ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงได้

ความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ

“คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยินคำนี้ เอแคลร์ก็เพิ่งเคยได้ยินเมื่อปีก่อนเองค่ะ แต่บางคนอาจจะรู้คอนเซปท์นี้มาก่อน คือรู้ว่าบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ เอแคลร์เห็นบางโครงการในเทใจ อย่างเช่นโครงการรถทันตกรรมที่ไปช่วยทำฟันให้เด็ก แล้วก็คิดว่าทำไมบางคนสามารถบางคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

พอเข้าไปเสิร์ชดูก็พบว่าเขาเรียกว่าความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ หรือ Health Inequality ค่ะ ซึ่งมันเป็น SDG (Sustainable Development Goals) ของ UN ในข้อที่ 3 คือ Good Health and Wellbeing ซึ่งก็หมายถึงเป้าหมายที่จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมกันค่ะ” เอแคลร์เริ่มสนใจความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ ตระหนักว่ามีปัญหานี้อยู่จริง และเธอต้องการที่จะช่วย

Claire’s Choice เอแคลร์เลือกที่จะช่วย

เมื่อเห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ในการที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่เป็นภูมิแพ้ให้มีครีมบำรุงผิวทาบรรเทาอาการคันและอักเสบแล้ว เอแคลร์หาข้อมูลเพิ่มเติมและติดต่อบริษัทรับผลิตครีม OEM (Origianl Equipment Manufacturer หรือผู้รับผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง) คุยกับผู้เชี่ยวชาญ ร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการติดต่อไปที่โรงเรียน คริสตจักร และชุมชน ที่มีเด็กๆ และเยาวชนที่กำลังประสบกับปัญหาทางผิวหนังนี้ เพื่อนำครีมไปมอบให้

อย่างเช่นที่คริสตจักรหนึ่ง เป็นคริสตจักรที่พ่อแม่อพยพมาจากประเทศกัมพูชาจะพาลูกๆ มาในวันเสาร์อาทิตย์ เอแคลร์พบเด็กอายุขวบกว่าๆ ที่แพ้อาหารยี่สิบกว่าชนิด ต้องกินนมผงพิเศษที่มีราคาสูง ทำให้เอแคลร์ตระหนักว่าปัญหาทางสุขภาพนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงๆ

สิ่งที่ได้จากโครงการนี้

เอแคลร์มีความมุ่งมั่นที่จะมอบครีมให้กับเด็กๆ ในชุมชนที่ต้องการ โครงการเอาชนะภูมิแพ้ แด่น้องในชุมชน โดยที่แม้ว่าโครงการอาจได้รับการสนับสนุนไม่เป็นตามเป้าหมาย และถึงแม้โครงการนี้อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาความเสมอภาคทางสุขภาพได้ แต่เอแคลร์รู้ว่าครีมนี้จะมีความหมายต่อเด็กๆ และเยาวชนที่ประสบปัญหาผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ อย่างน้อยมีคนได้ใช้ครีม ได้ความรู้ และมีสุขภาพที่ดีขึ้น เอแคลร์ถือว่าได้ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

“ครั้งแรกเลยที่หนูไปแจกครีมที่โรงเรียนที่กระบี่ เป็นโรงเรียนที่ต้องนั่งเรือเข้าไปในชุมชน เป็นชุมชนที่อยู่บนเกาะน่ะค่ะ พอให้ครีมกับน้องๆ ก็เห็นเลยว่าน้องๆ มีรอยยิ้ม แล้วบางคนก็เริ่มทาครีมเลย บอกว่ากลิ่นหอมมาก รู้สึกดีใจที่น้องเค้าชอบ และอยากใช้ และถ้าน้องเค้าใช้ทุกวันผิวเค้าจะไม่มีผื่น หรือเป็นแผลหยาบกร้าน และจะเป็นประโยชน์ต่อเค้าค่ะ”

นอกจากนี้เอแคลร์ยังนำเกม โปสเตอร์ และกิจกรรม ไปให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม และโรคภูมิแพ้กับเด็กๆ ด้วย เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้

หากโครงการนี้มีผลตอบรับที่ดีมาก อยากขยายผลให้มีผู้ได้รับครีมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต่อยอดเพื่อให้การเป็นแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“เอแคลร์คิดว่าโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยเริ่มจากปัญหาสุขภาพที่เอแคลร์คุ้นเคยและมีข้อมูลอยู่ค่ะ ต่อไปอาจจะดูว่ามีปัญหาสุขภาพที่มีความไม่เท่าเทียมอื่นๆ อะไรอีกบ้างที่เอแคลร์จะช่วยได้ ซึ่งเอแคลร์อยากนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาค่ะ” เอแคลร์เล่าถึงเป้าหมายต่อไป เกี่ยวกับความสนใจที่จะเรียนต่อทางวิทยาศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมนาโน (Nanomaterial Engineering) หรือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่างๆ ในระดับปริญญาตรี เพื่อจะนำความรู้ต่อยอดมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้

นักเรียน ม. ปลาย กับการลุกขึ้นมาทำอะไร

ในมุมมองของเอแคลร์แล้ว นักเรียน ม. ปลายหลายคนมีความคิด มีโครงการที่อยากทำมากมาย เห็นว่ามีปัญหาในสังคมและอยากช่วย แต่ไม่มีข้อมูลว่ามีที่ไหนที่จะให้เด็กๆ ม. ปลายได้ลงมือทำบ้าง

“ต้องขอบคุณเทใจที่ให้โอกาสได้ลงมือทำค่ะ พอเอแคลร์โพสท์เกี่ยวกับโครงการนี้ เพื่อนๆ หลายคนสนใจกันมาก ถามว่าสมัครทำโครงการบ้างได้ไหม เป็นเด็กก็ทำได้เหรอ เพื่อนๆ อยากทำโครงการแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ”
 

หากเด็กนักเรียนคนหนึ่งอยากจะลุกขึ้นมาทำโครงการ หรือแก้ปัญหาสังคม จะมีอุปสรรคอะไรบ้างนั้น เอแคลร์ให้ความเห็นว่า

“ความยากลำบากจริงๆ จุดที่ยากที่สุดในการทำโครงการคือการเริ่มต้นค่ะ รู้ว่ามีปัญหา อยากช่วยแต่ไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง” สำหรับเอแคลร์แล้ว ขอเพียงให้ได้เริ่มทำไปก่อน อุปสรรคหรือปัญหาต่างๆ เมื่อได้เริ่มทำแล้ว ต้องมีทางแก้ไขได้แน่นอน

การให้ และความหมายของการได้รับ

“เอแคลร์เคยฟังนิทานปลาดาวค่ะ ที่มีชายคนหนึ่งนั่งอยู่ริมชายหาด พอเขาเห็นปลาดาวที่ลอยมาเกยหาด เขาก็โยนปลาดาวกลับไปที่ทะเล มีคนถามเขาว่าทำไมต้องโยนปลาดาวกลับทะเล โยนแล้วมีความหมายอะไร โยนแล้วชีวิตของเขาดีขึ้นหรือ ชายคนนั้นตอบว่าการโยนมีความหมายต่อปลาดาวตัวนั้น แม้จะไม่ได้มีความหมายต่อทั้งโลก
 

สำหรับโครงการที่หนูทำ มันอาจจะไม่ได้ช่วยเด็กทั้ง 38% ที่เป็นภูมิแพ้ หรือทำให้ปัญหาความไม่เสมอภาคหมดไป แต่ได้ช่วยคนคนหนึ่งที่เป็นภูมิแพ้ที่มีปัญหาทางผิวหนัง หรือการบริจาคครีมหนึ่งหลอดก็คือได้ช่วยคนคนหนึ่งแล้ว สำหรับเอแคลร์ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ” เอแคลร์กล่าวสรุปความตั้งใจในการทำโครงการของเธอ เพราะการให้มีความหมายกับคนที่ได้รับ สำหรับเอแคลร์เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

สำหรับคุณ หากคุณอยากสนับสนุน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีครีมช่วยบรรเทาอาการคันและอักเสบ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสนับสนุนโครงการเอาชนะภูมิแพ้ แด่น้องในชุมชน ได้ที่ https://taejai.com/th/d/clair_ch/